FASHION

พระมาลาของแม่! ที่สุดของผู้นำแฟชั่นหมวกแห่งสยามประเทศ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงให้นายบัลแมงออกแบบพระมาลาถวายเข้าชุดกับฉลองพระองค์ และมีนักออกแบบทรงผมจากประเทศฝรั่งเศส

เมื่อพูดถึงฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คงต้องกล่าวถึงพระมาลา เดิมการสวมหมวกไม่ใช่ธรรมเนียมดั้งเดิมของไทยแต่เป็นธรรมเนียมสากลนิยม ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระพันปีหลวงตามเสด็จไปชวา ทรงฉลองพระองค์ราตรียาวทรงสุ่ม ทรงพระมาลาปีกกว้าง นั่นเป็นพระฉายาลักษณ์เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบว่ามีพระราชินีทรงพระมาลาตามธรรมเนียมสากลนิยม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงให้นายบัลแมงออกแบบพระมาลาถวายเข้าชุดกับฉลองพระองค์ และมีนักออกแบบทรงผมจากประเทศฝรั่งเศสชื่อนาย Alexandre ออกแบบพระเกศา การออกแบบพระมาลานั้นเน้นการเปิดให้เห็นพระพักตร์ชัดเจน พระมาลาต้องไม่ปิดพระเกศาดำสนิทแบบชาวเอเชีย สมัยหลังที่พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด มีพระมาลาหลายรูปแบบ ตั้งแต่ทรงเบเรต์ พระมาลาปีกกว้างตกแต่งด้วยผ้าชีฟองเข้าชุด หรือพระมาลาที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากงอบของชาวนา

 

 

 

 

การเริ่มทรงพระมาลาในยุคแรกๆ นั้นเป็นตามความนิยมของแบบแผนการแต่งกายของราชสำนักในยุโรปที่สุภาพสตรีจะต้องสวมหมวก ในการเสด็จต่างประเทศทางราชการครั้งแรก (พ.ศ. 2503) นั้น แผนกหมวกสตรีของห้องเสื้อบัลแมงรับหน้าที่ทำพระมาลาให้เข้ากับฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากหมวกเป็นเครื่องประกอบการแต่งกายที่สำคัญมากในธรรมเนียมตะวันตก แบบที่ทรงบ่อยครั้งในช่วงเวลานั้นได้แก่ หมวกทรงพิลบอกซ์ (Pillbox) หมวกทรงเทอร์บันแบบผ้าโพกศีรษะ (Turban) ที่เป็นแฟชั่นในยุคนั้น หมวกปีกกว้าง และหมวกทรงสูงต่างๆ ต่อมา ยังโปรดทรงพระมาลากับฉลองพระองค์ทรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ที่พบเห็นบ่อยจนแทบจะเป็นเอกลักษณ์คือ พระมาลาทรงเบเรต์ที่เผยให้เห็นพระพักตร์ที่งดงาม และมีพระมาลาทรงนี้หลายองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมไทย เข้ากับฉลองพระองค์ที่ทรงอยู่

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีพระมาลาทรงงอบที่ทรงเห็นว่าเป็นหมวกที่เหมาะแก่การทำงานกลางแดดร้อนหรือบางช่วงก็มีฝนตกของคนไทยมาก ด้วยลักษณะของงอบที่มีชั้นในที่เป็นตะกร้อสานโปร่งๆ เป็นส่วนสัมผัสกับศีรษะ ขณะที่ตัวงอบด้านนอกเองจะตั้งซ้อนอยู่บนส่วนที่คล้ายตะกร้อนี้ ทำให้สวมแล้วไม่อบอ้าวศีรษะ

 

 

 

นอกจากนี้ยังโปรดพระมาลาทรงเทอร์บันเมื่อทรงไปเยี่ยมพสกนิกรทางภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม บางครั้งพระองค์จะทรงโพกผ้าคลุมผมเป็นการให้เกียรติเช่นสตรีอิสลามที่ต้องสวมฮิญาบ แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศ เมื่อทรงพระมาลาจะทรงโดยที่ยังเผยให้เห็นบางส่วนของพระเกศาสีดำสนิทอันเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นเอเชียและเป็นคนไทยเสมอ แม้การเข้าเฝ้าพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ณ นครรัฐวาติกัน ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยแขนกระบอกสีดำและสวมสร้อยมุกสีขาว ทรงคลุมพระเกษาด้วยผ้าลูกไม้โปร่งสีดำยาวอันเป็นธรรมเนียมของการเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา โดยทรงรัดเกล้าทับผ้าคลุมพระเกศานั้น

 

 

 

ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือการให้เกียรติประมุขประเทศ หรือคนที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ รวมทั้งทรงให้เกียรติพสกนิกรของพระองค์ที่มารอชมพระบารมี บางครั้งจะต้องเดินทางมาจากสถานที่ห่างไกลและยากลำบาก แต่การได้เห็นพระองค์จริงสักครั้งนั้นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจของพวกเขา ที่ทราบดีว่าทั้งสองพระองค์ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทยมากเพียงใด เราจะเห็นทั้งสองพระองค์ฉลองพระองค์เรียบร้อยเสมอ อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานหนักท่ามกลางแดดร้อน หรือเสด็จพระราชดำเนินไปตามป่าเขาเพื่อเยี่ยมเยียนชาวไทยภูเขา โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเคียงข้าง เราจะไม่เห็นฉลองพระองค์ไม่เรียบร้อยแม้จะทรงงานหนักหรือเหน็ดเหนื่อยเพียงใด

 

 

 

สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้นยังต้องทรงพระสิริโฉมและฉลองพระองค์งดงามอยู่เสมอ เพราะพสกนิกรต่างรอคอยที่จะชื่นชมพระบารมี และคนไทยทุกคนจะมีภาพจำว่าทรงเป็นพระราชินีที่สวยที่สุด ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ได้เป็นการแต่งกายเพื่อความพึงพอใจส่วนพระองค์ หากแต่เป็นเครื่องแบบของพระราชินีที่พสกนิกรได้เห็นครั้งใดจะเหมือนได้หยาดฝนอันชุ่มฉ่ำมาชโลมจิตใจ เพราะเหมือนการมาของพระผู้มาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนไปตราบนานเท่านาน

WATCH

คีย์เวิร์ด: Queen Sirikit Fashion Royal Fashion Hats