Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid
FASHION

เจาะลึก ‘Gynoid’ หุ่นยนต์หญิงต้นแบบแห่งความฟิวเจอริสติกที่สร้างอิทธิพลระดับโลก

จาก Isaac Asimov สู่ Hajime Sorayama และ Thierry Mugler การนิยามและสร้างภาพ ‘Gynoid’ ที่กลายเป็นภาพจำของคนทั่วโลก

     เรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์เปรียบเหมือนอนาคตและภาพสะท้อนความฟิวเจอริสติกตามความคิดของคนทุกยุคทุกสมัย หากย้อนกลับไปหลายทศวรรษจะพบว่ามีการจินตนาการรูปแบบหุ่นยนต์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ต่อมากลายเป็นบรรทัดฐานของความทันสมัยและมันยังเป็นดั่งสัญญะของสไตล์ฟิวเจอริสติกอันส่งผลถึงปัจจุบัน ‘Gynoid’ เองก็เป็นศัพท์นิยามแปลกใหม่ที่ปรากฏขึ้นในแวดวงศิลปะและวรรณกรรม คำนิยามดังกล่าวสร้างผลผลิตทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และมันกลายเป็นบรรทัดฐานของศิลปะฟิวเจอริสติกที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของหุ่นยนต์ที่มีชีวิตชีวาที่สุด

Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

Isaac Asimov ผู้ริเริ่มการนิยามศัพท์คำว่า Gynoid เป็นครั้งแรกในปี 1979 / ภาพ: Britannica

     คำว่า ‘Gynoid’ เป็นการผสมคำกรีกโบราณระหว่างคำว่า ‘gyne’ และ ‘eidos’ ที่แปลว่าผู้หญิงและรูปร่างหรือรูปทรง ตามลำดับ โดยมีการนิยามครั้งแรกขึ้นเมื่อปี 1979 ในงานเขียนของ Isaac Asimov ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์มนุษย์ ลักษณะของหุ่นยนต์ที่มีทรวดทรงองค์เอวแบบผู้หญิงถูกก่อร่างสร้างขึ้นจากคอนเซปต์นี้เรื่อยมา ทว่าคอนเซปต์ดังกล่าวปรากฏขึ้นมาก่อนหน้านั้นนานถึง 2 ทศวรรษ โดยที่มีคำนิยามศัพท์ว่า ‘fembot’ ซึ่งมาจากการย่อผสานคำว่า Feminine และ Robot เข้าด้วยกัน เรื่องราวของหุ่นยนต์เพศหญิงก่อร้างสร้างตัวขึ้นพร้อมกับจินตนาการอันล้ำลึกของศิลปินแต่ละแขนง วิธีการบรรยายที่ต่างกันก็สร้างภาพที่ต่างกัน ทว่าสิ่งที่เหมือนกันคือมันมีอิทธิพลอย่างสูงต่อมุมมองสไตล์ฟิวเจอริสติกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

รูปแบบผลงาน Gynoid ของ Hajime Sorayama ที่กลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นไอคอนิก / ภาพ: Sorayama Works

     ก้าวมาในโลกของศิลปะ หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ Hajime Sorayama เป็นอย่างดี เขาคือศิลปินชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลการสร้างผลงานศิลปะเกี่ยวกับรูปร่างและรูปทรง โดยเฉพาะมนุษย์เพศหญิง เขาชื่นชอบสาว ‘Pin Up’ เป็นอย่างมาก งานศิลปะยุคแรกเขาจึงเต็มไปด้วยภาพเหมือนที่สื่อสารความเซ็กซี่ของผู้หญิงจนถึงขีดสุด ทว่าการเปลี่ยนแปลงสู่จุดสุดยอดเกิดขึ้นเมื่อมีการจ้างงานสร้างสรรค์ผลงานหุ่นยนต์หญิงในแบบฉบับ ‘Gynoid’ ขึ้น ซึ่งนั่นเป็นต้นกำเนิดของลายเซ็นของโซรายาม่าจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นรูปร่างของผู้หญิงถูกร่างแบบขึ้นผ่านรูปแบบหุ่นยนต์ ส่วนเว้าส่วนโค้งเปี่ยมด้วยความเย้ายวน เช่นเดียวกันการสื่อสารอารมณ์ที่เขาตั้งใจทำให้หุ่นยนต์หญิงมีชีวิต



WATCH




Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

งานสไตล์ Pin Up ที่ถือเป็นลายเซ็นและแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดความสวยงามของรูปร่างผู้หญิงฝีมือ Hajime Sorayama / ภาพ: MutualArt

     จุดเด่นของโซรายาม่าคือการสร้าง ‘Gynoid’ ฉบับเงาวับ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือเขาสร้างสัดส่วนรูปร่างของผู้หญิงด้วยวัสดุที่ดูแข็งกระด้างแต่กลับสร้างอารมณ์ความรู้สึกเว้าโค้งได้อย่างน่าทึ่ง จนรูปแบบงานของเขากลายเป็นภาพจำและต้นแบบของ ‘Gynoid’ ไปโดยปริยาย หากจะพูดถึงหุ่นยนต์ผู้หญิงต้นแบบจะต้องมีผลงานของโซรายาม่าปรากฏขึ้นเป็นแหล่งอ้างอิงอย่างแน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้วัสดุดังกล่าวมาจากความหลงใหลในเรื่อง Star Wars และนำมาผสมผสานกับความสนใจในรูปร่างความเย้ายวนของผู้หญิง การผสมผสานตรงนี้จึงทำให้ ‘Gynoid’ ของเขาเป็นอมตะเหนือกาลเวลาและจะคงอยู่เป็นต้นแบบแห่งความฟิวเจอริสติกที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตตลอดจนนิรันดร์

Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

Nadja Auermann สวมชุด Gynoid แบรนด์ Mugler ครั้งแรกในโชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1995 / ภาพ: Vogue Runway

     ก้าวข้ามมาถึงโลกแฟชั่น ต้องบอกว่ากลิ่นอายแบบฟิวเจอริสติกเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค ‘Space Ages’ โดย Pierre Cardin ในยุค 1960s ทว่ายังไม่มีการนิยามหรือสร้างภาพเกี่ยวกับหุ่นยนต์ผูกโยงเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องรูปทรง สีสัน และองค์ประกอบเสียมากกว่า จนกระทั่งช่วงยุค 1980s ต่อเนื่องจนถึงยุค 1990s ที่มีการหยิบจับเรื่องฟิวเจอริสติกมาสรรสร้างเป็นผลผลิตเพื่อความบันเทิง รูปแบบหุ่นยนต์จึงเป็นหัวใจหลักในการนำเสนอความล้ำหน้าแห่งอนาคต และแล้วกระแสความน่าสนใจตรงนี้ก็ไหลเทสู่โลกแฟชั่น จนทำให้เกิดผลงานไอคอนิกจาก Mugler คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1995 กับชุด ‘Gynoid’ ที่สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโลก โดยมี Nadja Auermann เป็นหญิงสาวคนแรกที่สวมชุดสะท้อนนิยามในคติเรื่องหุ่นยนต์ผู้หญิงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง

Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

Zendaya สวมชุด Gynoid แบรนด์ Mugler ในงานฉายรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์เรื่อง DUNE: PART TWO / ภาพ: Vogue US

     อิทธิพลของมูแกลร์ในเวทีแฟชั่นระดับโลกนั้นยิ่งใหญ่มากในยุค 1990s รูปแบบแฟชั่นที่สร้างความตื่นเต้นแบบนี้ยิ่งกลายเป็นที่พูดถึงและถูกจดจำในความน่าตื่นเต้นกับการหยิบเอาคอนเซปต์ ‘Gynoid’ มาสร้างเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ แปลงมนุษย์ปกติธรรมดาให้กลายเป็นหุ่นยนต์ผู้หญิงล้ำสมัยในสไตล์ฟิวเจอริสติก ซึ่งต่อมา Zendaya ก็นำชุดไอคอนิกดังกล่าวมาสวมจนได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูอีกครั้งในงานฉายรอบปฐมทัศน์ ภาพยนตร์เรื่อง DUNE: PART TWO และแน่นอนว่าทำให้ทุกคนนึกย้อนถึงนิยามศัพท์ ‘Gynoid’ เรื่อยไปจนถึงชุดแบรนด์มูแกลร์ และที่ขาดไม่ได้คือผลงานอันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของโซรายาม่า

Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

งาน Gynoid กับท่าทางสุดยั่วยวนของ Hajime Sorayama ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสาว Pin Up / ภาพ: Sorayama Works

     แม้ความนิยมและความตื่นเต้นจะทวีคูณอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ ‘Gynoid’ ก็เป็นเป้าวิจารณ์เสมอมา ด้วยลักษณะของนิยามที่สร้างให้หุ่นยนต์หญิงมีรูปทรงเว้าโค้งตามแบบอุดมคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสาว ‘Pin Up’ ที่โซรายาม่ายึดถือมาโดยตลอด เพราะนี่คือการสร้างบรรทัดฐานความงามและทำให้หุ่นยนต์หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศในมุมมองของคนบางกลุ่ม นอกจากนี้หุ่นยนต์ที่ถูกผลิตขึ้นตามนิยามศัพท์นี้ยังเคยถูกออกแบบเพื่อตอบสนองเรื่องเพศเป็นหลัก อย่างหุ่นยนต์ชื่อ ‘Sweetheart’ เคยถูกถอดถอนการจัดแสดงด้วยเหตุผลเรื่องความอ่อนไหวทางเพศแบบนี้มาแล้วในปี 1983

Gynoid, Gynoid คือ, Gynoid แปลว่า, sorayama, Hajime Sorayama Gynoid, Hajime Sorayama, Mugler Gynoid

fembot จากภาพยนตร์เรื่อง Austin Powers: International Man of Mystery ที่ตอกย้ำการสร้างหุ่นยนต์หญิงด้วยการเน้นภาพลักษณ์ด้านเพศ / ภาพ: The Annotated Gilmore Girls

     อีกหนึ่งความละเอียดอ่อนคือเรื่องของบทบาท ‘Gynoid’ เพราะการสรรสร้างผลงานทั้งหลายล้วนเกิดจากผู้ชาย และทำให้หุ่นยนต์หญิงน่าดึงดูดแต่ไร้ซึ่งบทบาทที่ชัดเจน ส่วนมากเป็นความสวยงามและตอบสนองความต้องการในการสื่อสารถึงรูปร่างอันเย้ายวนเพียงเท่านั้น ‘Gynoid’ มักไม่ค่อยมีบทบาทหรือหน้าที่เป็นประจักษ์ ตรงข้ามกับหุ่นยนต์เพศชายหรือหุ่นยนต์ไร้เพศที่มักมีตำแหน่งหน้าที่ในเรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ เรื่องนี้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศและมุมมองที่มีต่อหุ่นยนต์หญิงว่าเป็นเพียงวัตถุทางเพศเท่านั้น อีกทั้งยังมันถูกออกแบบมาด้วยความน่าดึงดูดผ่านรูปร่างโป๊เปลือยหรือส่วนเว้าโค้ง แม้มันจะได้รับความสนใจอย่างล้นหลามแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแง่มุมตรงนี้ก็ไม่ใช่ความเท็จแต่อย่างใด

     ปัจจุบัน ‘Gynoid’ ยังคงปรากฏขึ้นในโลกศิลปะและสังคมทั่วไปอย่างต่อเนื่อง มันกลายเป็นนิยามอมตะเหนือกาลเวลาที่จะถูกพัฒนาต่อไปไม่รู้จบ รูปแบบการพัฒนาตั้งแต่เรื่องวรรณกรรมไปจนถึงงานศิลปะถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของศิลปินชั้นนำ โซรายาม่า และเธียร์รี่ มูแกลร์ มีบทบาทอย่างมากในการเสริมสร้างนิยามศัพท์นี้ให้แข็งแกร่งและขยายอิทธิพลเป็นวงกว้าง คำวิพากษ์วิจารณ์จะยังเคียงคู่สิ่งนี้ต่อไป การเดินหน้าไปของ ‘Gynoid’ จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่านี่คือต้นแบบแห่งความฟิวเจอริสติกที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของมนุษย์โดยแท้จริง

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Gynoid