FASHION

ร้านเพชรของในหลวง! เปิดจดหมายประวัติศาสตร์ที่ ร.๕ ให้ Cartier เป็นร้านเพชรหลวงหนีภัยล่าอาณานิคม

เปิดกลยุทธ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เครื่องเพชรในการแสดงความมีอารยะเพื่อหนีภัยการล่าอาณานิคม

คำบรรยายภาพ: พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ Jules Glaenzer นำติดตัวกลับไปหลังจากการเดินทางมาเยือนเอเชียตะวันออกไกล อยู่ในกรอบกระดาษ มีตราราชลัญจกรประจำแผ่นดิน (ภาพขนาด 4 x14.1 เซนติเมตร) เขาได้เข้าร่วมพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งจัดในวันที่ 11-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ในครั้งนั้นมีการแต่งตั้งให้คาร์เทียร์ กรุงปารีส เป็นผู้จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม และ Jules Glaenzer ได้จัดนิทรรศการเครื่องเพชรของคาร์เทียร์ในพระบรมมหาราชวังอีกด้วย

 

ในการประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะให้ยุโรปรู้จักสยาม ไม่มองว่าสยามเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เพราะยุโรปล่าเมืองอาณานิคมด้วยเหตุผลว่าเมืองเหล่านั้นไม่ศิวิไลซ์ พระองค์มีพระราชประสงค์เสด็จประพาสยุโรปตั้งแต่แรกเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ แต่ถูกทัดทานด้วยทรงยังไม่บรรลุนิติภาวะในขณะนั้น แต่จากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่เรือรบฝรั่งเศสมาปิดแม่น้ำเจ้าพระยา และทำให้สยามต้องเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและทางตอนใต้ ซึ่งเป็นการสูญเสียดินแดนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีการทำสัญญากันลับๆ ระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษที่จะให้สยามเป็นรัฐกันชน จึงทรงพระราชดำริที่จะเสด็จประพาสยุโรป การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้นเป็นไปอย่างเอกเทศ ทรงมีเรือที่เป็นพระราชพาหนะของพระองค์เอง ทรงแต่งกายแบบยุโรปและตรัสภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งทรงมองการณ์ไกลส่งพระราชโอรสมาศึกษาในยุโรปก่อนหน้านั้นแล้ว การเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีมหามิตรเอกคือเยอรมนีและรัสเซีย ซึ่งซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิแห่งรัสเซียผู้เปรียบได้กับประมุขของยุโรปยุคนั้นทรงคุ้นเคยกับพระองค์มาก่อนเมื่อครั้งทรงเป็นซาเรวิซ แกรนด์ ดุ๊ก นิโคลัส (พระบรมโอรสาธิราชของรัสเซีย) และเคยเสด็จมาเยือนสยามเมื่อพ.ศ. 2434

 

ส่วนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 นั้นเป็นการเสด็จเพื่อรักษาพระองค์ เพราะทรงตั้งพระทัยว่าจะไม่เสด็จฯไปยุโรปอีก ยกเว้นทรงพระประชวรต้องเสด็จฯไปรักษาพระองค์ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าทรงเป็นไข้มาเลเรียเรื้อรัง ควรเสด็จฯไปรักษาพระองค์ในประเทศที่มีอากาศแห้ง เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลีจึงเป็นแห่งแรกที่พระองค์ประทับรักษาพระองค์ และแพทย์ที่นั่นแนะนำให้เสด็จไปรักษาแบบวารีบำบัด (สปา) ที่เมืองบาเดนบาเดน ประเทศเยอรมนี นี่เป็นที่มาที่คนยุคหลังตั้งข้อสังเกตว่าทรงมีข้อราชการแฝงในการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 นี้ ซึ่งดูตามการเสด็จไปยุโรปครั้งที่ 2 ก็มีงานราชการเข้ามาเกี่ยวข้องพอดี กล่าวคือเป็นการเร่งให้รัฐสภาฝรั่งเศสพิจารณาสัตยาบันเกี่ยวกับดินแดนสยาม และการพิจารณาก็เสร็จสิ้นในช่วงที่เสด็จนั้น ทรงลงพระปรมาภิไธยให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2449 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2450 เพื่อยุติปัญหาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ยืดเยื้อมานาน แต่หลักใหญ่แล้วทรงเสด็จฯไปรักษาพระองค์เป็นหลัก

 

ในการนี้เองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินยังปารีส ประเทศฝรั่งเศส พระองค์เสด็จฯไปที่ร้าน Cartier ถนน rue de la Paix โดยมี Jules Glaenzer ฝ่ายขายรับเสด็จ มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรกำไลข้อมือเพชร เมื่อนำกำไลข้อมือในตู้ทั้งหมดใส่ถาดมาให้ทอดพระเนตรก็ยังไม่ต้องพระทัย Jules Glaenzer จึงนำกำไลข้อมือเพชรที่เก็บไว้ในห้องนิรภัยออกมาถวายให้ทอดพระเนตร ซึ่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ต่อมาในช่วงพ.ศ. 2451-2452 เขาได้เดินทางมาเอเชียตะวันออกโดยใช้เวลา 7 เดือน แวะที่โคลอมโบ สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ไซง่อน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ อินเดีย (เมืองบอมเบย์ (มุมไบ) อัครา และกัลกัตตา (โกลกาตา)) จุดประสงค์หลักของเขาก็คือการเข้าร่วมพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี พ.ศ. 2451 (ร.ศ. 126)

 

 

คำบรรยายภาพ: หนังสือแต่งตั้งให้คาร์เทียร์ กรุงปารีส เป็นผู้จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามอย่างเป็นทางการ ลงนามโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ราชเลขาธิการในพระองค์ โดยหนังสือแต่งตั้งนี้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ขนาด 7x55.3 เซนติเมตร)

 

ในวาระมหามงคลนี้ Jules Glaenzer ได้จัดนิทรรศการเครื่องประดับของคาร์เทียร์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จทอดพระเนตร รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง นิทรรศการนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก จึงแต่งตั้งให้คาร์เทียร์เป็นร้านเพชรหลวงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจดหมายลงนามโดยราชเลขาธิการในพระองค์ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ มีความส่วนหนึ่งว่า “หนังสือนี้ได้ทำให้ไว้แก่ห้างการ์ตีเยร์ ซึ่งตั้งทำการอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เป็นสำคัญว่า โดยหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้ตั้งให้ห้างที่ออกนามมาแล้วนั้น เป็นผู้จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม”

 

 

คำบรรยายภาพ: บันทึกการเดินทางมายังตะวันออกไกลที่เขียนโดยลายมือของ Jules Glaenzer ในช่วงพ.ศ. 2451-2452 ที่ใช้เวลาทั้งหมด 7 เดือนในการเดินทางจนถึงเซี่ยงไฮ้ เขามาถึงสยามในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 และพักอยู่นานกว่าเดือน เขากล่าวถึงสร้อยพระศอของพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในบันทึกนี้ด้วย


โดยจดหมายและหนังสือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการนี้ได้มีถึง Jules Glaenzer ซึ่งพำนักอยู่ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล (ในสมัยนั้น) นับเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ตัวเขาและคาร์เทียร์ โดยทางคาร์เทียร์ได้รับอนุญาตให้พิมพ์พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 (ตราประจำพระองค์) แสดงบนหัวจดหมายของบริษัท รวมทั้งตราประจำพระองค์ของราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรปที่แต่งตั้งคาร์เทียร์เป็นร้านเพชรหลวงของกษัตริย์ประเทศนั้นๆ นอกจากการถวายงานกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงของประเทศต่างๆ เขายังเป็นคนซื้อและขายเพชรโฮปในนามคาร์เทียร์ รวมทั้งสร้อยมุก Theirs Pearls ของภรรยาของ Louis Adolphe Thiers ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศส ปัจจุบันคือสาธารณรัฐที่ 5 นับจากสมัยนายพลชาร์ล เดอโกล (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยการซื้อและขายนี้ทำกำไรให้คาร์เทียร์เป็นอย่างมาก

 

 

คำบรรยายภาพ: (ซ้าย) หนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ถึง Jules Glaenzer ที่พำนักอยู่โรงแรมโอเรียนเต็ล (ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451) เพื่อแจ้งถึงการมอบหนังสือแต่งตั้งคาร์เทียร์เป็นผู้จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม โดยลงวันที่ในจดหมายคือ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1907 การแต่งตั้งนี้มีขึ้นหลังการเสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 (ขวา) กล่องกระดาษที่บรรจุสมุดบัญชีรายการเครื่องประดับของคาร์เทียร์ที่นำมาจัดแสดงในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เนื่องในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี ซึ่งจัดในวันที่ 11-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451

 

พ.ศ. 2557 ในงานนิทรรศการ Cartier Celebrates 100th Anniversary of the Panther and Maison Cartier’s History with Siamese Royal Household ซึ่งจัดเป็นงาน High Jewelry Gala Dinner ได้มีการนำเครื่องประดับชั้นสูงที่อยู่ในหอประวัติศาสตร์ของคาร์เทียร์มาจัดแสดง โดยชิ้นสำคัญที่สุดที่ยืนยันถึงสายสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักสยามคือสร้อยพระศอของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำจากริบบิ้นไหมกำมะหยี่สีดำตกแต่งด้วยเพชรน้ำงามทั้งสายเป็นลวดลายแบบยุโรปที่นิยมในสมัยนั้นคือสไตล์เอ็ดวอร์เดียนของอังกฤษ แต่จุดเด่นของสร้อยพระศออยู่ที่จุดบรรจบของริบบิ้นไหมที่ตรึงเพชรเป็นลวดลายคล้ายลายประจำยามของไทย ลายประจำยามนี้มีความหมายถึงการปกปักรักษา ป้องกันภัยจากคนคิดร้ายด้วย ซึ่งรสนิยมของราชวงศ์ในสมัยนั้นต้องการความเป็นยุโรป เพราะการแต่งกายทุกอย่างต้องการสื่อถึงความศิวิไลซ์ ไม่ให้ชาติยุโรปมาอ้างเพื่อรุกรานเอาดินแดนไปเป็นอาณานิคม แต่สร้อยพระศอชิ้นนี้ยืนยันถึงความนำสมัยและมีเสน่ห์ของความเป็นไทยในดีไซน์

 

คำบรรยายภาพ: (ซ้าย) แบบร่างเครื่องประดับศีรษะโดยคาร์เทียร์ ลอนดอน (ค.ศ. 1928) โครงทำด้วยแพลทินัม ทับทิม มุก และเพชร มีรูปทรงที่แปลกและด้านหน้าดูคล้ายกระบังหน้าของนางละครรำของไทย (ขวา) แบบร่างด้านหน้าของเครื่องประดับศีรษะชิ้นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการเข้าตัวเรือนของอัญมณีต่างๆ (ทัมทิม มุก และเพชร) ที่เป็นจุดเด่นของชิ้นงาน

 

ช่างออกแบบของคาร์เทียร์ได้สร้างสรรค์สร้อยพระศอเส้นนี้ไว้อย่างงดงามลงตัว โดยการใช้ริบบิ้นผ้าไหมหรือผ้ากำมะหยี่สีดำมาทำเป็นเครื่องประดับรวมกับอัญมณีมีค่าก็คือแฟชั่นของยุคนั้น เราจะเห็นความละเอียดอ่อนรวมถึงการทำชายของริบบิ้นด้วยการร้อยลูกเพชรน้ำงาม เป็นดีไซน์ที่เป็นหนึ่งเดียวจริงๆ นอกจากนี้ยังมีแบบร่างที่คาร์เทียร์ออกแบบในช่วงทศวรรษ 1930 เป็นเครื่องประดับศีรษะที่คล้ายกระบังหน้าของนางละครไทย และมีเทียร่าเก่าแก่ของคาร์เทียร์ที่ออกแบบให้ Lila Vanderbilt Sloane Field เมื่อค.ศ. 1901 ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของคาร์เทียร์ และสเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์เคยนำไปสวมเป็นเครื่องประดับศีรษะโดยติดคว่ำลงเข้ากับท้ายทอยของเธอไปงาน Met Gala 2011 โดยเป็นเทียร่าเพชรทรงคล้ายกระบังหน้านางละครเช่นกัน ซึ่งต้นศตวรรษที่ 20 นั้นสไตล์โอเรียนทัลกำลังมาแรงในแวดวงแฟชั่น ดังจะเห็นในแฟชั่นของปัวเรต์


คำบรรยายภาพ: ภาพร่างเครื่องประดับศีรษะโดยคาร์เทียร์ ลอนดอน ในช่วงทศวรรษ 1930 ที่ดูคล้ายกระบังหน้าของเครื่องละครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นกระแสโอเรียนทัลมาแรงแทรกอยู่ในแฟชั่นและงานมัณฑนศิลป์ต่างๆ

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมองการณ์ไกล ทรงเห็นว่าการสะสมเครื่องประดับอัญมณีนอกจากเป็นการแต่งกายของมเหสีที่ต้องสมพระเกียรติแล้ว ยังเป็นทุนทรัพย์ในภายภาคหน้าได้ ดังเช่นที่พระองค์มีพระราชดำรัสแก่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ซึ่งเป็นอาของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (เจ้าจอมพระสนมเอกคนสุดท้ายในรัชกาลที่ 5) ให้ช่วยจัดการดูแลเครื่องเพชรทั้งหลายที่พระราชทานเพื่อให้เป็นทุนแก่เจ้าจอมสดับในภายภาคหน้าหากสิ้นพระองค์แล้ว แต่ภายหลังด้วยอายุยังน้อยเพียง 20 ปีและเป็นสาวสวย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระวิมาดาเธอฯ เกรงจะมีข้อครหาเพราะเจ้าจอมสดับงามทั้งรูป มากด้วยสมบัติ จึงทรงแนะนำให้เจ้าจอมสดับถวายเครื่องเพชรทั้งหมดแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงไม่รับเพราะถือเป็นของที่พระราชบิดาพระราชทานให้เจ้าจอมสดับ ในที่สุดเจ้าจอมสดับได้ถวายคืนพระพันปีหลวงซึ่งพระองค์ทรงติดต่อกับต่างประเทศเพื่อจำหน่ายแล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาฯ

 

เครื่องประดับเพชรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่บรรดามเหสีนั้นมีรัดเกล้า (Tiara) แบบ Fringe Tiara ตัวเรือนเป็นทองคำขาวประดับเพชรน้ำงามทั้งหมด เทียร่าแบบ Kokoshnik Tiara ซึ่งคำว่า Kokoshnik แปลว่าหงอนไก่และเป็นเครื่องประดับศีรษะสตรีรัสเซียทำจากผ้าปักอย่างสวยงาม มเหสีที่พระองค์โปรดจะได้รับพระราชทานเทียร่าเพชรแบบนี้เหมือนกัน รวมทั้งเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ที่มีภาพถ่ายทรงเทียร่านี้เป็นสร้อยคอ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเทียร่านี้เป็นฝีมือช่างเพชรจากที่ใด เพราะเป็นแบบที่นิยมมายาวนานและถือเป็นทรงคลาสสิกมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ช่างเพชรที่พระองค์โปรดมากในยุโรปก็คือคาร์เทียร์และฟาร์แบเช่ แม้เทียร่าทรงนี้จะเป็นทรงรัสเซีย แต่ช่างในยุโรปสามารถทำเทียร่าทรงนี้ได้เช่นกัน และในหนังสือเกี่ยวกับคาร์เทียร์จะมีแบบร่างของเทียร่าทรง Kokoshnik แบบคลาสสิกที่สามารถเปลี่ยนเป็นสร้อยคอได้

 

คำบรรยายภาพ: สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเลือกเครื่องประดับในแต่ละโอกาสด้วยพระองค์เอง ทรงพระอัจฉริยภาพในการผสมผสานความเป็นไทยแบบโบราณกับการแต่งพระองค์แบบสากลนิยม 

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรัดเกล้าแบบ Fringe Tiara คลาสสิกหลายครั้ง และทรงได้งดงามทั้งเป็นรัดเกล้าและเป็นสร้อยพระศอตามแต่วาระ โดยตัวเทียร่านี้จะปรับให้เป็นรัดเกล้าคาดพระเกศาด้านหน้าดูเป็นรัดเกล้าองค์ใหญ่ หรือทรงเป็นรัดเกล้าองค์เล็กบนพระเกศาที่เกล้าเป็นมวยเล็กๆ บนพระเศียร นอกจากนี้ยังมีภาพที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงเทียร่าเพชรแบบนี้แบบคาดพระนลาฏตามแฟชั่นยุคต้นศตวรรษที่ 20 รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 ที่ทรงเทียร่าแบบนี้ในพระฉายาลักษณ์ ถ้าถามว่าเทียร่าแบบใดที่เป็นที่นิยมของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของโลก คำตอบคงเป็นเทียร่าทรงรัสเซียนี้

 

คาร์เทียร์ได้นำดีไซน์เครื่องประดับอัญมณีชั้นสูงที่เป็นเอกลักษณ์ของยุโรปมาสู่เอเชียตะวันออก ขณะเดียวกันก็นำรูปแบบงานดีไซน์แบบตะวันออกไปสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ดูเป็นตะวันตกได้อย่างงดงามและทรงคุณค่า สมแล้วที่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นร้านเพชรหลวง ในยุคที่ประเทศชาติต้องการแสดงความมีอารยะเพื่อหนีภัยการล่าอาณานิคม

WATCH

คีย์เวิร์ด: Bijoux Cartier History Siam Fashion Feature