SOCIETY

เปิดทำเนียบ 9 หญิงสาวสามัญชนชาวเมริกันผู้ก้าวเข้าสู่รั้ววังก่อนเมแกน มาร์เคิล

ก่อนจะถึงยุคที่ผู้คนพูดถึงเมแกน มาร์เคิลอย่างหนาหูมีสามัญชนชาวอเมริกันอีกถึง 8 คนที่แต่งงานกับราชวงศ์ในประเทศต่างๆ

เรื่อง: Sam Rogers

     เมแกน มาร์เคิล นักแสดงสาวชาวอเมริกันจากซีรี่ย์เรื่องดังอย่าง Suits โคจรมาพบกับเจ้าชายแฮร์รี่ หนุ่มโสดที่สาวๆ ต่างหมายปอง ในปี 2016 ผ่านทางเพื่อนของทั้งคู่ หลังจากนั้น 13 เดือน พวกเขาตกลงปลงใจที่จะหมั้นหมายกัน “ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับแฮร์รี่และครอบครัวราชวงศ์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขารับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจ ทั้งเรื่องภาวะโลกร้อนไปจนถึงแนวคิดแบบเฟมินิสม์” Anne Sebba นักเขียนและนักประวัติศาสตร์กล่าว “พวกเขาไม่สามารถจะหาผู้หญิงคนไหนที่รับรู้เหตุการณ์และปัญหาในโลกยุคปัจจุบันได้เท่าพวกเธอ และเธอจะเป็นผู้ที่นำพาคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้มาสู่ราชวงศ์อังกฤษ” แต่เรื่องราวของมาร์เคิลไม่ใช่สิ่งที่พบเจอได้ยากอย่างที่ใครคิด และนี่คือเหล่าหญิงสาวชาวอเมริกันผู้โด่งดัง ตั้งแต่ เกรซ เคลลี่ ไปจนถึง ลี แรดซิวิลล์ ที่ได้ใช้ชีวิตเฉกเช่นเจ้าหญิงในเทพนิยายและแต่งงานกับเจ้าชายผู้สูงศักดิ์

ภาพ: Vogue Paris

เจ้าหญิงอลิซ, เจ้าหญิงแห่งโมนาโก (Princess Alice, the Princess of Monaco)

     Alice Heine คือหญิงสาวชาวอเมริกันคนแรกที่ได้แต่งงานกับกษัตริย์แห่งราชวงศ์ยุโรป เมื่อเธอและเจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 1 แห่งโมนาโก (Prince Albert I of Monaco) จัดพิธีเสกสมรส ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1889 เรียกได้ว่าเป็นคู่เวรคู่กรรมอย่างจริงแท้ โดยทั้งสองได้พบกันเป็นครั้งแรกบนเกาะมาเดรา ทั้งคู่มีบุตรจากการแต่งงานครั้งก่อน (อลิซมีสถานะเป็นแม่หม้ายเมื่ออายุได้เพียง 22 ปี ส่วนการแต่งงานครั้งแรกของอัลเบิร์ตได้ยุติลงหลังการประสูติของลูกชาย เจ้าชายหลุยส์ที่ 2) และถูกดึงดูดเข้าหากันตั้งแต่แรกพบ บิดาของอัลเบิร์ต เจ้าชายชาลส์ที่ 3 ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของทั้งคู่ จึงไม่มีการจัดงานอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเจ้าชายชาลส์ที่ 3 สิ้นพระชนม์และอัลเบิร์ตขึ้นครองราชย์

ภาพ: Keystone-France

เจ้าหญิงอนาสตาเซียแห่งกรีซและเดนมาร์ก (Princess Anastasia of Greece and Denmark )

     Nancy Stewart Worthington Leeds แม่หม้ายชาวอเมริกันผู้เคยผ่านการหย่าร้างกับเจ้าของธุรกิจผู้บุกเบิกโรงงานกระป๋อง ณ เมืองคลีฟแลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “Tinplate King” รอคอยเป็นเวลาถึงหกปีที่จะได้แต่งงานกับเจ้าชายคริสโตเฟอร์แห่งกรีซและเดนมาร์ก  (Prince Christopher of Greece and Denmark) ทั้งคู่หมั้นหมายกันในปี 1914 และได้เลื่อนการจัดงานออกไป จนได้เข้าพิธีเสกสมรสในปี 1920 ที่เมืองเวอแว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แนนซี่กลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘เจ้าหญิงอนาสตาเซีย’ และคริสโตเฟอร์กลายเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากสื่อ อันเนื่องมาจากความแตกต่างในเรื่องอายุ (เขาอายุน้อยกว่าเธอถึง 10 ปี) เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่กรุงลอนดอน หลังการแต่งงานเพียงสามปีเท่านั้น



WATCH




ภาพ: Popperfoto

วอลลิส ซิมป์สัน, ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (Wallis Simpson, the Duchess of Windsor)

     “ฉันค้นพบว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแบกรับภาระอันใหญ่หลวงนี้ และจำต้องก้าวลงจากตำแหน่งและหน้าที่ของการเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันต้องการ ถ้านั่นหมายถึงการได้อยู่เคียงข้างหญิงสาวอันเป็นที่รัก” คิงเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (King Edward VIII) กล่าว เมื่อเขาสละราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์อังกฤษ เมื่อปี 1936 หญิงสาวที่เขาพูดถึงนั้นก็คือ วอลลิส ซิมป์สัน โดยการสละราชบัลลังก์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจต่อสาธารณชนเป็นอย่างมาก: “พวกเขารับไม่ได้กับความคิดที่ว่า หญิงสาวผู้ก๋ากั่นเช่นนี้ (แม้จะมีรสนิยมการแต่งตัวที่ร่วมสมัย) จะขึ้นเป็นราชินีแห่งสหราชอาณาจักร” Anne Sebba ผู้เขียน ‘That Woman’ อัตชีวประวัติของวอลลิส เล่าให้โว้กฟัง สาวสังคมชาวอเมริกันผู้เคยผ่านการหย่าร้างถึงสองครั้ง เข้าพิธีเสกสมรสกับดยุคแห่งวินด์เซอร์ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1937 ณ ปราสาท Château de Candé ประเทศฝรั่งเศส เธอสวมใส่เดรสสีน้ำเงินนาม ‘วอลลิสบลู’ ซึ่งออกแบบโดย Mainbocher แบรนด์เสื้อผ้าลักชัวรี่สัญชาติอเมริกัน โดยภายในงานไม่มีการปรากฏตัวของเหล่าราชวงศ์อังกฤษแม้แต่คนเดียว และทั้งสองใช้ชีวิตอยู่นอกสหราชอาณาจักรตราบจนวาระสุดท้าย “ดยุคปฏิเสธที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ ถ้าภรรยาของเขาจะโดนเย้ยหยันจากการที่เธอไม่ได้รับความเคารพอย่างถูกต้อง” Sebba อธิบาย

ภาพ: Keystone-France

ริตา เฮย์เวิร์ธ (Rita Hayworth)

     ในปี 1949 เพียงหนึ่งปีหลังจากที่พบกันครั้งแรกที่เมืองคานส์ ดาวเด่นแห่งวงการฮอลลีวู้ดอย่าง ริตา เฮย์เวิร์ธ เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายอาลี ซัลมาน อากา ข่าน (Prince Aly Salman Aga Khan) ชื่อเดิมของเธอคือ มาร์การิตา คาร์เมน แคนซิโน (Margarita Carmen Cansino) เกิดที่บรูคลิน รัฐนิวยอร์ก โดยดาราสาวจากภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง You’ll Never Get Rich เพิ่งยุติชีวิตสมรสกับ Orson Welles (และก่อนหน้านี้หย่าขาดจาก Edward Judson ผู้ที่เธอแต่งงานด้วยห้าปีก่อนหน้านั้น หรือในปี 1942) การจัดพิธีระหว่างเธอและเจ้าชายอาลี ข่านจึงเกิดความกระอักกระอ่วนอยู่ในที หลังจากนั้นเพียงสี่ปี ดาราสาวได้หย่าร้างกับเจ้าชาย และพาลูกสาว Yasmin Aga Khan หวนคืนสู่ฮอลลีวู้ด

 

ภาพ: 3777

เกรซ เคลลี่, เจ้าหญิงแห่งโมนาโก (Grace Kelly, Princess of Monaco)

     และเจ้าหญิงชาวอเมริกันที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเธอ ‘เกรซ เคลลี่’ เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 (Prince Rainier III) แห่งโมนาโก เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1956 โดยได้รับการกล่าวขานว่าเป็นดัง “เทพนิยายยุคใหม่” “เจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งโมนาโกได้เลือกเจ้าหญิงของเขาเป็นที่เรียบร้อย” นิวยอร์กไทมส์ ได้กล่าวไว้ในปี 1956 “เธอคือ เกรซ เคลลี่ แห่งเมืองอีสต์ฟอลส์และฮอลลีวู้ด…มิสเคลลี่กล่าวว่าเธอจะพักอาศัยที่โมนาโก ‘อย่างแน่นอน’ และจะเรียนภาษาฝรั่งเศส…เจ้าชายกล่าวว่าเธอจะเป็นที่รู้จักในนาม หม่อมเจ้าหญิง, เจ้าหญิงแห่งโมนาโก, หรือ เจ้าหญิงเกรซ” งานพิธีเสกสมรสจัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์นิโคลัสในโมนาโก และนักแสดงสาวเจ้าของรางวัลออสการ์สวมชุดโดยดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน Helen Rose ที่ได้รับเป็นของขวัญจากสตูดิโอต้นสังกัดของเธออย่าง MGM ซึ่งได้กลายเป็นชุดในอุดมคติที่เหล่าว่าที่เจ้าสาวต่างใฝ่ฝัน ลูกชายของเธอ อัลเบิร์ตที่ 2 คือกษัตริย์องค์ปัจจุบันของโมนาโก

ภาพ: Bettmann

ลี แรดซิวิลล์, เจ้าหญิงแรดซิวิลล์ (Lee Radziwill, Princess Radziwill)

     Caroline Lee Bouvier Canfield น้องสาวของแจ็กกี้ เคนเนดี้ เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายสตานิสลาส แรดซิวิลล์แห่งโปแลนด์ (Prince Stanislas Radziwill of Poland) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1959 ทั้งคู่พบกันที่ยุโรป ในขณะที่ลีกำลังเดินทางเพื่อไปดูแลการจัดงานนิทรรศการของโว้กที่อเมริกันพาวิลเลี่ยน (สำหรับงาน World’s Fair ในปี 1985 จัดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์) ถือเป็นการแต่งงานครั้งที่สองของเธอ ครั้งที่สามสำหรับเขา และจบลงด้วยการหย่าร้างในปี 1974 โดยในระหว่างการใช้ชีวิตคู่ ทั้งสองอาศัยอยู่ที่ลอนดอน ณ จอร์เจียน ทาวน์เฮาส์ที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราโอ่อ่า ตั้งอยู่ที่ 4 Buckingham Palace (นี่คือทาวน์เฮาส์ที่ได้รับการถ่ายภาพลงตามหน้านิตยสารอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง โว้ก ซึ่งได้ Cecil Beaton เป็นช่างภาพ) หลังจากการหย่าร้างครั้งที่สามกับผู้กำกับภาพยนตร์ Herbert Ross เธอกลับไปใช้นามสกุล ‘แรดซิวิลล์’ เช่นเดียวกับลูกๆ ของเธอ

ภาพ: Tim Graham

เจ้าหญิงมารี-ชองตาล มกุฎราชกุมารีแห่งกรีซ  (Marie-Chantal, Crown Princess of Greece)

     มารี-ชองตาล มิลเลอร์ พบกับเจ้าชายของเธอ เจ้าฟ้าชายพาฟลอส มกุฎราชกุมารแห่งกรีซ (Crown Prince Pavlos of Greece) ในการนัดบอดที่เพื่อนของทั้งสองจัดขึ้นในปี 1992 ทั้งคู่เข้าพิธีเสกสมรสในปี 1995 ณ โบสถ์เซนต์โซเฟียกรีกออร์ทอดอกซ์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่าราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่พิธีอภิเษกสมรสของควีนเอลิซาเบธและเจ้าชายฟิลิปในปี 1947 แต่สิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เห็นจะเป็นชุดผ้าไหมฝังมุกสีงาช้างจากวาเลนติโน่ มาพร้อมชายกระโปรงผ้าลูกไม้สีครีมชานทิลลี่ที่มีความยาวถึง 4.5 เมตร ถึงแม้จะเกิดที่กรุงลอนดอน มารี-ชองตาล มิลเลอร์ เคยถือสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเธอได้สละไปเมื่อปี 2011

ภาพ: Handout

เจ้าหญิงซัลวา อากา ข่าน (Princess Salwa Aga Khan)

     นางแบบสาวชาวซีแอตเทิล เคนดร้า สเปียร์ส เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายราฮิม อากา ข่าน (Prince Rahim Aga Khan) ณ ปราสาท Château de Bellerive เมืองเจนีวา ในปี 2013 เธอคือนางแบบขาประจำบนหน้านิตยสารและบนรันเวย์ เธอเคยเดินแบบให้ทั้ง Prada, Marc Jacobs, Dolce & Gabbana ช่วงปี ค.ศ. 2000-2009 โดยซูเปอร์โมเดลรุ่นใหญ่อย่าง นาโอมิ แคมป์เบล เป็นผู้แนะนำให้เธอรู้จักกับเจ้าชายระหว่างงานปาร์ตี้ หลังจากนั้นเธอจึงกลายร่างเป็น ‘เจ้าหญิงซัลวา อากา ข่าน’ (Princess Salwa Aga Khan) และมีบุตรด้วยกันสองคน

ภาพ: Sipa Press/REX/Shutterstock

สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน (Queen Noor of Jordan)

ควีนนูร์มีพระนามเดิมว่า ‘เอลิซาเบธ “ลิซ่า” ฮัลลาบี’ เธอจบการศึกษาจาก Princeton University และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘นูร์ อัล ฮุสเซน’ (Noor al-Hussein) ที่มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งฮุสเซน” เมื่อเธอเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน (King Hussein of Jordan) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1978 แม้จะเคยถูกเย้ยหยันเพราะความคิดแบบเสรีนิยมและการเกิดเป็นคนอเมริกัน เธอปฏิบัติหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจ และได้รับคำสรรเสริญทั้งจากในและนอกประเทศ  อดีตประธานาธิบดีคลินตัน กัลยาณมิตรของเธอ กล่าวว่าเธอคือ “ลูกสาวของสหรัฐอเมริกาและราชินีของจอร์แดน” ที่ “เป็นความภาคภูมิใจของทั้งสองประเทศ”

 

ข้อมูล: vogue.fr

แปล: ชนิสรา กตัญญูทวีทิพย์

WATCH