FASHION

เข้าใจ Burberry โดย Riccardo Tisci...แค่คอลเล็กชั่นแรกก็ซ่อนอะไรไว้เพียบ! #VogueVoices

ในส่วนของวิชา 'อังกฤษศึกษา' วันนี้ ว่าด้วยประเด็น 'สหราชอาณาจักรในสายตาชาวต่างชาติ' ...ขอให้ทุกคนพลิกไปที่บท 'เบอร์เบอร์รี่ โดย ริกการ์โด ทิสชี' แล้วเริ่มวิเคราะห์

ศักราชใหม่อย่างเป็นทางการของแบรนด์สัญชาติอังกฤษอายุ 162 ปีเริ่มต้นขึ้นในทันทีเมื่อแฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2019 จบสิ้นลง เป็นอันเข้าใจตรงกันว่าภาพรวมของรันเวย์ในครั้งนี้สร้างพลังบวกให้กับชื่อเสียงของแบรนด์ที่ค่อนข้างจะเหงาหงอยอยู่สักนิดในช่วงหลังที่ผ่านมา (หากไม่นับข่าวการลาออกของหัวเรือเก่าคือ คริสโตเฟอร์ เบลี่ย์ และโชว์อำลาในธีม LGBTQ+) การมาถึงของตัวพ่ออย่างริกการ์โดซึ่งเคยพลิกโฉม จีวองชี่ มาแล้วก่อนหน้านี้ก่อให้เกิดกระแสทั้งภายนอกและภายในองค์กรของแบรนด์เอง เริ่มต้นจากการที่เขาไม่ใช่ชาวอังกฤษซึ่งก่อให้เกิดคำถามอยู่พักใหญ่บนแพลตฟอร์มของแบรนด์ที่ (เคย) แสนจะภาคภูมิใจในแนวคิดอนุรักษ์นิยมของตน อย่างไรก็ตาม อะไรเล่าจะดีไปกว่าการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองในฐานะ "คนนอก" ผ่านผลงานเสียเลย และนั่นจึงเป็นเหตุให้เราได้ยลผลงานใหม่ล่าสุดที่บอกเล่าภาพลักษณ์อันหลากหลายของหลากชีวิตในสังคมอังกฤษ...ซึ่งใกล้เคียงกับความจริงมากกว่าความเป็นผู้ดีหรูหราในความคิดคำนึงเดิมๆ

คอลเล็กชั่นบนรันเวย์ที่ "ล้อมกรอบ" ด้วย "กรอบที่เลื่อนได้" นี้ปรากฏชัดเป็นส่วนๆ ซึ่งแม้ระบุชัดในเอกสารทางการของแบรนด์เป็น 3 เซตว่าด้วย Refined, Relaxed and Evening แต่ในอีกแง่หนึ่งกลับเสมือนภาพครอบครัวในสังคมโลกที่ชวนเชิญให้เราซุบซิบกอสซิปถึงได้สนุกปากมากกว่า ประกอบด้วยคุณแม่ผู้เพียบพร้อม (เซตที่ 1) คุณพ่อผู้เป็นเสาหลักราวอัศวิน (เซตที่ 2) คุณลูกสาวสไตล์พังก์หัวขบถ (เซตที่ 3) แฟนหนุ่มขวางโลกของเธอซึ่งครอบครัวของเขามีสิทธิ์จะอพยพมาจากแดนอื่น (เซตที่ 4) และหญิงสาวปริศนาในความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งหมด (เซตที่ 5)

1 / 7

Kendall Jenner


2 / 7

Irina Shayk


3 / 7

Natalia Vodianova


4 / 7

Mariacarla Boscono


5 / 7



6 / 7



7 / 7





WATCH




แน่นอนว่ารูปแบบของเสื้อผ้าในโชว์ที่หลอมรวมทั้งชายและหญิงเข้าไว้ด้วยกันเป็นส่วนๆ มากถึง 133 ลุคนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจนในคาแรกเตอร์ของชิ้นงาน แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่แม้แต่ขนาดของนางแบบและนายแบบ รวมถึงพิมพ์นิยมของหน้าตากับผิวพรรณ เรื่อยไปจนกระทั่งถึงแอตติจูดบนรันเวย์เองก็แลดูเหมือนจะได้รับการคำนวณแยกย่อยเอาไว้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เหล่านางแบบตัวท็อปตั้งแต่ Stella Tennent, Natalia Vodianova, Irina Shayk, Kendall Jenner (ที่กลับมาเดินรันเวย์อีกครั้งหลังหายหน้าไปสักพัก) ถึง Mariacarla Boscono (นางแบบคู่บุญชาวอิตาเลียนของดีไซเนอร์...ในเรือนผมใหม่สีซาลมอน) จึงเดินกันให้ว่อนรันเวย์ในลุคเรี่ยมโก้ราวกับคุณนายหญิงตอนช่วงต้น ก่อนเปิดทางให้กับหนุ่มคลีนคัตแสนเนี้ยบ (ที่ปั๊มป์กล้ามมาพอประมาณตามรสนิยมของริกการ์โดซึ่งเป็นอันทราบกันทั่วทั้งวงการ) รวมถึงสาวไซส์เล็กลงมาหน่อย (พร้อมความหวือหวาของชิ้นแฟชั่น) ซึ่งน่าจะเปรียบได้กับภาพสะท้อนของกลุ่มเป้าหมายเอเชียที่แบรนด์อาจกำลังอยากตีตลาด และที่ถือว่าใหม่แกะกล่องสำหรับเบอร์เบอร์รี่คือ แก๊งหนุ่มสายดิบแนวชาวต่างด้าวกับรสนิยมเชิงสตรีตที่บทบาทบนรันเวย์ในครั้งนี้นับเป็นการเปิดตลาดใหม่กรายๆ และให้เกียรติเบาๆ

เราไม่ควรลืมด้วยประการทั้งปวงว่าปรากฏการณ์ Brexit คือนิยามใหม่ของความเป็นอังกฤษในปัจจุบัน และมันสามารถสื่อสารถึงแนวคิดอันร่วมสมัยและผลลัพธ์ที่ชีวิตมากมายกำลังเผชิญอยู่ในทุกอุตสาหกรรมได้ทันท่วงทีเมื่อใครสักคนเลือกหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นอ้าง ดังนั้นเมื่อกระเป๋าสตางค์หน้าตาคล้ายหนังสือเดินทางห้อยอยู่กับสายโซ่บนคอนางแบบ จึงเป็นอันรู้กันว่ามาราธอนการเสียดสีแดกดันด้วยมุกแห้งๆ ตามสไตล์ชาวเมืองผู้ดีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หรือหากคุณไม่เห็นด้วย เราขอนำเสนออีกหนึ่ง 'ความบังเอิญ' เมื่อข้อความบนแขนเสื้อของนายแบบหนุ่มมาดผู้อพยพเขียนอักษรภาษาอังกฤษอ่านได้ว่า They do not love

1 / 4



2 / 4



3 / 4



4 / 4



ชั้นเชิงอันหลักแหลมยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และบทต่อไปน่าจะสร้างสรรค์ให้ตรงๆ กับเหล่าสมาชิกองค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม PETA ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแบรนด์มานับทศวรรษ เพราะหลังจากประกาศอย่างเป็นทางการถึงจุดสิ้นสุดของงานขนสัตว์แท้ที่เบอร์เบอร์รี่ คาราวานนางแบบกลับเยื้องย่างออกมาบนแคตวอล์กในลายพิมพ์หนังสัตว์ที่ล้อกันชนิดจี้ใจดำกับปัญหาเก่า และยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวผ่านลายพิมพ์หนังกวางน้อยพร้อมสโลแกนเด็ดอย่าง Why did they kill Bambi ซึ่งชัดเจนว่าดีไซเนอร์เองกำลังสื่อสารกลับไปถึงบ้านเก่าของตน...หากใครยังจำลายสกรีนเดิมบนเสื้อยืดของเขาได้ที่จีวองชี่
 
ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ลายตารางของแบรนด์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาสารพัด ก็ถึงวาระแล้วที่นิยามใหม่ของลวดลายจะได้รับการตีความอีกครั้ง เมื่อคราวคริสโตเฟอร์ เบลี่ย์ปรับทอนเส้นสีของลายเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ให้กับตารางในตำนาน เราก็ว่าน่าสนใจดี แต่มาเที่ยวนี้ การดึงลายพุ่งออกจากเส้นยืนจนตารางกลายเป็นลายทางแต่ยังสามารถกรีดร้องได้อย่างกึกก้องว่า "เบอร์-เบอร์-รี่!" นั้นไม่มีสิ่งใดเทียมทัดทานได้ เราควรต้องยกความดีความชอบให้กับพาเลตต์สีซึ่งริกการ์โดขยับขยายสีเบจออกจนกว้างไกลถึง 19 เฉด เริ่มต้นจากบรรยากาศการตกแต่งภายในสโตร์แฟลกชิปบนถนนรีเจนต์ในกรุงลอนดอน จากนั้นจึงกระจายตัวลงสู่คอลเล็กชั่น

แน่นอนว่าแรงบันดาลใจคือ "วิวัฒนาการของลอนดอน" แต่ใจความหลักของคอลเล็กชั่นที่ดีไซเนอร์ตั้งชื่อให้ว่า Kingdom นี้เกิดขึ้นจากการที่เขา "นึกย้อนกลับไปถึงเส้นทางที่ผ่านมาเยอะมาก เพื่อสร้างคอลเล็กชั่นแรกที่เบอร์เบอร์รี่ จากคราวที่มาลอนดอนเมื่อ 20 ปีที่แล้วหลังโชว์งานเรียนจบที่นี่ จนถึงทุกวันนี้ที่มาไกลมาก" ส่วนผสมของพัฒนาการของเมืองจึงก่อเกิดเป็นรากใหม่ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นเมื่อมรดกทางวัฒนธรรมรวมตัวเข้ากับสิ่งที่วงการกำลังให้ความสำคัญและเพ่งจ้องมองอยู่ มารดาของดีไซเนอร์คงจะเข้าใจแง่มุมของส่วนผสานและประสบการณ์นี้ดี เธอจึงหลั่งน้ำตาออกมาจากเก้าอี้แถวหน้าสุดของขอบรันเวย์ ท่ามกลางญาติโยมลูกเด็กเล็กแดงสัญชาติอิตาเลียนหลากชีวิตที่โอบกอดกันอย่างภาคภูมิใจโดยไม่มีเซเลบริตี้คนใดมากวนแสงแฟลชในโชว์ครั้งนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนจากรอบโลกได้มีโอกาสรายงานความเป็นไปของการกลับมาอันยิ่งใหญ่ของริกการ์โด ทิสชีและเบอร์เบอร์รี่...ที่ลอนดอน

WATCH