FASHION

แฟชั่นยุคใหม่ต้องรักโลก! รวมผ้า 6 ชนิดที่ทำจากผักผลไม้

          รู้หรือไม่ว่าเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่อยู่ในทุกวันนี้เป็นหนึ่งต้นตอในการทำลายสิ่งแวดล้อม กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดขยะขึ้นมหาศาล แต่จุดหมายปลายทางของขยะแฟชั่นเหล่านี้จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากเราเริ่มจากการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวงการแฟชั่นสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนได้ โดยไม่ทิ้งความสนุกของการสร้างสรรค์

ภาพจาก Startupfashion

          ผ้าจากใยกล้วย เส้นใยของผ้าชนิดนี้ทำมาจากก้านกล้วย ซึ่งการทำผ้าแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เนื่องจากผ้าใยกล้วยถูกใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศแถบเอเชียตอนใต้ รวมถึงประเทศไทยก็มีการทอผ้าใยกล้วยที่กลุ่มทอผ้าบ้านหลายทุ่ง จ.น่าน เส้นใยที่ได้จะมีความหนาและแข็งแรง เหมาะแก่การสานกระเป๋า

ภาพจาก Fastcompany

          หนังเทียมจากใยสับปะรด เกิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านงานหนัง Carmen Hijosa ได้เดินทางไปประเทศฟิลิปินส์และพบว่าประเทศนี้ปลูกสับปะรดเยอะมาก อีกทั้งพบว่าหัวสับปะรดที่เป็นใบถูกทิ้งเกลื่อน เธอจึงหยิบมันมาทดลองทำเป็นเครื่องหนังซะ สามารถดูงานของเธอได้ที่ Piñatex โดยใบสับปะรดเป็นส่วนที่มีเซลลูโลส หรือสามารถให้เส้นใยได้ โดยทั่วไปนิยมนำมาผลิตเป็นกระดาษ ที่ประเทศฟิลิปินส์มีการนำใยสับปะรดไปทอเป็นผ้าเรียกว่า ผ้าบารอง (Barong Tagalog)



WATCH




ภาพจาก Kickstarter

          หนังเทียมจากเห็ดรา หรือ Mylo™ คิดค้นโดยบริษัท Bolt Threads ก่อตั้งโดยชีววิศวกร และนักชีวฟิสิกส์ สำหรับเส้นใยนี้เมื่อพูดถึงกระบวนการทำ อยากจะขอตัวกลับไปตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทีเดียว หนังเทียมชนิดนี้ทำจากเชื้อรา Mycelium และ Mycelium พวกเขาเพาะเชื้อด้วยขยะทางการเกษตร จนเชื้อราโตเป็นเห็ดที่จับตัวเป็นผืนจากนั้นจึงตัดเป็นชิ้นบางๆ และย้อมสี โดยคุณสามารถพรีออร์เดอร์สินค้าเครื่องหนังจากเห็ดราได้ที่นี่

ภาพจาก orange fiber s.r.l.

          ผ้าจากใยส้ม เป็นผ้าพิเศษที่ผลิตจากส้มหลายตันที่ถูกคั้นแล้ว “ผ้าของเรามีกระบวนการทอเหมือนผ้าใยเซลลูโลสที่สามารถนำไปผสมกับเส้นใยชนิดอื่นได้” Adriana Santanocito และ Enrica Arena สองผู้ก่อตั้งบริษัท Orange Fiber กล่าว นอกจากน้ำหนักที่เบาและผิวสัมผัสที่นุ่มแล้ว ผ้าชนิดนี้ยังมันเงาอีกด้วย ด้วยกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูงทำให้เสื้อผ้าจากใยส้มยังมีราคาแพง ถึงอย่างไรก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่ดี

ภาพจาก Thedrinksbusiness

          หนังเทียมจากองุ่น หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า หนังไวน์ เนื่องจากเป็นการนำกากองุ่นที่ได้หลังจากการผลิตไวน์มาทำเป็นหนัง โดยชื่อ Vegea มาจากคำว่า vegan หรือมังสวิรัติ หนังชนิดนี้คิดค้นโดย H&M เมื่อปี 2017 “เดินหน้าต่อไป เราจำเป็นต้องใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติและขยะในการสร้างสรรค์คอลเลกชั่นของเรา” Pascal Brun ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของเอชแอนด์เอ็มกล่าว

ภาพจาก Chipsboard

         ไบโอพลาสติกจากมันฝรั่ง บริษัท Chip[s] Board® ได้พัฒนานวัตกรรมในการทำวัสดุจากขยะมันฝรั่ง และผลทดลองสรุปได้ว่าไบโอพลาสติกชนิดนี้สามารถรีไซเคิลได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการทำไม่มีการใช้สารเคมีอย่างเรซิ่นหรือสารเคมีจากน้ำมันแต่อย่างใด คาดว่าต่อไปอะไหล่ต่างๆบนเสื้อผ้าที่เป็นพลาสติกจะต้องถูกแทนที่ด้วยสิ่งนี้แน่นอน !

 

          แม้ว่าแฟชั่นที่ยั่งยืนหรือ sustainable fashion จะยังไม่มีบทบาทมากในอุตสาหกรรมแฟชั่นประเทศไทย แต่เราเชื่อว่าการมองหาแหล่งวัตถุดิบที่มีจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมคือจุดเริ่มต้นที่ดี ประโยคที่ว่า “เมื่อเราซื้อเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์เท่ากับว่าเรากำลังสวมใส่เชื้อเพลิงฟอสซิล” คือความจริงที่เรามองข้ามกันอยู่ อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1.2 พันล้านตันในทุกๆ ปี และการรีไซเคิลเสื้อผ้าทำได้ยากมากนอกจากเอาไปฝังกลบ ทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะโน้มเอียงไปทางสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน คงต้องฝากความหวังไว้กับดีไซเนอร์หัวใหม่ ที่ผลิตสินค้าจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประโยค “ไม่ใส่ซ้ำ” จะต้องหายไปจากปากผู้บริโภคทุกคน

ผู้เขียน : ญาณิศา แผนสนิท

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Banatex #Piñatex #Mylo #OrangeFiber #Vegea #Parblex