FASHION

ย้อนรอยประวัติ ‘Vivienne Westwood’ สาวขบถผู้ฉีกทุกกฎของวงการแฟชั่น

นอกจากเส้นทางในวงการแฟชั่นที่ฉีกทุกกฎแล้ว วิเวียนเองยังเป็นสาวขบถยุคใหม่ที่กล้าใช้ชื่อเสียงของเธอลุกขึ้นมาเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม และเคลื่อนไหวไปพร้อมกับกลุ่มต่างๆ นับไม่ถ้วนอีกด้วย

     สำหรับสาวกแฟชั่น คงไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยผ่านหูชื่อของ Vivienne Westwood แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังอย่างแน่นอน เพราะเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ปลุกกระแสวัฒนธรรมพังก์และถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นออกมาเป็นเสื้อผ้าได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่ออกมารณรงค์ในเรื่องต่างๆ วันนี้โว้กจะพาไปทำความรู้จักกับ วิเวียน เวสต์วูด ผู้หญิงที่โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นมาแล้วกว่า 50 ปี

Malcom McLaren และ Vivienne Westwood

 

     ต้องบอกว่าเส้นทางการเข้าสู่วงการแฟชั่นของ วิเวียน เวสต์วูด เริ่มต้นจากการที่เธอต้องการออกจากพื้นที่ปลอดภัย หรือที่เรียกกันว่า Comfort Zone ของเธอเอง แรกเริ่ม วิเวียนมีความสนใจในเรื่องของการออกแบบ เธอจึงตัดสินใจเข้าเรียนเกี่ยวกับเครื่องเงิน แต่แล้วก็ตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมา “ฉันไม่รู้ว่าชนชั้นแรงงานแบบฉันจะทำมาหากินในโลกของศิลปะได้อย่างไร” วิเวียนกล่าว ทำให้หลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจมาเป็นครูในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ พร้อมกับทำเสื้อผ้าและเครื่องประดับซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรักเป็นอาชีพเสริม

     ในปี ค.ศ. 1962 วิเวียนในวัย 22 ปี ก็ได้พบรักกับ Derek Westwood และตกลงแต่งงานกันในที่สุด โดยเธอได้ออกแบบและตัดชุดแต่งงานของเธอด้วยตัวเอง ทั้งคู่ย้ายมาอยู่ด้วยกันพร้อมกับมีลูก 1 คน แต่แล้ววิเวียนก็ไม่มีความสุขกับชีวิตครอบครัว อีกทั้งยังรู้สึกว่าชีวิตของเธอยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกเยอะ เธอจึงตัดสินใจเดินทางออกจากความรักครั้งนี้ และเรื่องราวความรักครั้งต่อไปของเธอก็เป็นเหมือนจุดหักเหครั้งสำคัญที่ทำให้เธอเป็นวิเวียนในทุกวันนี้ เพราะในปี ค.ศ. 1970 เธอได้พบกับ Malcom McLaren ผู้จุดประกายให้เธอทำเสื้อผ้าแนวพังก์ และพบว่าเธอโหยหาชีวิตแบบนี้มาโดยตลอด วิเวียนบอกลาอาชีพครูและครอบครัวของเธอไปกับเซ็กส์ ยาเสพติด และดนตรีพังก์ วิเวียนและมัลคอล์มตัดสินใจเปิดร้านเล็กๆ ชื่อ Let It Rock ในกรุงลอนดอน เพื่อขายแผ่นเสียงดนตรีร็อกแอนด์โรลยุค ‘50s รวมไปถึงเสื้อผ้ามือสองราคาถูก

คอสตูมของวง The Sex Pistols ที่ดีไซน์โดย Vivienne Westwood

 

     หลังจากนั้นมา ธุรกิจร้านเสื้อผ้าของวิเวียนและมัลคอล์มก็ถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แทบจะทุกปี ทั้งร้าน Too Fast To Live, Too Young To Die ที่ขายเกี่ยวกับชุดหนัง หรือเสื้อยืดขาดๆ พร้อมข้อความที่สื่อถึงเรื่องอนาจาร ร้าน Worlds End ที่ตั้งใจทำเสื้อผ้าแฟชั่นอย่างจริงจัง จนมาถึงร้าน SEX ที่ขายเสื้อผ้าสไตล์เฟติช หรือเสื้อผ้าที่เน้นไปเรื่องความลุ่มหลงในเรื่องเพศ รวมไปถึงเสื้อยืดที่สกรีนคำถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี ยั่วยุ เพราะทั้งคู่ต้องการสร้างผลงานที่มีความดิบเพื่อสะท้อนแรงปรารถนาของผู้คน ร้านเสื้อผ้าสไตล์พังก์ทั้งหมดที่กล่าวมา ถือเป็นสถานที่ที่วิเวียนได้แสดงความสามารถของเธอผ่านเสื้อผ้าที่เธอออกแบบได้อย่างไร้ขอบเขต

     อีกจุดหักเหครั้งสำคัญของวิเวียนก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมัลคอล์มได้แลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับดนตรีกับลูกค้าในร้าน SEX อย่าง Steve Jones และ Paul Cook และได้แรงบันดาลใจจากการเสพดนตรีของคนในยุคนั้น จนกลายมาเป็นการก่อตั้งวงดนตรีงพังก์ชื่อดังของยุค ‘70s อย่าง The Sex Pistols โดยมีมัลคอล์มเป็นผู้จัดการวง และวิเวียน เวสต์วูด ดูแลเรื่องเสื้อผ้าของศิลปิน ทำให้คอสตูมของวง The Sex Pistols กลายเป็นหนึ่งในคอสตูมที่ดีที่สุดระดับตำนาน จนมีการส่งออกเสื้อผ้าขอวงเป็นอันดับ 1 ในประเทศอังกฤษในตอนนั้น และนั่นเองที่ทำให้วิเวียนมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางเป็นต้นมา



WATCH




คอลเล็กชั่น Pirate” เครื่องแต่งกายของโจรสลัดที่น่าเกรงขามด้วยการเลือกใช้ลายกราฟิกและสีที่จัดจ้านดูสนุกสนาน

 

     ที่วิเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการทำเสื้อผ้าแนวพังก์ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมพังก์เริ่มมีอิทธิพลมากในช่วงนั้น เพราะในช่วงปี ‘70s กลุ่มชนชั้นกลางในอังกฤษเริ่มมีแนวคิดการต่อต้านสังคม เนื่องจากคนชนชั้นสูงรวมถึงรัฐบาลแทบจะไม่ให้ความสนใจกับชนชั้นล่าง แนวคิดปฏิวัติจึงเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการความเชื่อ การเมือง รวมถึงจริยธรรมต่างๆ ผ่านดนตรีพังก์และการแต่งตัวที่ไม่แคร์โลก เสื้อผ้าของวิเวียนจึงกลายเป็นผลงานงานศิลปะที่สามารถสวมใส่ได้และพาวัฒนธรรมขบถเหล่านั้นสู่กระแสแฟชั่นหลักได้อย่างดี

     วิเวียนและมัลคอล์มเดินทางเข้าสู่วงการแฟชั่นอย่างเต็มตัวด้วยคอลเล็กชั่นแรกในฤดูกาล Fall/Winter 1981 โดยใช้ชื่อว่า “Pirate” ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่นำเสนอแนวคิดขบถมาประยุกต์ใช้กับเครื่องแต่งกายของโจรสลัดที่น่าเกรงขามด้วยการเลือกใช้ลายกราฟิกและสีที่จัดจ้านดูสนุกสนาน อีกทั้งยังสามารถใส่ได้ทั้งชายและหญิง นับจากนั้น มาผลงานของวิเวียนก็ยังคงเป็นที่จับตามองเสมอ โดยเริ่มดีไซน์เสื้อผ้าไปแนวทางอื่นที่ไม่ใช่แนวพังก์อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลงานในปารีส เป็นคอลเล็กชั่นที่โชว์คอร์เซตชิ้นหรูพิมพ์ลายภาพศิลปะในยุค Rococo ซึ่งในปัจจุบัน เซลิบริตี้ชื่อดังหลายคนยังหยิบมาใช้กันอยู่บ่อยๆ หรือการทำชุดเจ้าสาวในรูปแบบเลเยอร์หลายชั้นที่แปลกตาของ Carrie Bradshaw นักแสดงหลักในภาพยนต์ที่สร้างมาจากซีรีส์ Sex and the City ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และวิเวียนก็ตัดสินใจเปิดไลน์ชุดเจ้าสาวในปีถัดมา

Vivienne Westwood นักกิจกรรมตัวยงที่พร้อมเคลื่อนไหวไปพร้อมกับกลุ่มต่างๆ

 

     นอกจากเส้นทางในวงการแฟชั่นที่ฉีกทุกกฎแล้ว วิเวียนเองยังเป็นสาวขบถยุคใหม่ที่กล้าใช้ชื่อเสียงของเธอลุกขึ้นมาเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม และเคลื่อนไหวไปพร้อมกับกลุ่มต่างๆ ถึงแม้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าของเธอจะเติบโตไวและอาจไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก แต่เธอเองก็เน้นย้ำในเรื่องของ Reuse, Reduce, Recyle อยู่เสมอ เพราะวิเวียนเชื่อว่าผลงานที่เธอผลิตออกมานั้นมีความ Timeless หรือใส่ได้แบบไม่มีเอาท์ และในช่วงปี 2000s เป็นช่วงที่วิเวียนออกมารณรงค์มากขึ้น เธอเคยหยิบยกเอาข้อความเกี่ยวกับการเมืองมาใส่ในผลงานการออกแบบของเธอ โดยพูดถึงเรื่องการต่อต้านภาวะโลกร้อน อาวุธนิวเคลียร์ ไปจนถึงการกักขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช่แค่การแสดงความเห็นผ่านข้อความเท่านั้น เธอยังรณรงค์เรื่องพวกนี้ด้วยตัวของเธอเองเช่นกัน โดยในปี 2014 วิเวียนโกนหัวของเธอเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงเรื่องภาวะโลกร้อนแบบเงียบๆ

     ต้องยอมรับว่า วิเวียน เวสต์วูด เป็นผู้หญิงในวงการแฟชั่นอีกหนึ่งคนที่ประยุกต์ความคิดขบถนอกกรอบของเธอกับบริบทต่างๆ ได้อย่างดี ทั้งในเรื่องของการดึงเอาความคิดสร้างสรรค์ที่หลายคนคิดคงว่าเป็นไปไม่ได้ ออกมาเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรือความกล้าในการเป็นกระบอกเสียงในกับแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้คน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมใครๆ ก็เรียกเธอว่าวีรสตรีของวงการแฟชั่น

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VivienneWestwood #FashionHistory