LIFESTYLE

อวัช รัตนปิณฑะ จาก 'นักร้อง-นักแสดง' สู่การเป็น 'นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม' รุ่นใหม่ที่น่าจับตา

อัด-อวัช เลือกก้าวผ่านวัยรุ่นด้วยการเริ่มต้นเป็นนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

Respect the Environment

แม้จะแจ้งเกิดมาจากซีรี่ส์วัยรุ่นชื่อดัง Hormones วัยว้าวุ่น ก่อนก้าวมาเป็นศิลปินนักร้องวง Mints แต่ชื่อของอวัช รัตนปิณฑะ กลับเป็นที่รู้จักในอีกบทบาทที่แตกต่างออกไป นั่นคือ “นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม” กับโปรเจกต์ส่วนตัว Save Thailay ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในวงกว้าง

 

“ผมไปเรียนดำน้ำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เลยเริ่มสนใจธรรมชาติอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ก็ชอบเที่ยวอยู่แล้ว มีโอกาสเดินทางไปหลายที่ แต่พอเริ่มมาดำน้ำจริงจังก็ค้นพบว่าโลกใต้น้ำมันดึงดูดเรามาก นี่คือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติจริงๆ ผมเริ่มเห็นคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น พอเราเริ่มต้นจากทะเล เราก็จะค่อยๆ เห็นและให้ความสนใจกับสิ่งอื่นๆ ไปโดยปริยาย” อวัชเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เหมือนกับคนชอบดำน้ำทุกคนที่เริ่มต้นจากการมองเห็นแต่ด้านที่สวยงาม

 

“หลายปีที่ดำน้ำมาผมมองแต่ด้านที่สวยงามของมันมาตลอด จนวันหนึ่งเราดำลงไปแล้วเจอแต่ขยะ ประกอบกับเห็นข่าวเรื่องสัตว์ทะเลตายเพราะขยะพลาสติก เลยทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราเคยมองว่าสวยงามมาตลอดนั้น วันนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว พอเจอความเปลี่ยนแปลงนี้กับตัวเองก็มาคิดว่าที่ผ่านมาเราไปเอาความสุขจากเขา จากใต้ทะเล จากสัตว์ทะเล จากความสวยงามของเขา แต่เราเคยช่วยเหลือเคยตอบแทนอะไรเขาบ้างหรือยัง เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบแทนธรรมชาติ”

ทัศนคติข้างต้นจึงเป็นที่มาของ @savethailay โซเชียลมีเดียแอ็กเคาต์ที่กำลังค่อยๆ เป็นที่รู้จัก ซึ่งเริ่มต้นมาจาก @ud_awat โซเชียลมีเดียของเขาเองที่มีผู้ติดตามกว่า 300,000 คนทางอินสตาแกรม ก่อนขยับขยายให้ Save Thailay มีแพลตฟอร์มให้ติดตามกันทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ด้วย

 

“ตอนนั้นผมเที่ยวเกาะแล้วเห็นปัญหาตามชายหาดมากขึ้น มีขยะทั้งใต้น้ำและบนบก ประกอบกับมีข่าวสัตว์ทะเลตาย ข่าว Micro-plastic ที่เริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน มันเริ่มมีการพูดถึงแต่ยังไม่เป็นวงกว้างมากนัก ผมเลยรู้สึกว่าเราน่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไรบางอย่างส่งสารออกไปซึ่งเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่เราสามารถทำได้ เพราะถ้าจะทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ คงต้องใช้เวลา เริ่มทำคนเดียวก่อนโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ทำได้เลยทันที” เขาเล่าถึงขั้นตอนแรกของการสร้างโซเชียลมูฟเมนต์ในแบบของเขาเองขึ้นมา โดยมีรูปแบบที่เน้นการให้ข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก ก่อนที่จะวางแผนไปสู่ขั้นตอนต่อๆ ไป

 

“เป็นการเอาข้อมูล ข่าวสาร และรายละเอียดต่างๆ ที่เราพบเจอมานำเสนอให้คนทั่วไปรับรู้ โดยหวังว่ามันอาจไปกระตุ้นความรู้สึกอะไรบางอย่างได้ อาจทำให้คนที่ไม่เคยรับรู้เลยสนใจมากขึ้น หรือคนที่เคยได้ยินข่าวมาก็รู้รายละเอียดบางอย่างเพิ่มขึ้น นี่เป็นสเตปแรกที่ผมทำไป” อัดขยายความให้ฟัง “สเตปต่อไปคือการใช้โซเชียลที่ทำให้เกิดการกระทำ เป็นแอ็กชั่นมากขึ้น ตอนนี้เรากำลังวางแผนโครงการ รวบรวมทีมที่จะมาช่วยกันทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากน้องๆ ที่เรียนด้านชีววิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงทำนิทรรศการย่อมๆ ทำคลิปวิดีโอให้คนทั่วไปเห็นว่าทะเลไม่ได้สวยงามอีกต่อไปแล้ว ลำพังโซเชียลมีเดียอาจสร้างความตระหนักรู้ได้แค่ประมาณหนึ่ง สิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนการรับรู้ของคนได้คือต้องพาเขาไปสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ”

ล่าสุดอัด Save Thailay และ WWF (WWF เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มากว่า 50 ปี โดยยึดหลักการผสมผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน) ได้มาทำงานร่วมกัน “ทาง WWF ติดต่อมาเพราะทางนั้นกำลังทำโครงการเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องขยะพลาสติกและ Micro-plastic ว่าตอนนี้มนุษย์เรากำลังบริโภคพลาสติกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผมกำลังสนใจ เขามาชวนเราไปให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในแนวทาง Zero Waste ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สนใจสิ่งแวดล้อม

 

“ผมมองว่าทุกอย่างในธรรมชาติเชื่อมโยงกันหมด และตอนนี้เขากำลังส่งสัญญาณให้เราตระหนักว่าธรรมชาติกำลังมีปัญหา เราต้องช่วยกันพูด หยิบประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาในทุกๆ ด้านมาสร้างความรับรู้” อัดเล่าต่อถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เขาอยากจะรีบลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อธำรงรักษาความงดงามรอบตัวก่อนจะถูกทำลายและสูญหายไปทีละน้อย

 

“ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ขอเพียงให้เราทำอย่างตั้งใจ ทำด้วยใจที่อยากจะช่วยจริงๆ มันอาจจะยังไม่เป็นวงกว้าง แต่อย่างน้อยเราก็สามารถบอกคนที่เป็นฟอลโลเวอร์ของเราให้หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น นี่คือสิ่งที่อยากจะทำและผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ในปีนี้”



WATCH




ด้วยเหตุนี้ 2020 Resolution ของเขาจึงตั้งเป้าไว้ที่การ “พยายามบอกคนรอบข้าง กระตุ้นให้เขาช่วยกันทำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม มันคือการเตือนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างการที่เราพกกระติกน้ำติดตัวไปด้วยตลอดเวลาทำให้คนรอบข้างเห็นจนชินแล้วอยากทำตาม ก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด”

 

เมื่อเราถามว่าสิ่งที่เขากำลังสนใจและลงมือทำอยู่นี้ให้อะไรกลับคืนมาบ้าง เขาตอบกลับมาทันทีว่า “ความสุขครับ เป็นความสุขที่ไม่ได้มาจากภายนอก เป็นความสุขที่อยู่ข้างในที่เราได้ทำอะไรบางอย่างให้กับสิ่งที่เรารัก ที่ผ่านมาเหมือนเราละเลยไม่ได้ดูแลเขามานานมาก มาวันนี้เราได้เริ่มทำอะไรบางอย่างให้เขา ได้ตอบแทนเขา และเราเองก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นด้วย มันเลยเป็นความรู้สึกที่ล้นอยู่ในใจเรามากๆ นอกเหนือจากนั้นยังทำให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเราหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้นด้วย เป็นความรู้สึกทางใจที่ผมรู้สึกแฮปปี้มากๆ ที่เวลาเราตั้งใจทำอะไรบางอย่างแล้วมีคนมาช่วยกันผลักดันสิ่งนี้ให้มันดีขึ้นไปอีก”

 

ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องมีความสุขแบบนี้กันบ้างแล้ว...หรือยัง

 

WATCH