FASHION

CHANEL Cruise 2019 ยิ่งใหญ่แค่ไหน? รู้ลึกก่อนที่ La Pausa จะมาทอดสมอที่ไทยเป็นครั้งแรก!

     ประกาศ! ประกาศ! เรือเดินสมุทร La Pausa ของ Chanel กำลังเคลื่อนตัวแล่นนำความหรูทั้งปวงเพื่อมาเทียบท่ายังกรุงเทพมหานครในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้อย่างเป็นทางการ ขอให้ผู้โดยสารเตรียมตัวขึ้นเรือเพื่อท่องทะเลไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของซูเปอร์แบรนด์เพชรยอดมงกุฎจากกรุงปารีส บัดนี้กัปตัน Bruno Pavlovsky ควบตำแหน่งประธานใหญ่ฝ่ายแฟชั่นกำลังเตรียมการต้อนรับทุกท่านอย่างอบอุ่น โปรดแสดงหนังสือเดินทางจากโว้กประเทศไทยให้พร้อม เพราะประสบการณ์มหัศจรรย์เที่ยวนี้จะเทียบไม่ได้กับทริปไหนๆ ที่เคยเทียบท่าในประวัติศาสตร์แฟชั่นในประเทศไทย

     กาลครั้งหนึ่ง...เนิ่นนานเกินล่วงรู้ว่าตนจะกลายเป็นตำนาน หญิงฝรั่งเศสนิสัยหัวขบถนางหนึ่งกำลังเพลิดเพลินอยู่บนกราบเรือกลางมหาสมุทรในเที่ยวสำราญกับคู่รักเชื้อเจ้าชาวอังกฤษผู้มั่งมี เธอสำรวจมองลงไปยังชายหาดท่าเรือซึ่งคลาคร่ำไปด้วยเหล่าแรงงานลูกทะเลและกะลาสีหนุ่มในลุคกางเกงขากว้าง สเวตเตอร์ผ้าทอลายเกลียวเชือก เสื้อยืดคอปาดลายทาง เรื่อยไปจนถึงกางเกงขาสั้นสไตล์เบอร์มิวด้าอย่างใจจดใจจ่อ จากนั้นจึงหลอมรวมแรงบันดาลใจและร่ายมนตร์เสกสร้างอาภรณ์แปลกหน้าในสายตาคนยุคเดียวกัน โดยไม่ลืมแทรกแซงประเด็นการสลายชนชั้นและเพศสภาพเข้าไปตามสัญชาตญาณระหว่างเส้นด้าย ก่อนนำเสนอคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าชั้นสูงผ่านห้องเสื้อที่ตั้งนามตามสกุลของเธอซึ่งได้ชื่อว่าบุกเบิกกรุยทิศทางใหม่ให้กับแวดวงแห่งสไตล์ยาวนานนับแต่บัดนั้นเรื่อยไปจนถึงอีกราวศตวรรษถัดมา

     ใครเล่าจะล่วงรู้ว่านิทานที่มีตัวนำแสดงฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมคือมาดมัวแซล Gabrielle ‘Coco’ Chanel บทนี้จะกลายเป็นจุดกำเนิดของแฟชั่นโชว์ที่ตระการตาที่สุดในประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นโลก นับแต่กูตูริเย่ร์รุ่นบุกเบิกนาม Charles Frederick Worth ริเริ่มติดพะแผ่นป้ายยี่ห้อลงบนชุดกระโปรงที่เขาออกแบบและตัดเย็บขายเป็นรายแรกของวงการ

 

1 / 3

ออกแบบ - ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ณ ท่า Chanel เพื่อรอขึ้นเรือ La Pausa


2 / 3

ความยิ่งใหญ่ของเรือจำลอง La Pausa


3 / 3

Gabrielle Chanel นั่งบนกราบเรือ Flying Cloud ในปี 1926


     ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ในชีวิตให้ตีตั๋วไปนั่งสังเกตการณ์ ณ โป๊ะจำลองโรยทรายกรวดกลางพิพิธภัณฑ์ กร็องด์ ปาเลส์ ประเทศฝรั่งเศส ต่างรับรู้ได้ถึงอุปทานหมู่และสัมผัสได้ชัดเจนว่าสิ่งเร้าอันดับต้นที่สร้างความประทับใจได้อย่างยิ่งยวดในพริบตาเดียวหาใช่ผลงานการออกแบบเสื้อผ้าฝีมือไกเซอร์ Karl Lagerfeld หากแต่เป็นเซตติ้งโปรดักชั่นอลังการงานสร้างที่เนรมิตเรือสำราญขนาดเท่าจริงไว้กลางพื้นที่จัดแสดง ล้อมรอบด้วยคลื่นทะเลจำลองซึ่งผสมรวมงานจับเดรปผ้าใบเข้ากับเทคนิคการจัดแสงขั้นเทพ บวกพ่วงด้วยปล่องไฟสีแดงพ่นควันฉุยและกำแพงดาวระยิบภายใต้โดมสูงระดับสัญลักษณ์กรุงปารีสที่ก่อขึ้นจากซี่โครงเหล็กลำโค้งสีเขียวเข้ม ไม่นับรวมเสียงคลื่นลมเสมือนจริงซึ่งกระจายผ่านลำโพงอยู่เนืองๆ กลั้วเสียงนกนางแอ่นกับเสียงโซ่สมอขูดลากสีข้างลำเรือเป็นพักๆ

     ทำไมต้องเป็นเรือสำราญ คำถามนี้แสนง่ายดายจะตอบในวันที่แฟชั่นสไตล์ ‘ครูส’ (รีสอร์ตแวร์) นั้นนิยามตนเองด้วย ‘ครูส’ (การท่องเที่ยวทางเรือ) อยู่เป็นทุน หากคำถามที่ยากกว่านั้นคือ เหตุใดแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างชาเนลที่บุกเบิกเส้นทางสายครูสมาก่อนใครเพื่อนถึงเพิ่งมา “คิดอะไรตื้นๆ มิติเดียว” ผ่านธีม Cruise-on-Cruise เช่นนี้...ตอบง่ายๆ ได้ว่าเพราะโมงยามที่คอลเล็กชั่นครูสมีค่าเท่ากับกลยุทธ์ทางการตลาดชั้นเยี่ยมซึ่งซูเปอร์แบรนด์นานาพากันขุนดันโดยมิได้มีส่วนคิดค้นหรือพัฒนาในเชิงแนวคิดใดๆ ทีมงานชาเนลกลับค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่ในอนาคตมีสิทธิ์จะถูกจารึกในตำราวิชาประวัติศาสตร์แฟชั่น 101 ของเด็กนักเรียนแฟชั่นว่าด้วยความจริงเกี่ยวกับผลงานการออกแบบแนวครูสฉบับปฐมฤกษ์จากช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1919 ที่มาดมัวแซลชาเนลเปิดประเดิมวงการ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดกำเนิดของเทรนด์คั่นฤดูกาลในวันที่ตัวเธอเองยังไม่ทันสะกิดใจด้วยซ้ำว่ามันคือเครื่องปรุงชั้นเลิศของภาคธุรกิจแฟชั่นโลกในอนาคต ดังนั้น เมื่อหลักฐานพร้อมมือ การอ้างสิทธิ์ในปี 2018 จึงเกิดขึ้นอย่างอ้อมค้อมแนบเนียน...แต่แจ่มแจ้งตระการตา

     เราควรยกความดีความชอบทั้งหมดในแง่นี้ให้กับคาร์ลและ Virginie Viard สตรีมือขวาผู้ร่วมทุกข์สุขกับเขาที่ชาเนลมานาน 3 ทศวรรษ (การปรากฏตัวของเธอในตอนท้ายโชว์อาจส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันใกล้) ผู้ตีความคอลเล็กชั่นลงเรือนี้ได้ตรงใจชาว Post-modernism ที่พิสมัยการเสาะค้นต้นตออันนำมาซึ่งผลลัพธ์ใหม่ๆ กล่าวคืองานของทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการฉายซ้ำภาพยุคทองของการเดินเรือผ่านมุมมองที่แตกต่างไปจากยุคเดิมของตัวมันเอง (ซึ่งได้ชื่อว่าล้าสมัยไปแล้ว) แถมยังเปิดช่องให้กับผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยพัฒนาการและเข้ากับปัจจุบันมากกว่า

 



WATCH




1 / 5

Adut Akech นางแบบผิวดำวัย 17 ปีเดินเปิดโชว์


2 / 5



3 / 5



4 / 5



5 / 5



     ที่น่าประทับใจเป็นที่สุดคือการใช้นางแบบผิวดำวัย 17 ปีเดินเปิดโชว์ ลุควันใสๆ คล้ายเพิ่งลงจากเรือสำราญมาเดินเที่ยวเตร่เล่นของนางแบบสาว Adut Akech ซึ่งครอบครัวอพยพถิ่นฐานจากประเทศเซาธ์ซูดานมาเติบโตที่ออสเตรเลียจุดประกายความลึกได้อย่างชวนคิด เพราะการคมนาคมทางน้ำในอดีตนั้นคือสังคมลอยน้ำที่คนขาวเป็นใหญ่ในขณะที่คนผิวดำเป็นได้เพียงแรงงานทาส ชั้นโดยสารต่างๆ บนเรือสำราญในยุคถัดมาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพยายามเบิกโรงด้วยความสุดขั้วนี้จึงน่าจะซื้อใจกลุ่มตลาดใหม่ที่สื่อทั่วโลกกำลังผลักดันได้อย่างน่าชื่นชม 

     ชั้นเชิงอีกหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือการนำแนวคิด “ขัดแย้ง” มาตั้งเป็นโจทย์และคลี่หาหนทางแก้ไขเพื่อประดิษฐ์สิ่งใหม่ อาทิ ความพยายามของสถาบันงานฝีมือ Maison Lemarié ซึ่งนำเอาวัสดุที่ได้ชื่อว่าไม่เหมาะกับ “น้ำ” และ “การเดินทาง” เป็นที่สุดอย่างขนนกมาตั้งสมการทฤษฎีล้มล้างจนคลอดออกมาเป็นเทคนิคงานเคลือบแผ่นใสทับขนนกอีกทีที่ไม่ว่าจะคลุมทับอย่างเถรตรงคล้ายการคลุมพลาสติกแล้วเย็บ หรือจะบิด ม้วน จับกลีบอย่างไรก็แลดูน่าดึงดูดใจผู้ชมระยะใกล้ไปเสียหมด

     ผิดกลับกระเป๋าที่อิ่มแน่นไปด้วยชิ้นสีลูกกวาดและเทคนิคการไล่สีสไตล์ออมเบร รองเท้าในคอลเล็กชั่นล่าสุดนี้กลับนิ่งสนิทและมีนางเอกเป็นสีขาวโล้นเพื่อเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบันผ่านสไตล์แมรี่ เจน ที่ถือเป็นแอ็กเซสเซอรี่หลักประจำทศวรรษแห่งการเดินเรือสมุทร ประวัติศาสตร์ของส้นที่เตี้ยลงและสายคาดด้านหน้าที่อำนวยให้สตรีในอดีตสามารถก้าวเดินและเต้นรำได้อย่างคล่องแคล่วน่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับชีวิตของหญิงสาวยุค 2019 ผู้อาจเริ่มหน่ายระอากับส้นเข็มแหลมเปี๊ยวและพื้นรองเท้าสีแดงที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพยายามนิยาม “พลังของผู้หญิง” มาตลอดทศวรรษหลัง แต่ท้ายที่สุดกลับเวียนวนอยู่กับแง่มุมทางพันธนาการวันยังค่ำ

 

     เส้นทางเดินเรือในห้วงคำนึงจากกรุงปารีสสู่จุดหมายคือ ลา โปซา วิลล่าแถบเมดิเตอเรเนียนในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสทริปนี้ทั้งราบรื่นและรื่นรมย์ อีกทั้งยังพาคอลเล็กชั่นทั้งหมดล่องถึงฝั่งอย่างครื้นเครง เป็นกันเอง และสนุกสนาน ในขณะที่เกณฑ์มาตรวัดอัตราเร่งเครื่องก็ได้รับการสุมฟืนเต็มกำลังด้วยเสียงปรบมือยาวนานตลอดช่วงฟินาเล่ เช่นเดียวกับที่ผู้โดยสารในจินตนาการทั้งหมดเลือกดื่มฉลองชัยให้อย่างไม่หยุดหย่อนไปตลอดค่ำคืนท่ามกลางหมู่ดาว

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ในนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนกันยายน 2560

Edited by Saisuree Mesiri 

WATCH