Virgil Abloh
FASHION

เปิดเบื้องหลังจินตนาการของ Virgil Abloh ดีไซเนอร์อัจฉริยะ ตำนานของ Louis Vuitton

"ในแง่ของศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ผมโฟกัสเรื่อยมากับการทำให้ผู้ใหญ่กลับไปทำตัวเหมือนเด็กอีกครั้ง ให้เขากลับไปหาความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ หยุดใช้ความคิด แล้วหันมาใช้จินตนาการ"

หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) เตรียมจัดแฟชั่นโชว์รูปแบบ Spin-Off คอลเล็กชั่นสุภาพบุรุษฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว 2022 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ ณ The Pinnacle ชั้น 8 ของ ICONSIAM โดยนับเป็นครั้งแรกของการจัดแฟชั่นโชว์ Spin-Off คอลเล็กชั่นสุภาพบุรุษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำการบอกเล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจของเวอร์จิล อาโบลห์ (Virgil Abloh) ตลอด 8 ฤดูกาลในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Men’s Artistic Director) ของหลุยส์ วิตตอง

"ในแง่ของศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ผมโฟกัสเรื่อยมากับการทำให้ผู้ใหญ่กลับไปทำตัวเหมือนเด็กอีกครั้ง ให้เขากลับไปหาความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ หยุดใช้ความคิด แล้วหันมาใช้จินตนาการ" เสียงของเวอร์จิล อาโบลห์ ที่ลอยมาผ่านระบบกระจายเสียง ท่ามกลางแขกคนดังกว่า 1,500 คน ณ รันเวย์ลอยน้ำที่ Miami Marire Stadium ศูนย์กีฬาทางเรือไมแอมี เพื่อมาร่วมชมโชว์ที่เวอร์จิลดูแลเองจนเกือบถึงขั้นสุดท้ายให้เห็นกับตา ก่อนที่เส้นทางของเขาจะปิดลงอย่างกะทันหันในวัยเพียง 41 ปี ด้วยโรคมะเร็งหลอดเลือดหัวใจ



WATCH




เวอร์จิล อาโบลห์ เป็นที่ระลึกถึงในฐานะนักออกแบบแฟชั่นที่ได้รับความนิยมและทรงอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งในยุคของเขา ย้อนไปเมื่อปี 2009 ผู้ก่อตั้งแบรนด์ออฟ-ไวต์ และผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ แผนกเสื้อผ้าบุรุษของหลุยส์ วิตตองผู้นี้ยังเป็นแฟชั่นทัวริสต์ที่บุกไปดูโชว์โดยไม่ได้รับเชิญ แต่ต่อมาเขาก็ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการสินค้าลักชัวรีระดับโลก จนอาจกล่าวได้ว่าเส้นทางอันรุ่งโรจน์ของเขาคือเรื่องเล่าสายแฟชั่นที่สร้างคำจำกัดความให้ทศวรรษ 2010 เพราะเขาเป็นอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เป็นนักสร้างสรรค์ที่แจ้งเกิดจากสายสตรีตแวร์ที่จิปาถะหลากหลาย และตัวเขาเองก็ท้าชนคำนิยามของแฟชั่นแนวนี้อยู่เนืองๆ เวอร์จิลจึงเป็นนักทลายขอบเขตตัวพ่อในธุรกิจที่มีเส้นแบ่งชัดเจนจนเป็นที่เลื่องลือ

ผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการสร้างโอกาสอย่างหลากหลายให้ผู้ที่มักถูกปฏิเสธโอกาสอยู่เป็นนิจ ตัวอย่างหนึ่งคือการทำเครื่องแบบให้ทีมฟุตบอล Melting Passes เมื่อปี 2017 ทีมนี้ เป็นทีมเด็กหนุ่มที่อพยพมาอยู่ปารีส และไม่ได้สถานภาพผู้มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศส จึงไม่มีสิทธิ์ลงเล่นในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ (ต่อมาเวอร์จิลให้นักเตะในทีมกลุ่มหนึ่งไปร่วมชมโชว์ของออฟ-ไวต์ด้วย) ส่วนโชว์แรกของเขาในนามหลุยส์ วิตตอง ซึ่งจัดในสวน Palais Royal ก็มีนักศึกษาเข้าชมถึง 3,000 คน นอกจากนี้เวอร์จิลยังทำงานสนับสนุนนักสเกตบอร์ดและนักโต้คลื่นในกานา ประเทศบ้านเกิดของพ่อแม่ และมอบเงินทุนซ่อมแซมสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่นในชิคาโก เมืองที่เขาเรียกว่าบ้าน

เวอร์จิล อาโบลห์เกิดเมื่อปี 1980 ที่เมืองร็อกฟอร์ด รัฐอิลลินอยส์ พ่อแม่ของเขาเป็นชาวกานาที่ย้ายมาอยู่อเมริกา เวอร์จิลคลั่งไคล้การเล่นสเกตบอร์ดหลังเลิกเรียนตั้งแต่เด็ก และการเล่นสเกตบอร์ดนี่เองที่เขาบอกว่าเป็นตัวจุดประกายให้สนใจแฟชั่นเป็นครั้งแรก และสนใจการเป็นดีเจในเวลาต่อมา ช่วงที่เรียนวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน และเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ เวอร์จิลได้พบคานเย เวสต์ ซึ่งประทับใจเขามากถึงขั้นตั้งให้เป็นผู้ร่วมก่อการสร้างสรรค์เมื่อปี 2002

ช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เวอร์จิลทำอะไรหลายอย่าง ทั้งเปิดพื้นที่ค้าปลีกและแกลเลอรี เข้าร่วมทำงานกับกลุ่ม Been Trill ช่วงเดียวกับ Heron Preston และ Matthew Williams และเปิดแบรนด์ Pyrex Vision (ปัจจุบันปิดไปแล้วแต่ถูกลอกเลียนอยู่บ่อยๆ) ปีเดียวกันนั้นเองที่เหมือนเป็นการแจ้งเกิดรวมกับคานเยและพรรคพวกคือ Don C, Taz Arnold, Chris Julian และ Fonzworth Bentley จนถึงปี 2013 เขาตัดสินใจผละจากไพเรกซ์ วิชั่น หันมามุ่งมั่นกับคอนเซปต์ใหม่ที่เขาตั้งชื่อว่าออฟ-ไวต์

สมาชิกวง BTS ในแฟชั่นโชว์ในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ประจำปี 2021 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

การเปิดตัวคอลเล็กชั่นแรกของออฟ-ไวต์ในปี 2014 เป็นจังหวะเดียวกับที่กระแสแฟชั่นเกิดการพลิกผันครั้งใหญ่ ห้องเสื้อแนวลักชัวรีเริ่มสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยในตอนแรกยังเริ่มอย่างช้าๆ ด้วยการทำรองเท้าสนีกเกอร์ออกมาอย่างไม่มั่นใจนัก แต่คนรุ่นใหม่ที่ใส่รองเท้าแบบนี้เป็นกิจวัตร (และแทบไม่เคยนึกถึงเสื้อผ้าเทเลอร์) ยังร่ำร้องกันหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องการมากกว่านั้น การที่ออฟ-ไวต์นำสตรีตแวร์เพียวๆ มาโชว์ในบริบทของแฟชั่นโชว์ เป็นการทลายปราการระหว่างหอคอยงาช้างของวงการ กับสายสตรีตที่นำความตาแหลมของคอสนีกเกอร์มาเสนอแบบกลับบนเป็นล่าง

ปี 2015 ออฟ-ไวต์ผ่านเข้ารอบสุดท้ายการประกวดรางวัล LVMH Prize และเมื่อถึงปี 2018 ความเปลี่ยนแปลงสะเทือนวงการเสื้อผ้าบุรุษก็นำไปสู่การโยกย้ายสลับตำแหน่งของนักสร้างสรรค์ 4 ห้องเสื้อ Kim Jones เป็นตัวตั้งตัวตีหนุนให้เวอร์จิลมารับงานที่หลุยส์ วิตตอง ทำให้เขาขึ้นแท่นดีไซเนอร์ผิวดำ 1 ใน 2 คนที่เป็นผู้นำงานออกแบบของห้องเสื้อปารีเชียง อีกคนคือ Olivier Rousteing แห่ง Balmain (ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท LVMH ซึ่งทำธุรกิจแฟชั่นและสินค้าลักชัวรีเข้าถือหุ้นใหญ่ในออฟ-ไวต์ และตั้งเวอร์จิลเป็นที่ปรึกษาระดับบริหารของกลุ่ม มีหน้าที่สร้างแรงเขย่าเชิงบวกให้บริษัทในเครือ)

Virgil Abloh ร่วมถ่ายรูปกับ Kim Kardashian และ Kanye West บนรันเวย์แฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นสุภาพบุรุษ ซึ่งนับว่าเป็นโชว์แรกของเขา

โดยโชว์แรกของเขาในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์แผนกเสื้อผ้าสุภาพบุรุษของแบรนด์ หลุยส์ วิตตอง จัดขึ้นบนรันเวย์สายรุ้งในตอนบ่ายที่สดใสด้วยแสงแดดของวันที่ 21 มิถุนายน 2018 และแม้แต่ในเวลานั้นก็ยังรู้สึกได้ว่าเป็นโมเมนต์ที่พลิกวงการ หลังเวอร์จิลออกมาโค้งผู้ชม เขากับคานเยกอดกันอย่างมีความสุขสุดๆ โว้กรันเวย์รายงานว่า "ลุคสุดท้ายเป็นเสื้อพอนโชสีเงินเมทัลลิก ติดป้าย FOLLOW THE YELLOW BRICK ที่หน้าอก เขาโพสต์รูปโมเมนต์นั้นในอินสตาแกรม พร้อมคำบรรยายว่า "คุณเองก็ทำได้"

กลับมาที่ปัจจุบันกับผลงานชิ้นสุดท้ายของ เวอร์จิล อาโบลห์ ในคอลเล็กชั่น Louis Vuitton Men’s Fall/Winter 2022 คอลเล็กชั่นหมายเลข 8 ที่หลอมรวมแรงบันดาลใจ และบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมดของเวอร์จิล ตั้งแต่ปี 2018-2022 ภายใต้คอนเซปต์ Boyhood Ideology® หรือการมองโลกโดยไร้ซึ่งอคติผ่านมุมมองของความเป็นเด็ก ดั่งคำที่เวอร์จิลมักกล่าวเสมอว่าจินตนาการคือวัตถุดิบชั้นยอดในการเดินตามความฝัน และในครั้งนี้เองเขาได้ถ่ายทอดจินตนาการล้ำค่าผ่านเครื่องแต่งกายและแอ็กเซสเซอรี่ในคอลเล็กชั่นนี้ เพื่อพยายามที่จะพัฒนาคุณค่าของมนุษย์ โดยไม่ให้เครื่องแต่งกายเป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ทางสังคม แต่ยังเป็นตัวแทนและตัวตนของผู้สวมใส่อีกด้วยเช่นกัน เพราะเสื้อผ้าคือเสื้อผ้า และมนุษย์คือมนุษย์ โดยเอกลักษณ์สำคัญในคอลเล็กชั่นนี้ คืองานเทเลอริ่งแบบฉบับโมเดิร์น เสื้อผ้าสปอร์ตแวร์ที่ถูกดัดแปลงให้โดดเด่นขึ้น ลายพิมพ์ดอกไม้และกลิ่นอายเฟมินีนที่ถูกหยอดเข้ามาได้อย่างกลมกล่อม กลายเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่คล้ายกับคำกล่าวอำลาที่ปิดฉากลงอย่างงดงาม

โดยแฟชั่นโชว์ของคอลเล็กชั่นนี้ถูกจัดขึ้นในช่วงต้นมกราคม 2565 ณ อาคาร Carreau du Temple ใจกลางกรุงปารีส ที่ซึ่งเป็นดั่งพื้นที่ที่ทุกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสามารถเกิดขึ้นได้จริง ภายใต้โชว์ชื่อ Louis  Dreamhouse™ และนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นจุดหมายแห่งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลงานสุดท้ายจากดีไซเนอร์อัจฉริยะผู้เป็นตำนานของหลุยส์ วิตตอง โว้ก ประเทศไทยจึงอยากเชิญชวนทุกคน ร่วมชมการถ่ายทอดสดโชว์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของหลุยส์ วิตตอง รวมทั้งแพลตฟอร์มสำคัญในประเทศไทยอย่าง LINE Official @LouisVuittonTH, และเว็บไซต์ th.louisvuitton.com

รอชมการรายงานแบบเรียลไทม์ทุกไฮไลต์จากโชว์ Spin-Off ในกรุงเทพฯ ได้ที่ Vogue.co.th และทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของโว้กประเทศไทย วันที่ 1 มิถุนายนนี้ ห้ามพลาด!

แปลและเรียบเรียง : วิริยา สังขนิยม

WATCH

คีย์เวิร์ด: #LouisVuitton #VirgilAbloh