FASHION

ทำไมต้องเมดูซ่า...เจาะลึกเบื้องหลังที่มาทุกสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ Versace จากฝีมือผู้ก่อตั้ง

ทำไมต้องเมดูซ่าคำถามคาใจใครหลายคน เจาะลึกโลโก้และสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ Versace ว่าแท้ที่จริงทำไมถึงมีที่มาเช่นนั้น

เนื้อสำคัญ

  • ความพิเศษของ Gianni Versace ทำให้สัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่างถูกจดจำและทุกคนก็ต่างรู้ว่านี่คือเวอร์ซาเช่โดยไม่ต้องจดลิขสิทธิ์
  • รากฐานความเป็นมาของศิลปะที่หลอมรวมประวัติศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และฝีมือจนกลายเป็นตำนานจนถึงปัจจุบัน
  • ความหมายสุดพิเศษของเมดูซ่าและลายเส้นอันรายล้อมออกมาเป็นโลโก้ที่คนตราตรึงมานานหลายทศวรรษ

___________________________

 

     มีวลีที่บอกว่า “รากฐานทั้งหมดของชีวิตมันเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก” คำนี้เหมือนจะเป็นจริงสำหรับดีไซเนอร์และแรงบันดาลใจในวงการแฟชั่น เพราะถึงแม้จะมีเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามาสอดแทรกในคอลเล็กชั่นแต่สิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” จะไม่เปลี่ยนแปลง มันจะส่งผ่านจากตัวดีไซเนอร์สู่แบรนด์ จากแบรนด์สู่เสื้อผ้า และจากเสื้อผ้าเหล่านั้นกลายเป็นชื่อเสียงรวมถึงตำนานจารึกกลับมาสู่เจ้าของผลงาน และนั่นล่ะคือสิ่งที่ตอกย้ำว่าสิ่งรายล้อมรอบตัวมันรังสรรค์ให้พวกเขาช่างพิเศษเหลือเกิน

Gianni Versace ชายหนุ่มผู้รังสรรค์ผลงานแบรนด์ระดับโลก / ภาพ: Jerzy Dabrowski-ZUMA Press

     วันนี้เรากำลังจะพูดถึงความเป็นมาเป็นไปของแบรนด์ Versace และผู้ก่อตั้งอย่าง Gianni Versace ว่าแท้จริงแล้วสภาพแวดล้อมรอบตัวเขามันสร้างตัวตนส่งผ่านแบรนด์ การดีไซน์และชิ้นงานออกมาได้อย่างไรบ้าง ความพิเศษของอัจฉริยะคนนี้ทำให้สัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่างถูกจดจำและทุกคนก็ต่างรู้ว่านี่คือเวอร์ซาเช่โดยไม่ต้องจดลิขสิทธิ์ จากศิลปะที่ปรากฏขึ้นในสมัยโบราณ ใครจะเชื่อล่ะว่ายุค 2019 กลิ่นอายเหล่านั้นมันยังอินเทรนด์อยู่เลย เพราะอะไร...ก็เพราะสมองเพชรของจานนีที่ทำให้มันอยู่ได้ อ่านไป 2 ย่อหน้าคนอาจจะเริ่มฉงนว่าเรากำลังจะโฟกัสอะไรกันแน่ คำตอบคือลวดลายศิลปะซิกเนเจอร์สุดอมตะของเวอร์ซาเช่

ภาพมุมสูงจากเมือง Reggio Calabria / ภาพ: Stretto Web

     “ศิลปะกรีก !?” เท้าความกลับไปหาจุดเริ่มต้นของจานนีสักหน่อย วันที่ 2 ธันวาคม 1946 เด็กชายชื่อเต็มว่า Giovanni Maria Versace ลืมตาดูโลกขึ้นหลังจากประเทศสงบจากสงครามโลกเพียงปีกว่าๆ มีพี่ชายคือ Santo พี่สาว Tina และน้องสาว Donnatella แต่เขาคือเพชรเม็ดงามที่โลกแฟชั่นกำลังตามหา เด็กหนุ่มเติบโตท่ามกลางบรรยากาศเมืองเรกจิโอ แคว้นคาลาเบรีย ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี มันช่างฟังดูไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวัฒนกรรมกรีกเลยสักนิด นี่ล่ะคือสาเหตุที่มันน่าสนใจและเราจะพาไปทำความรู้จักกับที่นี่อย่างจริงจัง



WATCH




หมู่บ้านกรีกในเมืองเรกจิโอ / ภาพ: Italy MAG

     เมืองเรกจิโอ แคว้นคาลาเบรียคือเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมกรีกที่หนึ่งประจำตอนใต้ของอิตาลี ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เมืองมันดูน่าสนใจกว่าแค่ชนบทของประเทศนี้เท่านั้น นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกลิ่นอายของอาณาจักรโรมันสอดประสานเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบกรีกโบราณดั้งเดิม ทำให้นี่คือสถานที่เดียวในโลกก็ว่าได้ที่มีความเป็นโรมันและกรีกหลอมรวมกันอยู่ในเมืองเดียวแบบจริงจัง

ซากปรักหักพังของสถาปัตยกรรมกรีก / ภาพ: Tornos News

     ย้อนกลับไปไกลอีกสักหน่อยเมืองเรกจิโอหรือเรจโจในการอ่านแบบอิตาเลียนคือเมืองอาณานิคมของอาณาจักรกรีกโบราณ ใช่พอเป็นเมืองขึ้นของดินแดนที่พัฒนาขนาดนั้นการขยายขนาดประชากรก็พุ่งขึ้นตามไป จำนวนประชาชนพุ่งสูงขึ้นจากการตั้งรกรากของชาวกรีกในสมัยนั้น และที่สำคัญพวกเขาสร้างและพัฒนาในด้านศิลปะส่งต่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน จนที่ตรงนี้ได้ชื่อว่า “Greater Greece” นั่นเอง เรื่องราวย้อนไปไกลถึงยุคก่อนคริสตกาลเสียด้วยซ้ำแต่รากฐานทุกๆ อย่างของเมืองกรีกในดินแดนโรมันยืนกรานอย่างแข็งแกร่งจนถึงศตวรรษที่ 17 เลยทีเดียว

ประติมากรรมทองแดงในเมืองเรกจิโอกับศิลปะแบบกรีก / ภาพ: Lonely Planet

     แค่ฟังดูก็เป็นเมืองที่พิเศษสุดๆ สำหรับเด็กหนุ่มผู้หลงใหลในศิลปะคนหนึ่งจะเติบโตที่นี่ เวอร์ซาเช่และรูปสัญลักษณ์กรีกคือของคู่กัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสิ่งที่เขาเห็นมาตลอดช่วงวัยเด็ก มันไม่ใช่แค่เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ แต่สถานที่ สิ่งของ และชิ้นงานทางศิลปะยังคงหลงเหลืออยู่ในเมืองและมันเพียงพอจะเตะตาจนถึงขั้นซึมเข้าความคิดของจานนีไปได้ไม่ยากนัก เพราะสิ่งที่เหลือมันไม่ใช่เชิงประจักษ์อย่างเดียวแต่ภาษาหรือเรื่องเล่าประกอบต่างๆ ก็หลงเหลืออยู่ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคของจานนีที่เด็กๆ ยังคงสนุกกับการเข้าพิพิธภัณฑ์ เดินเล่นสำรวจเมืองของตัวเอง ไม่ใช่การหยิบโทรศัพท์และเสิร์ชหาอะไรก็ได้ทั่วทุกมุมโลก

ซากกำแพงยุคสมัยกรีก / ภาพ: Reggio di Calabria

     มันไม่ใช่แค่มีแต่มันครองเมือง! รูปแบบงานแบบกรีกไม่ใช่แค่ผสมผสานเท่านั้นแต่มันจะครองเรกจิโออยู่แล้ว จุดเด่นของเมืองอย่างกำแพงประวัติศาสตร์ ศาสนสถานต่างๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องกรีกไว้อย่างครบถ้วน แม้แต่ชื่อของบุคคลโด่งดังประจำเมืองในยุคแรกยังถึงจารึกไว้เป็นชื่อของเหล่าประมาติกรชาวกรีกทั้งนั้น และจานนีคือชื่อที่อยู่ในลิสต์รายชื่อเดียวกับพวกเขา มากไปกว่านั้นเมืองบ้านเกิดของดีไซเนอร์หนุ่มคนนี้ถือเป็นเมืองแฝดในกรีซถึง 3 เมือง ทั้งพาทราส เอเธนส์และเอจาเลโอ ถึงจุดนี้เราเห็นรากฐานทางศิลปะของจานนีชัดขึ้นเรื่อยๆ

โปสเตอร์ของ Versace ในช่วงยุคแรกๆ / ภาพ: paperpursuits.com

     ความเป็นคนอิตาลีสร้างสรรค์เสื้อผ้าสุดชิกแบบอิตาเลียน แต่รากฐานศิลปะเป็นแบบกรีกก็ต้องใส่เพราะมันเป็นส่วนผสมสำคัญ เสื้อผ้าแบรนด์เวอร์ซาเช่ฝีมือการออกแบบของจานนีจึงเป็นเอกลักษณ์ในชนิดที่ใครเห็นก็รู้ว่านี่คือเวอร์ซาเช่ ความแปลกและตลกซึ่งเป็นเรื่องดีอย่างหนึ่งคือมันโมเดิร์นมาตั้งแต่จานนีออกแบบ จนถึงตอนนี้ลวดลายกรีกโบราณพร้อมโลโก้ของแบรนด์ก็ยังร่วมสมัยชนิดไม่มีตกเทรนด์

วิวัฒนาการโลโก้ของ Versace ที่แสดงให้เห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสลับไปมา / ภาพ: Doing The Artist

     ข้ามมาถึงที่มาของโลโก้กันบ้างรูปศีรษะของเมดูซ่าประกอบรูปทรงวงกลมและลายโบราณของกรีก ทั้งหมดมันคือชีวิตวัยเด็กของจานนีอย่างแท้จริง การวิ่งเล่นในบรรยากาศเมืองแล้วพบกับศิลปะเมดูซ่าและลวดลายต่างๆ เขาศึกษาเกี่ยวกับความหมายหญิงสาวกับงูเพิ่มเติมและรู้ว่าความหมายว่ามันเกี่ยวข้องกับความสวยงามและหลงรักจนมิอาจถอนตัวได้ เขาก็หวังลึกๆ ว่าแบรนด์เวอร์ซาเช่จะมีพลังพิเศษราวกับเมดูซ่าในเรื่องปรัมปราของกรีกโบราณนั่นเอง

Versace คอลเล็กชั่น Fall/Winter 1991 ที่ Gianni หยิบเอาลายพิมพ์แบบนี้มาใช้ซึ่งมันกลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ในเวลาต่อมา / ภาพ: Vogue Runway

     แต่เดี๋ยวก่อนศิลปะบาโรกกลิ่นอายกรีกโบราณนั้นไม่ได้มีตั้งแต่ต้น แต่มันเพิ่งมาหลังจากก่อตั้งแบรนด์มาเกิน 10 ปี! เริ่มแรกเด็กหนุ่มจากเรกจิโอไม่ได้ใส่เบื้องหลังชีวิตลงไปในชิ้นงานมากนัก แต่ใช้ฝีมือการออกแบบและขึ้นแพตเทิร์นจากการฝึกฝนกับแม่มาใช้ จนกระทั่งปีฤดูหนาวปี 1991เขาเลือกใช้ประสบการณ์ในวัยเด็กสอดประสานกับฝีมือการออกแบบและการเรียนภาษารวมถึงวัฒนธรรมกรีก ณ Liceo Classico Tommaso Campanella ทำให้เป็นคอลเล็กชั่นที่ถูกนิยามว่า “Baroque Collection” และนับแต่นั้นคำว่าเวอร์ซาเช่ก็มีภาพจำเป็นเช่นนี้มาตลอดหลายสิบปี

ผ้าคลุมที่มีสายคาดเป็นลาย Greek Key อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของแบรนด์ / ภาพ: Courtesy of Brand

     ลวดลาย “Meander” หรือ “Greek Key” คือเอกลักษณ์อีกอย่างของแบรนด์ซึ่งสะท้อนถึงตัวตนเบื้องหลังของจานนีได้อย่างดีเยี่ยม ลายเส้นถูกลากต่อกันจนเกิดเป็นภาพ ทั้งนี้มันคือองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะทั้งของกรีกและโรมันเลยก็ว่าได้ มันเป็นลายเส้นหลักที่ถูกลากและนำมาใช้ทั้งเสื้อผ้าและสถาปัตยกรรม ซึ่งตั้งแต่ปี 91-92 เวอร์ซาเช่กับธีมกรีกโบราณนี้ครองโลกเลยก็ว่าได้ เพราะผ้าคลุมลายนี้ก็ยังคงเป็นไอคอนิกไอเท็มประจำแบรนด์จนถึงปัจจุบัน

Oroton Dress ที่ยังคงเป็นไอคอนิกพีซจนถึงปัจจุบัน / ภาพ: Dressed by Tia

     ชุดเดรสร่วมสมัยแบบอิตาลีแต่มีการสอดแทรกลวดลายแบบกรีก หรือจะเป็นการสร้างสรรค์ชุดโซ่เหล็กแบบฉบับทหารโรมันภายใต้ชื่อ “Oroton” แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเมดูซ่า มันกลายเป็นสิ่งจำเป็นของแบรนด์ไปโดยปริยาย ทุกสิ่งต้องมีโลโก้ประกอบตั้งแต่แอ็กเซสเซอรี่ทั่วไปไปจนถึงเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นกูตูร์ ตลอดจนเหล่าเทเบิ้ลแวร์และเครื่องประดับแทบทุกชิ้น

Madonna กับการถ่ายแคมเปญสุดคลาสสิกกับ Versace ในปี 1995 / ภาพ: MTV

     เจ้าแม่เพลงป๊อปอย่าง Madonna ก็ไม่วายโดนเมดูซ่าสะกดจิต ดาราและเซเลบริตี้ทั้งหญิง-ชายยุคนั้นก็เช่นกัน กรีก-โรมันบนเสื้อผ้าของเวอร์ซาเช่กำลังจะครองโลก...ปัง! ปัง! เสียงปืนดังขึ้น 2 นัดจานนีสิ้นลม (อ่านบทความการฆาตกรรมจานนีฉบับเต็มได้ ที่นี่) ไม้ต่อถูกส่งให้ดอนนาเทลล่าน้องสาว แบรนด์มาถึงจุดเปลี่ยนด้วยยุคมิลเลนเนียล เธอจึงปรับให้ความเอะอะของโลโก้และลายเส้นปรากฏน้อยลงบนเดรสและเยอะขึ้นในด้านแอ็กเซสเซอรี่ตามกระแสโลกแทน สิ้นสุดยุคเวอร์ซาเช่การออกแบบของชายผู้ก่อตั้ง...

โลโก้อันเป็นเอกลักษณ์ยังคงปรากฏขึ้นในคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 ที่ผ่านมา / ภาพ: Fashionista

     หลังจากช่วงยุค 2010s เป็นต้นมาโลโก้มาเนีย เหล่าสัญลักษณ์ของแบรนด์ไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าก็กลับมาเขย่าวงการแฟชั่นอีกครั้ง เวอร์ซาเช่ กรีกอาร์ตและเมดูซ่าก็เช่นกัน มันเหมือนกับช่วงเวลาของชายหนุ่มแห่งเรกจิโอกลับมาอีกครั้ง แต่น่าเสียดายมันกลับมาในวันที่เขาไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว ถึงไอเท็มยุคนี้มันจะดูโมเดิร์นฉูดฉาดไปบ้าง แต่ความคลาสสิกที่จานนีวางรากฐานผ่านงานฝีมือ ประสบการณ์ช่วงเวลาวัยเด็ก งานศิลปะที่ซึมซับมาจากเมืองเกิด “กรีก” คือสัญลักษณ์ตัวแทนนำเสนอจิตวิญญาณของเขา “โรมัน” คือกลิ่นอายที่สร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะเครื่องแต่งกายออกมาเป็นรูปธรรม

Gianni Versace กับเหล่านางแบบที่สวมชุดอันเต็มไปด้วยรายละเอียดการวางแพตเทิร์นที่ประณีต สีสันสะดุดตา และแน่นอนลวดลายซิกเนเจอร์ของแบรนด์ซึ่งบ่งบอกรากฐานทางศิลปะในวัยเด็กของเขาได้อย่างดีเยี่ยม / ภาพ: Vittoriano Rastelli

     วลีที่กล่าวมาตั้งแต่ย่อหน้าแรกมันใช้ได้เหมาะเจาะกับจานนีเสียเหลือเกิน เด็ก วัยรุ่นจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว เรื่องราวและสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กยังคงคละคลุ้งอยู่ในแบรนด์เวอร์ซาเช่ไม่เปลี่ยนแปลง หากตอนนี้เราสวมใส่ไอเท็มชิ้นโปรดของแบรนด์ดังจากอิตาลีแบรนด์นี้ เหมือนเราได้สวมวิญญาณของชายหนุ่มเมืองเรกจีโอผู้หลอมรวมศิลปะกรีก-โรมันเข้าด้วยกัน นี่คือที่มาของความอมตะจากการแปรเปลี่ยนความรู้สึกวัยเยาวส์สู่ความเป็นรูปธรรม อาลัยการจากไปครบรอบ 22 ปี (เสียชีวิต 15 กรกฎาคม 1997) ของสุดยอดดีไซเนอร์สมองเพชรผู้เขย่าวงการแฟชั่นโลกอีกหนึ่งคน “GIANNI VERSACE”

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Versace