lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1
FASHION

เปิดชีวิตกูตูริเยร์หญิงผู้รอดชีวิตจากเรือไททานิคในขณะที่เธอกำลังขนเสื้อผ้าไปมหานครนิวยอร์ก

Lady Duff-Gordon คือบุคคลผู้รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ แต่นั่นไม่ใช่นิยามที่ถูกบันทึกไว้อย่างดิบดี เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเธอก็เต็มไปด้วยข้อครหาเช่นกัน

     เมื่อนึกย้อนถึงเหตุการณ์การเดินทางที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด เหตุการณ์แรกๆ ที่อยู่ในความคิดของใครหลายคนคือเหตุการณ์เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแห่ง ภายในเหตุการณ์ดังกล่าวๆ มีเรื่องราวยิบย่อยเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือการเอาตัวรอดของดีไซเนอร์ผู้ออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงอย่าง Lady Duff-Gordon ทว่าการรอดชีวิตครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นประสบการณ์อันน่าเหลือเชื่อและสร้างตำนานให้กับห้องเสื้อ ทว่ายังมีข้อครหาเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดของเธออีกด้วย วันนี้โว้กจะมาย้อนความหลังถึงประสบการณ์เฉียดตายครั้งประวัติศาสตร์ที่มีแง่มุมถกเถียงกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

Lady Duff-Gordon บุคคลต้นเรื่องของเรื่องราวนี้ / ภาพ: Encyclopedia Titannica

     เริ่มชีวิตอันสวยหรูกับครอบครัวชนชั้นสูง...Lucy Christiana Sutherland เป็นลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของ Douglas Sutherland วิศวกรฝีมือเยี่ยมและ Elinor Saunders เธอเกิดในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 1863 ก่อนจะย้ายไปเติบโตที่ประเทศแคนาดา ประเทศบ้านเกิดของแม่ เนื่องจากพ่อของเธอเสียชีวิตจากโรคไข้รากสาดน้อย เธอเผชิญกับชีวิตที่ต้องย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ ตั้งแต่ย้ายตามครอบครัวใหม่ของแม่ และการเดินทางหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้แบบไม่ย้ายไปจากหัวสมองแม้แต่นิดเดียวคือเรื่องแฟชั่น ลูซี่เริ่มชื่นชอบเรื่องเหล่านี้จากการเล่นแต่งตัวตุ๊กตา ศึกษาการสวมชุดรูปแบบต่างๆ ผ่านภาพวาดของครอบครัว หลังจากนั้นจึงเริ่มศึกษาและลองทำชุดใส่เอง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอพบเส้นทางชีวิตที่อยากจะเลือกเดิน

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

Sir Morell Mackenzie ศัลยแพทย์ชื่อดังผู้เป็นดั่งยาใจของ Lady Sutherland Wallace (ชื่อเดิม) / ภาพ: Bryne & Co. Wellcome

     ตลอดระยะวัยสาวเธอหมกมุ่นอยู่กับเรื่องแฟชั่นและความรัก ต้องบอกว่าความรักของลูซี่นั้นหวือหวาราวกับงานวรรณกรรม เขาพบรักกับ James Stuart Wallace สุภาพบุรุษชนชั้นสูงผู้มีสถานะเป็นถึงเอิร์ลที่ 2 แห่งฮัลส์บิวรี่ ทว่าเรื่องราวความรักไม่ได้สวยหรูดั่งยศถาบรรดาศักดิ์ คู่ครองเธอติดสุราอย่างหนัก จนลูซี่ต้องหาที่พึ่งทางใจโดยมีความสัมพันธ์ยาวนานกับ Sir Morell Mackenzie ศัลยแพทย์ชื่อดัง จนสุดท้ายชีวิตคู่ระหว่างเธอและเจมส์ก็เริ่มห่างเหิน ก่อนจะหย่าร้างกันอย่างเป็นทางการในปี 1893 หลังจากนั้นเธอต้องเลี้ยงดูตัวเองและลูกสาวเพียงลำพัง เธอตัดสินใจนำทักษะและแพชชั่นเรื่องแฟชั่นมาทำให้เกิดอาชีพ ลูซี่ทำงานเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าภายในบ้านของเธอเอง ก่อนจะเปิดร้านแรกในชื่อ “Maison Lucile” ในเวลาต่อมา ซึ่งร้านดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรู้จักชื่อลูซี่ หรือ “Lucile” ชื่อที่คุ้นเคยกันดีในแวดวงแฟชั่นแห่งสหราชอาณาจักรยุคนั้น



WATCH




lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

Sir Cosmo Duff-Gordon สามีของ Lady Duff-Gordon / ภาพ: Alchetron

     การเริ่มต้นอาจมาจากความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตคู่ แต่เหมือนชะตาชีวิตกำหนดให้เธอทุ่มทุกอย่างให้กับแฟชั่น เมื่อเปิดห้องเสื้อได้ไม่นานเธอก็มีลูกค้าสำคัญคือ Margot Asquith สุภาพสตรีชนชั้นสูง และดัชเชสแห่งยอร์ก (ภายหลังคือสมเด็จพระราชินีแมรี) ซึ่งช่วงปี 1900 เป็นช่วงที่ลูซี่พบเจอรักที่สวยงามอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอพบรักกับ Sir Cosmo Duff- Gordon สุภาพบุรุษผู้สืบฐานันดรจากราชวงศ์อังกฤษ ร้านของเธอก็ดำเนินไปได้อย่างสวยหรูเช่นเดียวกับชีวิตรัก กราฟชีวิตของลูซี่พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าจากสังคมชนชั้นสูงต่างเลือกห้องเสื้อลูไซล์เป็นอันดับแรกๆ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกราชวงศ์ รวมถึงดาราชื่อดังในสมัยนั้นมาเป็นแขกคนสำคัญด้วย ชื่อของเธอโด่งดังข้ามประเทศไปถึงฝรั่งเศส และดังไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าด้วยการสนับสนุนจากสามีทำให้เธอสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วถึงขนาดเปิดร้านที่มหานครนิวยอร์ก ปารีส และชิคาโก ในระหว่างปี 1910 และ 1911 (ร้านที่ชิคาโกบางแหล่งข้อมูลระบุว่าเปิดปี 1915 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ไททานิค) ซึ่งเธอถือเป็นกูตูริเยร์คนแรกที่เปิดร้านแบบครบวงจรใน 3 ประเทศพร้อมกัน (อังกฤษ, ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา)

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

ภาพเรือกู้ชีพของเรือไททานิค / ภาพ: Titanic Facts

     “การเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างอาณาจักรแห่งลูไซล์” การเดินทางของลูซี่และสามีบนเรือไททานิคไม่เพียงเป็นการเสพความสำราญสุดหรูหราเท่านั้น แต่ทริปนี้มีเป้าหมายในการนำเสื้อผ้าตัดเย็บสุดประณีตจากอังกฤษไปที่ร้านในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งเตรียมดำเนินธุรกิจต่อยอดร้านใหญ่ในนิวยอร์ก ทว่าเรื่องราวกลับไม่เป็นดั่งที่คาดหวัง วันที่ 14 เมษายน 1912 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็งและมีทีท่าว่าจะจมลงก้นสมุทร จากทริปธุรกิจสุดหรูแปรเปลี่ยนเป็นการเอาชีวิตรอด เธอและสามีขึ้นเรือกู้ชีพหมายเลข 1 (Lifeboat No.1) ซึ่งเป็นเรือลำดับที่ 4 ที่ถูกปล่อยออกจากไททานิคที่กำลังเผชิญวิกฤติ เรือดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 40 คน แต่เรือถูกปล่อยออกมาโดยมีผู้โดยสารเพียงแค่ 12 คนเท่านั้น อีกทั้งยังขัดต่อคำสั่งของกัปตันที่ให้ผู้หญิงและเด็กลงเรือก่อนด้วย โดยลูซี่เล่าว่าทุกคนรีบเร่งไปที่เรือลำนั้น เธอโดนผลักให้ลงเรือและได้รับการช่วยเหลือในที่สุด ทว่าเรื่องดังกล่าวกลับได้รับการครหาอย่างหนัก เพราะเรือกู้ชีพลำดังกล่าวอาจทอดทิ้งผู้คนไว้เบื้องหลังโดยไม่จำเป็น

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

การตกแต่งสุดหรูหราในห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งบนเรือไททานิค / ภาพ: Ultimate Titanic

     “ฉันไม่เคยฝันว่าจะได้ล่องเรือหรูหราแบบนี้” ลูซี่เผยถึงความคิดเกี่ยวกับเรือไททานิค พร้อมเล่าเหตุการณ์ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการชื่นชมและเสพความสุขในบรรยากาศเหนือคำบรรยาย และแล้วเหตุการณ์ที่เล่าผ่านมุมมองคนอื่นกลับไม่ได้แค่ระทึกขวัญ แต่ยังทำให้ลูซี่และผู้โดยสารชั้นหนึ่งหลายคนถูกตั้งข้อครหาอย่างมาก ลูกเรือหลายคนต้องเสียทุกอย่างไป แต่ดูเหมือนว่าลูซี่กลับต้องการนำสัมภาระบางอย่างติดตัวมาด้วยได้เสียอย่างนั้น แล้วก็มีข้อถกเถียงว่าสามีของเธอติดสินบนลูกเรือกู้ชีพให้ออกเรือไปโดยไม่วนกลับมาช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญวิกฤติตัดสินชะตาชีวิต ลูกเรือแต่ละคนที่ออกเรือได้รับเงินจำนวน 5 ปอนด์ หรือประมาณ 608 ปอนด์หากเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบัน ด้วยเงินจำนวนนี้ทำให้เรือกู้ชีพหมายเลข 1 ไม่เคยหันหลังกลับมาช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่เบื้องหลังเลยแม้แต่นิดเดียว

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

Lady Duff-Gordon กับสไตล์แฟชั่นอันหรูหรา / ภาพ: Baron Adolphe De Meyer

     ในขณะที่เรือไททานิคและผู้โดยสารมากมายจมลงสู่ก้นสมุทร ลูซี่เขียนจดหมายถึงครอบครัวระบุว่าตนปลอดภัยในวันที่ 22 เมษายน 1912 เรื่องเรือกู้ชีพหมายเลข 1 กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับโลก ลูซี่และสามีได้รับการสอบสวน โดยทางเซอร์คอสโมต้องสู้อย่างหนักเกี่ยวกับการตัดสินบนครั้งนั้น แต่ดูเหมือนลูซี่จะมีทางออกที่ง่ายกว่านั้น เธอระบุว่าจำเหตุการณ์ไม่ได้มากนักเนื่องจากอยู่ในภาวะเมาเรืออย่างหนัก สุดท้ายแล้วครอบครัวดัฟฟ์-กอร์ดอนก็ได้ถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้มีการตัดสินบนเพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทว่าสามีของเธอต้องตกอยู่ในสภาวะจิตใจแสนยากลำบาก เพราะมีการกระพือข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และมันกลายเป็นมลทินติดตัวพวกเขาตลอดไป แม้ไม่มีใครรู้ความจริงที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

ผลงานการออกแบบชุดและสร้างสรรค์วิดีโอแฟชั่นครั้งแรกๆ ของโลกโดย Lady Duff-Gordon / ภาพ: Women Film Pioneers Project - Columbia University

     ชีวิตของเธอหลังจากเหตุการณ์ไททานิคก็กลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้งในฐานะกูตูริเยร์ เธอตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยฝีมือสุดประณีต โดดเด่นด้วยการขึ้นแพตเทิร์นอันแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เนื้อผ้าบางเบา ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายในการทำเสื้อผ้าให้คงรูปได้อย่างสวยงาม อีกทั้งยังสร้างสรรค์ชุดเดรสที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และเรื่องต่างๆ พร้อมทั้งตั้งชื่อให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มากไปกว่านั้นลูซี่ยังได้รับเครดิตเรื่องการฝึกฝนเหล่านางแบบเพื่อเดินอวดโฉมเสื้อผ้าบนแคตวอร์กและสร้างสรรค์วิดีโอแฟชั่นเป็นคนแรกๆ ของโลก ตลอดระยะเวลาทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ไททานิค เธอยังคงเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้รังสรรค์แฟชั่นชั้นสูง และเรื่องราวอันเป็นมลทินนั้นไม่ได้กระทบเธอจนเสียหลัก เพราะแม้สื่อจะประโคมข่าว แต่ก็ไม่ได้แพร่กระจายแบบโลกโซเชียลยุคปัจจุบัน ดังนั้นเธอจึงเดินหน้าต่อไปได้ค่อนข้างราบรื่น

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

RMS Lusitania กำลังอับปางลง ซึ่ง Lady Duff-Gordon รอดอย่างปาฏิหาริย์เพราะปฏิเสธทริปนี้เนื่องจากอาการป่วย / ภาพ: DeeperBlue

     แต่แล้วในปี 1915 เหมือนเธอจะรอดตายไปอีกครั้งอย่างเฉียดฉิวเมื่อเธอและสามีจองตั๋วชั้นหนึ่งบนเรืออาร์เอมเอส ลูซิเทเนีย เรือสำราญที่ถูกตอร์ปิโดยิงจนอับปางในวันที่ 7 พฤษภาคม 1915 แต่ลูซี่กลับยกเลิกทริปดังกล่าวเนื่องจากอาการป่วย ดวงชีวิตของเธอดีจนน่าเหลือเชื่อ ด้านแฟชั่นเองก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดมีการพูดถึงว่าหากพูดถึงชื่อลูซี่หรือลูไซล์คุณค่าของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ทว่าในช่วงปี 1918 ถึง 1919 ห้องเสื้อของเธอกลับพบจุดตกต่ำ สื่อหลายเจ้าขุดคุ้ยว่าเสื้อผ้าจากห้องเสื้อลูไซล์นั้นไม่ได้ออกแบบโดยตัวลูซี่เอง ซึ่งเปิดเผยในหนังสือชีวประวัติว่าถูกกล่าวหาเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ไททานิคเสียอีก และแล้วเหมือนเธอจะใช้ดวงหมดไปกับการเอาชีวิตรอด ปี 1922 เธอตัดสินใจวางมือจากการออกแบบ และห้องเสื้อก็แทบจะล้มลงฉับพลัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของบั้นปลายชีวิตอันล้มเหลว

lucy duff gordon, lady duff gordon, titanic, ไททานิค, ภาพยนตร์ไททานิค, ภาพยนตร์ titanic, titanic lifeboat, titanic lifeboat no.1

หนังสืออัตชีวประวัติ Discretions and Indiscretions ของ Lady Duff-Gordon / ภาพ: Amazon

     ตลอดระยะเวลานับทศวรรษที่เธอยุติเส้นทางสายออกแบบเกือบจะสมบูรณ์ เหลือเพียงการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าแบบส่วนตัวเท่านั้น ชีวิตของลูซี่ไม่ได้โดดเด่นหวือหวาอีกแล้ว เธอกลายเป็นนักวิจารณ์แฟชั่นตั้งแต่ปี 1922 ถึง 1930 ก่อนที่สามีจะเสียชีวิตในปี 1931 แม้เธอจะออกหนังสืออัตชีวประวัติที่ประสบความสำเร็จภายใต้ชื่อ “Discretions and Indiscretions” ในปี 1932 แต่ดูเหมือนชีวิตช่วงสุดท้ายจะไม่มีวันสวยหรูเช่นเดิมอีกแล้ว ลูซี่ย้ายที่อยู่มากกว่า 6 ครั้งในระยะเวลาประมาณ 3 ปี ก่อนสุดท้ายจะปักหลักที่สถานที่ดูแลผู้สูงอายุในกรุงลอนดอน และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1935 ปิดตำนานกูตูริเยร์หญิงผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปางครั้งสำคัญถึง 2 ครั้ง ด้วยวัย 71 ปี เนื่องในวาระครบรอบ 110 ปีเหตุการณ์ไททานิคและ การจากไปครบรอบ 87 ปีของลูซี่ โว้กจึงขอนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวเพื่อย้อนความหลังถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

 

ข้อมูล:

vogue.com

encyclopedia-titanica.org

bowesmuseum.org.uk

WATCH