FASHION

ตามรอยชีวิตขมขื่นของ Frida Kahlo จิตรกรหญิงผู้ใช้ความเจ็บปวด ความทรมาน และความตาย สร้างงานศิลปะ

เธอคือจิตรกรหญิงในตำนาน ตัวอย่างของการใช้ความทุกข์ทรมานในชีวิตเป็นแรงผลักดันในการสร้างชีวิตใหม่

“โดยธรรมชาติแล้ว ชีวิตมนุษย์นั้นต่างมีความเจ็บปวดทรมานเป็นเจ้าเรือน”...

 

     ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 บนหน้าปกโว้กประเทศเม็กซิโกได้ร่วมรำลึกถึงจิตรกรหญิงชื่อก้องโลกอีกหนึ่งชีวิตนามว่า Frida Kahlo พร้อมกันนั้นยังร่วมเฉลิมฉลองให้กับวาระของการเปิดตู้เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวของจิตรกรหญิงคนนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ตู้เสื้อผ้าของเธอ(ที่คนทั้งโลกตั้งตารอ)ถูกปิดตายมานานกว่า 50 ปี ก่อนที่มันจะถูกนำมาจัดเป็นนิทรรศการสำคัญในชื่อว่า Appearances Can Be Deceiving: The Dresses of Frida Kahlo เพื่อเป็นการชุบชีวิตจิตรกรหญิงคนนี้อีกครั้งหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1954 และสามีของเธออย่าง Diego Rivera จงใจปิดมันเอาไว้ เพื่อรักษาความทรงจำอันล้ำค่าของ ฟรีดา คาห์โล เอาไว้ให้ยังมีชีวิตในตู้เสื้อผ้าหลังนั้น แม้วันที่เธอจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม...

(ขวา) ภาพถ่ายของจิตรกรหญิง Frida Kahlo และสามีของเธอ Diego Rivera 

 

     ฟรีดา คาห์โล ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1907 พร้อมชื่อเต็มว่า Magdalena Carmen Frieda Kahlo y Calderón แต่เธอโกงอายุตัวเองด้วยการเขียนปีเกิดใหม่เป็นปี 1910 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นเดียวกันกับเหตุการณ์ ‘การปฏิวัติเม็กซิโก’ ที่สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนทางสังคม และการเมืองของประเทศเม็กซิโกอย่างชัดเจน ซึ่งนั่นเองที่กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฟรีดาผู้ซึ่งฝักใฝ่ด้านการเมือง มีความหวังที่ต้องการจะเริ่มต้นชีวิตไปพร้อมกับ ‘เม็กซิโกใหม่’ จนยอมลงปีเกิดใหม่ของตัวเองช้าไปถึง 3 ปี ซึ่งนับเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของความโลดโผนเล็กๆ ในชีวิตจิตรกรหญิงคนนี้เท่านั้น

     เรื่องโลดโผน เจ็บปวด และอัศจรรย์ในชีวิตของฟรีดาไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น อุปสรรคในด้านการใช้ชีวิตของเธอล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากร่างกายของเธอทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอยังมีอายุเพียง 6 ปี ก็พบว่าเธอป่วยเป็นโรคโปลิโอ ส่งผลให้ขาข้างขวาของเธอนั้นสั้นกว่าปกติ ซึ่งสังเกตได้จากรองเท้าของเธอทั้งสองข้างที่ถูกดัดแปลงไม่เหมือนกัน ให้เข้ากับการใช้งานในชีวิตจริง แต่ดูเหมือนว่าโชคร้ายเรื่องโปลิโอจะเป็นแค่สัญญาณเริ่มต้นเท่านั้น เพราะต่อมาในปี 1925 ในวัย 18 ปี เธอก็ต้องประสบอุบัติเหตุบนรถบัส แท่งเหล็กแทงทะลุผ่านกระดูกเชิงกราน ทำให้เธอต้องสวมใส่เครื่องรัดตัวเหล็กแบบเต็มตัวตลอดเวลา ชีวิตหลังจากนั้นของฟรีดาจึงต้องอยู่เพียงแต่บนเตียงเท่านั้น กระนั้นชีวิตที่ยังไม่ตาย ก็ยังต้องสู้ต่อไป และพ่อของเธอก็จุดประกายให้ฟรีดากลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง ด้วยการซื้อกระดาษ และพู่กันนำไปให้เธอใช้วาดรูป ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่งานอดิเรกเท่านั้น หากยังเป็นการบำบัดชั้นดีของฟรีดาเองอีกด้วย

     

ภาพวาด “Moses” ในปี 1945 ซึ่งผู้คนส่วนมากรู้จักกันในชื่อ "Nucleus of Creation" ผลงานของจิตรกรหญิง ฟรีดา คาห์โล

 

     ไม่ว่าจะด้วยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การเริ่มต้นวาดภาพในครั้งนั้นได้เปลี่ยนให้เธอกลายเป็น "เทรนด์เซ็ตเตอร์ด้านการเซลฟี่" ผู้มาก่อนกาลทันที ด้วยเทคนิคการนำกระจกมาวางไว้ให้เธอได้เห็นเงาสะท้อนของตัวเอง เพื่อวาดภาพพอร์เทรตของตัวเองขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปีให้หลังจากเหตุการณ์อุบัติเหตุ ทว่าฟรีดาก็ยังคงแน่วแน่ในการสร้างภาพพอร์เทรตตลอดชีวิตของเธอ ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วจะพบว่าตลอดชีวิตของฟรีดานั้น เธอวาดภาพพอร์เทรตตัวเองไปมากถึง 55 ภาพด้วยกัน และผลงานอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งแต่ละภาพยังโดดเด่นแปลกตาไปกว่างานของจิตรกรคนอื่นๆ ในยุคเดียวกัน จนหลายคนจำกัดความจิตรกรหญิงในตำนานคนนี้ว่า เป็นจิตรกรในกลุ่ม Surrealist (เหนือจริง) แต่เธอก็ไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็นเช่นนั้น กระทั่งที่เธอยังเคยพูดเอาไว้ว่า “They thaught I was a surrealist, but I wasn’t. I never painted dreams or nightmare, I painted my own reality.”  ในยุคหลังมานี้จึงมาการจำกัดคำว่า Megical Realism (สัจนิยมมหัศจรรย์) ขึ้นมาเพื่อจำกัดความงานของฟรีดาแทน โดยภาพวาดที่เห็นชัดมากที่สุดก็คือ “Moses” ในปี 1945 (ซึ่งผู้คนส่วนมากรู้จักกันในชื่อผลงาน Nucleus of Creation) ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในงานนิทรรศการศิลปะประจำปีของ Palacio de Bellas Artes ไปได้สำเร็จ โดยฟรีดาเลือกจะสร้างสรรค์มันในรูปแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดเล็ก ที่แม้ว่าจะออกมาดูเหนือจริง แต่องค์ประกอบในภาพกลับสื่อถึงเรื่องราวความจริงแท้ของชีวิตมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “วัฏจักรของชีวิต” ซึ่งประกอบด้วยทารก, ตาที่สามอยู่บนหน้าผาก, การถือกำเนิดของดวงอาทิตย์, เทพเจ้า, วีรบุรุษผู้เป็นมนุษย์, และมือแห่งความตาย



WATCH




ภาพวาด The Two Fridas ฝีมือของจิตรกรหญิง ฟรีดา คาห์โล ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานสำคัญ

 

     ส่วนผสมอันสำคัญในงานศิลปะของเธอก็คือ “ความเจ็บปวด” จากชีวิตของเธอเอง ที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ฟรีดาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นมาสเตอร์พีซประดับวงการศิลปะระดับโลกในหลายๆ ครั้ง หนึ่งในนั้นคือ The Two Fridas ภาพวาดฟรีดาสองคน ที่มีเบื้องหลังอันแสนรวดร้าวเล่าถึงเรื่องราวการหย่าร้าง และแยกจากกันของเธอ และสามี ดิเอโก ริเวอรา ในปี 1939 หลังจากที่ทนความเจ้าชู้ของเขาไม่ไหว (ก่อนที่จะกลับมาคืนดีกันอีกครั้งในปีถัดมา) ซึี่งเมื่อความสัมพันธ์ครั้งนั้นจบลง ฟรีดาก็ได้ประกาศตัวเป็น “Bisexual” ทันที ด้วยการควงทั้งผู้หญิง และผู้ชายไม่ซ้ำหน้า ไม่ว่าจะเป็น Leon Trotzky, Nickolas Muray, Chavela Vargas และ Heinz Berggruen นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในยุคหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องด้านสตรีนิยมแบบถอนรากถอนโคน (Radical Feminist) ฟรีดาจึงถูกนำมาอ้างถึงอยู่บ่อยครั้ง ก็เนื่องด้วยรสนิยมทางความสัมพันธ์ เรื่องสไตล์การแต่งตัว และเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างคิ้วหนา และไรหนวดที่ไม่ยอมโกนออก เพื่อปฏิเสธบรรทัดฐานความงามของผู้หญิงในสังคมสมัยนั้นนั่นเอง

1 / 4

ภาพจากรันเวย์โชว์แบรนด์ Jean Paul Gaultier ปี 1988


2 / 4

ภาพจากรันเวย์โชว์แบรนด์ Moschino ประจำฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูหนาว ปี 2012


3 / 4

ภาพจากรันเวย์โชว์แบรนด์ Alberto Ferretti ปี 2014


4 / 4

ภาพจากรันเวย์โชว์แบรนด์ Dolce & Gabbana ประจำฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูหนาว ปี 2015


     จะว่าใช้ชีวิตคุ้มก็ไม่เชิง แต่จิตรกรหญิงที่ชื่อ ฟรีดา คาห์โล ก็ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน ทั้งการป่วยเป็นโปลิโอ, การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสี่ยงกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต, โดนนอกใจจากสามีที่เธอรัก ไปจนถึงการประกาศตัวเป็นไบเซ็กชวล และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยมแบบถอนรากถอนโคน กระนั้นฟรีดาก็จากโลกนี้ไปอย่างรวดเร็วในวัยเพียง 47 ปีเท่านั้น จากสาเหตุของสุขภาพร่างกายอันย่ำแย่จากการใช้สารเสพติด และดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในช่วงหลังเพื่อบำบัดชีวิต ทิ้งไว้เพียงผลงานแสนนิ่งเงียบไร้ชีวิตชีวาชิ้นสุดท้ายอย่าง Viva la Vida, Watermelons ให้ได้ดูต่างหน้า ทว่าเรื่องราว และผลงานของเธอก็ไม่ได้ตายตกไปตามกัน เพราะ 16 ปีให้หลังจากปีที่เธอเสียชีวิตลง ทางการของประเทศเม็กซิโกยังได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของงานศิลปะของเธอ กระทั่งที่สร้างพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของเธอให้ที่ “บ้านสีน้ำเงิน” บ้านหลังเดิมที่เธอเคยอาศัยอยู่ตอนที่ยังมีชีวิต นอกจากนี้สไตล์ของเธอเองก็ยังคงอยู่ตลอดกาล กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับรันเวย์โชว์ของแบรนด์แฟชั่นดังหลากหลายแบรนด์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นคอลเล็กชั่นประจำปี 1988 ของแบรนด์ Jean Paul Gaultier, แบรนด์ Moschino คอลเล็กชั่นฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2012, แบรนด์ Alberto Ferretti ประจำปี 2014 หรือกระทั่งบนรันเวย์ของแบรนด์ Dolce & Gabbana คอลเล็กชั่นฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2015 ที่ล้วนแล้วแต่ปลุกชีพจิตรกรหญิงคนนี้ขึ้นมาให้โลกใบนี้ไม่ลืมเลือนเธอ ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในตอนที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ตาม...

 

ข้อมูล : mymodernmet.com
ข้อมูล : The Guardian UK
ข้อมูล : Vogue.fr
ข้อมูล : Wikipedia
ข้อมูล : fridakahlo.org

WATCH

คีย์เวิร์ด: #FridaKahlo