FASHION

ชุดว่ายน้ำ: เครื่องแบบเซ็กซี่ที่สะท้อนการกดขี่สิทธิของผู้หญิงผ่านแนวคิดยุคเก่าในสังคมไทย!

ความรักนวลสงวนตัวกลายเป็นเกราะกำบังให้แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมกดขี่ผู้หญิงจนเรื่องสิทธิสตรีถูกละเลย

     สังคมไทยกับการใส่ชุดว่ายน้ำเป็นเรื่องคู่ขนานกันมานานจนผู้เขียนอาจแทบจำความไม่ได้แล้ว การเป็นปฏิปักษ์ต่อการสวมเสื้อผ้าที่อวดทรวดทรงองค์เอวนั้นอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด  ทุกวันนี้มีกระแสสังคมเดินหน้าล้อไปกับกระแสโลก วัฒนธรรมของแต่ละชาติมิได้เป็นวัฒนธรรมเข้มข้นอีกต่อไป มันถูกเจือจางจากวัฒนธรรมอื่นที่ไหลเวียนเข้าออกในเส้นเลือดของสังคมอยู่เสมอ ปี 2020 จึงเป็นยุคที่การอวดโฉมเรือนร่างกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงในหลายแง่มุม ไล่ตั้งแต่ความเหมาะสมไปจนถึงบรรทัดฐานสิทธิเรื่องเพศ โว้กจะไขรหัสว่าทำไมแค่ชุดว่ายน้ำถึงกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตให้คนกร่นด่าใครคนอื่นได้แม้ในบางครั้งอาจไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ

โบ-สุรัตนาวี สุวิพร และ จอยซ์-พรพรรณ รัตนเมธานนท์ จากวง Triumph Kingdom ที่เคยโดนกระแสวิจารณ์การแต่งตัว / ภาพ: Discog

     “วัฒนธรรมอันดีงาม” เรื่องนี้เป็นประเด็นแรกและประเด็นหลักของสังคมไทยเกี่ยวกับชุดว่ายน้ำหรือชุดวาบหวิวอื่นๆ อยู่เสมอ ชุดความคิดของคนยุคก่อน(ไม่ใช่ทั้งหมด)ได้เล็งเห็นว่าภาพลักษณ์ของ “หญิงไทย” จะต้องรักนวลสงวนตัวเรียบร้อย วางท่าวางทางให้ราวกับเป็นนางเอกในบทละครตามแต่โบร่ำโบราณ สิ่งนี้มันส่งผลต่อการแต่งกายของหญิงไทยมาก เพราะในช่วงยุคหนึ่งเราจะเห็นว่าศิลปินที่แต่งตัวฉีกจากบรรทัดฐานเรื่องความเรียบร้อยจะถูกตำหนิต่อว่าราวกับพวกเธอทำผิดมหันต์ กลายเป็นจำเลยสังคมโดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะโต้แย้งอธิบาย

แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ดาราสาวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องชุดว่ายน้ำ แม้เธอจะใส่มันไปทะเลตามความเหมาะสมต่อสถานที่ / ภาพ: @taewaew_natapohn

     แม้ไปทะเลยังจะต้องมิดชิด...ถ้าพูดในเชิงสังคมวิทยาสิ่งนี้อาจเรียกว่าเป็นการกดขี่เรื่องเพศเลยด้วยซ้ำ เพราะสิทธิร่างกายและความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมยังถูกริดรอนขนาดนี้ ผู้ชายสามารถถอดเสื้อเล่นน้ำถ่ายรูปได้ตามอำเภอใจ กลับกันฝ่ายหญิงกลับต้องทำตามบรรทัดฐานสังคมเรื่องความเรียบร้อย ยิ่งใส่ชุดบิกินี่ วันพีชเว้าสูง และชุดอวดเรือนร่างอื่นๆ ก็จะโดนเพ่งเล็งและด่วนตัดสินว่าเป็นคนไม่ดีในด้านหนึ่งไปเสียอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ที่ลงรูปชุดว่ายน้ำวันพีชสีขาวก็ยังมีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการอวดโฉมความงามของรูปร่างเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่ผิดกาลเทศะด้วยซ้ำ เพราะเธอใส่มันไปทะเลไม่ได้ไปเดินล่อนจ้อนกลางกรุงเสียเมื่อไร



WATCH




เคยตั้งคำถามกันไหมว่าทำไมเราเห็นดาราฮอลลีวู้ดรุ่นเก๋าอย่าง Angelina Jolie สวมชุดว่ายน้ำและไม่ได้รู้สึกว่าแปลกแต่อย่างใด / ภาพ: InStyle

     การผลิตซ้ำของสื่อตลอดหลายสิบปีที่กดขี่สิทธิสตรีเสมอมา ชุดความคิดหนึ่งมักถูกรื้อสร้างและผลิตซ้ำอยู่ตลอดตามความปกติของกลไกทางสังคม ทว่าเรื่องสิทธิการแสดงตัวตนของผู้หญิงกลับถูกกดขี่และยัดเยียดสิ่งต่างๆ ให้เพื่อคำว่า “สมหญิง” นั่นหมายความจะสมการเป็นผู้หญิงที่มีเกียรติในสังคมจะต้องรักนวลสงวนตัว ทำตามหน้าที่เป็นรองเพศชาย อุดมคติต่างๆ เปรียบหญิงเป็นดั่งผ้าพับไว้ ทั้งหมดส่งทอดมาถึงเรื่องชุดว่ายน้ำสุดเซ็กซี่ต่างๆ ว่าการจะสวมมันออกไปไหนต่อไหนคือเรื่องน่าอาย ไร้ซึ่งยางอาย แต่เวลาเห็นฝรั่งมังค่าสวมบ้างกลับดูเป็นเรื่องปกติ เพราะสื่อตั้งแต่ภาพยนตร์จนถึงรายการโทรทัศน์ผลิตซ้ำชุดความคิดนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันซึมลึกเข้าไปอยู่ในสังคมจนแทบจะแยกออกมาไม่ได้

ชุดว่ายน้ำวันพีชเว้าสูงที่ผู้เขียนเชื่อเลยว่าถ้าขายในช่วงยุค 10 ปีก่อนอาจโดนถล่มเละ แต่ตอนนี้โลกเริ่มเปิดกว้างกันมากขึ้น / ภาพ: @gigibeachbabes

     ในสังคมยุคใหม่ตรรกะบัญญัติไตรยางค์ที่เทียบว่า “เรียบร้อย = มีคุณค่า” กับ “ไม่เรียบร้อย = ไม่มีคุณค่า” อาจใช้ไม่ได้เสมอไป ต้องบอกว่าแท้จริงแล้วคำว่า “คุณค่า” มีความเป็นอัตวิสัยสูงมาก ในสังคมๆ หนึ่งจะตีค่าสิ่งต่างๆ ผ่านมาตรฐานที่ต่างกันเสมอ มันไม่ใช่เรื่องสากลหรือเรื่องที่สามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวในการตัดสินได้ วิธีการมองคุณค่าร่างกายอย่างภูมิใจและขึ้นตรงอยู่กับคำว่ากาลเทศะอาจเป็นการตีคุณค่าของหญิงสาวผู้มั่นใจอยากอวดโฉมรูปร่างที่เพียรพยายามรักษาดูแลมาตลอดชีวิต การด่วนพิจารณาตัดสินระหว่าง “หญิงทรงคุณค่า” หรือ “อีตัว” เสื้อผ้าใช้เป็นตัวตัดสินไม่ได้ การใช้เกณฑ์หลักคิดตนเองมาตัดสินน่าจะไม่ใช่สิ่งพึงกระทำเท่าไรนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร่างกายคนอื่น ซึ่งเจ้าของร่างกายมีสิทธิในร่างกายของตัวเองเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง กับโครงการ Don't Tell Me How To Dress ที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผู้หญิงที่ไม่ควรถูกตัดสินด้วยเสื้อผ้า / ภาพ: Or Any Idea?

     “กระตุ้นอารมณ์ทางเพศผู้ชาย” สิ่งนี้เป็นข้ออ้างในการสร้างกำแพงป้องกันไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายตัวเองได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่พร้อมจะโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ในการกระทำด้านกามอารมณ์อยู่เสมอ “แต่งตัวอย่างนี้ไงเลยโดนข่มขืน” สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นแต่มันเกิดขึ้นจริงในสังคม ความจริงอ้างอิงจากงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าแรงขับเคลื่อนของการข่มขืนในเคสส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากชุดเย้ายวนเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถปฏิบัติเลวใส่พวกเธอและใช้คำว่า “ควรแต่งตัวให้มิดชิด” มาเป็นเกราะป้องกัน มันคือสิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่าชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยนั้นจริง เพราะแม้ผู้ชายทำผิดยังมีข้ออ้าง กลับกันผู้หญิงโดนกระทำกลับยังถูกต่อว่าและตั้งแง่เพิ่มเติม โดยมีผู้หนุนหลังชุดความคิดนี้มาตลอดด้วยซ้ำ...

ลิเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน คุณแม่ลูก 2 ที่ยังสวยเซ็กซี่อยู่เสมอ / ภาพ: @lydiasarunrat

      ในยุค 2020 ที่คุณแม่ออกมาอวดหุ่นสวยหลังคลอดลูกกันเต็มหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย ถึงแม้เรื่องนี้จะฮอตฮิตมากแต่ก็ไม่ได้ถูกใจทุกคน หลายคนยังมองว่าการเป็น “คุณแม่” ยิ่งต้องห่มปิดมิดชิด ถึงจะไปทะเลแต่ไม่ควรโชว์วาบโชว์หวิวเท่าไรนัก เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากถึงความเหมาะสม ในบรรทัดฐานทางสังคมเดิมแม่เปรียบเหมือนเทพีแห่งความงดงามเรียบร้อย ในขณะที่การมองโลกยุคใหม่ที่วัฒนธรรมสากลผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยยุคใหม่กำลังบอกว่ามันเป็นสิทธิ์ มันคือความภูมิใจที่เหล่าคุณแม่สามารถรักษาหุ่นให้กลับมา “เซี้ยะ” ได้หลังจากคลอดเจ้าตัวน้อยออกมา พวกเธอก็มีสิทธิ์นำเสนอความภูมิใจในความสวยและทุ่มเทตรงนี้ออกมา หลายครั้งเรายังเห็นการกอสซิปนินทาคุณแม่ยุคใหม่กันอยู่ในเรื่องนี้เพราะมันเป็นผลผลิตของการให้คุณค่านิยามคำว่าแม่แบบอนุรักษ์นิยมที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน

พลอย-ชิดจันทร์ ฮุง คุณแม่ลูก 4 ที่ยังรักษาหุ่นสวยแซ่บไว้ได้เสมอ / ภาพ: @ploychidjun

     แต่เราเชื่อว่าการภาคภูมิใจในร่างกายของตัวเองไม่ว่าจะอายุเท่าใด เพศอะไรไม่เคยใช่เรื่องผิด การเอาบรรทัดฐานมาขีดแบบนี้กลับอาจบ่อนทำลายสิทธิและความอิสระของเพศหญิงทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว และยิ่งย้อนกลับไปถึงหน้าที่และอุดมคติของเพศจะเห็นว่าความเรียบร้อยสวยงามนั้นเป็นผลผลิตของการกดขี่ให้ผู้หญิงอยู่ใต้กรอบอำนาจของผู้ชายมาเสมอ(ผู้หญิงเรียบร้อยไม่หือไม่อือ เป็นช้างเท้าหลังและรักนวลสงวนตัวเป็นศรีแก่ครอบครัวและสามี) ตอนนี้มันกำลังดีขึ้น พวกเธอมีอิสระมากขึ้น ทว่ากลับโดนชุดความคิดดั้งเดิมจากผู้หญิงด้วยกันเหนี่ยวรั้งให้พวกเธอยืนในจุดยืนใหม่ได้ไม่มั่นคงเท่าไร หรือถ้าหนักกว่านั้นบางคนอาจต้องกลับมายืนในจุดยืนเดิมที่สังคมอนุรักษ์นิยมไทยอยากให้เป็นเพื่อหน้าที่การงานหรือการดำเนินชีวิตอย่างราบรื่นต่อไป

บรรทัดฐานของการสวมใส่เสื้อผ้าในสมัยก่อนที่เราอาจจะต้องรื้อถอนสังคมกันอีกครั้งกับนิยามคำว่า “เหมาะสม” ที่คอยจำกัดสิทธิสตรีไทย / ภาพ: @puthpianista

     สุดท้ายเราไม่ได้บอกว่าเราสนับสนุน “การแต่งตัวโป๊” จนเกินงาม เรากำลังพูดถึงกาลเทศะและชุดความคิดใหม่ในการให้เกียรติร่างกายผู้อื่น มองรูปร่างเป็นความสวยงามโดยไม่ตีค่าว่าผิดหรือลดทอนศักดิ์ศรีของผู้อื่นหากอยู่ในช่วงเวลาและโอกาสที่เหมาะสม สังคมไทยอาจกำลังทำร้ายคนในสังคมเองถ้ายังกดขี่ลดทอนคุณค่าซึ่งกันและกันอยู่เฉกเช่นปัจจุบัน โลกที่กำแพงวัฒนธรรมอ่อนตัวลงกำลังเปิดโอกาสให้กับสังคมที่ลื่นไหลมากกว่าได้เดินหน้าเต็มสปีด นี่คือธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสังคมในตอนนี้และกำลังจะเป็นต่อไปในอนาคต ความเท่าเทียมทางเพศกำลังจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ให้เราได้ตระหนักและคิดต่อว่า “ทำไมร่างกายและชีวิตของผู้หญิงถึงถูกกำหนดขีดเส้นกฎเกณฑ์ไว้มากมายขนาดนี้”

WATCH