SOCIETY

ย้อนรอยก่อนถึง 'Platinum Jubilee' กับการเฉลิมฉลองทุกเหรียญ Jubilee ของควีนเอลิซาเบธฯ

ความยิ่งใหญ่ในช่วงขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 70 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเต็มไปด้วยหมุดบันทึกทางประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ

     เราต่างทราบกันดีว่าการเฉลิมฉลอง Platinum Jubilee หรือฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คืองานเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ทั่วโลก ด้วยระยะเวลาที่ปกครองดินแดนสหราชอาณาจักรมานานขนาดนี้ ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมายนั่นหมายความว่าตัวเลขนี้ไม่ได้เพียงบ่งบอกระยะเวลาอันนานโข แต่กำลังเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปเพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นช่วงเวลาสำคัญของราชวงศ์เช่นกัน วันนี้โว้กจะพาไปสรุปรวบยอดว่าการเฉลิมฉลองมีชื่อว่า “Jubilee” ของสมเด็จพระราชินีฯ มีมาแล้วกี่ครั้ง และแต่ละครั้งพิเศษอย่างไร


     ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “Jubilee” ในที่นี้เปรียบดั่งหมุดบันทึกระยะเวลาการครองราชย์ของกษัตริย์ โดยจะมีคำนำหน้ากำกับตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น โดยหลักๆ แล้วจะมี 25, 50 และ 60 ปี หรือ Silver, Golden และ Diamond เป็นหลัก ในขณะที่ยังมีการเฉลิมฉลองระยะการครองราชย์ในเลขอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยเช่น Ruby Jubilee ที่แสดงถึงการครองราชย์ครบ 40 ปี และ Sapphire Jubilee อันหมายถึงการครองราชย์ครบ 65 ปี ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ล้วนทรงผ่านมาทั้งหมดแล้ว เหลือเพียง Platinum Jubilee เท่านั้น และในปี 2022 เนื่องในโอกาสการครองราชย์ครบ 70 ปี พระองค์ทรงรับเหรียญ Platinum Jubilee แสดงถึงระยะการครองราชย์ยาวนานเป็นประวัติศาสตร์

การเฉลิมฉลองช่วง Silver Jubilee ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1975 / ภาพ: ABC

  • Silver Jubilee

ย้อนกลับไปปี 1977 นี่เป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เฉลิมฉลองการครองราชย์ตามหลัก Jubilee ช่วงต้นปีดังกล่าวมีการจัดการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และพระองค์ก็ทรงรับเหรียญ “Queen Elizabeth II Silver Jubilee” ซึ่งนับเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ที่รับเหรียญตราดังกล่าว ต่อจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่ถือเป็นพระองค์แรกที่มีการเฉลิมฉลอง Silver Jubilee อย่างเป็นทางการ เพราะก่อนหน้า มีเพียงการฉลองใหญ่สำหรับ Golden Jubilee หรือการครองราชย์ครบ 50 ปีเท่านั้น งานนี้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ในหลายดินแดน ตั้งแต่แคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงนิวซีแลนด์ด้วย ในส่วนของเกาะอังกฤษเองผู้คนก็ออกมาประดับธง เดินพาเหรด และเฝ้ารอพระองค์ออกมาประทับหน้าระเบียง ทีวีทุกช่องถ่ายทอดสดบรรยากาศความยิ่งใหญ่ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ในวันที่ 9 มิถุนายน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จตามแม่น้ำเทมส์ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรกอีกด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในช่วงระหว่างปี 1992 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลอง Ruby Jubilee / ภาพ: BILD

  • Ruby Jubilee

การเฉลิมฉลองโดยไร้เหรียญครั้งแรก…แน่นอนว่าในหน้าประวัติศาสตร์การปกครองของสหราชอาณาจักรมีกษัตริย์ทรงรับเหรียญเฉลิมฉลองระยะการครองราชย์อันยาวนานไว้ โดยส่วนมากเป็น Golden Jubilee ดั้งเดิมตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ แต่สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีงานฉลองสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1992 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 40 ปี หรือที่เรียกกันว่า Ruby Jubilee มีการนิยามว่างานครั้งนี้เป็นอีเวนต์แบบ “Low-Profile” แม้จะมีสเกลงานที่ไม่ใหญ่มากแต่สมเด็จพระราชินีฯ และดยุกแห่งเอดินบะระ เสด็จเยือนประเทศออสเตรเลีย เพื่อเฉลิมฉลองเมืองซิดนีย์มีอายุครบ 150 ปีในปีเดียวกันด้วย ในแคนาดามีการสร้างประติมากรรมสมเด็จพระราชินีฯ ทรงม้าหน้าอาคารรัฐสภา และในดินแดนสหราชอาณาจักรทางสำนักข่าว BBC ก็สร้างสารคดีชิ้นสำคัญ และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่น่าจดจำคือการปลูกต้นโอ๊คไว้ที่ Grosvenor Park จำนวน 4 ต้นเพื่อเฉลิมฉลองงานดังกล่าวในอีกมิติหนึ่ง



WATCH




บรรยากาศการเฉลิมฉลอง Golden Jubilee ของปวงชนชาวสหราชอาณาจักร / ภาพ: Vogue US

  • Golden Jubilee

จุดบันทึกแห่งประวัติศาสตร์การครองราชย์ของราชวงศ์คือ Golden Jubilee ด้วยระยะเวลายาวนานถึง 5 ทศวรรษ ถือเป็นระยะเวลายาวนานและเป็นช่วงตัวเลขครึ่งของศตวรรษพอดิบพอดี จุดนี้คือความยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์หลายพระองค์เคยเฉลิมฉลองบนบัลลังก์กันมาอย่างยาวนาน โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 คือกษัตริย์พระองค์แรกของสหราชอาณาจักรที่ครองราชย์ยาวนานถึงระดับนี้ ครั้งนั้นถือเป็นการตั้งบรรทัดฐานความยิ่งใหญ่ของการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ในปี 2002 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเจริญรอยตามและสร้างประวัติศาสตร์สำคัญ ต้องบอกว่านี่คือเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ เพราะในช่วงนั้นสำนักข่าวชื่อดังจำนวนมากต่างคาดการณ์ว่าสัปดาห์เฉลิมฉลองจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าเดิมอีกแล้ว เพราะมีแนวโน้มว่าผู้คนสนใจเรื่องสถาบันกษัตริย์น้อยลง ทว่าพอถึงช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลองจริง ทุกอย่างกลับเต็มไปด้วยความคึกคัก บ้านเมืองแปรสภาพเป็นดินแดนแห่งทอง สถานที่สำคัญล้วนกลายเป็นสีเหลืองทอง ความยิ่งใหญ่ที่สะท้อนออกจากสีสันความยิ่งใหญ่นี้ไม่ต้องเอ่ยอะไรให้มาก เพราะเมืองสีทองนั้นสามารถตอบทุกอย่างได้ว่าการเฉลิมฉลองเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จออกมาพบปะประชาชนบริเวณระเบียงพระราชวังบักกิงแฮม / ภาพ: Mashable

  • Diamond Jubilee

ปี 2012 คือปีแห่งความยิ่งใหญ่เพราะสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์ครบ 60 ปี และทรงครองเหรียญตรา Diamond Jubilee เช่นเดียวกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชินีทั้ง 2 พระองค์คือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เพียง 2 คนของดินแดนสหราชอาณาจักรที่ครองราชย์เกิน 6 ทศวรรษ และการเฉลิมฉลองครั้งนี้สะท้อนถึงโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นโลกยุคโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง สมเด็จพระราชินีฯ เสด็จเยือนหลายประเทศ และหลายพื้นที่ทั่วโลกต่างจัดงานเฉลิมฉลองพิเศษให้กับกษัตริย์พระองค์นี้อย่างสมเกียรติ ประเทศที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องทางตรงแต่มีความสัมพันธ์เชิงการทูตก็ล้วนให้เกียรติและสร้างสรรค์งานสำคัญให้กับสมเด็จพระราชินีฯ อย่างจริงจัง ทั้งหมดตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าผู้คนยังให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ จากเรื่องราวต่างๆ ระหว่างปี 2012 รับประกันได้ว่าประเพณีการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของโอกาสพิเศษสำหรับปวงชนอยู่เช่นเดิม

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพิธีเฉลิมฉลอง Sapphire Jubilee / ภาพ: TIME

  • Sapphire Jubilee

Sapphire Jubilee แรกในประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านี้นอกจากการเฉลิมฉลองครองราชย์ครั้งใหญ่มักเกิดขึ้นในปีเลขฐานสิบ และมีเพียง Silver Jubilee เท่านั้นที่กำหนดตัวเลขไว้ที่ 25 ปี แต่สำหรับ Sapphire Jubilee เปรียบดั่งโอกาสพิเศษที่กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยเลข 65 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่มีการระบุถึง Sapphire Jubilee และจัดงานใหญ่ในสัปดาห์ต้นเดือนมิถุนายน งานนี้ถือเป็นเป็นงานที่เล็กที่สุดในบรรดาการเฉลิมฉลองทั้งหมด เพราะไม่มีการจัดอีเวนต์ใหญ่ มีเพียงการบันทึกเรื่องราวและสรรสร้างสัญลักษณ์เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีเหรียญเหมือนกับ Jubilee ในโอกาสอื่นๆ เรียกว่านี่คืองานเฉลิมฉลองระยะเวลาการครองราชย์ที่เรียบง่ายที่สุด

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จออกมาพบปะประชาชนบริเวณระเบียงพระราชวังบักกิงแฮมเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลอง Platinum Jubilee / ภาพ: PBS

  • Platinum Jubilee

     ปัจจุบันในปี 2022 นี่คือเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งในสหราชอาณาจักรทรงครองราชย์นานถึง 7 ทศวรรษ นอกจากความยิ่งใหญ่แล้ว ยังมีประเด็นความขัดแย้งทางความคิดด้วย โดยยุคนี้ผู้คนออกมาเปิดเผยความคิดเรื่องความสำคัญของสถาบันกษัตริย์กันอย่างเปิดเผย ทว่าเมื่อประเพณีอันยิ่งใหญ่ที่ผูกโยงเข้ากับความมั่งคั่งทางประวัติศาสตร์ งานนี้ก็กลายเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีความหมายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก การแปรเปลี่ยนเมืองเป็นสีม่วงบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ในเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้เป็นอย่างดี ช่วงวันหยุดยาวประชาชนออกมาเฉลิมฉลองงานนี้อย่างยิ่งใหญ่ บริเวณหน้าพระราชวังบักกิงแฮมมีประชาชนมารอสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จออกมาพบปะประชาชน และช่วงสำคัญของ Platinum Jubilee ถือเป็นอีกครั้งที่มีหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ วิถีในการเฉลิมฉลองก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกโยงเทคโนโลยีเข้ากับวิถีแบบดั้งเดิม สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เห็นว่าแม้รูปแบบตามประวัติศาสตร์จะต้องคงความดั้งเดิมเอาไว้ แต่การดึงเอาแง่มุมความทันสมัยบางอย่างมาสอดประสานเข้าด้วยกันย่อมเกิดมิติใหม่ที่ทำให้สิ่งนี้ไม่ตกยุค...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #PlatinumJubilee