FASHION

เมื่อเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงขายหมดเกลี้ยง ในสถานการณ์โควิด-19

          มันไม่ง่ายเลยที่รูปๆ หนึ่งจะดึงความสนใจของคุณจากการไถหน้าฟีดอินสตาแกรมแบบไม่มีจุดหมาย รูปนั้นเป็นของสไตล์ลิสคนดัง Nicola Formichetti ที่ดึงความสนใจของเราไปด้วยชุดคลุมสีสันสดใสราวกับสวมใส่งานประติมากรรมของ Jeff Koons ความมันเงาที่ดูจะเกินจริงของมันทำให้เราพากันสงสัยว่ามันคือของจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ ชุดไซเบอร์นี้เป็นชุดของแบรนด์ Tribute แบรนด์จากเมืองซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย โดยมาในคอนเซปต์แฟชั่นไซเบอร์ไร้สัมผัส

ภาพจาก @tribute_brand

          ในทางใดทางหนึ่ง แฟชั่นในรูปแบบนี้คือช่วงต่อของเทรนด์ที่เราเห็นอยู่เรื่อยมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายๆ แบรนด์ได้ผลักดันการทำแคทวอล์คแบบเสมือนจริง แทนที่จะใช้วิธีการทำวิดีโอสั้นหรือวิดีโอ 3 มิติ เราล้วนเห็นคำใบ้ว่าแฟชั่นจะอยู่ในโลกอินเทอร์เนตได้อย่างไร จากการที่ดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์อย่าง like@lilmiquela เขย่ารันเวย์ที่ผ่านมาด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ และเว็บไซต์ซื้อของออนไลน์ถูกทำให้ง่ายขึ้นจนลูกค้าไม่จำเป็นต้องเห็นหรือสัมผัสของจริงอีกต่อไป ขนาดที่คุณสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom ได้แล้ว ทุกอย่างนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องแต่งตัวเพื่อผู้ชมทางดิจิทัลมากกว่าแต่งตัวเพื่อคนจริงๆ เสียอีก

          ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยที่บางแบรนด์จะลบเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งความฝัน และพาเราไปสู่มิติสุดลึกลับ แบรนด์ทริบิวท์ ทำเสื้อผ้าดิจิทัลที่มีจริงแค่ในโลกออนไลน์เพื่อลูกค้าที่จ่ายเงิน 699 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเสื้อ 1 ตัว ซึ่งแรงบันดาลใจของแบรนด์มาจากเกม The Sims, Grand Theft Auto และ วิดิโอเกมอื่นๆ “คุณมีตัวละครและมีร้านขายเสื้อผ้าที่คุณสามารถแต่งตัวให้มันได้ สำหรับฉันมันคือส่วนที่สนุกที่สุดในเกมตลอดมา” Gala Marija Vrbanic ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ กล่าว เธอสร้างแบรนด์ทริบิวท์ กับ Filip Vajda หัวหน้าดิจิทัลแฟชั่นของแบรนด์ ก่อนหน้าที่แบรนด์นี้จะเกิดขึ้น ทั้งสองเคยทำงานให้กับแบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่น แต่กลับมีมุมมองถึงแบรนด์ดิจิทัลมาโดยตลอด ด้วยความรักในดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้พวกเขาพาคอนเซปต์ของทริบิวท์ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก คือการที่ไม่สร้างขยะ เนื่องจากอาภรณ์นี้ถูกถักทอจากก้อนพิกเซลไม่ใช่เส้นใย

          จากการสร้างเสื้อผ้าที่มีแค่ในออนไลน์ ทำให้ทั้งคู่เห็นโอกาสแห่งความสร้างสรรค์ที่จะทำให้ผู้คนใส่เสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้ได้ หรือพูดได้ว่าเป็นเหยื่ออันโอชะของสาวกอินสตาแกรม “เราเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ ที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างวัสดุใหม่ๆ และของที่ใช้ไม่ได้จริงหากอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยกฎฟิสิกส์ใบนี้” กาลา กล่าว



WATCH




ภาพจาก @tribute_brand

          กาลาและฟิลิป สร้างรูปแบบดิจิทัลของเสื้อผ้าที่ออกแบบมาจากของจริง โดยใช้โปรแกรม 3 มิติแบบเดียวกับที่แบรนด์ต่างๆ ใช้กัน  เมื่อสร้างแบบเสื้อผ้าแล้ว พวกเขาก็ใช้อีกโปรแกรมในการสวมชุดให้ภาพของลูกค้า ซึ่งทำออกมาได้อย่างไม่มีที่ติ เนื่องจากมีการเพิ่มแสงเงาเพื่อความสมจริง กระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง แต่กาลาเห็นอนาคตของการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มากกว่านี้ “ผู้คนควรจะมีเสื้อผ้าประเภทนี้อย่างถาวร”

          ในเวลานี้ แบรนด์มีคอลเลกชั่นที่ประกอบไปด้วย 12 ชุดบนเว็บไซต์ tribute-brand.com และยังเปิดรับออเดอร์สั่งทำพิเศษอีกด้วย เนื่องจากสินค้าพวกนี้ไม่ใช่ของจริง ดังนั้นเมื่อมันหมดแล้วมันก็จะหมดเลย โดยบนหน้าเว็บไซต์มีบอกว่าไอเท็มแต่ละชิ้นมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเสื้อโค้ตสีดำมันเงาเปิดให้คนเป็นเจ้าของได้ถึง 100 คน ขณะที่เสื้อตกแต่งด้วยลูกไม้สีเขียวและลาเท็กสีดำมีแค่ 3 ตัวเท่านั้น โดยราคาอยู่ที่ 699 ดอลลาร์สหรัฐ

ภาพจาก @tribute_brand

          หน้าเพจอินสตาแกรมของทริบิวท์บางทีก็หลอกเราว่าอะไรจริงอะไรปลอม แต่ความงามที่ฝืนแรงดึงดูดของโลกนั้นทำให้เรารู้ได้ง่ายขึ้น เสื้อผ้าพวกนี้ไม่จำเป็นต้องดูสมจริง แต่พวกมันจะทำให้คุณตั้งข้อสงสัย โดยธรรมชาติแล้วเราแค่ต้องการจะรู้ว่าเพื่อนฉันจะพูดว่าอย่างไรนะถ้าฉันสวมใส่ชุดดิจิทัล โดยไม่คำนึงถึงความสมจริงของมัน ฉันจึงยอมให้รูปแก่แบรนด์ทริบิวท์ และพวกเขาก็ส่งรูปฉันในเวอร์ชั่นใหม่กลับมาอย่างรวดเร็ว โดยสวมใส่โค้ตสไตล์แมตริก  กับกางเกงสีเขียวเงิน ที่ทำเอาฉันดูเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ มันคือฉันคนเดิมนั่นแหละเพียงแต่ดีกว่าและเหมือนเอเลี่ยนมากกว่า ไม่รอช้าฉันจึงส่งรูปนี้ให้เพื่อนๆ โดยไม่ทิ้งข้อความและคำใบ้ใดๆ ไว้

In my digital Tribute pieces

ภาพจาก Christian Allaire

          ก็ทำให้รู้ว่าเพื่อนเราไม่ได้โง่ไปซะทุกคน (มีตั้ง 3 คนที่พิมพ์มาทันทีว่าชุดนี้มันของปลอม) แต่ทุกคนล้วนชื่นชอบ คริสติน่าเพื่อนฉันบอกว่า “กางเกงตัวนี้มันดูเหมือนวาดลงไปเลย แต่ก็ต้องซูมดูนะ” เธอยังพูดอีกว่ามันทำให้เธอนึกถึงตู้เสื้อผ้าของ Cher ในภาพยนตร์เรื่อง Clueless เพื่อนของฉันอีกคนถึงกับเอาไปเปรียบกับเครื่องดื่มชูกำลังของมอนสเตอร์ และบอกว่ามันมีความรู้สึกของการเป็น Huge Hefner

          เมื่อได้ลองชุดของทริบิวท์แล้ว ทำให้ฉันเริ่มชอบในความเป็นมัน และรู้สึกผิดอย่างมากที่ได้พยามจับผิดเสื้อผ้าในรูปตัวเอง เพราะกลัวว่าถ้ามันดูไม่พอดีฉันก็จะลบรูปนั้นทิ้ง แต่ลองดูชุดสุดแสนจะเพอร์เฟคนี้บนตัวฉันสิ ผลลัพธ์ที่น่าพอใจนี้มันคือสิ่งที่แฟชั่นควรจะเป็น มันทำให้ฉันรู้สึกดี เป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น สิ่งเดียวที่จะทำให้ประสบการณ์นี้ดีขึ้นไปอีกคือการที่ฉันสามารถเดินทอดไปตามถนนโดยสวมกางเกงอันยวบยาบนี้แบบจริงๆ

ภาพจาก @tribute_brand

          แบรนด์เสื้อผ้าดิจิทัลอื่นๆ ดูเหมือนจะได้รับแรงฉุด ห้องเสื้อสัญชาติสแกนดิเนเวียน Carlings ขับเคลื่อนมาในคอนเซปต์แบบเดียวกัน และทีมดีไซเนอร์ 3 มิติของแบรนด์ได้ทำชุดสตรีทแวร์แบบดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2018 และโปรเจกต์ The Fabricant เพิ่งจะออกแคมเปญวิดีโอตัวใหม่ที่นำเสนอเครื่องยีนส์แบบดิจิทัลทั้งหมด “เราเชื่ออย่างถ่องแท้ว่านี่คือสิ่งที่สร้างแฟชั่นในโลกอนาคต และมันเป็นอะไรที่ไม่ก่อให้เกิดขยะแบบจริงๆ” กาลากล่าว ด้วยปัญหาขยะที่ไม่จบไม่สิ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งสองคิดว่าการเดินมาในเส้นทางแห่งดิจิทัลจะทำให้ติดลมบน ถึงแม้การจ่าย 29 ดอลลาร์สหรัฐให้เสื้อผ้าที่จับต้องไม่ได้มันจะดูฟุ่มเฟือย แต่ผู้ก่อตั้งทั้งสองมองถึงข้อดีของการไม่มีขยะมากกว่าการสร้างอะไรที่จับต้องได้บนโลกที่มีทรัพยากรจำกัด “ถ้าคุณรีไซเคิลขวดพลาสติกหลายขวด หรือผลิตฝ้ายออแกนิกในปริมาณมาก มันก็ยังคงจะเป็นปัญหาที่อาจจะหนักกว่าเดิม เมื่อคุณผลิตฝ้ายธรรมชาติมันแปลว่าคุณจะต้องใช้น้ำมากกว่าเดิม” กาลากล่าว “ในกรณีของเรามันไม่มีการใช้ทรัพยากรภายนอก และเราเชื่อว่าภายใน 2  ปีนี้ ทุกสิ่งจะกลายเป็นดิจิทัล”

          แต่ทริบิวท์ดูเหมือนจะไม่ได้มีไว้เพื่อทุกคน มันมีไว้สำหรับคนที่ชอบเสื้อผ้าแนวนี้และอยากจะโพสลงบนอินสตาแกรม คำถามคือไอเท็มที่เรียบง่ายอย่างยีนส์และเสื้อยืดเป็นเหตุให้ทริบิวท์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นจริงหรือ คำตอบคืออาจจะไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วฉันเห็นทริบิวท์เป็นชุดในโอกาสพิเศษ เมื่อคุณรู้สึกไม่มีอะไรจะใส่ อย่างตอนที่คุณต้องการอะไรสนุกๆ และโดดเด่นเพื่อจะถ่ายรูป ในอนาคตฉันไม่ได้คาดหวังจะมีอวตารหรือหุ่นยนต์ ฉันนี่แหละจะเป็นอวตารของตัวเอง และขอยืนยันว่าการจ่ายเงินกว่า 29 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อลุคนี้มันคุ้มมาก และถ้าคุณเริ่มจะชินกับการเห็นตัวเองในโลกออนไลน์ ก็ไม่ต้องสนความจริงที่ว่าเสื้อผ้าพวกนี้มันคือฝีมือคอมพิวเตอร์ เพราะสุดท้ายผลลัพธ์มันก็เท่าเดิม

ผู้เขียน : ญาณิศา แผนสนิท

ข้อมูลจาก Vogue US

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VirtualClothes #Tributebrand #ContactlessFashion