FASHION

PARASITE ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่พร่ำสอนให้คนจนแล้วต้องเจียม...เหรอ

PARASITE เข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์แต่กลับมีไอเดียการวิเคราะห์เข้ามาเพิ่มเติมซึ่งทำให้ภาพยนตร์ดูมีมิติน่าสนใจขึ้น

     การกลับมาอีกครั้งของภาพยนตร์เรื่อง PARASITE ที่แปลงแพลตฟอร์มมาสู่สตรีมมิ่งออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงและชมภาพยนตร์ดีกรีผู้ชนะรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ฝีมือ Bong Joon-Ho ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่การเข้าถึงมากขึ้นด้วยทั้งตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่มันกลับสะท้อนมุมมองในสังคมผ่านการรีวิวรอบ 2 ได้อย่างน่าประหลาดใจ ข้อความซ่อนนัยยะบางอย่างกลับถูกกลบลบเลือนหายไปเหลือแค่เนื้อหาผิวนอกที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนมากกว่า วันนี้เราจะมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่าสรุปแล้วผลงานชั้นยอดชิ้นนี้สะท้อนอะไรบ้างกันแน่

     “คนจนเลือกวิธีผิด คิดโลภ จนได้มาซึ่งผลกรรมการตกระกำลำบาก” เรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อรีวิวสุดโต่งในทวิตเตอร์จนหลายคนตั้งคำถามว่าพวกเขาเชื่อแบบนั้นจริงหรือ และอะไรทำให้พวกเขาตีความภาพยนตร์ที่เสียดสีเรื่องชนชั้นได้อีกมิติหนึ่ง มันกลายเป็นมายาคติคล้ายกับบริบทสงคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อว่า “คนจน = โง่ + ไม่ขยัน” และเรื่องนี้ก็ทำให้ประชากรชนชั้นรองต้องเจียมเนื้อเจียมตัวกันตามหลักศีลธรรมอันดี “อยู่อย่างสงบเสงี่ยมเถอะ รอความกรุณากันต่อ ปฏิบัติตัวดีๆ แล้วชีวิตจะดีขึ้นเอง” สังคมมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้นจริงไหม ก็อาจจะมี...ช่องว่างระหว่างชนชั้นแม้จะถูกเล็งเห็นบ้างแต่ไม่เคยถูกบีบให้เล็กลงเลย

     ส่วนหลักความคิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้มีนัยยะซ่อนเร้นมากกว่าแค่การก่ออาชญกรรมของคนชนชั้นรอง ถ้าไม่เคยมองลึกไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างก็อาจจะมองได้ว่า พวกเขาทำผิดและพร้อมมองว่าคนจนนั้นไร้คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเสียดสีสังคมได้ทะลุจอมาก เพราะการที่ครอบครัวคนชนชั้นล่างในภาพยนตร์ทำผิดก็จะกลายเป็นการผลิตซ้ำชุดความคิดเรื่องความด้อยคุณภาพของประชากรชนชั้นล่างอย่างไรอย่างนั้น ยิ่งมองก็ยิ่งผิด ยิ่งใส่ความมีศีลธรรมอันดีก็ยิ่งผิด แต่ปัญหาใต้พรมไม่เคยถูกพบเห็น การมองโลกในลักษณะฮีโร่กับผู้ร้าย (Heroes & Villains) ทำให้พวกที่สังคมบีบรัดจนก่ออาชญกรรมนั้นเป็นผู้ร้าย ทั้งๆ ที่ผู้ร้ายตัวจริงอาจเป็นระบบของสังคมที่กร่นชีวิตคนเหล่านั้นจนไม่มีทางเลือก(หรือมีแต่โดนบีบรัดจากภาระเสียจนแทบหมดโอกาสเห็น) “เรียนจบไปก็ต้องแข่งกันเป็นแค่...” วลีสะท้อนชีวิตที่บางครั้งเราอาจเผชิญแต่ไม่รู้ตัว และยอมจำนนก้มหน้าอยู่ในกรงขังด้านชนชั้นต่อไป เพราะสุดท้ายโลกก็มองว่าคนจนยิ่งต้องเจียมตัว ซึ่งมันถือเป็นการกดขี่ทางอ้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้



WATCH




     เราเห็นการผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทั้งเชิงธุรกิจและสังคม แต่ในเชิงจิตวิทยาก็เข้มข้นไม่แพ้กัน ความรังเกียจ ความแบ่งแยกจากชนชั้นบนทำให้เรื่องราวในภาพยนตร์แย่ลงเรื่อยๆ เขาดูเหมือนจะใจดีแต่ก็มีมุมมืดครอบงำ จริงๆ พวกเขาไม่เคยแคร์หญิง-ชายด้านล่างใต้ถุนบ้าน แต่กลับได้รับคำยกย่องจากพวกเขา เพราะคนเหล่านั้นพยายามทำตัวดีและเชิดชูครอบครัวชนชั้นสูงว่าเป็นพระเจ้าให้ที่อยู่อาศัย แม้ในความจริงคนรวยเหล่านั้นจะรังเกียจก็ตาม มันคุ้นๆ ไหม มันคุ้นเหมือนเป็นสังคมคนรวยเป็นใหญ่ในประเทศไทยที่ดูเป็นคนดีเพราะฐานะร่ำรวย มีชีวิตสะดวกสบาย และไม่ต้องสร้างปัญหาภาระจนกลายเป็นคนไม่น่ารักของสังคมหรือเปล่านะ

     พวกเขาไม่ดีพอเองหรือสังคมไม่ต้องการให้พวกเขาดีพอจะขึ้นมาเทียบเท่า โครงสร้างสังคมบิดเบี้ยวอย่างไม่ต้องสงสัย มันคงเหมือนรูปทรงแปลกๆ ที่ฐานถูกปิดตายจากด้านบน พยายายามปีนพยายามทุบได้แต่ก็ยากจะปีน ส่วนชนชั้นกลางก็ค่อนข้างลอยตัว ต้องปีนเขาสูงชันกว่าจะถึงส่วนปลายทาง(บางคนอาจลองปีนแต่ก็ไปถึงได้ยาก) ส่วนคนชนชั้นบนก็เปรียบเสมือนปลายทางที่เปิดกว้าง เดินเล่นได้อย่างง่ายดาย ทางเรียบและแทบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้เลยว่าโครงสร้างแบบนี้ประกอบกับการมองโลกโดยใช้หลักศีลธรรมแบบเห็นได้ชัดเป็นการกระตุ้นให้คนใต้อำนาจขยันทำงานและมีคาแรกเตอร์ตอบสนองต่ออุดมคติของคนด้านบน จนพวกเขาแทบไม่มีทางเลือกในการเป็นตัวเอง เงียบเข้าไว้ เรียบร้อยเข้าไว้ สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเหรอ...

 

***ชีวิตแตกต่างกันขนาดไหนลองคิดดูว่าในภาพยนตร์ฝนตกครอบครัวหนึ่งกลับมาบ้านพร้อมความเซ็งกับอีกบ้านต้องตรากตรำกับความเป็นความตาย ยังไม่นับเรื่องสัญญะการตีความเรื่องหินที่คนจนแบกความหวังเอาไว้ว่าจะประสบความสำเร็จและส่งผ่านให้คนในครอบครัวแบกมันเดินอย่างหนักอึ้ง แต่กลับคนร่ำรวยกลับสามารถใช้ชีวิตอย่างสบายตัวไม่มีภาระความคาดหวังในจุดนี้ หรือจะเป็นการเสพสมกับรสชาติจาปากูรีซึ่งหมายถึงการนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ยี่ห้อมาผสมรวมกันทานคู่กับเนื้อสัตว์พรีเมี่ยมซึ่งมันสะท้อนอย่างชัดเจนว่าบะหมี่ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความกินง่ายราคาถูก แต่เมนูนี้กลับเป็นบะหมี่ที่คนชนชั้นรองแทบไม่มีโอกาสได้กินเพราะมันไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเมนูผสมกันให้เปลืองทรัพย์กว่าเดิม

     ความอัจฉริยะของบงจุนโฮคือเขาไม่ได้สะท้อนแค่เรื่องราวในภาพยนตร์เท่านั้น แต่การสะท้อนความคิดผู้ชมก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ PARASITE ยอดเยี่ยมสุดๆ เพราะถ้าหากเรามองกันในเชิงสังคมวิทยาแล้วนั้น มันจะมีคำหนึ่งที่เรียกว่า “การป้ายมลทิน” หรือ “Stigmatize” ซึ่งการกระทำนี้เกิดขึ้นชัดเจนมากเมื่อหลายคนเริ่มมองข้ามสังคมที่กดทับความเหลื่อมล้ำไว้และสนใจชัดความชัดเจนเรื่องการกระทำในฉากหน้าเท่านั้น พวกเขาที่มองเช่นนั้นเริ่มป้ายมลทินให้กับประชากรกลุ่มชนชั้นรองลักษณะแบบเดียวกันกับในภาพยนตร์อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว พวกเขาจึงกลายเป็นจึงมีมลทินติดตัวมาตั้งแต่ยังไม่ทำอะไรผิด ทั้ง จน ไม่ฉลาด ไม่พยายาม และอื่นๆ อีกมากมาย

    จุดนี้เองยิ่งบีบคั้นคนกลุ่มนี้ให้เป็นคนไม่น่ารักได้ เพราะชีวิตก็ยากอยู่แล้วยังต้องล้างมลทิน เอาชนะความสกปรกที่ถูกป้ายให้ ในขณะที่คนชนชั้นบนในสังคมใช้ชีวิตได้สะดวกสบายกว่าและไม่มีมลทินที่ต้องลบทิ้งด้วย ชีวิตก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ มันทำให้เห็นเลยว่าชีวิตสบายแล้วก็มีแต่สบายอีก กลับกันถ้าลำบากก็กลับยิ่งลำบากขึ้นเรื่อยๆ ระบบสังคมและชุดความคิดร่วมของคนในสังคมมิได้ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำแม้แต่นิดเดียว มิหนำซ้ำคนชนชั้นกลางบางส่วนยังใช้เรื่องราวความกดดันของชนชั้นรองมาขัดเกลาเรื่องศีลธรรมให้ตัวเอง(ที่มองว่าตนเป็นคนดีกว่าเพราะสถานการณ์ไม่กดดันเท่า)รู้สึกเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎระเบียบของสังคมและแทบไม่พุ่งเป้าสู่ปัญหาเรื่องชนชั้นแม้แต่นิดเดียว

     การวิเคราะห์เช่นนี้มิได้เป็นการหาข้ออ้างให้การกระทำผิด แน่นอนว่าสังคมบิดเบี้ยวส่วนหนึ่งและเรื่องปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นอีกหนึ่งบ่อเกิดความผิดพลาดก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าเรายกตัวอย่างแบบสุดโต่งเวลาเราเรียนอาชญวิทยาทั้งการมองแบบฮีโร่กับผู้ร้ายและเหยื่อกับผู้อยู่รอด ซึ่งอย่างหลังจะสะท้อนมุมมองตั้งแต่ข้อจำกัดของการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมต่างๆ ไปจนถึงระบบสังคมที่แต่ละคนดำรงชีวิตอยู่ โลกความจริงมันไม่ได้มองแยกออกกันได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่มันกลับหลอมรวมกันจนเราต้องใส่ใจมองและไม่รีบตัดสินจากเพียงมุมมองเดียว

     ถ้าให้ยกตัวอย่างเปรียบเปรยสังคมคงเหมือนกับผู้มีปัญหาสายตาที่แท้จริงแล้วก็มีทั้งสายตาสั้นและสายตาเอียง แน่นอนว่ามันมักเป็นพร้อมกัน มันก็จริงที่อาจจะมีส่วนน้อยที่แค่สั้นหรือเอียงอย่างเดียว นั่นเท่ากับเหตุการณ์ที่มองทางใดทางหนึ่งได้อย่างสุดโต่ง แต่สำหรับชีวิตจริงปัญหาสังคมมันเหมือนกับทั้งสั้นและเอียง เราต้องใช้เลนส์ที่แก้ปัญหาสายตาทั้ง 2 รูปแบบในการมอง ถ้าแก้ปัญหาแค่สั้นก็มองไม่ชัด หรือแก้ปัญหาแค่เอียงก็มองไม่ชัดไม่ต่างกัน ภาพยนตร์เรื่องปรสิตนี้ก็เช่นกัน ปัญหาเชิงศีลธรรมและจิตสำนึกก็เป็นเรื่องที่เห็นอย่างชัดเจนผ่านแว่นแบบหนึ่ง และแว่นอีกแบบหนึ่งก็มาเติมเต็มให้เห็นปัญหาโครงสร้างทางสังคมชัดเจนขึ้นอีก มันเหมือนกับการทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วอาจไม่ได้สายตาสั้นหรือเอียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ใส่แว่นเพราะอาจจะมีปัญหา 2 อย่างในเวลาเดียวกันนั่นเอง

     อ่านมาถึงจุดนี้คงเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะสื่อแล้วว่าสรุปแล้วปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านตัวบุคคลคือกลไกการสร้างความตระหนักรู้ของผู้กำกับสมองเพชรอย่างบงจุนโฮ ที่กระตุ้นชุดความคิดของคนในสังคมให้แสดงออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด และเรื่องระบบที่ซ่อนอยู่ยิ่งทำให้นัยยะการวิเคราะห์ภาพยนตร์ซับซ้อนครอบคลุมเรื่องตัวบุคคลเข้าไปอีกระลอก ถึงเวลาแล้วที่ต้องถามตัวเองว่าเมื่อดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบและหันมาดูสังคมปัจจุบัน เราเห็นปัญหาทั้ง 2 มุมมองที่ไม่ได้แยกขาดจากกันครบถ้วนแล้วหรือยัง สุดท้ายเราจะเลือกสวมแว่นตาที่มองเห็นปัญหาทั้ง 2 รูปแบบหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีฝากไว้ให้คิดในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ปี 2020 “PARASITE”

 

ภาพ: Courtesy of PARASITE

WATCH

คีย์เวิร์ด: #PARASITE