FASHION

บทสรุปสำคัญ #VogueBusinessTalk ตอนที่ 2 กับหัวข้อ 'บทบาทสำคัญของอีคอมเมิร์ซในธุรกิจแฟชั่นปัจจุบัน'

เชื่อว่าหลายคนกำลังมองหาที่พึ่งสำคัญในยามวิกฤตินี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการกำลังบอกให้คุณฟังอย่างเจาะลึก

     ในยามที่ทุกคนต้องเผชิญการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจแทบทุกรูปแบบได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวรับมือการอย่างฉับพลัน ธุรกิจแฟชั่นก็เช่นกัน โว้กจึงมีแนวคิดว่าอยากจะพูดคุยกับคนในแวดวงเพื่อเสนอแนวทางออกและการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในโปรเจกต์ #VogueLive - #VogueBusinessTalk โดยตอนที่ 2 นี้ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย พร้อมทั้งแขกรับเชิญ ตาต้า-รรินทน์ ทองมา CEO of CHRISTINA GREY GROUP Co., Ltd. และดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ O&B, หมู-พลพัฒน์ อัศวประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Asava และ โอ๋-รวีวรรณ กว้างกลาง ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโว้กประเทศไทย จะมาพูดคุยกันในหัวข้อเรื่อง “บทบาทสำคัญของอีคอมเมิร์ซในธุรกิจแฟชั่นปัจจุบัน” วันนี้เราจะมาสรุปประเด็นพร้อมทั้งไขข้อสงสัยในเรื่องหลักๆ ของบันทึกการพูดคุยครั้งนี้ (คลิก เพื่อดูวิดีโอตัวเต็ม) จะมีประเด็นไหนน่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้บ้างเชิญชมได้ในบทความนี้เลย

 

     เริ่มแรกต้องเกริ่นก่อนว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอยางต้องหยุดชะงัก การขายหน้าร้านที่หลายคนเรียกว่า “On Ground” ต้องปิดชั่วคราวไปอย่างน้อยหลักหลายเดือน เพราะฉะนั้นการเข้ามามีบทบาทแทนที่ของการขายออนไลน์จึงมีผลอย่างมาก และวันนี้ทั้ง 4 คนจะมาร่วมถกเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซเพื่อประโยชน์ของผู้ทำธุรกิจทุกท่านรวมถึงผู้อ่านทุกคน กับโควตสุดเอ็กซ์ตรีมครั้งนี้ว่า “ทุกธุรกิจต้องกระโดดเข้าสู่แนวทางอีคอมเมิร์ซเพื่อโอกาสในการอยู่รอด”

     หลังจากตอนที่แล้วเราได้บัญญัติศัพท์คำว่า “ผู้ชนะคนใหม่” วันนี้เรามาเริ่มต้นเดินในเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นผู้ชนะคนใหม่ในแวดวงธุรกิจแฟชั่นกับประเด็นเรื่องความเข้าใจสถานการณ์ ตอนนี้ต้องเข้าใจว่าผู้คนทั่วโลกมักอินไปกับความรู้สึกร่วมต่างๆ เมื่อเขาลำบากต้องการความช่วยเหลือ ธุรกิจต้องทำไรอย่างให้กลุ่มคนเหล่านั้นโดยเฉพาะที่เรามองว่าเป็นลูกค้ารู้สึกว่าเราเดินเคียงข้างและเข้าใจพวกเขาอยู่เสมอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเจ้าของธุรกิจสามารถสร้างความรู้สึกร่วมเหล่านี้เพื่อรักษาเยียวยาลูกค้าเก่าและสร้างฐานลูกค้าใหม่ผ่านความประทับใจ จะเห็นว่าไม่ใช่แค่วงการแฟชั่นแต่ธุรกิจแทบทุกประเภทมีการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือ โดยลงมือทำทันทีเมื่อสภาวะการแพร่ระบาดเกิดขึ้น นั่นทำให้พวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความรู้สึกของผู้บริโภคไม่มากก็น้อย ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว จุดนี้ยังรวมถึงเรื่องประเด็นความยากง่ายในการช็อปปิ้งเช่นความยากง่ายในกระบวนการซื้อซึ่งควรมิตรต่อผู้บริโภคด้วย ความเข้าอกเข้าใจในช่วงเวลาลำบากคือการแทรกซึมเข้าไปแสดงผลเป็นตัวเลือกของในใจลูกค้าทั้งระหว่างและหลังความยากลำบากครั้งนี้

ต้า-รรินทน์ ทองมา  CEO of CHRISTINA GREY GROUP Co., Ltd. และดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ O&B

     เมื่อจะทำธุรกิจโดยการใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นก็ต้องยิ่งเข้าใจแพลตฟอร์ม เร่งหาคำตอบและลงมือชิงพื้นที่ตลาดให้ได้ไวที่สุด คุณต้ายกตัวอย่างว่าลองมองภาพเฟสบุ๊กหรืออินสตาแกรมขณะเปิดตัวใหม่ๆ เราขยายฐานกันง่ายมากแต่ถ้าทำตอนนี้ต้องวางกลยุทธ์และตีฐานของคนมาก่อนให้ได้ แต่ช่วงนี้มีช่องทางใหม่เข้ามา อย่างเช่นติ๊กต๊อกซึ่งคนเพิ่งก้าวเข้ามาเล่นอย่างถล่มทลายในช่วงหลัง ตัวอย่างนี้จึงเป็นโอกาสได้ลองสำหรับการมองหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อกระจายความเป็นแบรนด์รวมถึงสร้างรากฐานให้แข็งแกร่งในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ก็มีข้อแม้ว่าเราละทิ้งช่องทางที่ยังจำเป็นอื่นๆ ไปไม่ได้ มากไปกว่านั้นไม่ใช่แค่วิเคราะห์ปัจจัยภายนอก แต่ข้อจำกัดในองค์กรโดยเฉพาะเรื่องบุคคลที่จะรับบทบาทดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็ต้องถูกนำมาคิดเช่นเดียวกัน เขาถนัดจะทำอินสตาแกรมหรือแพลตฟอร์มไหนนี่คือข้อสงสัยที่ต้องมีคำตอบ...

 

     เมื่อได้แพลตฟอร์มแล้วสิ่งที่เราต้องทำคือการโปรโมต ในช่วงโควิดแบบนี้คนสนใจเรื่องราวข่าวมากขึ้น คนอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เราต้องหาจุดเด่นของแบรนด์ให้เจอก่อนแล้วคิดว่าจะนำเสนอออกมาโดยวิธีใด การเล่าเรื่องแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและกระจายฐานลูกค้าเราในช่วงนี้จึงสำคัญ เทคนิคที่ต่างกันไปของแต่ละเจ้าจะสอดแทรกเข้าไปอยู่ในสังคมออนไลน์ของผู้บริโภคไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องเริ่มวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าตัวตนของธุรกิจเหมาะกับการถูกวางไว้ในจุดไหนของโลกออนไลน์ ลองเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจตัวเองดูก่อน ประเมินศึกษาตัวเราให้ถี่ถ้วนแล้วจึงค่อยเดินออกสู่โลกกว้าง คุณหมูกล่าวว่า “การหาวิธีใหม่ๆ นำมาซึ่งแพลนใหม่ๆ และในอนาคตจะพ้นวิกฤติในฐานะธุรกิจที่ดีขึ้น”



WATCH




หมู-พลพัฒน์ อัศวประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Asava

     เมื่อได้เรื่องลูกค้าและภาพลักษณ์ของแบรนด์แล้ว สิ่งที่คำนึงอย่างมากต่อมาคือการรักษาสมดุลระหว่างภาพลักษณ์การยอดขาย ธุรกิจอยู่ได้เพราะยอดขายก็จริงแต่ในสถานการณ์แบบนี้ภาพลักษณ์ความมั่นคงและคาแรกเตอร์ของแบรนด์ก็สำคัญต่อมุมมองผู้บริโภค การเทขายเร่งขายในตอนนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป ในทางกลับกันการทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคมเกินพอดีก็อาจจะทำให้ตัวเราลำบากได้ และที่สำคัญเรามีมาตรฐานราคาและคุณภาพ จงอย่าเปลี่ยนมาตรฐานนั้นแบบสุดกู่ เราวางตัวไว้แบบใดพยายามคงเส้นนั้นไว้ให้ได้ ยกตัวอย่างเช่นขายสินค้าระดับลักชัวรี่แต่ลดราคาเพื่อเทขายเอาทำยอดในสถานการณ์นี้จะเสียภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปในทันที จุดยืนสำคัญที่เสียไปครั้งนี้สร้างใหม่กลับมายากกว่าการหาเงินเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นมันต้องอยู่ในจุดสมดุลทั้ง 2 ฝั่งจริงๆ

 

     เมื่อมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในช่วงนี้แล้วสิ่งสำคัญซึ่งต่อยอดมาจากสัปดาห์ที่แล้วอย่างชัดเจนคือ “บุคลากร” ไม่ใช่ว่าเราจะลงมือทำออนไลน์แล้วพนักงานของเราจำเป็นน้อยลง กลับกันพวกเขาสำคัญมากขึ้นด้วยเพราะเราต้องพัฒนาให้ความรู้ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดทักษะให้พวกเขาต่อไปเพราะฉะนั้นต้องมีการจัดสรรทีมเพื่อลุยในสนามอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจังมากขึ้น เราไม่ต้องถึงขั้นเสี่ยงสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเพราะเพิ่มคน แต่เราสามารถผลักดันคนที่มีอยู่ได้ ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือไม่ต้องลงทุนในภาวะเสี่ยงเพิ่มเติมและอีกข้อคือพวกเรารู้จักแบรนด์หรือธุรกิจเราดีอยู่แล้วไม่ต้องมาซึมซับกันใหม่ พวกเขาสามารถเล่าเรื่องแบรนด์ได้ สนทนากับลูกค้าจนถึงเชิงลึกได้เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับบริการ มีคนคอยปฏิสัมพันธ์ ปัจจัยนี้สำคัญกับธุรกิจอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจแฟชั่น รวมถึงธุรกิจลักชัวรี่อื่นๆ ที่กลุ่มลูกค้าจำนวนไม่น้อยต้องการการให้บริการ

กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย

     อีกเรื่องที่สำคัญและขาดไม่ได้คือปรากฏการณ์เรื่องชนชั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเสมอไม่ว่าจะโลกจริงหรือโลกออนไลน์ แต่สำหรับโลกยุคใหม่หรือ ณ ปัจจุบันทันด่วนผู้เข้าถึงข้อมูลได้ลึกและกว้างกว่าคือผู้ที่มีข้อได้เปรียบมากกว่า เพราะฉะนั้นในโลกยุคใหม่มีแนวโน้มสูงมากที่คนจะมุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องแฟชั่น เพราฉะนั้นธุรกิจต้องจับกลุ่มลูกค้าผ่านบรรทัดฐานใหม่ในการแบ่งกลุ่มลูกค้าด้วย เท่ากับว่ามีปัจจัยสำคัญปัจจัยใหญ่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการมองกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป

โอ๋-รวีวรรณ กว้างกลาง ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโว้กประเทศไทย

     ปิดท้ายกันด้วย “อย่าฝากความหวังไว้กับคนอื่น” ทั้งหมดทั้งมวลต้องเริ่มทำด้วยตัวเอง พัฒนาการเดินทางของธุรกิจด้วยตัวเอง การหวังพึ่งผู้อื่นโดยเฉพาะขณะกำลังเกิดสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ขึ้นนั้นไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว เราเชื่อมันใครไม่ได้เท่าเชื่อมั่นในแนวทางและการปรับแก้ของตัวเอง เพราะเราคือผู้เข้าใจธุรกิจของตัวเราเองมากที่สุด ทุกอย่างลองได้ ล้มได้ ลองผิดลองถูกได้ จงอย่ากลัว กล้าที่จะเสี่ยงกับความผิดพลาด แก้ไข ลุกขึ้นเดินต่อ ช่วงเวลาแห่งการทดลองโดยไม่มีข้อแม้แบบนี้จะทำให้ธุรกิจของเราพบเจอหนทางทั้งสำหรับปัจจุบันและในอนาคตภายภาคหน้าอย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนโชคดี

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19