FASHION

คุยกับ Arty & Fern หนุ่มสาวที่หลงใหลแว่นตาเสียยิ่งกว่าความรัก

รู้จักกับแฟชชั่นของ อาร์ต-ชนกันต์ อุโฆษกุล และ เฟิร์น-อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง

“ส่องหาอะไร” “ส่องหาความพอดี” อาร์ต-ชนกันต์ อุโฆษกุล และ เฟิร์น-อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง ถาม-ตอบในใจทุกครั้งที่หยิบดูแว่นตานับร้อยที่สะสมและแว่นตาอีกไม่รู้กี่มากน้อยที่จะคัสตอมเมดขึ้นในอาเตลิเยร์แว่นตาเฉพาะบุคคล Arty & Fern

 

PERSONAL INFORMATION

ร้านแว่นของพ่ออยู่มา 35 ปี เฟิร์นเห็นแว่นมาตั้งแต่เกิด มีแว่นเหน็บไปด้วยทุกที่ เปลี่ยนแว่นทุกวัน แต่อาร์ตบ้าหนักกว่า สมัยเรียนศิลปากรอยู่ใกล้วังหลัง เป็นขุมทรัพย์แว่นเก่าของเขาและชอบสั่งซื้อแว่นทรงแปลกๆ จากอีเบย์ ไล่ศึกษาความเป็นมาของแว่นแต่ละรุ่น พอทำงานแล้วก็ยังซื้อแว่นทุกเดือน เงินเดือนหมื่นแปดซื้อแว่นอันละหมื่น อาร์ตเคยหุ้นกับเพื่อนสั่งซื้อแว่นมาขายออนไลน์ สุดท้ายขายไม่หมดก็เก็บไว้เอง เพราะเลือกแต่โมเดลที่ชอบอยู่แล้ว

 

MATERIALS INFORMATION

ผมไม่ได้เทสต์สูง แต่ชอบแว่นที่ดี ได้แว่นมาอันหนึ่งจะส่องทุกซอกทุกมุม ดูบานพับ ดูอะไหล่ ดูวิธีการเชื่อมต่อ ใช้ตอก ขันสกรูหรือใช้กาว แล้วเราก็พบว่าทุกคนเจอปัญหาเดียวกัน คือแว่นที่เราชอบจะขาดๆ เกินๆ นิดหน่อยเสมอ เอาเข้าจริงดีไซน์เกี่ยวกับแว่นที่ดีน้อยมาก ไม่ใช่ทฤษฎีที่ถูกสอนกันมาว่าคนหน้ากลมต้องใส่แว่นกรอบเหลี่ยมอะไรแบบนั้น รูปหน้าแบบไหนก็ใส่แว่นได้ทุกทรง เพราะแว่นที่ดีคือแว่นที่พอดีกับเรา เริ่มคิดอยากทำแว่นที่พอดีกับเราจริงๆ ขึ้นมา

 

LENS COLOUR

เรา 2 คนเริ่มทำแว่นในวันที่พ่อเฟิร์นเสียไปแล้ว เลยต้องเรียนรู้ใหม่ด้วยตัวเองทั้งหมด เราเป็นเด็กสายศิลป์ที่ไปซื้ออุปกรณ์เคมีจากศึกษาภัณฑ์มาทดลองย้อมสีเลนส์ใส่กรอบแว่นเก่าๆ ที่มีอยู่ ลองผสมสีใหม่ๆ คิดวิธีกั้นสีให้เป็นเลเยอร์ ได้แว่นสีและทรงแปลกๆ เช่น เลนส์สีธงชาติ เลนส์รูปหัวใจ ทำมากี่อันก็ขายหมดเกลี้ยง

 

CREATE THE NEW DESIGN

พอขายแว่นย้อมเลนส์หมดแล้วจะทำไงต่อ ถ้าเรามีหัวการค้าสักนิดก็คงไปติดต่อโรงงานสั่งผลิตและเอามาขายไปแล้ว แต่สิ่งที่เราคิดกันในตอนนั้นคือไปเรียนทำกรอบแว่น พิมพ์คำในกูเกิลมั่วๆ eyewear, school, design, handmade, craftsman จนมาเจอ M.O.F. - Meilleurs Ouvriers de France Lunetiers โรงเรียนช่างที่เมืองโมเรซในฝรั่งเศส เมืองนี้เป็นต้นกำเนิดของการผลิตแว่น Made in France ในศตวรรษที่ 16-17 ทุกวันนี้แบรนด์ดังๆ ของโลกจ้างครูที่โรงเรียนนี้ให้ออกแบบแว่นต้นแบบแล้วส่งต่อให้โรงงานผลิต เราส่งอีเมลเล่าเรื่องร้านแว่นของพ่อ การทดลองทำแว่นของเรา ตบท้ายว่าคงจะดีมากถ้าเราได้ไปสืบทอดวิชาการทำแว่นที่ถูกต้องจากเขา ปรากฏว่าเขาตอบรับและเรากลายเป็นคนเอเชียคู่แรกที่ได้เรียนที่นั่น

 

CREATE YOUR OWN DESIGN

ก่อนหน้านี้เราแค่อยากดีไซน์แว่นเก๋ๆ แต่เปลี่ยนความคิดหลังจากดูสไลด์ของครูที่เล่าถึงการทำแว่นเพื่อช่วยคนที่ใส่แว่นไม่ได้ให้ใส่แว่นได้ เช่น เด็กพิการที่เกิดมามีกะโหลกเล็กมากแค่ 8 ซม. หรือคนที่เกิดมาไม่มีหู คนเหล่านี้มีปัญหาทางสายตาแต่ไม่มีแว่นที่พอดี ทำให้เราเจอคำว่าคัสตอมเมด คือการออกแบบแว่นเฉพาะบุคคล จริงๆ แล้วแค่ทำกรอบ ใส่เลนส์ ติดบานพับก็เป็นแว่นได้แล้ว แต่ถ้าถามคนใส่เขาจะบอกว่าไม่ได้ใส่แว่น มันคือเครื่องประดับหน้า เพราะมันอาจจะหนักกดหน้า หรือใส่ไม่พอดี ดังนั้นเราจะแก้ปัญหาความสวยที่ใส่ไม่สบายให้คนที่ใส่แว่นทุกคน

 

SIGNATURE

ตอนเรียนทำแว่นครูต้องคอยประกบนักเรียนตลอดเวลา เพราะเครื่องมือทุกชิ้นอันตรายมาก ห้ามมั่วซั่วทำเอง ถ้าทำเสียนิดเดียว หัวตัดอาจจะบิ่นซึ่งราคาก็สูงมาก ต้องสั่งซื้อของใหม่จากเยอรมนีที่เดียว หรือมือเรานี่แหละอาจจะพังไปเลย บางทีครูสอนอยู่แล้วพลาดทำเหล็กเสียบมือตัวเอง แล้วเขาก็บอกว่า “Your experience’s on your hand.” มือของครูเหมือนเป็นเครื่องมือทำแว่นชิ้นหนึ่ง นิ้วโป้งแข็งเหมือนไม้จากการดัดแว่นโลหะ บ้างเล็บหลุดหายไปเลย นิ้วโดนสว่านปั่น โดนเครื่องฝังลวดเจาะ บางจุดโดนสารเคมี ซึ่งนิ้วเราก็เริ่มหายเพราะจับกระดาษทรายทุกวัน แต่ทุกรอยคือประสบการณ์บนมือเรา

 

REMARK

ครูของเราเป็นคนแก่อายุ 80 ที่ขับรถไปกลับ 200 กิโลเพื่อจะมาสอน มีคนบอกเขาว่าอายุขนาดนี้อยู่บ้านพักผ่อนได้แล้ว เรามองว่าเขาเป็นศิลปิน ไม่ใช่ช่างฝีมือ เขามีศิลปะในหัวใจและเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยแพชชั่นที่อยากจะทำอะไร ใหม่ๆ ตลอดเวลา เราเองก็เคยคิดในช่วงแรกๆ ว่าจะเบื่อการทำแว่นไหม แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราคุยกันแต่เรื่องแว่น เราสนใจว่าจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าแต่ละคนได้อย่างไร 2 ปีที่ผ่านมาทำแว่นคัสตอมเมดไป 200 อันด้วยโจทย์ที่ไม่เหมือนกันเลย รู้สึกเหมือนได้ทำอะไรใหม่ๆ ทุกวัน ไม่มีจุดไหนที่เราจะทิ้งการทำแว่น มีแต่จุดที่เราอยากจะทำให้ดีขึ้นและดีขึ้น

 

สัมภาษณ์: ธนาย์ ปริยากร

เรียบเรียง: จักรพงษ์ กันยากุล

แต่งหน้า: คชาภรณ์ แพรงาม

WATCH

คีย์เวิร์ด: Obsession People Feature Digital Famous Interview