FASHION

เปิดตำนานโลโก้ VOGUE ตลอด 126 ปีที่คุณอาจไม่เคยเห็นที่ไหน!

พาชมโลโก้โว้กตั้งแต่อันแรกจนถึงอันล่าสุด

     นิตยสาร VOGUE มีต้นกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้านับจนถึงตอนนี้ก็มีอายุ 126 ปีแล้ว แน่นอนว่าเส้นทางที่ยาวไกลย่อมมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างทางอยู่เสมอ ก็เหมือนทุกอย่างบนโลกนี้ยิ่งมีอายุมาก ยิ่งมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลโก้บนปกนิตยสารและหน้าเว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเพื่อความทันสมัยและแสดงตัวตนของโว้กได้อย่างชัดเจนอยู่ทุกยุคทุกสมัย

หน้าปกโว้กฉบับแรก (17 ธันวาคม 1892) / ภาพ: historygraphicdesign.com

     ในช่วงยุคแรกของโว้กตั้งแต่ฉบับแรกที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคมปี 1892 เป็นสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์สำหรับชนชั้นสูงทั้งผู้ชายและผู้หญิงในนิวยอร์ก ฉะนั้นรูปแบบของสิ่งพิมพ์จะต้องดูหรูหราและแสดงถึงความเป็นชนชั้นสูง หน้าปกจึงเป็นภาพวาดหญิงสาวท่ามกลางดอกกุหลาบ ซึ่งโลโก้ต้องสอดคล้องกับสิ่งนี้ ทำให้ดีไซน์ทั้งหมดของปกออกมาเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความโดดเด่น เข้มแข็งและล้ำสมัย จึงรวมออกมาเป็นหน้าปกและโลโก้โว้กครั้งแรกของโลก

โลโก้โว้กยุคเริ่มแรกฉบับวันที่ 24 และ 31 ธันวาคม 1892  / ภาพ: moshik.net

     เมื่อโว้กฉบับแรกถูกตีพิมพ์ขึ้น รูปแบบของโลโก้ อักษร หรือแม้แต่วิธีการเขียนของคำว่าโว้กปรับเปลี่ยนเพียงแค่ความเอียงลาดเท่านั้น แต่รูปทรง ขนาด รวมถึงหญิงสาวที่มีลักษณะเหมือนเทพธิดา 2 องค์รอบตัวอักษรยังคงไว้ไม่เปลี่ยนแปลงจากปกโว้กฉบับแรก ทำให้การเขียนโลโก้โว้กใช้รูปแบบเดิมเป็นเวลากว่า 10 ปี



WATCH




เรียงจากบนลงล่าง โลโก้บนปกโว้กฉบับ 20 กันยายน 1906 / ภาพ: pinimg.com, โลโก้บนปกโว้กฉบับ 6 ธันวาคม 1904 / ภาพ: Vogue US และ โลโก้บนปกโว้กฉบับ 6 พฤศจิกายน 1902 / ภาพ: Vogue US 

     จนกระทั่งปีช่วงปี 1902-1906 ค่อย ๆ ปรับรูปแบบของรายละเอียดโลโก้นอกเหนือจากตัวอักษร กรอบของคำว่า “VOGUE” ในช่วงนี้ปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไป ไม่ใช่เทพธิดา 2 องค์ที่กำลังถือแผ่นบันทึกอยู่แล้ว กลายเป็นม้วนกระดาษที่ถูกคลี่จากหลายมุม กระดาษม้วน 2 มุม ไปจนถึงไม่มีกรอบครอบโลโก้เลย

เรียงจากบนลงล่าง: โลโก้บนปกโว้กฉบับ 27 พฤศจิกายน 1909 / ภาพ: Vogue US, โลโก้บนปกโว้กฉบับ 1 เมษายน 1910 / ภาพ: Vogue US และ โลโก้บนปกโว้กฉบับ 1 มีนาคม 1911 / ภาพ: Timeless Beauty

     พอใช้ได้ประมาณปีกว่าก็เปลี่ยนอีกครั้ง ครั้งนี้โว้กเริ่มใช้อักษรตัวเขียนที่มีเอกลักษณ์ขดวงกลมและม้วนบริเวณปลายของแต่ละตัวอักษร เป็นจุดเด่นของหน้าปกโว้กในช่วงปี 1909-1910 เป็นแรงบันดาลใจให้กับหน้าปกหนังสือและเว็บไซต์ต่าง ๆ หลายต่อหลายที่ในยุคปัจจุบัน

เรียงจากบนลงล่าง: โลโก้บนปกโว้กฉบับ 15 มกราคม 1919 / ภาพ: Timeless Beauty, โลโก้บนปกโว้กฉบับ 15 มีนาคม 1912 / ภาพ: Timeless Beauty และ โลโก้บนปกโว้กฉบับ 15 กรกฎาคม 1912 / ภาพ: Alchetron

     จนกระทั่งปี 1912 โว้กเห็นเงาสะท้อนความเป็นตัวเองจากฟอนต์โลโก้แรก จึงนำรูปแบบนั้นกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งในช่วงปี 1912-1920 แต่มีการลดทอนบางอย่างลงเช่น องค์ประกอบของขอบโลโก้หรือรายละเอียดรอบข้างเพื่อความเด่นชัดของตัวโลโก้เอง และประกอบกับภาพสีแทนภาพขาวดำของปก รวมกันแล้วเปรียบเหมือนพาโว้กคลาสสิกก้าวสู่ความทันสมัยในยุคนั้นอย่างเต็มตัว และถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ามีความคล้ายกับโลโก้ปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ!

เรียงจากบนลงล่าง: โลโก้บนปกโว้กฉบับ 1 พฤษภาคม 1924 / ภาพ: etsy, โลโก้บนปกโว้กฉบับ 1 กันยายน 1926 / ภาพ: Vogue Arabia และ โลโก้บนปกโว้กฉบับมิถุนายน 1927 / ภาพ: @matou-en-peluche

     เริ่มเข้าถึงช่วงปี 1924 ความมินิมอลของโลโก้เริ่มเกิดขึ้น โว้กทำการตัดลายเส้นอักษรออก ปรับฟอนต์ให้เรียบและโฉบเฉี่ยวมากยิ่งขึ้น วางไว้อยู่ด้านบนของปก ถึงไม่มีความซับซ้อนหรือลูกเล่นที่มากมาย แต่กลับดูล้ำสมัยเมื่อเทียบกับยุคนั้น กลายมาเป็นโลโก้มินิมอลที่สุดโลโก้หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โว้ก

เรียงจากบนลงล่าง: โลโก้บนปกโว้กฉบับ 10 พฤศจิกายน 1930 / ภาพ: Timeless Beauty, โลโก้บนปกโว้กฉบับ 2 กุมภาพันธ์ 1929 / ภาพ: Vogue US และ โลโก้บนปกโว้กฉบับ 2 สิงหาคม 1930 / ภาพ: moshik

     หลังจากใช้ฟอนต์เป็นรูปแบบเดียวกันมาเกือบ 5 ปี โว้กได้ทำการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับโลโก้อีกครั้ง ความมินิมอลในช่วงนั้นอยู่ได้ไม่ยืนยงนัก จึงเกิดการปรับปรุงโลโก้อีกครั้ง ด้วยการปรับไปตามหน้าปก ตามคอนเซ็ปต์ ไม่มีแบบเฉพาะตายตัว เพราะจากที่ผ่านมาโลโก้ถึงจะเปลี่ยนไปแต่ยึดเป็นคอนเซ็ปต์เป็นยุค ๆ ไป ทำให้ช่วงปลายยุค 1920s ต้นยุค 1930s จึงเป็นช่วงที่โลโก้โว้กมีความหลากหลายมากที่สุดเลยก็ว่าได้

โลโก้โว้กบนปกภาพถ่ายฉบับแรก 1 กรกฎาคม 1932 / ภาพ: Vogue US

     จนมาถึงปี 1932 เป็นครั้งแรกที่ปกโว้กเป็นภาพถ่ายเต็มปกครั้งแรก ทำให้การนำเสนอโลโก้ต้องลดความโดดเด่นลงบ้างเพื่ออวดโฉมปกใหม่ โว้กฉบับ 1 กรกฎาคม 1932 จึงมีโลโก้ลักษณะเรียบง่ายเพื่อขับความโดดเด่นของปกประวัติศาสตร์นี้

โลโก้โว้กอังกฤษบนปกภาพถ่ายฉบับ 6 กันยายน 1933 / ภาพ: The New York Times

     หลังจากโว้กเริ่มมีปกภาพถ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ โลโก้ก็ไม่จำเป็นต้องขับภาพถ่ายให้เด่นขึ้นเสมอไป โว้กจึงพัฒนารูปแบบโลโก้ให้เพื่อให้โดดเด่นขึ้นมาไม่แพ้ภาพถ่ายในสมัยนั้นเลยทีเดียว

โลโก้โว้กวาดสีฉบับ 15 มกราคม 1934 และ 15 กุมภาพันธ์ 1934 / ภาพ: Timeless Beauty

     พอถึงปี 1934 เป็นการกลับมาอีกครั้งของภาพวาด แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าเดิมเพราะโลโก้ครั้งนี้มีลักษณะเหมือนการตวัดสี เริ่มใช้กับปกที่มีการใช้ภาพสีรูปแบบเดียวกัน ไปจนถึงปกที่เป็นภาพถ่ายในปี 1938 และปรากฏขึ้นถึงช่วงปี 1939 ถือเป็นโลโก้ที่อยู่ในกงล้อประวัติศาสตร์โว้กยาวนานอีกโลโก้หนึ่ง

จิวเวลรี่เรียงเป็นอักษรโลโกบนปกโว้กช่วงคริสต์มาสฉบับ 1 ธันวาคม 1939 / ภาพ: Vogue US

ภาพคนในชุดออกกำลังกายขดตัวเป็นอักษรโลโก้โว้กบนปกฉบับ 1 มิถุนายน 1940 / ภาพ: Vogue US

     อีกครั้ง! โว้กกลับมาใช้คอนเซ็ปต์ไม่มีแบบแผนตายตัวของโลโก้ ในช่วงปลายปี 1939 โลโก้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามเรื่องราวบนปก แต่ที่น่าสนใจคือใช้เทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ไม่ใช่การวาดตวัดสีแล้ว แต่คือการจัดเรียงทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับปกนั้น ๆ มาใส่เพื่อให้โลโก้ติดตาผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

ต้นแบบโลโก้ปัจจุบันบนปกโว้กฉบับ 1 เมษายน 1947 / ภาพ: Vogue US

     ในที่สุด โลโก้อันคุ้นตาของโว้กที่ใช้จนถึงปัจจุบันได้ถือกำเนิดขึ้น เมษายนปี 1947 โว้กปฏิวัติโลโก้ตัวเองและสร้างบรรทัดฐานให้กับองค์กรโดยการใช้ตัวอักษรแบบเดียวกัน จัดเรียงแบบเดียวกันเพื่อเป็นมาตรฐานในทุก ๆ เล่ม

ภาพโลโก้โว้กตัวหนาบนปกฉบับ 15 กรกฎาคม 1951 และ 15 กุมภาพันธ์ 1952 / ภาพ: Timeless Beauty

     แต่เดี๋ยวก่อน... โลโก้ต้นแบบของปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้ยาวมาตั้งแต่ปี 1947 แต่ถูกคั่นประมาณช่วงปี 1951-1952 ด้วยโลโก้ที่ถูกปรับอีกครั้งสู่การพิมพ์โลโก้ที่เรียบง่าย วิธีเรียงใช้การเว้นช่องว่างขยายให้เต็มปกเป็น “V O G U E” ที่หนักแน่นและสามารถเข้ากับทุกปกของโว้กอย่างดีเยี่ยม

โลโก้บนปกโว้กฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561 ในหลากหลายเอดิชั่น (เรียงจากบนลงล่าง) โว้กอเมริกา, โว้กประเทศไทย, โว้กอังกฤษ

     ปี 1953 จนถึงปัจจุบันโลโก้โว้กไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายเท่าไหร่ มีแค่การปรับเปลี่ยนสีให้หลากหลายขึ้นเท่านั้น จากเดิมโลโก้นี้มีสีดำเพียงสีเดียว ความคลาสสิกของตัวอักษรลักษณะคล้ายฟอนต์ Didot ที่ถูกดัดแปลงให้มีความหนาและบาง รวมถึงรายละเอียดตามปลายตัวอักษร ทุกความลงตัวทำให้โลโก้นี้เป็นอมตะอยู่ถึงปัจจุบัน ไม่ว่าโว้กอเมริกาต้นฉบับ หรือโว้กทุกประเทศทั่วโลกล้วนใช้โลโก้นี้อยู่บนปกและหน้าเว็บไซต์ เป็นภาพติดตาให้ทุกคนจำได้ว่านี่คือ “VOGUE” และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าดูให้ดีแล้วความทันสมัยของโลโก้ที่ใช้ในปัจจุบันมีรากฐานไอเดียคล้ายกับโลโก้โว้กฉบับแรก บ่งบอกถึงความโมเดิร์นและคลาสสิกในเวลาเดียวกันซึ่งสะท้อนความเป็นโว้กได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชัดเจนมาก

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #logo #evolution