FASHION

ล้วงลึกชีวิต 'นางฟ้าตกสวรรค์' ความปกติใหม่ที่ไม่ปกติของแอร์โฮสเตสจากหลายสายการบิน

เจาะชีวิตเหล่าแอร์โฮสเตสที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมในแบบที่พลิกชีวิตหน้ามือเป็นหลังมือ

     “แอร์โฮสเตส” หรือ “พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน” คงเป็นอาชีพในฝันของสาวๆ หลายคน ทั้งไลฟ์สไตล์การเดินทาง ตัวเลขรายได้ที่ค่อนข้างสูง ประสบการณ์หลากหลายที่ต้องเผชิญ และอื่นๆ อีกมากมายในช่วงวัยหลังเรียนจบใหม่ๆ ความสวยงามของอาชีพบางครั้งถูกนิยามและเรียกในสังคมว่าเป็น “นางฟ้า” แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกจึงเกิดคำว่า “นางฟ้าตกสวรรค์” ขึ้น วันนี้โว้กมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพนี้โดยตรงจากสายการบินชั้นนำชื่อคุ้นหูกัน 5 สายการบินเพื่อรับรู้ว่าช่วงเวลาที่มืดมนของอาชีพที่เฉิดฉายที่สุดในวัยเริ่มทำงานนี้ต้องประสบพบเจออะไรบ้าง

 

     จากการสัมภาษณ์โดยส่วนใหญ่คนมักจะคิดภาพถึงเรื่องไลฟ์สไตล์มาก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อมีโอกาสเดินทางเท่ากับการเปิดประสบการณ์ไปทั่วโลก เดินทางหลากหลายพบเจอคนหลายรูปแบบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วเงินก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้ยอมตัดสินใจตัดตัวเลือกอื่นทิ้งในการเลือกอาชีพแรกๆ ของชีวิตการทำงานเพื่อมาเป็นบุคลากรสายบริการให้กับองค์กรการบิน ชีวิตการทำงานจึงเริ่มด้วยความตื่นเต้นและสนุกที่ได้เดินทาง แต่ก็มีความอิ่มตัว เหนื่อยและเบื่อในการบินบ้างเช่นกัน เมื่อลูปชีวิตเริ่มไม่ได้น่าตื่นเต้นเจออะไรใหม่เสมอไปสำหรับแอร์ประสบการณ์สูง การเจอช่วงโควิด-19 จึงเป็นเวลาให้พวกเธอได้ทบทวนชีวิตตัวเองกันอีกครั้งว่า “เราอยากเป็นแอร์จริงหรือไม่” เพราะผลกระทบที่ได้รับมันหนักหนาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

ฟิล์ม แอร์โฮสเตสจากสายการบินต่างชาติระดับท็อป 5 ของโลก

     เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด แน่นอนว่าเหล่าลูกเรือและนักเดินทางย่อมตื่นตระหนกคิดถึงเรื่องความปลอดภัยกันอย่างแน่อน “ช่วงแรกไม่น่ามีอะไรเดี๋ยวก็หาย” แตงไทยแอร์สาวจากสิงคโปร์แอร์ไลน์เล่าถึงความรู้สึก โดยระดับความกลัวและกังวลจะแตกต่างกันออกไปบ้างก็เริ่มวิตกกังวล บ้างก็ไม่กลัวเลยเพียงแต่ระมัดระวังมากขึ้น บางคนก็รู้สึกกลัวนิดหน่อยแต่ก็ยังไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงมากนัก แต่สำหรับฟิล์มแอร์คนไทยในเมืองตะวันออกกลางบอกว่า “แพนิกมากๆ เพราะเจอคนอัดแน่นทุกไฟลท์” สะท้อนให้เห็นว่าระดับความกลัวช่วงแรกแต่ละคนมีมุมมองต่างกัน ไม่ได้มองเรื่องโควิดเป็นภัยพิบัติแห่งมวลมนุษยชาติเท่ากับการแพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้

เฟิร์น แอร์โฮสเตสประสบการณ์ 5 ปีจากสายการบิน Singapore Airlines

     พอสถานการณ์เริ่มหนัก ทิศทางความสนใจด้านข่าวสารโดยเฉพาะเรื่องการติดเชื้อเริ่มไปในทิศทางเดียวกัน ความกลัวก่อตัวขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละบุคคล แต่คำว่า “กลัว” เริ่มวิ่งวนอยู่ในหัวเหล่าแอร์โฮสเตจกันเป็นจริงเป็นจริงตั้งช่วงการแพร่ระบาดคาบเกี่ยวระหว่าง Epidemic ไปจนถึง Pandemic สำหรับหลายคนก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากอาจจะพูดว่ากังวลมากกว่า เพราะทั้งแตงไทย อาย และเฟิร์นจากสายการบินเดียวกันก็ระบุตรงกันว่า “กลัวตกงานมากที่สุด มากกว่าสิ่งอื่นใด” แต่ยังดีที่สายการบินมีนโยบายรองรับสถานการณ์ค่อนข้างดีจึงทำให้ทั้ง 3 คนอุ่นใจขึ้นมาก นั่นแปลว่าองค์กรมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลความมั่นคงทางด้านสภาพจิตใจของเหล่าพนักงาน ถ้าผ่านวิกฤติไปได้องค์กรมีแนวโน้มจะแข็งแกร่งขึ้น อย่างน้อยก็ในด้านความหนักแน่นตั้งแต่พนักงานส่วนฐานขององค์กรนั่นเอง



WATCH




มินนี่ แอร์โอสเตสสาวจากสายการบินในประเทศไทย

     แต่ความกลัวโรคระบาดก็ไม่ใช่ไม่เกิดขึ้นกับอีกหนึ่งหน้าด่านสำหรับคนเดินทาง พวกเธอต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนแหล่งที่มาในทุกๆ วัน ความกลัวจึงเกิดขึ้นได้ แตงอีกสาวอีกหนึ่งคน(ไม่สะดวกระบุสายการบิน) ก็กล่าวว่า “ไม่ใช่แค่เรากลัวผู้โดยสาร ผู้โดยสารเองก็กลัวเรา และกลัวกันเองด้วยเหมือนกัน” สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อการแพร่ระบาดหนักขึ้นมนุษย์เว้นระยะห่างกันและพยายามติดต่อกันให้น้อยที่สุด มินนี่ก็เล่าประสบการณ์ว่า “ผู้โดยสารป้องกันตัวเองสุดๆ อย่างผู้โดยสารจีนที่กลับจากประเทศอื่นช่วงจีน เกาหลี ญี่ปุ่นกำลังระบาดหนัก ไม่มีใครทานอาหารอะไรเลย น้ำขวดก็ไม่รับ เขาเตรียมกันมาเองหมด บางคนใส่ชุดป้องกันแบบ PPE เลยด้วยซ้ำ” แอร์อีกหนึ่งคนผู้รับประสบการณ์ตรงก่อนใคร เหตุการณ์บนเครื่อง ความไม่ปกติ ทั้งหมดพวกเธอสัมผัสก่อนยิ่งกว่าชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทุกคนจึงระบุตรงกันว่าสายการบินมีมาตรการชัดเจน มีการบรีฟ และปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทั้งพนักงานและผู้โดยสาร เมื่อยังไม่มีการหยุดบินก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจเช่นเดิมต่อไป...

อาย แอร์โฮสเตสคนไทยในสิงคโปร์

     หยุดบิน! หลังจากผ่านประสบการณ์บนเครื่องอันทรหดกันมานับเดือนสายการบินต่างๆ เริ่มประกาศหยุดบินอย่างเป็นทางการ หรือลดจำนวนไฟลท์จนแทบไม่เหลือให้บิน เราเริ่มกันที่แอร์ไทยในต่างประเทศก่อนอย่างฟิล์มที่อยู่ไกลสุดในบรรดาทุกคนกล่าวว่า “เขาเสนอให้กลับบ้านโดยไม่รับเงินเดือน เราเลยขอกลับเพราะกลัว” ชีวิตแอร์ที่ไม่มีบินและกลับมาอยู่บ้านหลังจากห่างบ้านไปนานนับปี (ไม่นับการแวะกลับมาชั่วคราว) ส่วน 3 สาวจากสิงคโปร์ก็พูดไปในทางเดียวกันว่า “สิงคโปร์ไม่ได้หยุดบิน แค่ลดไฟลท์จนเหลือน้อยมาก” โดยต่างคนต่างมีไฟลท์สุดท้ายก่อนกักตัวที่ต่างกันแต่ก็เจอสถานที่เสี่ยงอย่างอายต้องไปกลับอินชอนเกาหลีใต้ ส่วนแตงไทยนั้นบินซิดนีย์-แคนเบอร์รา ก็จะมีเฟิร์นที่แทรกประสบการณ์ความโชคดีในความโชคร้ายเพราะไฟลท์สุดท้ายได้ไปมัลดีฟส์ เธอบอกว่า “เหมือน Last Holiday มากๆ”

 

     หยุดบินอาจจะฟังดูเหมือนแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงด้านต่างๆ แต่ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตอย่าง “เงิน” ก็เป็นส่วนสำคัญ แอร์จากทั้ง 5 สายการบินระบุตรงกันว่าปัญหาคือเรื่องเงิน อย่างที่ทราบกันดีว่าฐานเงินเดือนของอาชีพนี้ไม่ได้สูงนัก แต่กอบโกยรายได้จากการบินแต่ละไฟลท์มากกว่า เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ถาโถมทุกคนเข้าอย่างจัง ต้องบริหารจัดการตัวเองให้รัดกุมมากขึ้นอย่างมาก ตอนนี้ไม่ใช่นางฟ้าไลฟ์สไตล์เก๋เหมือนภาพจำเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

แตงไทย แอร์โฮสเตสสาวอีกหนึ่งคนจากสิงคโปร์

     ถึงเวลาทบทวนชีวิตและให้เวลากับตัวเองมากขึ้น...เมื่อก่อนตารางบินของแทบทุกสายการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบินยุคหลังๆ ที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีตารางบินแน่นเอี้ยดแทบไม่ได้พักอย่างเป็นกิจจะลักษณะเท่าไรนัก พอสถานการณ์นี้เกิดขึ้นหากมองในแง่บวกก็ต้องบอกว่าพวกเธอใช้เวลากับสิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำเยอะกว่าเมื่อก่อนมาก อาชีพอื่นอาจจะต้อง Work From Home ทำให้ไม่ได้มีเวลามากขึ้นหรือชีวิตเปลี่ยนไปมากนักนอกเสียจากการเดินทาง แต่อาชีพที่เคยเดินทางทั่วโลกกลับต้องหยุดนิ่ง ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว ช่วงแรกเป็นการพักผ่อน พักร่างกายหลังจากทนสภาพความกดอากาศบนฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง แต่พอผ่านไปสักระยะทุกคนไม่เคยว่างจนต้องหาอะไรทำขนาดนี้ กิจกรรมยอดฮิตก็คือทำอาหารและขนม อย่างมินนี่ตอนนี้กำลังอบขนมขาย ส่วนเฟิร์นก็ขายอาหารไทยทำเองกับเพื่อนขายออนไลน์ที่สิงคโปร์ ถือเป็นอีกมิติของชีวิตที่หลายคนค้นพบและรื้อฟื้นกลับมาทำ บางคนสามารถสร้างรายได้ทอนปัญหาการงดจ่ายเงินเมื่อไม่มีไฟลท์บินไปได้บ้าง

แตง แอร์โฮสเตสสายการบินระหว่างประเทศสายการบินหนึ่งในไทย

     คนอยู่ต่างแดนเริ่มกลับบ้าน แอร์ทุกคนเริ่มอยากกลับไปบิน เหมือนการใช้ชีวิตด้วยการเดินทางเป็นหลักคือวิถีชีวิตหลักไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้สิ่งที่อึดอัดนอกจากอยากกลับไปหาครอบครัวที่ประเทศไทยแล้ว ยังหมายถึงการออกเดินทางอีกครั้ง ความอึดอัดต่างๆ เริ่มเกิดขึ้นจากข้อจำกัดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฟิล์มระบุว่า “จะสมัครงานใหม่ก็ยังไม่กล้าเพราะไม่รู้สายการบินจะเรียกกลับไปเมื่อไหร่” ส่วนเฟิร์นก็เน้นย้ำว่า “อยากกลับไปบินเร็วๆ” ส่วนแตงมองภาพใหญ่ขึ้นอีกนิดว่า “สายการบินอาจถึงขาลง และทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะเจอปัญหาใหญ่” และมินนี่เผยอีกมุมว่า “จริงๆ ก็ไม่ได้อึดอัดเท่าไรนักแต่ดูข่าวแล้วหดหู่”

ยุง แอร์โฮสเตสสาวมากประสบการณ์จากสายการบิน Thai AirAsia X

     จากรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนเหรียญคนละด้านชัดเจนแบบนี้ทำให้ “นางฟ้าตกสวรรค์” กำเนิดขึ้น เราจึงถือโอกาสถามลูกเรือทั้งหมดว่าพวกเธอคิดอย่างไรกับคำนี้ ยุง แอร์สาวจากแอร์เอเชียเอ็กซ์บอกว่า “ได้ยินมานานมากกกก” ส่วนแตงไทย อายและเฟิร์นมองว่าจริงๆ แล้วพวกเธอไม่ใช่นางฟ้ามันคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของการให้คุณค่าอาชีพนี้ ถือเป็นมุมมองที่ส่งผ่านความรู้สึกของแอร์เองที่ไม่ได้รู้วิเศษวิสาอะไรขนาดนั้นได้อย่างตรงไปตรงมา ส่วนฟิล์มและมินนี่ก็กล่าวว่ามันอาจจะดูเกินจริงไปสักหน่อยแต่มันก็จริงในบางสถานการณ์ เพราะนางฟ้าในบริบทอาจหมายถึงการบริการอย่างใส่ใจก็ได้เหมือนกัน ซึ่งตกสวรรค์ก็จริงอีกเพราะสุดท้ายก็ตกลงมาเผชิญความทุกข์กับคนอื่นไม่ต่างกัน เผลอๆ อาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

     ต่อจากคำนิยามนางฟ้าตกสวรรค์ยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าสุดท้ายพวกเธอก็ไม่ได้ยกตนวิเศษเหนือกว่าใคร พวกเธอยืนยันว่าก็คือหญิงสาวธรรมดา สะท้อนออกมาจากคำตอบของคำถามที่ว่า “โควิดจบอยากทำอะไรเป็นสิ่งแรก” คำตอบที่ได้มาหลากหลายมาก แต่ทุกคำตอบล้วนเป็นคำตอบของมนุษย์ปุถุชนทั่วไปจริงๆ อยากทานอาหารอร่อยๆ กลับไปทำงาน เที่ยว และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นแอร์โฮสเตสเหล่านี้จึงตอกย้ำคำโต้แย้งของการยกคุณค่าอาชีพนี้ไว้อย่างหนักแน่น ไม่ใช่ว่าเธอไม่ภูมิใจหรือดีใจที่ได้ทำอาชีพนี้ แต่พวกเธอให้คุณค่าและรับเกียรติของอาชีพอย่างเหมาะสมมากกว่า

 

     สุดท้ายกับคำถามแทงใจว่า “อยากเลิกเป็นแอร์ไหม” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันจริงๆ ว่า “ไม่” เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำอยากเลิกเป็นทำอาชีพนี้ ความผูกพัน วิถีชีวิตที่คุ้นชินเกินกว่าจะปรับเปลี่ยนในเร็ววัน มันไม่ใช่สถานการณ์ที่ทำให้อยากเลิกเป็นแอร์ “อาจจะมีคิดถึงงานเสริมบ้าง” มินนี่กล่าว และเฟิร์นปิดท้ายด้วยความประสบการณ์เจนจัดสุดกลุ่มสัมภาษณ์นี้ว่า “จริงๆ มันเป็นความรู้สึกแบบ Love-Hate Relationship ถ้าวันหนึ่งจะเลิกทำคงไม่ใช่เพราะกลัว แต่คงเพราะเราพอมากกว่า” เรื่องราวในบทความนี้ทั้งหมดสะท้อนชีวิตที่น่าสนใจ ประสบการณ์ที่คนอาจคาดการณ์หรือคิดถึงอาชีพนี้เหมือนเมื่อก่อนอาจจะเปลี่ยนไป เพราะสถานการณ์ระดับโลกมันตีแผ่หลายแง่มุมของคนทั้งโลกได้เด่นชัดอย่างน่าสนใจ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

เฟิร์น-กุลจิรา ภูนุช พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Singapore Airlines

อาย-พรรธนฉัตร การุญกร พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Singapore Airlines

แตงไทย (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Singapore Airlines

ฟิล์ม (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบินแถบตะวันออกกลาง

มินนี่-ปรางค์ฉัตร สุดประเสริฐ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน การบินไทย

แตง-วิกุลดา อนันต์หน่อ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบินระหว่างประเทศในไทย

ยุง-ปิติกาย ว่องไววิทย์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Thai AirAsia X

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19