FASHION

ย้อนรอยตัวตนกับเครื่องจักสาน หัตถศิลป์โบราณล้ำค่าจากภาคเหนือ

     ภาคเหนือ นับเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในโอบล้อมแห่งขุนเขา และด้วยภูมิประเทศเช่นนี้นี่เอง ที่ก่อกำเนิดวัฒนธรรมประจำตัว พร้อมแช่แข็งศิลปวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ขนบประเพณี การละเล่น และอีกมากมาย ที่มีมาแต่ยุคล้านนาให้คงอยู่ ที่ยังรวมไปถึงงานหัตถศิลป์เครื่องจักสานอันเลื่องชื่อ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ที่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ ที่ทำให้เครื่องจักสานของภาคเหนือมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองอย่างชัดเจน อีกทั้งการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมของชาวเหนือ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จักสานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

     ดังที่เราจะเห็นได้จากการเลือกหยิบ กก แหย่ง ใบลาน และไม้ไผ่ นำมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องจักรสานที่น่าสนใจ ซึ่งการทำเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคเหนือนั้น คือมรดกที่ชาวพื้นถิ่นทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังมีหลักฐานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งตามพุทธสถานของภาคเหนือ

 

จิตรกรรมฝาผนังแสดงวิถีชีวิตของชาวล้านนาดั้งเดิม ที่เรายังได้เห็นบุง หรือเปี๊ยดในภาพนี้ / ภาพ : chiangmai.cityofcrafts

 

     หรือกระทั่งอีกหนึ่งวัฒนธรรม อย่างการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการบริโภคข้าวเหนียว จนเกิดเป็นเครื่องจักสานเหล่านี้ที่มีหลายชนิด และมีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่นแตกต่างกันไปอันได้แก่ ได้แก่ ก่องข้าว แอบข้าว และเปี้ยด เป็นต้น

1 / 3

ภาพถ่ายของ 'ก่องข้าว' อีกหนึ่งเครื่องจักสานโดดเด่นในภาคเหนือ / ภาพ : oar.ubu.ac.th


2 / 3

ภาพถ่ายของ 'แอบข้าว' อีกหนึ่งเครื่องจักสานโดดเด่นในภาคเหนือ / ภาพ : mumpra


3 / 3

ภาพถ่ายของ 'เปี๊ยด' อีกหนึ่งเครื่องจักสานโดดเด่นในภาคเหนือ / ภาพ : human.cmu.ac.th




WATCH




     ก่องข้าว คือภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งสานด้วยไม้ไผ่ มีขนาด และรูปทรงต่างๆ กัน บางท้องถิ่นได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากโบราณ อาจมีการสานด้วยพลาสติกแทนตอก และมีรูปทรงแปลกตาแตกต่างกันไปตามความนิยมของผู้ใช้ในยุคปัจจุบัน 

     แอบข้าว หรือ แอ๊บข้าว  จริงๆ แล้วเครื่องจักสานชิ้นนี้ นับเป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกับก่องข้าว แต่มีขนาดเล็กกว่าสำหรับพกพาติดตัวเวลาไปทำงานนอกบ้าน เหมาะสำหรับพกใส่ถุงย่าม หรือห่อผ้าคาดเอว เมื่อต้องออกไปทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพ เช่นเดียวกับกล่องใส่อาหารในปัจจุบัน ก่องข้าว และแอบข้าวของภาคเหนือ เป็นเครื่องจักสานที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านรูปลักษณ์ และประโยชน์ใช้สอย สอดคล้องกับความนิยมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ของภาคเหนือ

     บุง หรือ เปี้ยด น้อยคนนักที่จะคุ้นกับชื่อนี้ หากนี่คือภาชนะสานสำหรับใส่ของเช่นเดียวกับกระบุงในภาคกลาง ทว่าจะมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่า ซึ่งเหตุผลก็เพื่อลดน้ำหนักของบุงให้น้อยลง เพราะบุงของภาคเหนือต้องใช้หาบเมล็ดข้าว และพืชพันธุ์ต่างในพื้นที่ที่เป็นเนินเป็นส่วนมาก ไม่สามารถหาบของที่มีน้ำหนักมากเหมือนกับภาคกลางซึ่งเป็นพื้นราบได้  นับเป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์ และความงามเฉพาะถิ่นของภาคเหนือ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักสานกับประเพณีนิยมของท้องถิ่น ทำให้เครื่องจักสานได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านใช้สอย และความสวยงามควบคู่กันไป

 

ภาพถ่ายเครื่องจักสาน 'น้ำทุ่ง หรือน้ำถุ้ง' / ภาพ : thaipbs

 

     ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเครื่องจักสานของภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่โว้กอยากจะยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านได้รู้จักคือ น้ำทุ่ง หรือน้ำถุ้ง ที่เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชัน และน้ำมันยาง ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ ลักษณะการสานที่แข็งแรงยังช่วยให้น้ำทุ่งมีความทนทาน แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ผลิตน้ำทุ่งด้วยสังกะสีแล้วก็ตาม ทว่าก็ยังมีความคงทนไม่เท่า นั่นจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า เครื่องจักสานพื้นบ้านที่คนโบราณผลิตขึ้นนั้น เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม และใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างคุ้มค่า

     นอกจากตัวอย่างของเครื่องจักสานไม้ไผ่ภาคเหนือดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น  ซ้าหวด กัวะข้าว ก่องข้าว แอบข้าว โตก ฝาชี แอบหมาก แอบเมี้ยง หมวกหรือกุบ ก๋วยก๋วยก้า ก๋วยหมู ก๋วยโจน เข่งลำไย ซ้าล้อม ซ้าตาห่าง ซ้าตาทึบ และอีกมากมาย อันแสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยของวัฒนธรรมที่ถูกส่งผ่านงานหัตถศิลป์จักสานทั้งหมดนี้

 

     ดังที่เห็นว่าในปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมการจักสานของภาคเหนือไม่เพียงกระจายตัวอยู่แต่ในภูมิภาคเท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยยังได้เห็นกระเป๋าสาน (ที่นับเป็นร่องรอยจากวัฒนธรรมการสาน) ที่ถูกนำมาประยุกต์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นของเมืองไทย กลายเป็นกระเป๋าหลากหลายรูปแบบให้เหล่าสาวๆ สายแฟชั่นได้ถืออวดโฉมกันทั่วเมือง ดังที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ที่นับเป็นอีกหนึ่งมิติน่าสนใจ ที่อัตลักษณ์ความเป็นภาคเหนือ (วัฒนธรรมการจักสาน) ได้แสดงออกสู่สายตาของคนทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง

     ฉะนั้นแล้วหากครั้งหน้าที่คุณได้ #หลงไทย ไปแอ่วภาคเหนือแล้วล่ะก็... สิ่งที่นับว่าต้องไปเห็นกับตาตัวเองให้ได้ก็คงจะหนีไม่พ้น ชุมชนท้องถิ่นที่ทำงานหัตถศิลป์จักรสาน ที่คุณจะได้สัมผัสกับอัตลักษณ์ความเป็นภาคเหนืออย่่างแท้จริง

 

WATCH