LIFESTYLE

'Emily In Paris' ซีรีส์ขายฝัน กับการท้าชนทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน และชาวฝรั่งเศส

นี่คือบทเรียนสำคัญจากซีรีส์ "Emily In Paris" ที่คุณควรอ่านก่อนตกหลุมรักกรุงปารีส...

     ย้อนกลับไปในปี 1997 Darren Star ผู้สร้างตำนาน ‘Sex and the City’ ได้พาตัวละครคอลัมนิสต์สาวชาวอเมริกันนามว่า Carrie Bradshaw ไปโลดแล่นตามหารักแท้กลางกรุงปารีส ในซีรีส์ Sex and the City ซีซั่นที่ 6 สองตอนสุดท้าย ก่อนสั่งลาซีรีส์เรื่องดังกล่าว จนทำให้กรุงปารีสที่แสนโรแมนติกกลายเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของสาวอเมริกันหลายคนที่ควรต้องไปเยือนสักครั้งก่อนตาย ผ่านมา 16 ปี ดาร์เรนคนเดิมผู้ที่หลงใหลในเสน่ห์บางอย่างของกรุงปารีส และหอไอเฟล ได้พาตัวละครสาวอเมริกันอีกหนึ่งคนกลับไปที่นั่นอีกครั้ง แต่ไม่ได้มอบภารกิจเพียงตามหารักแท้อย่างที่ตัวละครสุดไอคอนิกอย่างแคร์รี่เคยทำเท่านั้น แต่เธอยังต้องปะทะ และท้าชนกับชาวปารีเซียงอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องความแตกต่าง ช่องว่างทางภาษา ความคิด และวัฒนธรรม ซึ่งเธอคนนั้นมีนามว่า “Emily Cooper”...

Carrie Bradshaw ตัวละครไอคอนิกจากซีรีส์เรื่อง Sex and the City อีกหนึ่งซีรีส์ในตำนานที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคอลัมนิสต์สาวชาวอเมริกัน

 

     ตัวละคร เอมิลี่ คูเปอร์ ในออริจินัลซีรีส์เรื่องล่าสุดของ Netflix รับบทโดยนักแสดงสาวมากความสามารถอย่าง Lily Collins สาวสวยชาวอเมริกัน ผู้เป็นพนักงานในบริษัทการตลาดจากชิคาโก ที่จับพลัดจับผลูได้ไปโชว์ความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการใช้โซเชียลมีเดียด้านการตลาด ที่บริษัทการตลาดซาวัวร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองในฝันของสาวอเมริกัน และสาวๆ อีกมากมายกว่าค่อนโลก ทว่าการเดินทางเข้ามาทำงานอยู่ท่ามกลางชาวปารีเซียงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดูเหมือนว่าคนปารีเซียงจะไม่ได้ใจดีกับเธอ และชีวิตของเธอก็ดูเหมือนจะไม่ได้ราบรื่นดังฝัน หรือสวยงามอย่างหอไอเฟลในเวลากลางคืนสักนิด มากไปกว่านั้นยังมีเรื่องราวยุ่งๆ ของความสัมพันธ์แสนยุ่งยากกับเพื่อชาวจีนที่อพยพหนีอายมาอยู่ปารีส, เชฟหนุ่มที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนตเดียวกันกับเธอ ไปจนถึงเจ้านายสาวชาวฝรั่งเศสสุดเนี้ยบที่กัดเธอไม่ปล่อย แต่เหนือสิ่งอื่นใดอีกหนึ่งความน่าสนใจที่ผู้เขียนอยากจะให้หลายคนที่กำลังจะดู หรือได้ดูไปแล้วนั้นให้ความสำคัญก็คงจะหนีไม่พ้น “การท้าชนทางวัฒนธรรมระหว่าง ชาวอเมริกัน กับชาวฝรั่งเศส” ที่ทำออกมาได้หวือหวา เจ็บแสบ และน่าฉุกคิดไม่น้อย การที่ตัวละครชาวอเมริกันอย่างเอมิลี่ได้รับภารกิจให้เดินทางเข้ามาเติมเต็ม “มุมมองแบบอเมริกัน” ให้กับตัวละครชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ นั้น จึงไม่ต่างอะไรจากการผจญภัยเล็กๆ ที่กลายเป็นจุดที่มีเสน่ห์ที่สุดอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้

     

     ตลอดการเดินทางของซีรีส์ทั้ง 10 ตอน เชื่อว่าหลายคนคงได้เรียนรู้วัฒนธรรมฝรั่งเศสมากมายตามรายทาง ไม่ว่าจะเป็นคนฝรั่งเศสไม่นับชั้นแรกของอพาร์ตเมนต์ว่าเป็นชั้นที่ 1 แต่จะเรียกชั้นนั้นว่า Le rez de chaussée แทน ซึ่งความผิดพลาดในการนับชั้นของคนที่ไม่รู้วัฒนธรรมฝรั่งเศสมาก่อนของเอมิลี่ จึงได้พาให้เธอไปพบกับเชฟหนุ่มที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน หรือแม้แต่คำศัพท์หลายๆ คำที่คนเรียนอังกฤษ และฝรั่งเศสมักจะคิดว่าใช้แทนกันได้ แต่กลับทำให้ชีวิตของคุณพินาศ และยุ่งยากกว่าเดิม เมื่อเอมิลี่พูดขึ้นมาว่า Je suis excité ที่ไม่ได้แปลว่า "ตื่นเต้น" แต่กลับแปลว่า “หื่น” แทน แต่ที่ผู้เขียนเห็นด้วยที่สุดก็เห็นจะเป็น การใช้ภาษาฝรั่งเศสในกรุงปารีส ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน สอบ IELTS ได้เต็ม หรือพ่นภาษาอังกฤษได้คล่องราวกับเนทีฟสปีกเกอร์ก็ตาม แต่เมื่อเท้าของคุณได้เหยียบลงบนผืนแผ่นดินฝรั่งเศสแล้ว คุณก็จำเป็นจะต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสที่พูดได้นิดหน่อยของคุณเท่านั้น เพราะที่นั่นแทบจะไม่มีใครสนใจภาษาอังกฤษเลยแม้แต่คนเดียว...

     กระทั่งที่ Emily in Paris ยังได้ตั้งคำถามถึงช่องว่าทางความคิด และวัฒนธรรมของอเมริกัน และฝรั่งเศส ผ่านบทสนทนาของตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง ดังเช่นที่เราได้เห็นมุมมองของผู้กำกับชาวอเมริกันอย่างดาร์เรน ที่สร้างให้ชาวฝรั่งเศสเป็นพวกที่ไม่ถนัดในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพัฒนาการตลาดมากนัก จนต้องมีเอมิลี่หญิงสาวชาวอเมริกันเข้ามาทำตัวเป็นฮีโร่ ลากถู และดึงดัน ให้เหล่าปารีเซียงออกจากกรอบเดิมๆ เสียที ที่แน่นอนว่ายังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่านี่อาจเข้าข่ายการดูถูก “ความล้าสมัย” ของชาวฝรั่งเศสก็เป็นได้ หรือแม้กระทั่งมุมมองสำคัญอย่างประเด็นของ “Sexy or Sexist” ที่ปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้ ที่ดาร์เรนสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มุมมองของตัวละครชาวฝรั่งเศส และตัวละครชาวอเมริกันนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ตัวละครเจ้านายชาวฝรั่งเศสมองว่า 'การเปลือยเปล่าของผู้หญิงต่อหน้าผู้ชายคือการโอบกอดความภาคภูมิใจบนเรือนร่างของพวกเธอเอง' หากเอมิลี่กลับคิดว่า 'นั่นคือการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุภายใต้อาณัติความคิดของผู้ชายเท่านั้น' ซึ่งเหล่านี้เองเป็นเพียงมุมมองตัวอย่างที่สะกิดให้ผู้ชมได้ฉุกคิด และถกเถียงกันต่อไปว่า แท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องกันแน่ ไปจนถึงการเหน็บแนมแบบแสบๆ คันๆ กับนิสัยบ้างานหนักๆ ของชาวอเมริกันจนหาความรื่นรนย์ในชีวิตไม่เจอ เรียกได้ว่า ถ้าซีรีส์นี้คือการแข่งแบตมินตัน ก็นับว่าเป็นนัดสำคัญสมน้ำสมเนื้อที่งัดกันไม่ลงสักที



WATCH




3 ตัวละครหลักสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับ เอมิลี่ คูเปอร์ (จากซ้ายไปขวา) เจ้านายสาวชาวปารีเซียงสุดเนี้ยบ, เพื่อชาวจีนที่หนีอายมาตั้งตัวใหม่ที่กรุงปารีส และเชฟหนุ่มที่อาศํยอยู่ในอพาาร์ตเมนต์เดียวกันกับเอมิลี่

 

     ไม่เพียงความคิด และมายาคติทางวัฒนธรรมของ 2 ชาตินี้เท่านั้นที่ต่อสู้กันตลอดทั้งเรื่องจนกลายเป็นจุดสนใจของผู้ชม หากในเรื่องของแฟชั่นก็ยังได้รับการพูดถึงไม่แพ้กัน เพราะหากใครก็ตามที่ได้ดูทั้ง 10 ตอนแล้วเรียบร้อย ก็คงจะเห็นแล้วว่าแฟชั่นสไตล์ปารีเซียงชิค และอเมริกัน (ซึ่งสามารถสังเกตได้จากตัวละครซิลวี และเอมิลี่นั้น) แตกต่างกันอย่างไร เปิดโลกให้กับสาวสายแฟ(ชั่น)ช่างฝันได้เลือกแต่งตามว่า คุณนั้นอยากจะเป็นสาวปารีเซียง หรือสาวอเมริกัน โดยคอสตูมดังกล่าวก็ยังได้สไตลิสต์ฝีมือฉมังอย่าง Patricia Field ผู้ที่เคยสร้างตำนาน ส่งให้ตัวละครแคร์รี่ แบรดชอว์ จากซีรีส์ Sex and the City กลายเป็นสไตล์ไอคอนในวงการแฟชั่นโลกมาแล้ว จึงไม่แปลกใจที่หลายชุดในซีรีส์เรื่องนี้จะสะดุดตา และน่าหามาใส่ตาม กอปรกับบรรยากาศรอบข้างของตัวละครในกรุงปารีสที่ถูกปรุงแต่งให้โรแมนติก และสวยงามตามฉบับนวนิยายขายฝันให้กับสาวๆ วัยทำงานที่มีความฝัน ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตกหลุมรักซีรีส์เรื่องนี้

     

     Emily in Paris ไม่ใช่ซีรีส์ที่ต้องคิดมากมายหากคุณจะเลือกกดเข้าไปรับชม ซึ่งผู้เขียนเองขอจำกัดความไว้เลยตรงนี้ว่านี่คือ “ซีรีส์ขายฝัน” ที่ดูเพลินมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่มาพร้อมกับพล็อตแสน Cliché แต่ทว่าคุณก็ต้องตกหลุมรัก และเอาใจช่วยในการผจญภัยครั้งนี้ของเอมิลี่ ให้ประสบความสำเร็จ และผ่านพ้นเรื่องราวยุ่งยากที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสไปได้อย่างไม่อาจละสายตาได้เลยแม้แต่ตอนเดียว และหากว่าผู้เขียนจะสามารถฝากอะไรได้สักอย่างในตอนท้าย ผู้เขียนก็อยากจะบอกว่า “ซีรีสเรื่องนี้จะทำให้คุณตกหลุมรักปารีส แต่คุณจะไม่มีวันตกหลุมรักชาวปารีเซียงแน่นอน และชาวปารีเซียงก็จะไม่มีวันตกหลุมรักคุณด้วยเช่นกัน”...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #EmilyInParis