FASHION

ย้อนศึกษาเรื่องเหยียดๆ ผ่าน #StopAsianHate กระแสร้อนที่เหยื่อคนไทยปลุกระดมคนได้ทั่วโลก

ความโหดร้ายของการเหยียดไม่ใช่แค่ความน่าหวาดระแวงของคนถูกเหยียด ความกังวลของสังคมในวงกว้าง

     การเหยียด ความเกลียดชัง สงครามโลกด้านความคิดที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและไม่มีวี่แววจะยุติ สิ่งนี้ฝังรากเข้าไปในจิตใต้สำนึกจนหลายครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังเลือกปฏิบัติโดยมีอคติทางชาติพันธุ์มาเกี่ยวข้อง หรือคำพูดต่างๆ อาจเป็นคำปกติทั้งๆ ที่มันแฝงรากศัพท์การเหยียดไว้โดยที่ผู้คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ตัวและยังคงผลิตซ้ำเรื่อยมา เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดกับคนผิวสีและคนเอเชีย กระแสสังคมยุคใหม่จึงลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ที่ไม่ว่าจะมีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณแบบใดก็ควรได้รับมันอย่างเท่าเทียมกัน

วิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปีผู้เป็นเหยื่อจนทำให้ทั้งโลกต้องออกมาปกป้องความยุติธรรม / ภาพ: CNN

     เมื่อความดุเดือดเกิดขึ้นกับกลุ่มคนชนชั้นรองทางสังคม ตัวอย่างเช่นคนเอเชียในประเทศสหรัฐอเมริกาในสมัยก่อนอาจถูกละเลยหายไป แต่ตอนนี้เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ความนิ่งเฉยไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป การเสียชีวิตของ วิชา รัตนภักดี ชาวไทยวัย 84 ปีที่ถูกผลักล้มจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมากลายเป็นประเด็นร้อนตลอดนานนับเดือน เรื่องนี้จะต้องไม่นิ่งเฉย และมีคนเปรียบเทียบว่าเมื่อการเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวสีเกิดแรงสั่นสะเทือนวงกว้างไปทั่วโลก ทำไมของคนผิวเหลืองจะกลายเป็นกระแสสังคมที่คนหันมาใส่ใจไม่ได้ คำถามสำคัญที่ต้องการคำตอบมาตลอด

ภาพสุดสะเทือนใจที่แบ่งแยกความเป็นคนเพียงแค่สีผิว / ภาพ: The Nation

     เราขอข้ามเรื่องประวัติศาสตร์การเหยียดจนเกิดชนชั้นทางสังคมออกไปก่อน เพราะแต่ละพื้นที่มีรากฐานการเหยียดกันและกันที่แตกต่างไปอย่างหลากหลาย แต่เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าทำไมการเหยียดหรือกดดันให้กลุ่มคนแตกต่างนั้นต่ำกว่าหรือแปลกแยกออกจากความปกติดีสังคมนั้นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างแรกที่สุดคนเหยียดส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มคนผู้อยู่จุดสูงกว่าในปีระมิด ไม่ว่าจะมีรากฐานที่มาอย่างไรหากเกิดการแบ่งปีระมิดทางสังคมแล้วการเหยียดย่อมเริ่มจากคนสูงกว่าบนปีระมิดเสมอ นั่นเกิดจากอะไรได้บ้าง…



WATCH




ความสะเทือนใจที่มนุษย์หลายคนถูกปฏิบัติไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงสำหรับใช้งาน / ภาพ: Global News

     ข้อแรกในการย่ำยีผู้อื่นอาจเกิดได้จากระบบสังคม ประชากรส่วนใหญ่มักมีสิทธิ์เป็นชนกลุ่มใหญ่มีอำนาจทางสังคมเสมอ อย่างสหรัฐอเมริกาชนชาติที่ถือว่ามีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีกลุ่มชาติพันธุ์คอเคซอยด์เยอะ เพราะฉะนั้นมองเผินๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าพวกนี้เป็นพวกมหาอำนาจทางสังคมและสามารถรวมกลุ่มสังคมจากย่อยๆ ขยายอำนาจสู่การปกครองตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนขาวจึงยึดถืออิสรภาพด้านนี้ในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับกลุ่มคนของตัวเอง การสร้างตรงนี้อาจยังไม่ใช่การเหยียดแต่มันเป็นที่มาของการเหยียดกันได้ในอนาคต

ความต้องการของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังมองว่าการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมในโลกยุคใหม่ / ภาพ: TRT World

     ต่อมาเมื่อมีอำนาจสร้างอำนาจก็ต้องขยายอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้อำนาจนั้น โดยปกติอะไรที่ถูกกฎหมายย่อมถูกมองว่าดีอยู่แล้ว แต่มองกลับไปในหลายสมัยก่อนหน้าปัจจุบันจะเห็นว่ามันมีความเอนเอียงในการปฏิบัติเชิงโครงสร้างทางสังคมชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการระบุในประมวลกฎหมายสูงสุดที่ระบุว่าคนชาติพันธุ์อะไรต้องสวมฐานะอะไรก็เท่ากับปิดกั้นโอกาสหรือเรียกว่า “เหยียดเชิงระบบ” ได้แล้ว มีการสร้างภาพจำเชิงลบให้กับกลุ่มชาติพันธุ์รองมากมายอย่างเช่น สกปรก ไม่มีการศึกษาและอื่นๆ เป็นต้น มากไปกว่านั้นชนชั้นต่ำกว่าย่อมถูกขูดรีดประโยชน์จากผู้อยู่เหนือกว่าบนชั้นปีระมิดอย่างไม่ต้องสงสัย คนต่ำกว่าต้องตอบสนองความต้องการเสมอ ดังนั้นการเหยียดมันเริ่มต้นตั้งแต่มุมมองความแตกต่างแล้ว ถ้าเราไม่แบ่งกลุ่มคนกันด้วยสีผิว(แม้จะยังไม่เหยียดแค่มองว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกับเรา) เท่านี้ประกายไฟเรื่องความไม่เท่าเทียมก็เกิดขึ้นไม่ได้แต่อย่างใด ทว่าสีผิวและลักษณะทางกายภาพคือสิ่งเด่นชัดที่สุดที่สุดสามารถแบ่งแยกความแตกต่างได้ การนำเสนอมุมมองแนวคิดหรือไลฟ์สไตล์ไม่ได้ถูกโลกออนไลน์เหวี่ยงเข้าหากันได้ดั่งยุค 2021

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นการมองคนแตกต่างและแบ่งชนชั้นตั้งแต่สมัยโบราณ / ภาพ: Science in Poland - PAP

     ทำไมการเหยียดชาติพันธุ์ถึงเป็นลำดับขั้น...คำถามนี้เป็นสิ่งที่นักสังคมวิทยาหลายคนหาคำตอบอยู่เสมอ แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดย่อมต้องการความเหนือกว่า เพราะฉะนั้นการจำกัดความเป็นมนุษย์ของชนชั้นบนสุด ย่อมส่งผลให้คนระดับรองลงมาต้องการกลุ่มคนใต้ระดับของตัวเองเช่นกัน พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นคือเมื่อก่อนคนขาวเหยียดคนผิวสี ข้อบีบบังคับตรงนี้จึงไม่แปลกที่คนผิวสีเองก็สามารถย่ำยีชนชั้นรองกว่าเช่นคนเอเชียหรือเหล่าชาวอาหรับได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมนุษย์ต้องการความเหนือกว่าในการสร้างสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มั่นคง ดังนั้นการกดใครให้ต่ำกว่าเป็นการแสดงถึงอำนาจและสร้างเกราะกำบังความปลอดภัยให้กับกลุ่มสังคมของตนเอง

การนำเสนอผลงานของสื่อที่ทำให้โลกสนใจเรื่องต่างๆ มากขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมาก / ภาพ: FOX19

     สื่อมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างหรือทำบายวงเวียนแห่งการมีอคติต่อชาติพันธุ์ ต้องบอกว่าการนำเสนอคือสิ่งสำคัญ การสุมไฟเพื่อสร้างความเกลียดชังทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงกีฬาเห็นได้ชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนรูปแบบสังคม การผลิตของผู้มีอำนาจประกอบกับสื่อสามารถดำรงการกดขี่เชิงโครงสร้างได้แบบไม่รู้จบ ยุคหนึ่งคนผิวสีมีความสามารถเป็นเพียงของเล่น สิ่งสวยงามของคนขาว คนเอเชียแทบจะเป็นชนกลุ่มน้อยไม่มีใครชายตามอง พอยุคสมัยใหม่สื่อมีการนำเสนอและผลิตซ้ำเรื่องสิทธิความเท่าเทียมมากขึ้นโดยใช้กลุ่มชาติพันธุ์นิกรอยด์เป็นรากฐานเพื่อสื่อสารออกไป การประท้วงเพื่อสิทธิคนผิวสีจึงเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมและเมื่อผลิตซ้ำนานเข้าก็เริ่มมีการตอบรับ เปลี่ยนมุมมมอง และสามารถผลักดันสังคมไปในเชิงบวกมากขึ้นได้อีกด้วย โซเชียลมีเดียเองก็มีผลอย่างมากเพราะการรวมพลังกันของแนวคิดรุ่นใหม่ ประกอบกับการรวมตัวกันสร้างพลังไร้พรมแดนจากทั่วทุกมุมโลกสู่กลุ่มชาติพันธุ์รองในพื้นที่ต่างๆ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่ายุคแห่งการยึดถือพื้นที่และเขตแดนเป็นสำคัญ (เรื่องเขตแดนก็เป็นการผลิตซ้ำการแบ่งแยกความแตกต่างของชาติพันธุ์อยู่พอสมควรเช่นกัน)

บันทึกทางประวัติศาสตร์ของไทยต่อพม่าที่ถูกพร่ำสอนในแบบผู้ชนะ-ผู้แพ้มาตลอดหลายชั่วอายุคน / ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม

     “ประวัติศาสตร์” คำง่ายๆ ที่หลายคนคุ้ยเคยกันดีแต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยึดถือความเป็นชาตินิยมหรือชาติพันธุ์นิยมโดยไม่รู้ตัว การขัดเกลาช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และจดจำทำให้เด็กถูกปลูกฝังรากฐานความเป็นชาตินิยม เผ่าพันธุ์ที่จะปิดกั้นและคอยกดกลุ่มสังคมอื่นให้ต่ำกว่าได้เสมอ จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ไทยที่มีการเล่าแบบพระเอก-ผู้ร้ายเสมอ ผู้แพ้ในประวัติศาสตร์ หรือผู้ถูกปกครองในประวัติศาสตร์มักกลายเป็นกลุ่มสังคมรองของเจ้าของเรื่องราวนั้นๆ ยิ่งประวัติศาสตร์แบ่งแยกหรือกดขี่เข้มข้นเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มแรงแห่งอคติได้มากขึ้นเท่านั้นด้วยเช่นกัน ประวัติศาสตร์จึงถือเป็นศาสตร์ในการเรียนรู้ที่ต้องขวนขวายให้ได้หลายแง่มุมที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อกรองข้อมูลออกมาให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้นเราจะกลายเป็นเหยื่อของกลไกผลิตซ้ำความแตกแยกของมนุษย์โดยไม่จำเป็นและไม่รู้เนื้อรู้ตัว

KKK กลุ่มสังคมคนขาวผู้เหยียดและยัดเยียดความน่ารังเกียจให้ผู้อื่น ปัจจุบันก็ยังหลงเหลืออยู่ในสังคม / ภาพ: The Conversation

     ทฤษฎีแห่งความขัดแย้งกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงโครงสร้างและเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมภาคใหญ่ เรื่องนี้ละเอียดลึกซึ้งขี้นมาอีกนิด กรอบแนวคิดของ Karl Marx นักคิดชาวเยอรมันชื่อดังบอกว่า เมื่อมีขั้วหลัก ถูกท้าทายด้วยขั้วรอง จะเกิดสังคมแบบใหม่ขึ้น (Thesis ปะทะกับ Anti-Thesis เกิดเป็น Synthesis ผู้เขียนขอใช้คำอธิบายแบบเรียบง่ายกว่าเพื่ออ่านได้เข้าใจ) เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากระแสหลักเดิมอย่าง White Supremacy ถูกท้าทายโดยหลักคิดความเท่าเทียมของมนุษย์ขึ้น กลุ่มคนหัวโบราณยุคเก่าครองอำนาจและเพิกเฉยต่อความไม่เท่าเทียม ในขณะที่ชนชั้นรองรวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวคิดให้ความสำคัญต่อมนุษย์ทุกคนมากยิ่งขึ้น 2 ขั้วจึงปะทะกันทางความคิด มีการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติเช่นการชุมนุมประท้วง มีฟันเฟืองการขับเคลื่อนเป็นกลุ่มคนผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงและพลังแห่งสื่อ ไม่ว่าจะเป็นจากสถาบันสื่อหรือแม้แต่การส่งผ่านข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าอย่าง BLACK LIVES MATTER เป็นเรื่องใหญ่ของโลกเพราะพลังของ Anti-Thesis หรืออำนาจขั้วตรงข้ามกระแสเดิมมีพลังมากจนผลลัพธ์อย่าง Synthesis อาจหมายถึงสังคมอันเท่าเทียมกันของอย่างน้อยก็คนขาวและคนผิวสีนั่นเอง

การเรียกร้องประจำปี 2021 ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อีกครั้ง / ภาพ: Pacific Press

     พอมาถึงฝั่งเอเชียนั้นเรื่องราวอคติและมุมมองต่อคนเอเชียมีมานานแล้วเหมือนกัน แต่มันกลับถูกหมางเมินไปนานแสนนานเพราะไม่ใช่แค่ถูกกดขี่ แต่ถูกมองข้ามไปเลยมากกว่า วันหนึ่งเมื่อเกิดเรื่องขึ้นกลับไม่ได้ความสำคัญเท่ากับคนผิวสีเสียอีก ยุคสมัยเดิมลักษณะทางกายภาพตัวเล็ก ผิวเหลือง และอื่นๆ ถูกสร้างภาพจำเชิงลบไว้ไม่น้อยเหมือนกัน ในยุคใหม่การมีเชื้อไวรัสมาจากอู่ฮั่นคนเอเชียก็กลายเป็นเหยื่อแห่งความหวาดระแวง ถูกเหมารวมว่าเป็นเชื้อโรคทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่ใช่ การเสียชีวิตของคุณวิชากระตุกต่อมการเรียกร้องขึ้นอีกครั้ง ชาวเอเชียรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมบ้าง แรงกระเพื่อมทำให้สื่อสนใจเริ่มเป็นหนทางจำเป็นมากขึ้น #JusticeForVicha และ #StopAsianHate กลายแกนหลักในการสร้างพลังบนสื่ออนไลน์ วิธีเพิกเฉยอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป การเหยียดคือวิถีของคนยุคเก่า เราไม่จำเป็นต้องมองและบอกว่า “ฉันยอมรับ” เพราะถ้ามองให้สดใหม่จริงๆ ต้องมองว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันเพียงใด ก็ไม่มีใครจำเป็นต้องบอกว่า “ยอมรับ” เพราะแท้จริงแล้วถ้าจะเท่าจริงจะไม่มีคำว่าเหนือกว่าและไปยอมรับคนด้อยกว่าเพื่อ Romanticize แน่นอน สรุปว่าการเหยียดมีรากฐานต่างกัน ทว่ากลไกของมันมีวิธีการดำเนินไม่ต่างกันมากนัก เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเหนื่อยล้าสร้างการยอมรับให้ใคร เพียงแต่ให้มองว่ามนุษย์คือมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เท่านี้คงเพียงพอจะทำให้โลกนี้ขัดแย้งกันน้อยลงอย่างไม่ต้องสงสัยแน่นอน

 

ข้อมูล: Oprah Mag, The New York Times, KYAAML, Introduction to Sociological Theory: Theorists, Concepts, and their Applicability to the Twenty-First Century by Michele Dillon (2011) และ  The International Politics of Race by Michael Banton (2002)

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueCulture