LIFESTYLE

ความเป็นชาย และความเป็นหญิงบน “รองเท้าส้นสูง” กับบทบาทที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

รู้หรือไม่...กว่าที่รองเท้าส้นสูงจะกลายมาเป็นหนึ่งในอาวุธเสริมเสน่ห์ของผู้หญิง แท้ที่จริงแล้วมันเคยเป็นสิ่งแสดงอำนาจความเป็นใหญ่ของเพศชายมาก่อน

     หากจะพูดถึงเครื่องแต่งกายที่จะสะท้อนความเป็นผู้หญิงได้เจ็บแสบที่สุด หนีไม่พ้น “รองเท้าส้นสูง” น่าจะเป็นสัญลักษณ์อันดับต้นๆ ภาพลักษณ์ของส้นสูงนั้นถูกผูกติดกับความ “เป็นหญิง” และความ “ยั่วยวน” อย่างที่แยกจากกันไม่ออก แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าที่รองเท้าส้นสูงจะกลายมาเป็นหนึ่งในอาวุธเสริมเสน่ห์ของสตรีเพศ แท้ที่จริงแล้วมันเคยเป็นสิ่งแสดงอำนาจความเป็นใหญ่ของเพศชายมาก่อน ครั้งนี้โว้กขอพาย้อนประวัติศาสตร์แฟชั่นบนรองเท้าส้นสูง และบทบาทของส้นสูงที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

     หากจะย้อนไปถึงต้นกำเนิดของ “รองเท้าส้นสูง” น่าจะย้อนความไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 10 ในกองกำลังทหารม้าชาวเปอร์เชียที่นิยมใส่กัน ไม่ใช่เพื่อความสวยงามแต่เพื่อความสะดวกเมื่อต้องขึ้นขี่ม้า เพราะส้นของรองเท้าจะเข้าได้พอดีกับโกลนม้า ทำให้สามารถทรงตัวบนม้า และสามารถยืนเพื่อยิงธนูบนหลังม้าได้อย่างมั่นคง

(บน) รองเท้าสำหรับการใส่ขี่ม้าของชาวเปอร์เซียในศตวรรษที่ 17 (ล่าง) ภาพวาดพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระบรมวงศานุวงศ์ที่จะเห็นได้ว่าผู้ชายทุกคนล้วนใส่รองเท้าส้นสูง

 

     จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 17 รองเท้าส้นสูงเริ่มเข้าสู่ราชสำนักของยุโรปโดยทูตเปอร์เชีย และถือว่าการนำพารองเท้าส้นสูงเข้าสู่ราชสำนักนี้เป็น “ยุคใหม่” ของรองเท้าส้นสูงเพราะนับตั้งแต่รองเท้าส้นสูงได้เข้าสู่ราชสำนัก ฟังก์ชันเดิมของส้นสูงที่มีเพื่อความสะดวกในการรบก็เปลี่ยนไปตลอดกาล “รองเท้าส้นสูง” กลายเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ และยศถาบรรดาศักดิ์ ผ่านการประดับประดารองเท้าให้ดูวิจิตรตระการตา การเลือกใช้วัสดุราคาแพงในการทำรองเท้า และ “ความสูง” ของส้นรองเท้าที่บ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ ดังเช่นในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับความสูงของส้นรองเท้าตามระดับฐานะ กล่าวคือรองเท้าส้นครึ่งนิ้วสำหรับสามัญชน, รองเท้าส้นสูง 1 นิ้วสำหรับชนชั้นนายทุน, รองเท้าส้นสูง 1 นิ้วครึ่งสำหรับชนชั้นอัศวิน, รองเท้าส้นสูง 2 นิ้วสำหรับเหล่าขุนนาง และรองเท้าส้นสูง 2 นิ้วครึ่งสำหรับกษัตริย์

     จนกระทั่งเข้าสู่ “ยุคเรืองปัญญา” (Enlightenment) ที่แนวคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ และตรรกศาสตร์เฟื่องฟู ความนิยมสวมรองเท้าส้นสูงในผู้ชายก็ค่อยๆ หายไป และภาพอันเกี่ยวเนื่องระหว่างรองเท้าส้นสูงและสตรีเพศก็ได้เริ่มผูกติดเข้าด้วยกันมากขึ้นทั้งในแง่ของการแต่งกาย และการผูกติดส้นสูงเข้ากับความเชื่อเกี่ยวกับแม่มด

ภาพหญิงบนรองเท้าส้นสูงในภาพถ่ายที่เรียกกันว่า ‘Adult postcard’ ในช่วงศตวรรษที่ 18

 

     จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 18 ความเป็นหญิง และรองเท้าส้นสูงก็ยิ่งแนบชิดกันมากยิ่งขึ้น แต่ที่เพิ่มเข้ามานั่นคือรองเท้าส้นสูงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เพิ่มความ “เร่าร้อน” และ “กามารมณ์” ให้แก่เพศชาย จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารอเมริกันได้ไปออกรบ สิ่งที่ช่วยชุบชูจิตใจเหล่าทหารได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือโปสเตอร์รูปสาวๆ “PIN UP GIRLS” ที่มักจะมาในชุดว่ายน้ำสีขาว กับปากสีแดงสด และรองเท้าส้นสูงที่เสริมความเย้ายวน จนกระทั่งการก่อกำเนิดสื่อเฉพาะสำหรับเพศชายที่มักจะปรากฏภาพสาวในชุดวาบหวิวเข้าคู่กับรองเท้าส้นสูง ก็ยิ่งทำให้ภาพของผู้หญิง รองเท้าส้นสูง และความเย้ายวนกลายเป็นภาพจำที่แนบสนิทเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก

      ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ในหลายๆ ครั้งผู้หญิงก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงตัวเองจากรองเท้าส้นสูงได้ ถึงแม้การใช้ชีวิตอยู่บนส้นสูงยาวนานต่อเนื่องอาจจะทำให้เกิดผลเสียทั้งความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หรือในระยะยาวที่อาจจะทำให้เกิดการบีบรัดหน้าเท้าจนเท้าผิดรูป อีกทั้งยังส่งผลต่อหลังและสะโพก แต่ “รองเท้าส้นสูง” ก็ยังถูกระบุเป็นเดรสโค้ตที่ผู้หญิงพึงจะต้องใส่เพื่อความสุภาพและสง่า



WATCH




Kristen Stewart เลือกที่จะถอดส้นสูงเพื่อประท้วงกฎการใส่ส้นสูงเพื่อร่วมเดินพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2018

 

     กรณีที่ถือว่าโด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งในวงการฮอลลีวู้ดนั่นคือกรณีที่คริสเทน สจ๊วต (Kristen Stewart) ตัดสินใจถอดส้นสูงขณะที่กำลังร่วมเดินพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2018 และแน่นอนว่าซีนที่เธอถอดรองเท้าส้นสูงเดินเข้างานก็ได้ถูกถ่ายทอดสู่สายตาคนทั่วโลก และได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากจนเป็นไวรัล แต่เบื้องหลังของการถอดรองเท้าส้นสูงของเธอนั้นเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าเธอไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับของเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ระบุว่า “ผู้หญิงจะต้องใส่ส้นสูง” เพื่อเข้าร่วมเดินพรมแดง นอกจากนี้ในปี 2015 ยังเคยมีสตรีที่ใส่รองเท้าส้นแบนมาร่วมงานและถูกเชิญออกจากงานมาแล้ว

Yumi Ishikawa ผู้นำแคมเปญรณรงค์ #KuToo ต่อต้านการบังคับผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่นให้ใส่ส้นสูงในที่ทำงาน

 

     อีกหนึ่งกรณีที่ผู้หญิงเลือกที่จะปลดแอกตัวเองจากพันธนาการของรองเท้าส้นสูง นั่นก็คือการรณรงค์ให้ผู้หญิงไม่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงไปทำงานผ่าน #KuToo ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น นำโดยนักแสดงและนักเขียนอิสระยูมิ อิชิกาวา (Yumi Ishikawa) ที่เริ่มการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย ชี้ให้เห็นถึงความทรมานของผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรองเท้าส้นสูง ต่อเนื่องมาจนถึงการสร้างแคมเปญใน change.org จนมีผู้มาร่วมลงชื่อถึง 28,000 คน และในตอนนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการระบุแล้วว่าการออกฎบริษัทบังคับให้ผู้หญิงสวมใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงานถือเป็น “การคุกคาม”

     นอกจากนี้รองเท้าส้นสูงยังกลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ถึงการต่อต้านความรุนแรงทางเพศ และสำนึกรู้ถึงความเท่าเทียมทางเพศที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมในโครงการ “Walk a mile in her shoes” ขบวนเดินรณรงค์โดยผู้ชายที่เลือกจะใส่รองเท้าส้นสูงสีแดงเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ เพื่อเข้าใจการใช้ชีวิตที่ยากลำบากของผู้หญิง และเป็นการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้ความรุนแรง และเพื่อเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมให้กับเพศหญิง โดยโครงการนี้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2001 และยังรณงค์ต่อเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน

     ไม่ว่าคุณจะชอบ หรือจะชัง “รองเท้าส้นสูง” ก็ตามแต่ สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการศึกษาเรื่องราวของ “รองเท้าส้นสูง” ก็คือเครื่องแต่งกายนั้นไม่ควรจะถูกจำกัดด้วยเพศอีกต่อไป แต่มันควรเป็นสิ่งที่สร้างความพึงใจต่อผู้สวมใส่ ไม่ว่าคุณจะมีเพศ มีสถานะ หรือมีความรู้สึกอย่างไร คุณก็ควรจะมีโอกาสในการสื่อสารตัวตนของคุณผ่านเสื้อผ้าได้อย่างไม่มีขอบเขตของ “ความเป็นชาย” หรือ “ความเป็นหญิง” มาจำกัดจนกลายเป็นความเชื่อที่ยึดโยง และสร้างภาพจำจนยากแยกดังเช่นทุกวันนี้

 

     เรื่อง: Kanthoop Hengmak

     Edited by ปภัสรา นัฏสภาพร

ข้อมูล : Wikipedia-High Heels Shoes, walkamileinhershoes.com, blockdit.com และ BBC

WATCH

คีย์เวิร์ด: #HighHeels #LGBTQ+ #Feminist