FASHION

บทสรุปสำคัญ #VogueBusinessTalk ตอนที่ 4 'การจัดการ Inventory และ Stock ในช่วงวิกฤติโควิด-19'

เรื่องหลังบ้านคือเรื่องสำคัญ ยิ่งช่วงสถานการณ์แบบนี้ต้องยิ่งให้ความสำคัญเรื่องที่เป็นรากฐานของธุรกิจแบบนี้

     ในยามที่ทุกคนต้องเผชิญการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจแทบทุกรูปแบบได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวรับมืออย่างฉับพลัน ธุรกิจแฟชั่นก็เช่นกัน โว้กจึงมีแนวคิดว่าอยากจะพูดคุยกับคนในแวดวงเพื่อเสนอแนวทางออกและการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในโปรเจกต์ #VogueLive - #VogueBusinessTalk โดยตอนที่ 4 นี้ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย พร้อมทั้งแขกรับเชิญ นุ่น-โสภาวดี เพชรชาติ Marketing Division Manager of Club21 (Thailand), พลอย-ชัญญา โตกฤษณะ Senior Brand Manager Comme des Garçons และ แป้ง-อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ ดีไซเนอร์ และผู้อำนวยการสร้างสรรค์แบรนด์ Vickteerut จะมาพูดคุยกันในหัวข้อเรื่อง “การจัดการ Inventory และ Stock ในช่วงวิกฤติโควิด-19” วันนี้เราจะมาสรุปประเด็นพร้อมทั้งไขข้อสงสัยในเรื่องหลักๆ ของบันทึกการพูดคุยครั้งนี้ (คลิก เพื่อดูวิดีโอตัวเต็ม) จะมีประเด็นไหนน่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้บ้างเชิญชมได้ในบทความนี้เลย

นุ่น-โสภาวดี เพชรชาติ Marketing Division Manager of Club21 (Thailand)

     ก้าวมาถึงสำหรับที่ 4 แล้วสำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับแง่มุมเรื่องธุรกิจแฟชั่น วันนี้สถานการณ์มีการผันเปลี่ยนอยู่แทบตลอดเวลา แต่สิ่งที่นิ่งอยู่เสมอหากเราไม่ลงมือทำอะไรก็คือ Inventory และ Stock ที่ช่วงนี้ต้องมีกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการจัดการถ่ายออกและรักษาให้สิ่งของเหล่านั้นมีคุณค่ามากที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องของความสดใหม่แต่หมายถึงคุณค่าที่จะถูกนำเสนอต่อลูกค้าอีกด้วย ประเด็นจึงสามารถแตกย่อยออกมาเป็นแผนการจัดการที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสู่ “New Normal” ส่งผลอะไรและต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง “เพราะธุรกิจแฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องหน้าฉากเท่านั้น”

               

     เมื่อเรากำลังพูดถึงสต็อคสินค้าและการขายเพื่อสร้างความคล่องตัวทางการเงิน เพราะฉะนั้นการระบายสต็อคสินค้าเดิมจะต้องมีรูปแบบที่แตกต่างไปมากกว่าแค่คำว่า “สินค้าขายดีประจำฤดูกาล” เพราะฤดูกาลถูกบดบังด้วยสถานการณ์พิเศษ การหยิบของออกมาขายในช่วงนี้จึงต้องง่ายที่สุด ง่ายในที่นี้รวมความง่ายหลายด้าน ไล่ตั้งแต่ความง่ายด้านราคาซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น รู้สึกคุ้มค่าในการซื้อ หรือง่ายในเชิงสัมพันธ์กับชีวิตคนในช่วงนี้ หน้ากาก กระติกน้ำ สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ให้ผู้ซื้อตรงตามช่วงเวลา จึงทำให้เจ้าของธุรกิจขายคล่องมากขึ้น ซึ่งสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการคำนึงถึงจริงๆ คือสำรวจของหลังบ้านตัวเองให้ถี่ถ้วนเพื่อคัดเลือกว่าอะไรคือ “Easy Item” ของแบรนด์ เมื่อหาเจอแล้วก็หยิบมาชูโรงเป็นสินค้าหลักในการขายช่วงระยะสั้นนี้ ถ้าถามว่าอะไรจะง่ายคงไม่มีสูตรสำเร็จของแต่ละแบรนด์ เพราะกลุ่มค้าที่ต่างกันนำมาซึ่งพฤติกรรมที่ต่างกัน แต่คุณนุ่นแนะนำแนวโน้มว่าเมื่อทุกอย่างออนไลน์ สินค้าที่สามารถเห็นและตัดสินใจซื้อได้โดยไม่ต้องจับต้องลองคือไอเท็มชิ้นง่ายที่เราจะขายได้ในสถานการณ์แบบนี้แน่นอน จุดนี้ยังหมายถึงการทำกลยุทธ์การลดราคารวมถึงทำให้สินค้าหลายอย่างง่ายขึ้น (ลดเพื่อความง่ายด้านเม็ดเงิน สร้างเรื่องราวเพื่อความง่ายด้านความสัมพันธ์ และนำเสนอสินค้าผ่านเทคโนโลยีเพื่อง่ายต่อการตัดสินใจ)

พลอย-ชัญญา โตกฤษณะ Senior Brand Manager Comme des Garçons

     เมื่อสำรวจหลังบ้านตัวเองเพื่อหาไอเท็มชิ้นง่ายก็จะเชื่อมโยงมาสู่อีกประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งนั่นก็คือการจัดสัดส่วนสินค้าเพื่อสร้างสมดุลให้เหมาะกับสถานการณ์ อย่างที่กล่าวไปว่าเราต้องจับทางให้ออกว่าตลาดกำลังต้องการอะไร ความง่ายของสินค้าใช่ไหม...เราต้องหยิบของออกมาให้ตรงใจและเก็บของบางอย่างไว้ อย่างเช่นแฟชั่นไอเท็มชิ้นรันเวย์อาจจะไม่เหมาะกับช่วงนี้นักก็สามารถเก็บไว้ก่อนได้ในกรณีได้ของมาแล้ว ส่วนในกรณียังไม่ได้ทำหรือรับของมา นี่คือโชคดีเพราะสามารถจัดการเรื่องหลังบ้านให้เหมาะกับสถานการณ์ได้มากที่สุด เพราะเจ้าของธุรกิจเองสามารถเลือกได้ว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน ลงทุนกับสต็อคได้โดยไม่เสียค่าโอกาสเผื่อเลือก (สินค้าตัวเลือก) มากเกินจำเป็น และสำคัญที่สุดคืออย่ากลัวไม่มีของขาย เพราะสิ่งนี้จะกลายเป็นหายนะที่เรียกว่า “Oveckstock” โดยไม่ทันตั้งตัว ภาวะแบบนี้การลงทุนโดยไม่จำเป็นคือข้อผิดพลาดที่ทุกคนในไลฟ์ครั้งนี้บอกว่าอย่าทำโดยเด็ดขาด!

 

     การจัดสัดส่วนเริ่มเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง สิ่งนี้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจึงคาบเกี่ยวไปถึงการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ คุณนุ่นเน้นย้ำชัดเจนว่า “ต้องอ่านข้อมูลให้เป็น!” เพราะเราต้องรู้เราประเมินเป้าหมายไว้มากน้อยแค่ไหน จะทำอย่างไรให้ถึงเป้า การขายสินค้าย่อมมีของกำไรน้อยเน้นขายจำนวนกับของกำไรสูงไม่เน้นการขายจำนวน การวิเคราะห์ข้อมูลจึงสำคัญว่าสินค้ากำไรน้อยชิ้นใดจะสร้างความคล่องตัวให้ได้ ในขณะที่สินค้าสร้างกำไรสูงชิ้นไหนมีแนวโน้มจะขายออก เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการสต็อคคือการหยิบของหลังบ้านมานำเสนอหน้าบ้านให้ถูกต้องผ่านข้อมูลการวิเคราะห์วางแผน ไม่ใช่แค่การลงทุนด้านเดียวแบบทุ่มๆๆ แต่หมายถึงการลงทุนและปฏิบัติอย่างสมดุลเพื่อรักษาสถานภาพรวมถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย และแน่นอนว่าถ้าเรามองถึงการรักษาสมดุลจุดนี้ก็สามารถวางแผนระยะยาวได้ต่อในอนาคต เพราะธุรกิจสะดุดแล้วต้องรีบลุกและมองตรงต่อไป อย่างที่กล่าวไว้เมื่อตอนที่แล้ว



WATCH




แป้ง-อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ ดีไซเนอร์ และผู้อำนวยการสร้างสรรค์แบรนด์ Vickteerut

     แน่นอนเมื่อวิกฤตการณ์เกิดขึ้นความตึงเครียดย่อมเข้ามาชะลอหรือหยุดกลไกอันรวดเร็วของธุรกิจไปไม่มากก็น้อย และแน่นอนว่าคำว่า “ค้างสต็อค” จะเกิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เพราะสินค้าไม่ดีเลยขายไม่ออก แต่สินค้าไม่สามารถเข้าไปอยู่ในความสนใจของลูกค้าได้อย่างเดิม เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีของอยู่หลังบ้านเราต้องเก็บรักษาไว้ให้อย่างดีที่สุด ยืดอายุสินค้าออกไป ดั่งตอนแรกที่เราพูดถึงเรื่อง “Shelf Life” ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันในครั้งนี้ ของนั้นต้องมีคุณค่าในระยะยาวไม่เอาต์ไม่น่าเบื่อ กลยุทธ์การทำคือการสร้างความสดใหม่อยู่เสมอ คุณพลอยกล่าวว่า “เราได้รับของมาจากเมืองนอกแล้วในคอลเล็กชั่นล่าสุด เราต้องเก็บไว้ก่อนและมองหาช่องทางเพื่อนำเสนอด้วยเรื่องราว ของเก่าที่เคยอยู่หลังบ้านลูกค้าไม่เห็นเช่นกัน สุดท้ายเมื่อมันได้ออกสู่สายตาคนจริงๆ มันก็จะใหม่อยู่ดี ต้องวางแผนทำการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับการเก็บสินค้าเพื่อขายอย่างจริงจัง”

 

     และต่อจากการยืดอายุของสินค้า คำว่า “ใหม่” ไม่ได้หมายถึงผลิตสด ส่งตรงมาจากเมืองนอก หรือเพิ่งทำใหม่อย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงการนำเสนอให้รู้สึกว่าคุณค่าของมันยืนยาวและดูเฟรชล่อใจผู้ซื้ออยู่เสมอ ทั้งแคมเปญทั้งกิมมิกจึงเป็นเรื่องสำคัญ คุณแป้งกล่าวว่า “เราเพิ่มกิมมิกให้กับชุดได้ สร้างบริบทให้สอดคล้องกับชีวิตลูกค้า เสื้อผ้าเราก็ดูใหม่ขึ้น” ในส่วนคุณนุ่นเองก็กล่าวถึงแบรนด์ที่คุณพลอยบริหารว่า “เห็นกอมม์มี Surprise Box ออกมานั่นคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าไอเท็มของกอมม์มันน่าตื่นเต้นอยู่เสมอ” เพราะฉะนั้นการบริหารเรื่องหลังบ้านจึงไม่ใช่แค่การรักษาความมั่นคงแต่ส่งผลต่อถึงนโยบายและแผนการขายหน้าบ้านของทุกธุรกิจอีกด้วย

กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย

     “New Normal” คำนี้ต้องบอกว่าเป็นคำที่ทุกคนต้องประสบพบเจออย่างแน่นอน แต่เรื่องหลังบ้านสอดคล้องกับเรื่องนี้อย่างไร ความเข้มข้นในการบริหารและการปรับทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ ต่อไปนี้ธรรมเนียมปฏิบัติตามฤดูกาลอาจเปลี่ยนไป ไทม์ไลน์เวลาการบริหารจัดการก็ย่อมเปลี่ยนไป จงอย่ายึดติดกับอะไรเดิมๆ คุณพลอยกล่าวว่า “อย่ายึดติดกับฤดูกาลแฟชั่นมากจนเกินไป” สิ่งนี้น่าจะทำให้ธุรกิจยืดหยุ่นได้อีก แบบแผนเดิมต้องถูกยืดให้ได้มากที่สุด อย่างคุณแป้งเองก็พูดถึงการปรับตัวว่า “ต่อไปอย่างน้อยก็คอลเล็กชั่นหน้าจะนำเสนอแบบแคปซูลย่อยๆ เพื่อทดลองกลุ่มลูกค้าและปรับไปเรื่อยๆ” จุดนี้ยิ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ตลาดและจะทำให้เราจัดสัดส่วนของสินค้าเราได้ด้วย มากไปกกว่านั้นเรายังสามารถนำทรัพยากรที่ยังไม่ผลิตจากช่วงวิกฤติกลับมาใช้เป็นทุนต่อยอดได้เรื่อยๆ อีกด้วย ถือเป็นการลดความไม่จำเป็นในช่วงเวลาคับขันและนำเป็นทุนก้อนสำคัญของการพัฒนาธุรกิจในอนาคต ตีโจทย์ปิดท้ายสำคัญในครั้งนี้ว่า “ดีไซเนอร์ต้องปรับตัวมาเป็นนักธุรกิจให้มากขึ้น”

 

     สุดท้ายธุรกิจต้องเดินหน้าอย่างเป็นกลุ่มก้อน เราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยหากมีแต่ของชั้นยอดแต่ไม่รู้ระบบริหารจัดการและการทำสต็อคเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด ณ ช่วงเวลานั้นๆ หรือกลับกันเราก็ไม่สามารถสำเร็จเช่นเดียวกันหากเราทำได้แต่บริหารหลังบ้าน เก่งเรื่องวิเคราะห์แต่ขาดทักษะการนำเสนอหน้าฉาก ทั้งหมดของธุรกิจจึงต้องยกยวงกันไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ วันนี้เราได้ข้อมูลเรื่องหลังบ้านที่แตะออกมาหน้าบ้านถึงการทำการตลาด เราไม่สามารถแยกอะไรออกจากกันได้เลย ต่อไปต้องหันกลับมามองธุรกิจตัวเองกันมากขึ้น หลังบ้านเป็นฐานอันแข็งแกร่ง หน้าบ้านเป็นฉากแสดงผลงานอันสวยงาม ขอให้ทุกคนผ่านสถานการณ์นี้ไปได้โดยราบรื่นทุกคน

 

 

voguefreemay2020

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueBusinessTalk