FASHION

Susana Rodríguez แพทย์ผิวเผือกตาบอด บุคลากรด่านหน้าช่วงโควิดผู้คว้าเหรียญทองพาราไตรกีฬา

แม้อาการผิวเผือกทำให้เธอตาบอดทั้ง 2 ข้าง แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคขวางการเป็นแพทย์และคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกแต่อย่างใด

     กว่าจะมาเป็นนักกีฬาระดับโอลิมปิกหรือพาราลิมปิกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่านักกีฬาจากทั่วโลกต้องหมั่นฝึกซ้อมฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างมากมาย การรักษาสภาพร่างกายเองก็เป็นปัจจัยสำคัญให้แต่ละคนยังคงเข้าแข่งขันได้นานนับ 10 ปี วันนี้โว้กจะพาไปรู้จักกับ Susana Rodríguez Gacio นักพาราไตรกีฬามากความสามารถผู้ไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว มากไปกว่านั้นนอกเหนือจากชีวิตนักกีฬาเธอยังเป็นบุคลากรคนสำคัญในช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย

บรรยากาศขณะ Susana Rodríguez ในการแข่งขันพาราไตรกีฬา / ภาพ: Olympics

     ซูซาน่าคือเด็กสาวชาวสเปนเกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1988 ปัจจุบันอายุ 33 ปี เธอเกิดมาพร้อมกับ “Albinism” หรือ “ภาวะผิวเผือก” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีบนผิวหนัง เส้นผม รวมถึงดวงตา โดยอวัยวะอย่างหลังนี้มีผลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก เพราะอาการผิวเผือกนั้นจำกัดการมองเห็นให้เหลือเพียงน้อยนิด สำหรับซูซาน่าแล้วดวงตาของเธอข้างหนึ่งมองเห็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ และอีกข้างหนึ่งมองเห็นเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งระดับการมองเห็นเท่านี้ถูกให้อยู่ในขั้นตาบอดเลยทีเดียว นั่นแปลว่าสาวสเปนคนนี้ต้องใช้ชีวิตพร้อมกับความมืดมิดมาตลอดตั้งแต่เกิด

Susana Rodríguez (ขวา) ขณะกำลังขึ้นจากน้ำในการแข่งขันพาราไตรกีฬา พาราลิมปิก 2020 / ภาพ: Olympics

     นักกีฬาสาวชาวสเปนคนนี้เริ่มเล่นกรีฑาตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งการเรียนแต่อย่างใด เธอมุ่งมั่นให้กับทั้ง 2 ด้านอย่างสุดความสามารถ ด้านกีฬาเธอฝึกฝนอย่างหนักร่วมกับผู้ฝึกสอนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศสเปน (ONCE) และเริ่มทำการแข่งขันระดับเยาวชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรียกว่าเด็กน้อยคนนี้ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตาและมุ่งมั่นสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองอยู่เสมอ กีฬาคือสิ่งเติมเต็มในชีวิตที่ทำให้เธอรู้สึกมีความหมาย แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ยังสามารถทำเรื่องน่าเหลือเชื่อให้เกิดขึ้นได้



WATCH




Susana Rodríguez (ขวา) ขณะกำลังวิ่งช่วงสุดท้ายในการแข่งขันพาราไตรกีฬา พาราลิมปิก 2020 / ภาพ: Japan Times

     ด้านการเรียนซูซาน่าคือหัวกะทิไม่แพ้ด้านกีฬา เพราะเธอควบดีกรีบัณฑิตแพทย์ สาขากายภาพบำบัดที่ University of Santiago de Compostela ลองจินตนาการว่าการเรียนหมอสำหรับคนทั่วไปนั้นยากเพียงใด และเธอมีความบกพร่องด้านการมองเห็นเกือบสมบูรณ์ นั่นแปลว่าซูซาน่าต้องพยายามผลักดันตัวเองเพื่อก้าวข้ามทุกขีดจำกัดจนสามารถเป็นนักศึกษาแพทย์ได้อย่างจริงจัง ช่วงเวลาเดียวกันเธอก็ยังคงแข่งขันกรีฑาอยู่ตลอด เส้นทางความฝันกำลังจะเกิดขึ้นเมื่อพาราลิมปิก 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนกำลังมาถึง

Susana Rodríguez (ขวา) ปั่นจักรยานในการแข่งขันพาราไตรกีฬา พาราลิมปิก 2016 / ภาพ: Olympics

     ฝันที่วาดไว้ในจินตนาการตั้งแต่เด็กต้องสูญสลายก็คำพูดแสนเรียบง่ายแต่สุดเจ็บปวดว่า “เธอไม่ผ่านเข้าสู่ทีม” นักกรีฑาระยะสั้นผู้ต่อสู้มาอย่างยากลำบากต้องผิดหวังกับการลุยพาราลิมปิกครั้งแรกในชีวิต เธอหันหลังให้กับกรีฑาแทบจะทันทีและเดินหน้าสู่การเป็นแพทย์ รวมถึงนักกายภาพบำบัดแบบเต็มตัว แต่แล้วเหมือนเลือดนักกีฬาจะสูบฉีดรุนแรงจนเธอต้องหวนมาฝึกฝนอะไรสักอย่างอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอฝึกฝนไตรกีฬาอย่างจริงจังด้วยการนำทักษะการกีฬาทั้งขี่จักรยาน วิ่ง และว่ายน้ำสมัยเด็กมาพัฒนาต่อจนมีศักยภาพพอจะเข้าแข่งขันรายการระดับประเทศ และเพียง 2 ปีหลังจากเบนเข็มสู่วงการไตรกีฬา ซูซาน่าสามารถคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปี 2012 ก่อนจะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจนสามารถเข้าร่วมพาราลิมปิกครั้งแรกได้ในปี 2016 ณ กรุงริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเธอเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 5 ของรายการไตรกีฬาประเภท PT5

บทบาทการเป็นคุณหมอของ Susana Rodríguez / ภาพ: AS

     เหมือนเส้นทางนักกีฬาจะรุ่งขึ้นอีกครั้งหลังจากผิดหวังอย่างหนักเมื่อปี 2008 ต่อมาเธอยังคงเดินหน้าแข่งขันพาราไตรกีฬาอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวเต็งของรายการใหญ่ๆ เสมอ ซูซาน่าคว้าแชมป์โลกอีกครั้งในปี 2018 และป้องกันได้อีกสมัยในปี 2019 การันตีพื้นที่สำหรับพาราลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียวแน่นอนแล้ว ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกจนทำให้มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต้องเลื่อนออกไป และซูซาน่าก็กำลังจะรับบทบาทสำคัญในฐานะบุคลากรด่านหน้าของประเทศสเปน

Susana Rodríguez บนปกนิตยสาร TIME ฉบับเดือนกรกฎาคม 2021 / ภาพ: TIME

     ช่วงปีต้นถึงกลางปี 2020 ถือเป็นช่วงวิกฤตหนักของประเทศแถบยุโรป เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นและบุคลากรทางการแพทย์เองก็มีจำนวนจำกัด แม้จะตาบอดและเชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดเป็นหลัก แต่ซูซาน่าก็เป็นหนึ่งในบุคลากรด่านหน้าผู้ช่วยเหลือประชาชนชาวสเปนให้ได้รับการเยียวยาเท่าที่เธอสามารถทำได้ ความสามารถทั้ง 2 ด้านประกอบสร้างความโดดเด่นให้กับซูซาน่าจนเคยขึ้นปกนิตยสาร TIME มาแล้ว

โมเมนต์การพุ่งทะยานเข้าเส้นชัยของ Susana Rodríguez เพื่อคว้าเหรียญทองพาราไตรกีฬา ในพาราลิมปิก 2020 / ภาพ: Digis Mak

     ถึงแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตระดับโลก แต่เรื่องร้ายยังมีเรื่องดีซ่อนอยู่ เพราะเมื่อพาราลิมปิก 2020 ต้องเลื่อนมาจัดปี 2021 แทนทำให้ซูซาน่ามีเวลาพักจากงานด้านการแพทย์เพื่อฝึกซ้อมเต็มรูปแบบเตรียมตัวสู้ศึกพาราไตรกีฬาในเวทีการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเธอเผยกับทางทีมงานโตเกียว 2020 ว่า “ตั้งแต่เด็กฉันรู้ว่าฉันมีความบกพร่องด้านร่างกาย ดังนั้นฉันจึงอยากเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิก” การเข้าร่วมพาราลิมปิกครั้งที่ 2 เธอตั้งเป้าไว้สูงกว่าครั้งที่แล้ว (อันดับ 5) โดยครั้งนี้เธอยังควบสถานะนักวิ่ง 1,500 เมตรอีกด้วย ซึ่งต้องบอกว่าคุณหมอชาวสเปนคนนี้คือตัวเต็งของทั้ง 2 รายการ

ช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจหลังคว้าชัยได้สำเร็จ / ภาพ: Chalk and Doodle

     และแล้ววันที่ 28 สิงหาคม 2021 ช่วงเวลาที่ความฝันกลายเป็นจริงก็เกิดขึ้น ซูซาน่าพร้อม Sara Loehr ไกด์นำทาง วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 คว้าเหรียญทองพาราไตรกีฬาประเภท PTVI (Paratriathlon Visual Impairments) ได้สำเร็จ เธอสามารถเติมเต็มสิ่งที่เธอคาดหวังมาตั้งแต่เด็กได้ ณ โอไดบะ ปาร์ก โมเมนต์แห่งความทรงจำนี้ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์กีฬาพาราลิมปิก และเรื่องราวของซูซาน่าถูกหยิบยกมาเผยแพร่สร้างแรงบันดาลใจบนทุกแพลตฟอร์มของพาราลิมปิก 2020 นอกจากนี้เธอยังลุ้นเหรียญรางวัลต่อในกรีฑาประเภทลู่ระยะ 1,500 ที่เธอทำเวลารอบคัดเลือกได้ถึงอันดับที่ 2 แต่สุดท้ายก็วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 5 พลาดเหรียญรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย

Susana Rodríguez ขึ้นรับเหรียญทองพาราลิมปิกเหรียญแรกในชีวิต / ภาพ: Then24

     เหรียญทองคือเครื่องหมายการันตีความยิ่งใหญ่ที่สะท้อนถึงความพยายามชนิดไม่เคยยอมแพ้ของซูซาน่า เธอก้าวข้ามทุกขีดจำกัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจได้สำเร็จ นอกจากนี้ผู้คนทั่วโลกไม่ได้จดจำเธอในฐานะนักกีฬาหรือนักกรีฑาเพียงอย่างเดียว เพราะเธอคือบุคลากรด่านหน้าคนสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งในการพาสเปนฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 เธอแสดงให้เห็นแล้วว่าร่างกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ขัดขวางการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย เราเชื่อว่าทุกคนมีพลังของตัวเองเสมอ อาจจะไม่ต้องเก่งกาจจนคว้าเหรียญรางวัล หรือเป็นเข้าคณะแพทย์แบบซูซาน่า แต่ทุกคนสามารถเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะเป็นได้ในเส้นทางที่เลือกเดิน และนี่คือสุดยอดคุณหมอนักไตรกีฬาผู้สร้างประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งที่พาราลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว “ซูซาน่า โรดริเกซ กาซิโอ”

 

ข้อมูล:

olympics.com

paralympics.org

time.com

tokyo2020 (Instragram)

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Olympic #Tokyo2020 #Paralympic