FASHION

รู้ไว้เล่าได้เพียบ! 7 ประเด็นที่คุณอาจไม่รู้จากงานแต่งเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล

#VogueVoices แบบล้วงลึก+รวดเร็ว โดย สธน ตันตราภรณ์

#1 เมแกน มาร์เคิล คือหญิงสาวผู้เป็นตัวแทนของ "การหลุดพ้นจากความหลังเดิมๆ" สำหรับเจ้าชายแฮร์รี่

     เป็นเวลากว่า 20 ปีที่เจ้าชายแฮร์รี่ต้องทนทุกข์กับการจากไปของเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ ผู้เป็นพระมารดาอย่างเงียบๆ และแสดงชัดว่าพระองค์ไม่ปรารถนาที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์อันเลวร้าย จวบจนกระทั่งในสารคดีครบรอบ 2 ทศวรรษของช่องข่าว BBC พระองค์ตัดสินใจย้อนรอยความทรงจำและยอมรับว่าต้องพบจิตแพทย์อยู่เนืองๆ อีกทั้งยัง "เคยต้องการออกจากราชวงศ์ เพราะไม่อยากเป็นเจ้าชายอีกต่อไป" ก่อนจะกลับลำทันด้วยความช่วยเหลือของพี่ชายคือ เจ้าชายวิลเลี่ยม และนำพลังชีวิตทั้งหมดมาทุ่มเทให้กับการรณรงค์แคมเปญด้านมนุษยชนต่างๆ ตามปณิธานเดิมของพระมารดาเพื่อระลึกถึงพระองค์

     เมื่อเราพิจารณาถึงเจ้าสาวที่พระองค์เลือก แรงปรารถนาที่ต้องการจะพ้นจากการเป็นสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์อาจส่งผลบางๆ ต่อตัวเลือก เพราะเมแกน มาร์เคิลนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่ "หญิงสูงศักดิ์ผู้ควรคู่กับราชวงศ์อังกฤษ" ควรจะเป็นเมื่อว่ากันถึงกฎธรรมเนียมดั้งเดิมฉบับเมืองผู้ดี เนื่องจากเธอคือสาวอเมริกันวัย 36 ปี (ซึ่งโตกว่าเจ้าชายแฮร์รี่ถึง 3 ปี) เป็นลูกครึ่งคนขาวกับชาวผิวสี มีประวัติแต่งงานช่วงสั้นๆ มาแล้วครั้งหนึ่งก่อนหย่าร้างเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว แถมยังเป็นผู้หญิงทำงานซึ่งมีอาชีพจริงจังเป็นนักแสดง อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้เปรียบเสมือน "การหลุดพ้นจากความหลังเดิมๆ" ตลอดจนความเคร่งครัดของราชวงศ์ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เจ้าชายแฮร์รี่มองหามาตลอดชีวิตของพระองค์

#2 ชุดแต่งงานทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ต่างก็สะท้อนตัวตนลึกซึ้งของแต่ละคนออกมาได้ดีเยี่ยม

     ตามที่เจ้าชายแฮร์รี่เคยกล่าวไว้ว่าพระองค์ "มองเห็นตัวเองเป็นนายทหารมากกว่าเป็นเจ้าชาย" พระองค์จึงปรากฏกายในเครื่องแบบนายทหารชั้นนายพลแห่งราชนาวีอังกฤษตกแต่งรายละเอียดช่วงหน้าอก แมตชิ่งลุคกับเจ้าชายวิลเลี่ยมผู้พี่ หากยังคงไว้เคราแดงที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของพระองค์ไปแล้ว ในขณะที่เจ้าสาวคนสวยปรากฏโฉมในชุดวิวาห์แสนถ่อมตนสไตล์คอปาดสีงาช้างแขนยาว กระโปรงทรงเอ จับคู่กับผ้าคลุมใบหน้าที่แสนบอบบางและนุ่มนวลตกแต่งลวดลายดอกไม้ ซึ่งตัดเย็บโดย Clare Waight Keller แห่งห้องเสื้อ Givenchy ซึ่งผิดคาดไปเต็มๆ จากสื่อทุกสำนักที่คาดการณ์ว่าจะชุดวิวาห์จากฝีมือของห้องเสื้อโอตกูตูร์สัญชาติอังกฤษ Ralph & Russo

     ประเด็นที่น่าสนใจคือการเลือกดีไซเนอร์หญิงชาวอังกฤษที่เพิ่งร่วมงานไปหมาดๆ กับห้องเสื้อสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Givenchy การข้ามสายพันธุ์นี้ย่อมไม่ต่างจากการ "ข้ามฝั่ง" จากดินแดนหนึ่งมาสู่อีกดินแดนหนึ่งของตัวเจ้าสาวเอง เป็นเรื่องยากเกินทนได้แน่ๆ ที่ชาวอังกฤษจะเห็นเจ้าสาวของพวกเขาสวมใส่ผลงานจากฝีมือของคนชาติอื่น หากในเวลาเดียวกันการสวมใส่ผลงาน "อังกฤษล้วน" โดยชาวอังกฤษ จากห้องเสื้ออังกฤษ เพื่อชาวอังกฤษก็แลดูจะเป็นการทรยศรากเหง้าของเมแกนเองที่เป็นชาวอเมริกันต่างด้าวในราชวงศ์เมืองผู้ดี ด้วยเหตุนี้การผสมผสานความแตกต่างของนักออกแบบอังกฤษ จากห้องเสื้อฝรั่งเศส เพื่อสาวอเมริกัน จึงลงตัว

     บรรดาโต๊ะรับแทงพนันทั่วราชอาณาจักรคงรับค่าพนันกันมันมือ เนื่องจาก Ralph & Russo ซึ่งเป็นตัวเลือกที่นอนมาตลอดของเมแกนนั้นผิดถนัด ก่อนหน้านี้มีข่าวหลุดว่ามีคนของเจ้าชายแฮร์รี่ก้าวออกจากบูติกหรูของคู่ดีไซเนอร์ ทามารา ราล์ฟ และ ไมเคิล รุสโซ พร้อมด้วย "ถุงใหญ่ๆ" อีกทั้งก่อนหน้านี้ในภาพถ่ายคู่กับเจ้าชายแฮร์รี่จากสำนักพระราชวังซึ่งถ่ายโดยช่างภาพ อเล็กซี ลูโบมีร์สกี หลังทั้งคู่ประกาศหมั้นอย่างเป็นทางการ เมแกนก็เลือกสวมผลงานจากห้องเสื้อนี้ที่ถือได้ว่าเป็นตัวประเดิมศักราชใหม่ให้กับภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษได้อย่างน่าจับตามอง เพราะตัวเลือกในครั้งนั้นของเธอคือชุดกระโปรงยาวสีเข้มที่หลอมรวมความบางเข้าขั้นซีทรูของท่อนบนและงานปักเลื่อมสีทองลายเถาไม้เลื้อยเข้ากับท่อนล่างที่กอปรขึ้นจากระบายผ้าชีฟองหลายร้อยชั้น ความหมายที่เหล่าผู้สันทันกรณีด้านสัญญะทางภาพลักษณ์ตีความไปในทำนองเดียวกันจึงหนีไม่พ้นความพยายามของหญิงสาวในการสื่อสารถึงสีผิว (สีดำปนกรมท่า) ความโปร่งใส (เนื้อผ้า) และใจสิงห์ที่เลื้อยคดขึ้นมาจนถึงบัลลังก์ (ไม้เลื้อย)

#3 การเดินเข้าโบสถ์ของเมแกน มีสัญญะซ่อนอยู่นับไม่ถ้วน

     เมแกนเดินทางมาถึงปราสาทวินด์เซอร์ด้วยรถโรลสรอยซ์คันงาม พร้อมด้วยมารดาในชุดสูทกระโปรงกึ่งโค้ตสีเขียวมิ้นต์จางๆ และหมวกทรงรีสีงาช้างกึ่งเงินเรียบง่าย ผ่านฝูงชนหลายแสนคนที่มาตั้งเต็นท์เกาะรั้วร่วมปรากฏการณ์และเฝ้ารอชมโฉมของเจ้าสาวลูกครึ่งกันชนิดข้าม (หลาย) คืน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโอกาสก้าวย่างผ่านกรอบประตูซึ่งประดับประดาด้วยดอกกุหลาบขาวเพื่อสื่อถึงเจ้าหญิงไดอาน่าโดยตรงและเข้าสู่โถงประวัติศาสตร์ของโบสถ์นักบุญจอร์จที่ครั้งหนึ่งมหากษัตริย์อย่างราชา เฮนรี่ที่ 8 เคยเยื้องย่างผ่านราชพิธีหลากหลายมาก่อน อีกทั้งสถานที่เดียวกันนี้ก็เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ระหว่าง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับ คาร์มิลล่า ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์ แต่ในครั้งนี้เมแกนจำต้องเดินเข้างานพิธีเสกสมรสของเธอเพียงลำพังในครึ่งแรกของทั้ง 2 โถงหลัก ความจริงข้อนี้สะท้อนถึงทั้งความเคร่งครัดและทั้งผ่อนปรนของธรรมเนียมราชพิธีของราชวงศ์วินด์เซอร์และวัฒนธรรมอังกฤษ

     เราคงไม่จำเป็นต้องอธิบายมากมายนักในส่วนของการผ่อนปรนธรรมเนียม เพราะชาวมิลเลนเนียมต่างเข้าใจดีว่าการณ์เปลี่ยนไปเช่นไรตลอดศตวรรษที่ผ่านมา โดยสามารถเปรียบเทียบได้กับเหตุการณ์ความรักในทำนองคล้ายคลึงกันในปี 1936 ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วกับ กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 และคู่รักหญิงหม้ายชาวอเมริกันนาม วอลลิส ซิมป์สัน ของพระองค์ หากถูกขัดขวางอย่างหนักโดยธรรมเนียมปฏิบัติในยุคนั้น ในขณะเดียวกันในส่วนของความเคร่งครัดนั้นสืบเนื่องจากความจริงที่ว่าเมแกนมิใช่หญิงบริสุทธิ์ และเคยเข้าพิธีสมรสมาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อหญิงสาวโชคดีได้รับโอกาสในครั้งที่ 2 เธอจึงจำเป็นต้อง "ไถ่บาป" สักนิดตามสมควรด้วยการก้าวข้ามเหตุการณ์ไปด้วยตัวของเธอเองก่อน ก่อนผ่านเข้าสู่ครึ่งหลังคือโถงราชพิธีซึ่งล้อมรอบด้วยบานกระจกสีสุดขลังแสนงดงาม ในส่วนนี้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์สวมบทบาทสำคัญแทนคุณพ่อชาวอเมริกันของเจ้าสาว (หลังพระราชวังประกาศข่าวการล้มป่วยอย่างกะทันหันของเขา ซึ่งเราต่างทราบดีว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวอื้อฉาวเรื่องการขายภาพลองชุดสูทให้กับช่างภาพปาปาราซซี่)



WATCH




#4 การเลือกคล้องแขนพ่อสามีเข้าโบสถ์แทนพ่อแท้ๆ ส่งผลต่อมงกุฎเจ้าสาวของเมแกน

     หน้าที่ซึ่งเพิ่มเติมเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์นี้ส่งผลให้เทียร่าบนศีรษะของเจ้าสาวต้องเปลี่ยนชิ้นไป เพราะแม้ว่าเธอจะมีสิทธิ์เลือกหลากชิ้นจากกรุเก่าของราชวงศ์ที่บ้างเธอก็มีสิทธิ์โดยบทบาทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือบ้างก็ต้องหยิบยืมจากสมาชิกในราชวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ชิ้นหลักที่สื่อแทบทุกสำนักคาดการณ์กันก่อนหน้านี้อย่างเทียร่า Spencer ซึ่งเป็นชิ้นเดียวกับที่เจ้าหญิงไดอาน่าสวมในพระราชพิธีเสกสมรสของพระองค์ต้องตกไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากมันคงจะแปลกๆ พอตัวถ้าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะต้องอยู่เคียงข้างเทียร่าที่ครั้งหนึ่งอดีตเจ้าสาวของพระองค์เคยสวม และบัดนี้ถูกสวมโดยว่าที่ลูกสะใภ้ ส่วนเทียร่า Cartier Halo ที่ เคต มิดเดิลตัน เคยสวมสมัยวิวาห์กับ เจ้าชายวิลเลี่ยม ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ลงตัวเพราะจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการที่หอศิลป์แห่งชาติในประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นหวยจึงมาลงที่เทียร่า Filigree ซึ่งมีลักษณะกึ่งที่คาดผมทรงโค้งประดับเพชรที่สามารถถอยหลังประวัติศาสตร์กลับไปได้ถึง สมเด็จพระราชินีแมรี่ ในปี 1932 ผู้นำชิ้นเข็มกลัดจากปี 1893 มาประกอบขึ้นเรือนอีกที โดยเทียร่านี้เมแกนได้รับมอบจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2

#5 จากก้อนทองประจำราชวงศ์ แบ่งหลอมออกมาเป็นแหวนของหลานสะใภ้คนใหม่

     ในส่วนของแหวนแต่งงาน (ซึ่งเป็นคนละวงกับแหวนหมั้นเพชรที่เธอได้รับจากเจ้าชายแฮร์รี่เป็นการส่วนพระองค์ไปก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว) จะเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ทุกประการ กล่าวคือเป็นแหวนเกลี้ยงที่หลอมทรงขึ้นจากทองก้อนเดียวกับแหวนวงอื่นๆ ของสมาชิกในราชวงศ์วินด์เซอร์ ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นครั้งแรกโดยควีนมัมในปี 1923 ด้วยการคัดเลือกก้อนทองคำจากนอร์ธเวลส์ นับจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ถึงเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต หรือแม้แต่ ซาราห์ เฟอร์กูสัน ต่างมีแหวนลักษณะเดียวกันนี้ในครอบครองด้วยกันทั้งนั้น แต่ด้วยจำนวนทองคำที่ลดน้อยถอยลงนับแต่พิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลี่ยม สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 จึงหาก้อนใหม่มาเตรียมไว้และแหวนทองของเมแกนก็น่าจะมาจากก้อนใหม่นี้

#6 แค่จุมพิตนี้ก็รู้ได้ว่าบรรยากาศราชวงศ์กำลัง 'ชิลล์' ขึ้น

     บัดนี้ผู้เฝ้าติดตามข่าวพิธีเสกสมรสคงจะติดตาภาพคู่รักราชวงศ์วินด์เซอร์คู่ล่าสุดบนราชรถเปิดหลังคาเทียมม้าที่ควบขี่ไปตามเส้นทางจากโบสถ์นักบุญจอร์จในปราสาทวินด์เซอร์ แต่โปรดอย่าลืมว่าประวัติศาสตร์นั้นมิได้เพียงจารึกถึงเจ้าสาวคนใหม่ของประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ได้ฤกษ์จารึกถึง "ทิศทาง" และ "บทบาท" ที่เปลี่ยนไปอีกด้วย ภาพบ่าวสาวจุมพิตกันอย่างเอียงอายโดยมีสมาชิกราชวงศ์ขั้นสูงสุดเรียงรายเป็นฉากหลังบนขั้นบันไดนั้นอาจมี "มูลค่าทางสังคม" มากกว่าภาพจุมพิตของดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์บนระเบียงพระราชวังบักกิงแฮมเสียด้วยซ้ำไป เนื่องด้วยความจริงที่ว่ามารดาชาวอเมริกันผิวสีผู้ถ่อมตัวของเมแกนกำลังได้รับการดูแลจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ในอนาคตอันใกล้จะต้องขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์ แถมหลังจบงานคืนนี้คู่บ่าวสาวก็ยังไม่ได้ไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ไหน หากเตรียมตัวกลับไปประกอบภารกิจเพื่อชาติต่อแบบคนปกติ

     นี่คือบรรยากาศที่เปลี่ยนไปของสังคมอันเคร่งครัดของอังกฤษอายุพันปี ซึ่งเปลี่ยนจากรากเยอรมันมาเป็นวัฒนธรรมอังกฤษและปรับเป็น "ลูกผสมระหว่างอังกฤษกับโลก" อีกที เช่นเดียวกับคำชื่นชมเรือน (หลาย) ล้านที่หลั่งไหลถึง เมแกน มาร์เคิล ในฐานะนักสตรีนิยมคลื่นลูกใหม่ผู้สามารถเปลี่ยนงานแต่งสไตล์ "ขาวล้วน" อายุหลายร้อยปีมาเป็น "ครึ่งดำ" ได้ผ่านคำสอน คำสาบาน ตลอดจนบทเพลงอเมริกันและสไตล์กอสเปล ซึ่งอิงแอบอยู่กับประเด็นเดียวคือ "ความรัก"


#7 แม้แต่เค้กแต่งงานก็ยังแหวกธรรมเนียม

     ลืมธรรมเนียมเค้กผลไม้แบบเดิมๆ ไปได้เลย! เพราะตัวเลือกของเมแกน มาร์เคิลคือ "เค้กมะนาว" ที่เปรี้ยวพอๆ กับความขบถอันแตกต่างของเจ้าสาวซินเดอเรลล่าผู้นี้ ความใหญ่ของเค้กเองดูได้จากจำนวนเครื่องปรุงซึ่งหลักๆ คือมะนาวอะมัลฟี 200 ลูก กับไข่ออร์แกนิกจากซัฟโฟล์ก 500 ฟอง ผสมผสานกับเนย แป้ง น้ำตาล อย่างละ 20 กิโลกรัม และน้ำดอกไม้ Elderflower Cordial จากซานดริแงมอีก 10 กิโลกรัม

WATCH