LIFESTYLE

เมื่อผู้กำกับสร้าง 'พื้นที่ส่วนตัว' ในหนังชายรักชาย ให้กลายเป็นกระจกสะท้อนการยอมรับ LGBTQ+

เมื่อเหล่าผู้กำกับสร้างพื้นที่ให้กับเหล่าตัวละคร LGBTQ จนกลายเป็นสิ่งกดทับโดยไม่ได้ตั้งใจ...

     หลายคนที่เป็นแฟนตัวยงของซีรีส์ Y หรือภาพยนตร์ชายรักชายเคยสังเกตไหมว่า มีจุดร่วมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ใช่ดอกชบา หรือมะพร้าวอะไรนั่น แต่เป็น “พื้นที่” ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ และซีรีส์ประเภทนี้มักจะสร้าง (โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) ขึ้นมาเพื่อตัวละครกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ ไม่ต้องย้อนกลับไปดูที่ไหนไกล ตั้งต้นจากซีรีส์ Y เรื่องแรกของนาดาว บางกอกได้เลย สำหรับ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ที่เรามักจะได้เห็นตัวละครเต๋ และโอ้เอ๋ว นัวเนีย พลอดรัก หรือแสดงความรู้สึกรักต่อกัน ในที่ลับตาคน ใน “พื้นที่ส่วนตัว” ที่ผู้กำกับสร้างขึ้นมาให้เสมอ ไล่เรียงมาตั้งแต่ฉากที่ทั้งคู่สารภาพความในใจกันเป็นครั้งแรกบนเปลคู่นั้น ท่ามกลางชายหาดที่ไร้ซึ่งผู้คน หรือจะเป็นพื้นที่ใต้บันได ในฉากที่เต๋ตามมาง้องอนโอ้เอ๋วถึงรีสอร์ต กระทั่งที่ชัดเจนที่สุดเมื่อทั้งคู่พากันดำดิ่งลงไปเลิฟซีนกันใต้ผืนน้ำนั่น เพื่อหลบซ่อนจากผู้คนท่ามกลางพื้นที่ส่วนตัวของทั้งคู่ที่ไร้ซี่งการจับจ้องจากคนอื่นๆ

     ดังที่กล่าวไปแล้วว่า วัฒนธรรมการสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับตัวละครกลุ่ม LGBTQ+ ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นวันนี้เมื่อวานเสียเมื่อไหร่ ในภาพยนตร์เรื่อง “อนธการ” ภาพยนตร์ชายรักชายสายดาร์ก เราก็พบว่ามีพื้นที่สระน้ำร้าง ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมแสดงความรักต่อกันของตัวละครชายรักชาย, ในภาพยนตร์ท้าทายความเชื่อแห่งชีวิตอย่าง “มะลิลา” ก็พาตัวละครเอกทั้งคู่ไปพลอดรักกันในถิ่นที่ที่ไกลออกไป ท่ามกลางป่าที่ไกลออกไปจากผู้คน, ในภาพยนตร์เรื่อง “Call Me By Your Name” ตัวละคร เอลิโอ และโอลิเวอร์ ก็ต้องเฮโลพากันปั่นจักรยานกันไปนัวเนียกันถึงในป่าแสนสงบที่ไกลออกไป กระนั้นพื้นที่ส่วนตัวที่เหล่าผู้กำกับสรรสร้างขึ้นเพื่อโอบรับกลุ่มตัวละครเพศทางเลือกเหล่านี้ ก็ใช่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมอย่างเดียว เพราะในภาพยนตร์คัมมิ่งออฟเอจเรื่อง “รักแห่งสยาม” ยังได้สร้างพื้นที่ส่วนตัวแบบนามธรรมขึ้นมาจำกัดขอบเขตให้กับตัวละครชายรักชายด้วยนิยามของ “วัยรุ่นวัยเรียน” จับตัวละครหลักใส่ชุดนักเรียนเกือบตลอดทั้งเรื่อง เพื่อย้ำให้เห็นว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงของวัยที่ตัวละครกำลังเรียนรู้ วัยทดลอง ซึ่งพื้นที่วัยรุ่นที่ผู้กำกับ (ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) สร้างขึ้นมานี้สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่นี้เป็นของตัวละครโดยเฉพาะ แยกออกจากชีวิตจริงทั่วไปโดยสิ้นเชิง

     ทั้งหมดที่ผู้เขียนพูดถึงเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ทำไมภาพยนตร์ชายรักชาย หรือซีรีส์ Y ส่วนใหญ่นั้นจึงต้องสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับตัวละครกลุ่มนี้ด้วย หรือแท้จริงแล้วสิ่งนี้กำลังเทียมตนเป็นกระจกสะท้อนกลับการยอมรับกลุ่มคน LGBTQ+ ของคนทั่วไปในสังคม...

     ทำไมตัวละครชายรักชายถึงไม่สามารถนัวเนีย บอกรักกัน ท่ามกลางร้านกาแฟที่แซ่ซ้องไปด้วยเสียง และผู้คนได้ หรือแม้แต่นอนตักกันในพื้นที่สวนสาธารณะที่มีตัวละครประกอบกำลังทำกิจกรรมอื่นๆ รอบตัวอย่างคึกคักได้เหมือนตัวละครชายหญิงทั่วไป เพราะตัวละครชายหญิงที่ว่านี้ ผู้กำกับหลายคนยังเคยจัดฉากให้จูบกันกลางเซ็ตติ้งร้านอาหาร สกายวอล์ก หรือในพื้นที่ที่มีคนเยอะๆ มาแล้วก็หลายเรื่องนับไม่ถ้วน บางฉากกลายเป็นซีนโรแมนติกสุดไอคอนิกของวงการภาพยนตร์ก็มี แต่ทำไมภาพยนตร์ และซีรีส์ Y ส่วนใหญ่จึงทำไม่ได้ หรือแม้ว่าจะทำได้ขึ้นมา ฉากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของความโรแมนติกอย่างเดียว แต่กลับกลายเป็นเรื่องแฟนตาชีเหนือจริงเสียมากกว่า (Fantasize) ในความรู้สึกของคนดู



WATCH





     อนึ่งเมื่อถอดรหัสจากฉากเลิฟซีนของเต๋ และโอ้เอ๋วใต้ผืนน้ำที่เกิดขึ้น ก็อาจจะมองได้ว่า ใต้ผืนน้ำนั่นเป็นพื้นที่ที่ตัวละครเต๋จะสามารถปลดเปลื้องพันธนาการความกดดันต่างๆ บนบกในชีวิตจริงของตัวเองออกไปได้อย่างราบคาบ จนสามารถทำตามสิ่งที่จิตใจตัวเองนึกฝันอย่างเต็มที่ เป็นการให้คำตอบว่าความในใจที่แท้จริงของตัวละครนั้นคืออะไร ทว่าในอีกมุมหนึ่งที่แสนอาดูรก็อาจตีความได้เช่นกันว่า พื้นที่ส่วนตัวในหลากหลายเรื่องที่ผู้กำกับไม่ซ้ำหน้าต่างพากันสร้างขึ้นนั้น เป็นเหมือนการกดทับ และย้ำเตือนสถานะ “ชนชายขอบ” ของคนกลุ่ม LGBTQ ก็ไม่ปาน การสร้างพื้นที่หนึ่งๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับตัวละครเหล่านี้ก็เหมือนเป็นการจำกัดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้ว่า พวกเธอสามารถแสดงออกได้แค่ในพื้นที่กว้างเท่านี้ เท่าที่ฉันสร้างขึ้นมาให้ สะท้อนให้เห็นว่าสายตาผู้กำกับที่แทนคนหมู่มากกำลังพยายามควบคุมกลุ่มคน LGBTQ อยู่อย่างกลายๆ ให้อยู่ในอาณัติของตนที่สามารถควบคุมได้ เพื่อยืนยันกับตัวเองว่าพวกเขายังมีอำนาจเหนือกว่าคนพวกนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเอาสัตว์เลี้ยงเข้ากรง หรือโหลขวดที่สร้างขึ้น ให้พวกมันใช้ชีวิตในนั้น ไม่ปล่อยให้ไปเพ่นพล่าน หรือใช้ชีวิตนอกเหนือการควบคุม หรือกระทั่งพื้นที่เหล่านั้นที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตัวละครชายรักชาย ก็เพื่อเป็นการยืนยันในความรู้สึกของคนหมู่มากว่า สิ่งนี้เกิดแค่ในสถานที่ลับหูลับตาคน ไม่ใช่ชีวิตจริง จะไม่มีทางเกิดขึ้นในชีวิตจริง และห่างไกลจากชีวิตจริง ซึ่งนั่นนับเป็นอีกหนึ่งมิติแห่งการกดทับอันน่าเศร้าต่อกลุ่มคนเหล่านี้เช่นกัน

     ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ วัฒนธรรมการสร้างพื้นที่ส่วนตัวเพื่อตัวละครชายรักชายในภาพยนตร์ และซีรีส์ ยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผู้เขียนมองว่าแปรผกผันอย่างยิ่งกับ “การยอมรับ” ที่หลายคนในสังคมต่างคุยโวกันอยู่ในเวลานี้ หรือว่า สังคมนี้แค่ “อดทนมากพอ” ต่อการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQ แต่ไม่ได้ “ยอมรับ” การมีอยู่ของพวกเขาอย่างแท้จริง

     แล้วผู้อ่านล่ะ คิดเห็นว่าอย่างไร...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #IToldSunsetAboutYou #SeriesY #LGBTQ