FASHION

ไฮไลต์ #VogueGlobalConversations EP.3 'อนาคตของแฟชั่นโชว์' สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19

บทสรุป #VogueGlobalConversation ตอนทืี่ 3 กับเรื่องอนาคตของแฟชั่นโชว์ผ่านมุมองของ Olivier Rousteing, Natacha Ramsay-Levi และ Cedric Charbit

     ไวรัสโคโรน่าทำให้แฟชั่นโชว์ทั้งหมดถูกยกเลิก ณ ขณะนี้ และต่อไปในอนาคตข้างหน้าเท่าที่พอจะมองเห็นได้—แต่ไม่ได้แปลว่าวงการแฟชั่นจะต้องหยุดชะงัก หรือแม้แต่ชะลอช้าลง ในรายการ Vogue Global Conversations ประจำวันนี้ Olivier Rousteing แห่ง Balmain, Natacha Ramsay-Levi แห่ง Chloé และ Cédric Charbit ประธานบริหารของ Balenciaga ได้มารวมตัวกันในแอปพลิเคชั่น Zoom พร้อมด้วย Nicole Phelps แห่ง Vogue Runway เพื่อขยายความเรื่องทิศทางการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นโชว์ในอนาคต ทั้งในโลกแห่งความจริงและในโลกดิจิตอล 

     ระหว่างบทสนทนาความยาว 1 ชั่วโมงนี้พวกเขาร่วมกันไตร่ตรองถึงคุณค่าของแฟชั่นโชว์เสมือนจริงเมื่อเปรียบกับแฟชั่นโชว์จริงๆ ความเข้าถึงง่ายของโลกที่สื่อดิจิตอลเป็นที่หนึ่ง และประสบการณ์ครั้งนี้ให้โอกาสวงการแฟชั่นคิดไตร่ตรองวิธีการทำธุรกิจเสียใหม่ และนี่คือไฮไลท์จากการพูดคุยกัน 

Cédric Charbit ประธานบริหารของ Balenciaga / ภาพ: zimbio

ผู้ชมในแฟชั่นโชว์เป็นใคร

     ปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นมากสำหรับแฟชั่นโชว์เสมือนจริงและแฟชั่นโชว์จริงคือการวิเคราะห์ว่าผู้ชมในงานแต่ละประเภทจะเป็นใคร เซดริก ประธานบริหารของบาเลนเซียก้าเปิดเผยข้อมูลจากอีเวนท์ทั้งสองชนิดของตัวแบรนด์​ แต่ละฤดูกาลแบรนด์จะเชิญแขกทั้งหมดประมาณ 600 คนมารับประสบการณ์จากแฟชั่นโชว์จริงๆที่ปารีสแฟชั่นวีก มีผู้ชมกว่า 8,000 คนที่ดูถ่ายทอดสดบนเว็บยูทูบ ผู้ชม 60,000 คนเลือกเสพโชว์ผ่านอินสตาแกรม และ 300,000 คนพูดคุยเกี่ยวกับโชว์นั้นในทวิตเตอร์ “ถ้าเราเอาตัวเลขเหล่านี้เข้ารวมกับจำนวนการเรียกดูซ้ำ คำนวนได้ว่าเรามีผู้ชมทั้งหมดกว่า 10 ล้านคน” เซดริกกกล่าว “ผมคิดว่าความเป็นจริงเสมือนนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราต้องอ้าแขนรับและเผชิญหน้ากับมัน เราต้องพิจารณาผู้ชมของเราเสียใหม่ เราต้องถามตัวเองว่า พวกเขาจะเป็นแขกที่เราเชิญมา หรือ เป็นผู้ชมทางบ้าน หรือทั้งสองกลุ่มกำลังรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว”

 

     ทั้งโอลิวิเยร์ และ นาตาชา สะท้อนความคิดนี้โดยการเล่ารายละเอียดของความเป็นไปได้ในการสร้างโชว์จริงๆ และ โชว์เสมือนจริง โอลิวิเยร์คนหนึ่งล่ะที่ต้องการนำโชว์ของเขาลงถนนที่ปารีสหลังช่วงกักตัวจบลง เพื่อให้ผู้คนได้เป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องของแฟชั่น ในขณะที่ นาตาชากล่าวว่า “ฉันคิดว่าเราทุกคนคงเห็นตรงกันว่าเราให้ค่ากับแฟชั่นโชว์ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ได้รวมตัวกันและสร้างความเป็นชุมชน เป็นช่วงเวลาที่มีการแสดงออกถึงความอ่อนไหวที่มนุษย์พึงมี แน่นอนว่าการมีส่วนดิจิตอลก็ขยายแพร่กระจายสิ่งนี้ออกไป และอย่างที่โอลิวิเยร์บอกน่ะคะว่าบางทีสิ่งที่ควรเปลี่ยนให้เข้าถึงคนได้มากขึ้นอาจจะเป็นวิธีการเสพแฟชั่นโชว์”

Natacha Ramsay-Levi ผู้อำนวยการสร้างสรรค์แบรนด์ Chloé / ภาพ: Courtesy of Brand

“อะไรคือสิ่งที่พลาดเมื่อดูแฟชั่นโชว์ออนไลน์ และอะไรคือสิ่งที่ได้มากกว่าการดูโชว์จริง”

     การพูดคุยเริ่มด้วยคำถามนี่ที่ถูกโยนออกไปโดยผู้ชมทาง Zoom สำหรับวงการแฟชั่นแล้วนี่เป็นคำถามมูลค่ามหาศาลอย่างไร้ข้อกังขาและเป็นคำตอบที่แต่ละแบรนด์น่าจะต้องมีคำตอบในแบบของตัวเองโอลิวิเยร์เริ่มโดยการกล่าวถึงความแตกต่างด้านบรรยากาศที่เขาสามารถสร้างได้ในพื้นที่ดิจิทัลและพื้นที่แห่งความเป็นจริง “ผมไม่ได้มองว่าพื้นที่ดิจิตอลเป็นพื้นแห่งความอ่อนไหวที่น้อยกว่าเลยนะครับ ผมเห็นว่ามันเป็นประสบการณ์ที่คุณจะผลักดันความฝันของคุณให้ไปได้อีกระดับหนึ่ง” เขากล่าวในขณะที่เอ่ยไปถึงความเป็นไปได้ในการร่วมงานกับศิลปินดิจิทัลเพื่อสร้างความจริงเสมือนที่ตระการตา

     “เราต้องรับรู้ว่าเราได้ผู้ชมส่วนใหญ่จากโลกดิจิทัล แต่ฉันไม่ได้จะยกเลิกโชว์นะ โชว์เป็นช่วงเวลาแห่งความงดงาม” นาตาชาเอ่ยขึ้น “มีคนเพียง 600 คนในห้องนั้น แต่คนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังโชว์นั้นมีมากกว่า 600 คนเสียอีก ฉันมองว่านั่นเป็นสิ่งที่สวยงามมาก และเราควรจะภูมิใจกับมัน” เธอกล่าวต่อโดยเน้นว่าการต้องแยกตัวในช่วงนี้ทำให้เธอรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการเชื่อมต่อกันระหว่างมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิม “ฉันเชื่อว่าแฟชั่นโชว์เป็นอีเวนต์ที่พิเศษ มีตัวตนอยู่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้เกิดการพูดคุยตอบโต้กัน มีความหมายและผู้ชมจำเป็นต้องรับรู้ถึงความจริงใจ มันมีมิติที่เป็นมนุษย์ซึ่งฉันต้องการจะเก็บรักษาเอาไว้”

 

    มีความเป็นไปได้สูงยิ่งกว่าสูงที่ในอนาคตโลกดิจิทัลและโลกความเป็นจริงจะอาศัยร่วมกันอย่างสมดุล “ผมไม่เชื่อในการทำแฟชั่นโชว์ขึ้นมา และแปลมันให้เป็นรูปแบบดิจิทัล…ผมเชื่อว่าโชว์จะต้องเกิดจากการเอาดิจิทัลเป็นตัวตั้งหลักไม่ว่ามันจะเกิดยังไงก็ตาม” เซดริกกล่าว “การจัดการกับประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์ที่มีพลังเท่าๆ กันเป็นจุดโฟกัสของผมในตอนนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการรับชมโชว์ของวันพรุ่งนี้ หรือโชว์ของฤดูกาลก่อนๆ ผ่านสื่อจะไม่อ่อนแอกว่าการนั่งดูอยู่ในห้องที่จัดแฟชั่นโชว์”



WATCH




Olivier Rousteing หัวเรือคนสำคัญของ Balmain / ภาพ: @olivier_rousteing

วัตถุดิบก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความคิดสร้างสรรค์จะยั่งยืนเช่นกัน 

     “ไม่มีใครอยากอยู่บนโลกที่กำลังจะตายพรุ่งนี้ เราจำเป็นต้องปกป้องวงการแฟชั่น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องโลกด้วย”  โอลิวิเยร์กล่าว ในขณะที่บทสนทนาหันไปทิศทางของการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนเซดริกก็เปิดเผยว่าผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบาเลนเซียก้าอย่าง Demna Gvasalia และทีมนักออกแบบของเขาได้ออกแผนปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมมาสำหรับปี 2020 และ 2021 ด้านนาตาชาก็ลั่นวาจาที่เสียดแทงที่สุดในบทสนทนานี้ว่า “เราจะใช้วัตถุดิบอย่างสิ้นเปลืองไม่ได้เพราะมันทำให้เกิดมลภาวะมากมาย แต่เราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างฟุ่มเฟือยไม่ได้เช่นกัน”

     เธอกล่าวต่อโดยเน้นถึงความไม่เชื่อมต่อกันระหว่างฝั่งธุรกิจและฝั่งสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นทำให้มักขัดแย้งกัน “ความฟุ่มเฟือยเกิดจากระบบที่เรียกร้องหาสินค้าใหม่ๆ ตลอดเวลา … จะต้องมีของใหม่ป้อนให้เสมอ” เธอเล่า เธอเน้นว่าการทำแฟชั่นโชว์เป็นเวลาให้เธอและทีมได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา ในขณะเดียวกันพรีคอลเล็กชั่นคือสินค้าที่มีอายุในพื้นที่ตลาดนานกว่า “มันคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างสิ้นเปลือง สิ่งที่เราสร้างขึ้นมีเวลาในการพัฒนาน้อยมากก่อนที่จะวางขายและสูญเสียมูลค่า”

     ดีไซเนอร์ของโคลเอ้เสริมว่า “ฉันคิดว่าแบรนด์ต่างๆ มีโอกาสที่จะหยุด คิด และสร้างข้อเสนอใหม่สำหรับธุรกิจ...การซื้อของไม่ใช่การกระทำที่ไร้ความหมาย มันคือการกระทำที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง... ฉันรู้ว่าสินค้าชิ้นต่อไปที่ฉันจะซื้อต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ”

     เซดริกเห็นด้วย เขาเชื่อการสนับสนุนการออกแบบต้องเป็นเป้าหมายหลักสำหรับเขาและผู้บริหารแบรนด์แฟชั่นหรูอื่นๆ “เรามีตัวตนอยู่เพื่อสนับสนุนจินตภาพนี้ เราไม่ได้เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาดหรือการขาย เราขับเคลื่อนด้วยการออกแบบ และถ้าการออกแบบนำสิ่งนี้มาใช้ ผมว่ามันสำคัญมากๆ เลย” เขากล่าว “ผู้บริหารอย่างเราต้องให้พื้นที่กับความคิดสร้างสรรค์และเอามันวางไว้ตรงจุดกึ่งกลาง เรื่องธุรกิจและผลลัพธ์ทางธุรกิจเดี๋ยวมันมาของมันเอง แทนที่จะเอามันมาเป็นเป้าหมายหลัก”

Nicole Phelps แห่ง Vogue Runway / ภาพ: Daily Front Row

แบรนด์เล็กๆ จะอยู่และโตได้อย่างไร 

     ในช่วงท้ายของการพูดคุย Phelps อ่านคำถามเพิ่มเติมที่ผู้ชมทาง Zoom ถามกันเข้ามา คนหนึ่งสงสัยว่าในอนาคตแบรนด์เล็กๆ จะแข่งขันทางดิจิทัลในระดับเดียวกันกับแบรนด์หรูยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้อย่างไร “เหมือนที่เป็นกันอยู่ตอนนี้ เรื่องเงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่มันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และไอเดีย” เซดริกอธิบาย “เราทุกคนมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน เราต้องเก็บความเป็นตัวเองเอาไว้ แต่ใช้เทคโนโลยีในการแสดงความเป็นตัวตนออกมา นั่นคงเป็นคำสอนของผม คำแนะนำที่ผลจะให้ใครก็ตามที่ต้องการจะมีตัวตนอยู่ในโลกแห่งอนาคต คือถ้าคุณทำทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกับจุดยืนของตัวเอง คุณจะประสบความสำเร็จ”

โลกดิจิทัลแห่งอนาคตที่เข้าถึงได้มากขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดได้กับทุกแบรนด์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ “เป็นไปได้ว่าหลังจากพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปเราจะมีวงการแฟชั่นที่ดีขึ้น” เซดริกกล่าวต่อ “ผมว่าความหวังสำหรับสิ่งนี้มีมากทีเดียวเชียวครับ”

 

 

voguefreemay2020

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueGlobalConversation