FASHION

ตามรอยประวัติศาสตร์ 'Tignon Law' กฎการโพกศีรษะในยุคค้าทาส บาดแผลที่โลกไม่ควรลืม!

จาภาพยนตรร์ซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์ที่ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึง "Tignon Law" กฎการโพกศีรษะของชาวผิวสีในยุคค้าทาส บาดแผลที่โลกนี้ไม่ควรลืม

     ช่วงนี้แอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น Netflix และหลายคนก็คงจะผ่านตากันบ้างแล้วสำหรับภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Self Made ที่นับเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ออริจินัลน้ำดีจากทางเน็ตฟลิกซ์ กับการเล่าเรื่องชีวิตของเศรษฐีนีผิวสีนามว่า Madame C.J. Walker ผู้สร้างตัว และเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับเหล่าสุภาพสตรีผิวสีในสังคม ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ “เรือนผม” สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ของสุภาพสตรีชาวผิวสีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน...

     ระหว่างทางนอกจากที่ Self Made ที่ทำหน้าที่คลี่ชั้นพีระมิดแห่งการเหยียดชนชาติอันโหดร้ายให้เราได้เห็นอย่างชัดแจ้ง และไม่คาดฝันแล้วนั้น ยังสะกิดให้ผู้ชมทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเส้นผมของสุภาพสตรีผิวสีได้อย่างน่าสนใจ เฉกเช่นที่ผู้เขียนจะได้สาธยายต่อไปว่า แท้จริงแล้ว “เรือนผม” ของเหล่าสุภาพสตรีชาวผิวสีนั้น นับเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการถกเถียงในมิติทางการฉกฉวยทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปในอดีตเส้นผมนับเป็นเรื่องสำคัญต่อชาวแอฟริกันอย่างมาก ทรงผมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชนเผ่าพี้นเมืองนั้น แสดงออกทั้งความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ และการมีตัวตนอยู่ของสมาชิกในเผ่านั้นๆ ทว่าเมื่อโลกหมุนเหวี่ยงไปสู่ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 วัฒนธรรมการค้าทาสจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น ชนเผ่าพื้นเมือง และชาวแอฟริกันนับไม่ถ้วนถูกส่งตัวไปค้าแรงงานเป็นแรงงานทาส ถูกกดขี่ข่มเหงและมิได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนเสมอกัน จนกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันโหดร้ายที่มนุษย์กระทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง

ภาพวาดที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมาการโพกศีรษะของเหล่าสุภาพสตรีผิวสีในสมัยโบราณ

 

     การกดขี่ข่มเหงแผ่ซ่านไปอย่างถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้กระทั่งสิทธิในร่างกายของชนผิวสีก็ถูกริดรอนไปด้วยเช่นกัน “ทรงผม” ของเหล่าสุภาพสตรีผิวสีที่เคยเป็นความภาคภูมิใจ และได้รับการเชิดชู เปรียบเหมือนอัตลักษณ์แห่งการมีตัวตนในสังคม ถูกชนผิวขาว หรือนายค้าทาสมองว่า สกปรก ไม่สะอาดตา และไม่สวยงาม จนเกิดเป็นกฎหมายการโพกศีรษะในปี 1786 เพื่อบดบังเรือนผมนั้น หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อของ “Tignon Law’ โดย Don Esteban Miró ข้าหลวงที่กษัตริย์สเปนส่งมาปกครอง Louisiana ที่ตกเป็นอาณานิคมของสเปนในตอนนั้น ที่ได้ประกาศให้แรงงานทาสผิวสีทุกคนห้ามทำผมในแบบชนเผ่าดั้งเดิม ต้องมีการใช้ผ้าสวยงามโพกศรีษะอยู่เสมอเพื่อปกปิดเส้นผมหยิกฟู ที่เป็นมรดกทางกรรมพันธุ์อันสวยงามที่บัดนี้ได้กลายเป็น “ความไม่งาม” ไปเสียแล้ว (กระทั่งหากทาสคนใดที่ไม่ทำตามกฎ ก็จะถูกโกนผมทิ้งทันที) จริงอยู่ที่ในแง่หนึ่งสิ่งนี้ได้ตกทอดมาเป็นมรดกทางด้านสไตล์ในวงการแฟชั่นอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ยอมรับได้ และยอมรับไม่ได้ ทว่าเราต่างก็ต้องไม่ลืมว่ามันได้สร้างบาดแผลในจิตใจของมนุษย์ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

(ซ้าย) Diana Ross นักร้องหญิงระดับตำนานและทรงผมแอฟโฟร / (ขวา) Bob Marley นักร้องชื่อดังและทรงผมเดรดล็อค

 

     ผ่านวัน ผ่านเดือน ผ่านปี ความภาคภูมิใจที่เคยมีในเรือนผมของพวกเธอได้ถูกพรากไปอย่างโหดร้าย อันที่จริงมันไม่ใช่แค่เส้นผมที่ถูกพรากไป แต่มันคือจิตวิญญาณที่จะได้ภาคภูมิใจในตัวตนต่างหากที่ถูกพรากไปด้วย ตลอดยุคการค้าทาสจนกระทั่งการเลิกทาสในช่วงปี 1863 Tignon Law ถูกส่งผ่านไปรุ่นต่อรุ่น กลายเป็นคติความงามแบบจำกัดที่ว่า “ผมตรงเท่านั้นคือความงาม” และผมตรงที่ว่านี้ก็ไม่ใช่แค่ “ผมตรงที่สวย” แต่ยังหมายถึงโอกาสทางสังคม ดังนั้นหากใครก็ตามที่ต้องการไขว่คว้าโอกาสทางสังคมมาให้ได้ก็ต้องมีผมตรง หรือได้รับการดูแลเส้นผมให้ถูกเก็บอย่างเรียบร้อย หรือตกแต่งให้สวยอยู่เสมอๆ จึงเกิดเป็นนวัตกรรมอย่าง “หวีร้อน” และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมอีกมากมาย ที่จะได้เห็นกันในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Self Made ในเน็ตฟลิกซ์ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น กระนั้นนวัตกรรมเหล่านี้ก็ยังมาพร้อมกับความทรมานทางด้านสุขภาพเส้นผม และหนังศีรษะของเหล่าสุภาพสตรีผิวสีเกินกว่าที่ใครจะเข้าใจ หรือแม้กระทั่งการต้องปิดบัง เปลี่ยนแปลงตัวตน ให้เป็นไปตามนิยามความงามกระแสหลักที่นายค้าทาสปล้นมาได้ในยุคค้าทาส

     เมี่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครหลายคนก็น่าจะได้คำตอบแล้วว่า เหตุใดเรื่องราวของทรงผม และเส้นผมของคนผิวสี จึงต้องกลายเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่เสมอ วัฒนธรรมการค้าทาสที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีมนุษยธรรมในยุคหนึ่งได้พรากตัวตนของมนุษย์ให้หายไปจากโลกใบนี้ ไม่ให้เหลือความเป็นมนุษย์อีกต่อไป ผ่านการกดขี่ข่มเหงในทุกด้าน แม้กระทั่งเรื่องที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ อย่าง “เส้นผม” ที่แท้จริงแล้วคือเรื่องใหญ่ ที่ควรกลายเป็นสำนึกร่วมของชนทุกชาติบนโลก และจงคิดให้หนักทุกครั้งไม่ว่าจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา “ลอกเลียน” หรือ “ล้อเลียน” ก็ตาม...



WATCH




(ซ้าย)  Miss Jamaica ประจำปี 2017 บนเวทีมิสยูนิเวิร์สปี 2017/ (กลาง) Naomi Campbell ซูเปอร์โมเดล และทรงผมธรรมชาติโดยกำเนิด/ (ขวา) Miss USA ประจำปี 2019

 

     ผ่านมาหลายทศวรรษหลังสิ้นสุดยุคค้าทาส ชนผิวสีหลายคนเริ่มออกมารณรงค์ทวงคืนตัวตนจากเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นศิลปินชื่อดังอย่าง Bob Marley หรือ Diana Ross และอีกมากมาย ที่เผยทรงผมที่แท้จริงท้าทายคติความงามในเวลานั้น แม้แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังเกิดการรณรงค์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเผย Natural Hair ที่กระจายไปทั่ววงการบันเทิงโลก และนางแบบผิวสี ที่ค่อยๆ กลืนหายคติความงามกระแสหลัก สร้างนิยามความงามให้กว้างขึ้นมากกว่าเดิม เรื่อยไปจนถึงวงการนางงามที่ลุกขึ้นสู้ไปพร้อมๆ กับสุภาพสตรีผิวสีมากมาย ดังที่เราได้เห็นทั้ง Miss USA ประจำปี 2019 หรือการเข้ารอบลึกๆ ของนางงามจากประเทศจาไมก้า บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ปี 2017 และอีกหลายๆ กรณี ที่สามารถยืนยันได้อย่างดีว่า “โลกใบนี้ได้ส่งคืนความยุติธรรมให้กับเหล่าสุภาพสตรีผิวสีแล้ว” ไม่เว้นแม้แต่วงการตุ๊กตาบาร์บี้ที่ “ความหลากหลายทางความงาม” ก็ได้ยึดคืนพื้นที่ สั่งสอนเด็กสาวให้ได้เข้าใจว่า แท้จริงความงามไม่ได้มีแบบเดียว กระนั้นเส้นทางการต่อสู้ในเรื่อง “ทรงผม” ของชนผิวสีก็ยังไม่จบลงง่ายๆ หลายครั้งที่โอกาสทางสังคมยังผูกติดเกี่ยวกับเรื่องของทรงผม เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา เด็กหนุ่มคนหนึ่งในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมงานรับประกาศนียบัตรจบการศึกษา เพราะเขาทำผมเดรดล็อคซึ่งขัดต่อกฎระเบียบของโรงเรียน หรือแม้แต่ซูเปอร์โมเดลอย่างนาโอมิ แคมป์เบลล์ ที่ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับเส้นผมอยู่นานนับปีเช่นกัน

     ดังนั้นแล้วเรื่องราวของเส้นผมของคนผิวสีจึงไม่ใช่แค่เรื่อง "ความงามของเส้นผม" เท่านั้น แต่สิ่งนั้นยังหมายถึง "เสรีภาพ" ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีอย่างชอบธรรมด้วยต่างหาก...

     

WATCH

คีย์เวิร์ด: #TignonLaw #VogueScoop