FASHION

Thai Tone การพัฒนารากฐานแฟชั่นไทยจากรากเหง้าของชุมชนสู่กรอบแนวคิดใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น

ความยอดเยี่ยมของสิ่งทอไทยจะเป็นมากกว่างานหัตถกรรมท้องถิ่น แต่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาแฟชั่นไทยสู่อนาคต

     “จากรากฐานความเป็นไทยสู่ผลงานสไตล์สากลที่เข้าถึงทุกคน” การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดคือการปรับให้สิ่งเก่าเลียนล้อไปกับโลกยุคใหม่ได้อย่างลงตัว โว้กประเทศไทยจึงคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ การพัฒนาโลกแฟชั่นควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่โว้กมุ่งเน้น ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมามีการลงพื้นที่และสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้ต้นตอของแหล่งทรัพยากรก่อนจะมาเข้าสู่กระบวนการแฟชั่นเต็มรูปแบบ วันนี้โว้กจึงพร้อมนำเสนอ “Thai Tone” โปรเจกต์พิเศษที่จะช่วยผลักดันรากฐานแฟชั่นไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับโดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม


 

     โดยก่อนหน้านี้ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทยและทีมงานได้รังสรรค์โปรเจกต์ที่ส่งเสริมความน่าสนใจให้กับผ้าไทยมาตลอดหลายปี การนำเสนอแนวที่แปลกใหม่จะช่วยให้การพัฒนาผ้าเดินหน้าไปได้มากกว่าการเป็นสิ่งทอสวยงามและคงความดั้งเดิมไว้จนอาจไม่สามารถผลัดเปลี่ยนรูปแบบสู่การเป็นวัสดุสำหรับแฟชั่นในโลกยุคโมเดิร์น ดังนั้นการเสริมสร้างแนวคิดรูปแบบใหม่ให้กับชุมชน โดยการสร้างตัวอย่างผ่านดีไซเนอร์หลายต่อหลายคนนั้นจะช่วยให้วงการผ้าไทย โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นได้รับการผลักดันและมีคนให้ความสนใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาเอกลักษณ์เอาไว้อย่างหนักแน่น

ชุดราตรีและสูทจากผ้าไทยอันโดดเด่นในงานโว้กกาล่า 2019 ที่เปลี่ยนชุดความคิดเกี่ยวกับผ้าไทยให้ร่วมสมัยมากขึ้น

     อะไรคือกุญแจสำคัญของการพัฒนาโลกแฟชั่นให้แทรกตัวอยู่ในรากฐานวิถีชีวิตของชาวบ้าน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โว้กหาคำตอบและร่วมกันส่งเสริมหลากหลายวิธีเพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของชุมชนมากขึ้น การเข้าไปผลักดันสิ่งทอนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การหยิบจับสิ่งเหล่านั้นมาลงหน้าสื่อแบบตรงไปตรงมา แต่หมายถึงการปรับรูปแบบให้เห็นว่าสิ่งทออันมีเอกลักษณ์เหล่านั้นสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์แฟชั่นไอเท็มอันน่าประทับใจได้มากเพียงใด หรือแม้แต่การมิกซ์แอนด์แมตช์ ซึ่งจะช่วยลดมายาคติแบบเดิมๆ ว่าผ้าไทยต้องสวมแบบดั้งเดิมหรือสวมกับผ้าไทยด้วยกันเท่านั้น เพราะทั้งแฟชั่นเซตหรือแม้แต่โปรเจกต์ก่อนหน้านี้ทั้งโว้กกาล่า การลงพื้นที่สู่ชาวบ้าน การเยือนบ้านดอนกอย การถ่ายแฟชั่นลุคผสมผสาน ณ ลำปาง และอีกหลากหลายโปรเจกต์ที่โว้กมีส่วนร่วมในการสรรสร้างแนวคิดรูปแบบใหม่ให้ทั้งคนในภายชุมชน รวมถึงคนภายนอกได้สัมผัสผ้าไทยในมุมมองที่สดใหม่มากยิ่งขึ้น



WATCH




     โครงการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทย หนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ Thai Tone Shop จึงเกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักคือการต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชนแต่ละพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยให้ก้าวตามสมัยนิยมมากขึ้น การเพิ่มมูลค่าทั้งเชิงเศรษฐกิจและแนวคิด จะมาพร้อมภาพลักษณ์ทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันที่พาเหล่าผู้รังสรรค์งานหัตถกรรมไทยจากหลากหลายแขนงก้าวเข้าสู่เวทีแห่งโอกาส และที่สำคัญคือการสร้างชุดความคิดให้กับสังคมโดยร่วมเปิดใจกับผ้าไทยในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับสไตล์การแต่งตัว แต่หมายถึงรูปแบบของผ้าที่มีความละเอียดซับซ้อนและมีคุณค่าสมราคา

เสื้อคอกลม ผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติตกแต่งโบ หมวกปีกกว้างผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติ ทั้งสองจาก ASAVAกระเป๋าถือผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติ จาก TORBOON

     ดีไซเนอร์ไทยคือสื่อกลางสำคัญที่พร้อมพัฒนาผลงานไปพร้อมกับการพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น แนวคิดการสร้างสรรค์ในรูปแบบที่เลียนล้อไปกับโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่น วัฒนธรรม หรือแม้แต่การตลาดเองคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปูทางให้โลกแห่งงานหัตยกรรมไม่หยุดนิ่ง พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ASAVA ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ร่วมโปรเจกต์ครั้งนี้ โดยเขารังสรรค์ชุดและหมวกที่ในซิลูเอตที่เหมาะสมกับผ้าไทย อีกทั้งยังสามารถล้อไปกับเทรนด์แฟชั่นยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แพตเทิร์นออกมาในรูปแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ขับความโดดเด่นของผ้าออกมาได้เต็มที่ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางการใช้วัสดุจากชุมชนที่ปรับเปลี่ยนภาพจำแบบเดิมๆ ให้ดูทันสมัย สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

บราท็อป ผ้าไหมทอลายทาร์ทันสวมทับเสื้อเบลเซอร์ ใส่กับกางเกงขายาวเข้าชุด ทั้งหมดจาก KLOSET เสื้อแขนยาวตกแต่งระบายและดอกไม้ จาก ICONIC หมวกผ้าทอลาย

     KLOSET และ ICONIC ถือเป็นแบรนด์ไทยอีก 2 แบรนด์ที่ร่วมผลักดันโปรเจกต์นี้ให้มีมิติน่าสนใจมากขึ้น ทั้ง 2 แบรนด์ดึงเอาเอกลักษณ์ประจำแบรนด์มาสร้างสรรค์โดยใช้วัสดุผ้าไทย ผลงานหลายชิ้นมองเผินๆ อาจจะเห็นว่าเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นตามเทรนด์ แต่ถ้าหากสัมผัสลงลึกถึงรายละเอียด จะเห็นความละเอียดอ่อนหลายอย่างปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเลือกใช้ผ้าจากชุมชนที่สะท้อนภาพให้ทุกคนเห็นว่า “ผ้าไทยไม่ได้มีรูปแบบเดียว” วิธีการทอที่ต่างกัน การย้อมสี หรือแม้แต่ลวดลายต่างๆ มีมากมายหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการที่ดีไซเนอร์ไทยหยิบจับผ้าแต่ละแบบมาคลุกเคล้ากันจนเกิดเป็นลุคแฟชั่นอันน่าสนใจ ก็ถือเป็นคำตอบที่ดีในการตอบคำถามว่า “เราจะผลักดันผ้าไทยไปได้ในรูปแบบบ้าง นอกเหนือจากชุดไทยตามขนบแบบดั้งเดิม และชุดของคนท้องถิ่น”

เดรสปกใหญ่ ผ้าไหมทอลายทาร์ทัน กระเป๋าสะพายผ้าไหมทอลายทาร์ทัน ทั้งสองจาก TANDT เสื้อเชิ้ตแขนสั้น ผ้าฝ้ายเข็นมือทอลายโบราณและผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติตัดต่อผ้ายีนส์จาก RENIM PROJECTเสื้อเบลเซอร์ตกแต่งดีเทลคัตเอาต์ด้านหลัง สวมทับบราท็อป ใส่กับกางเกงขายาว ผ้าฝ้ายเข็นมือย้อม สีธรรมชาติเข้าชุด ทั้งหมดจาก KLOSET

     ดังนั้น Thai Tone จึงไม่ใช่โปรเจกต์ที่แค่สร้างภาพลักษณ์อันโดดเด่นให้กับผลผลิตจากชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางในการสร้างมาตรฐานการผลิตสิ่งทอให้ตอบโจทย์กับทั้งโลกปัจจุบันและอนาคต พอแหล่งชุมชนมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตสิ่งทอคุณภาพดี แบรนด์แฟชั่นใช้วัสดุเหล่านั้นอย่างแพร่หลาย อย่างในครั้งนี้นอกจาก 3 แบรนด์ที่กล่าวไปยังมี L’OR, TANDT, SSAP, RENIM PROJECT, TORBOON และ SARRAN มาร่วมกับโว้กประเทศไทยในการจุดไฟแห่งการริเริ่มเส้นทางแฟชั่นตั้งแต่รากฐานจากท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงนำทางไปสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นในภาพใหญ่ ต่อไปนี้คำว่า “มรดกทางวัฒนธรรม” จะไม่ใช่คำที่สะท้อนถึงความเก่าแก่และนิ่งเฉย แต่หมายถึงมรดกที่ตกทอดมาให้ชุมชนพัฒนามันต่อไปตามกระแสโลก ยืนหยัดรักษาเอกลักษณ์ และพาความโดดเด่นดังกล่าวก้าวสู่โลกอนาคตอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน

WATCH

คีย์เวิร์ด: #ThaiTone