FASHION

เจาะลึกชุดกิโมโนของไทย ที่ญี่ปุ่นมอบให้ 196 ประเทศทั่วโลกในงานโอลิมปิก 2020

ทางผู้ออกแบบได้ลงรายละเอียดบนผืนผ้ากิโมโนและโอบิแทนเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศได้้อย่างน่าสนใจ

     มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 32 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นมีหลายเรื่องราวสุดประทับใจให้ทั่วโลกได้พูดถึง อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับทุกประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้คือ “ชุดกิโมโน” เพราะทางญี่ปุ่นได้รังสรรค์ชุดกิโมโนให้แต่ละประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละชุดนั้นจะมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องสีและลวดลาย แสดงถึงความใส่ใจที่ญี่ปุ่นพร้อมต้อนรับทุกประเทศ รายละเอียดต่างๆ ถูกใส่ไว้ในชุดประจำชาติญี่ปุ่นอย่างครบถ้วน สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ผืนผ้ากิโมโนที่ทางญี่ปุ่นจัดทำให้กับประเทศไทย / ภาพ: Kimono Project

     ชุดกิโมโนสำหรับประเทศไทยถือว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก โดยทางผู้จัดทำเผยว่าชุดกิโมโนชุดนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่ออุทิศให้กับราชอาณาจักรไทยซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ นอกจากนี้วิธีการเลือกสียังถูกออกแบบมาอย่างหมดจด เพราะลวดลายความโดดเด่นต่างๆ นั้นแสดงถึงดวงไฟ ดอกไม้ และลวดลายสีสว่างเป็นหลัก ทางผู้จัดทำจึงเลือกใช้พื้นหลังสีดำเพื่อขับความโดดเด่นของชุดออกมาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมเมื่อสวมกิโมโนแบบครบถ้วนสมบูรณ์ / ภาพ: Kimono Project

     รายละเอียดปลีกย่อยยังเต็มไปด้วยความใส่ใจ เพราะลวดลายของผ้าผืนนี้เน้นการใช้ดอกราชพฤกษ์ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติเป็นลายหลัก เพิ่มความโดดเด่นด้วยลวดลายช้างและพญานาคบนโคมยี่เป็งลอยอยู่บนท้องฟ้าอันแสดงถึงประเพณีและสัตว์ประจำชาติ การจัดวางสัดส่วนลวดลายถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเมื่อผ้าผืนนี้คลุมเป็นชุดกิโมโนแล้วดอกราชพฤกษ์จะรายล้อมไปทั่วร่างกาย อีกทั้งโคมยี่เป็งยังลอยเด่นเป็นสง่าดึงดูดความสนใจได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ช่วงเชิงผ้ายังใส่รายละเอียดของลายปิดทองเอาไว้ด้วย



WATCH




ส่วนโอบิ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุดกิโมโนสมบูรณ์แบบ / ภาพ: Kimono Project

     สัญลักษณ์ที่เพิ่มเติมเข้ามาตัดกับสีเหลืองทองและดำคือการวาดลายสัญลักษณ์ไทยสีน้ำเงินลงพื้นสีขาวแถบแดง ซึ่งเป็นสีประจำธงชาติไทย สอดแทรกอยู่ในลายผ้า แมตช์กับลายไทยและการวางเส้นสีธงชาติในส่วนโอบิที่โดดเด่นด้วยลายรดน้ำอีกด้วย ถือเป็นชุดกิโมโนที่สอดแทรกเอกลักษณ์ประจำประเทศไทยได้อย่างแปลกใหม่และชัดเจนอย่างยิ่ง มากไปกว่านั้นเมื่อสวมใส่ชุดกิโมโนพร้อมรัดโอบิเรียบร้อยจะเห็นว่าสีทั้งหมดผสมผสานเข้ากันได้อย่างลงตัว ตั้งแต่พื้นหลังสีดำ สีเหลืองทองของลวดลาย สีแดง ขาว น้ำเงินของธงชาติ และรายละเอียดต่างๆ ก็ถูกขับขึ้นมาอย่างโดดเด่นและส่งเสริมกันเองได้พอเหมาะพอดี งานส่วนกิโมโนถูกรังสรรค์ขึ้นโดยบริษัท Chiso และส่วนโอบิโดย Chikuzen Orimono

ผืนผ้ากิโมโนประจำชาติของญี่ปุ่นเจ้าภาพ / ภาพ: Kimono Project

     นอกจากของประเทศไทยแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่โดดเด่นเหมือนกันเช่นของประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพในครั้งนี้ โดยชุดกิโมโนดังกล่าวออกแบบโดย Chiso เช่นเดียวกับของไทย เน้นคอนเซปต์เรื่องการเชื่อมสัมพันธ์ของโลก ซึ่งใช้ลายโนโตะเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร พร้อมกับลวดลายดอกไม้เพื่อเป็นตัวแทน 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น

กิโมโนและโอบิของประเทศไอซ์แลนด์ / ภาพ: Kimono Project

     และถ้าหากใครมองถึงสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ก็ต้องหยุดมองที่ชุดกิโมโนของประเทศไอซ์แลนด์อย่างแน่นอน เพราะทาง Kaoru Furune ผู้ออกแบบได้สร้างสรรค์ลวดลายรอยแตกภูเขาไฟสุดตระการตา มาพร้อมบ่อน้ำพุร้อนอันเป็นเชื่อมโยงระหว่างความสวยของงามดินแดนเล็กๆ ในยุโรปกับประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีธารน้ำแข็งและทะเลสาบที่ถูกหยิบยกมานำเสนอบนผืนผ้าอีกด้วย ในส่วนของโอบินั้นเน้นการถักทอด้วยมือแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ฝีมือการออกแบบของ Nishijin-Maizuru

กิโมโนและโอบิของเกาะเฟรนช์ โพลีนีเซีย / ภาพ: Kimono Project

     ข้ามมาฟากโอเชียเนียกันบ้าง โดยในภูมิภาคนี้เราหยิบยกชุดกิโมโนสำหรับทีม “French Polynesia” มานำเสนอ โดย Yui-Project ผู้ออกแบบเผยว่าเขามองดินแดนเฟรนช์ โพลีนีเซียเป็นเหมือนแหล่งวัฒนธรรมอันน่าสนใจ มีทั้งการละเล่นเต้นรำ รอยสัก และพายเรือ นอกจากนี้ภูมิประเทศยังอุดมไปด้วยความสวยจากทะเล รวมถึงพืชพันธุ์อันสัดใส และจุดเด่นสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องรอยสักซึ่ง Nishimura Orimono ผู้ออกแบบได้ใช้แรงบันดาลใจนี้มารังสรรค์ส่วนโอบิได้อย่างหมดจดโดยใช้สีแดงและดำเพื่อสะท้อนให้เกิดเงาแสดงถึงรอยสัก อีกทั้งสีดังกล่าวยังเข้ากับชุดกิโมโนได้อย่างลงตัว

กิโมโนและโอบิของประเทศสหรัฐอเมริกา / ภาพ: Kimono Project

      ในส่วนทวีปอเมริกาเหนือก็ต้องยกให้กิโมโนของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เต็มไปด้วยรายละเอียดความอเมริกันอย่างชัดเจน Masaru Naruse ได้เลือกสัญลักษณ์นกอินทรีมาใช้เป็นลวดลายหลักบนผืนผ้า เติมแต่งด้วยรายละเอียดของกีฬายอดนิยมและแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ เพิ่มความสมบูรณ์แบบด้วยดอกไม้กว่า 50 ชนิดซึ่งเป็นดอกไม้ประจำแต่ละรัฐ ส่วนโอบิ Nakai-Orimono เลือกใช้ใบไม้สีเขียวไล่เฉดสะท้อนถึงเจตจำนงในการเป็นผู้นำด้านสันติภาพของโลก

กิโมโนและโอบิของประเทศเปรู / ภาพ: Kimono Project

      เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาใต้ ชุดของทวีปนี้เราสะดุดตากับชุดกิโมโนสำหรับประเทศเปรูโดย Gota Suwa, Nonohana-Kobo รายละเอียดของชุดนี้นิยามการแบ่งระหว่างสวรรค์กับโลก อดีตและอนาคต และกลางวันกับกลางคืน โดยใช้มาชูปิกชูเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร ส่วนโอบิโดย Watabun นำเสนอเทคนิคการทอแบบดั้งเดิมด้วยการสรรสร้างลวดลายนกโบราณสีรุ้งบนผืนผ้าที่สีดำที่ขับให้นกแต่ละตัวดูมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง

กิโมโนและโอบิของประเทศซิมบับเว / ภาพ: Kimono Project

     ปิดท้ายกันด้วยกิโมโนสำหรับประเทศซิมบับเว ทวีปแอฟริกา ที่ Yoshikawa-Sensho ออกแบบโดยใช้ลายเส้นแดงและขาวพลิ้วไหวตามเนื้อผ้าเปรียบกับลมพัดปลิวไสวในทุ่งหญ้าสะวันนา มาพร้อมกับต้นเบาบับ ดอกกลอริโอซ่า และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายอันเป็นเอกลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคนี้ ในส่วนโอบิโดย Obihiro เน้นลวดลายดอกกลอริโอซ่าขนาดใหญ่ ลงสีเขียว เหลือง แดง และดำ ซึ่งเป็นสีประจำชาติของประเทศซิมบับเว สร้างความสมดุลด้วยโครงร่างของรูปทรงแพลติทัม และเมื่อทั้ง 2 ส่วนประกอบกันเป็นชุดที่สมบูรณ์แบบก็จะสะท้อนความงดงามของดินแดนแอฟริกาแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Olympic #Tokyo2020