FASHION

โลกนี้ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง! ไขรหัสคำตอบของนางงาม 5 คนสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

     คำถาม 5 คนสุดท้ายถือเป็นปราการด่านสำคัญที่ทำให้สาวงามจากทั่วโลกต้องติดชะงักและหลายครั้งก็มีหลายคนตื่นเต้นจนไม่สามารถส่งผ่านข้อความได้มากพอจะผ่านเข้ารอบ ประเด็นแต่ละเรื่องเป็นประเด็นร้อนของโลกในปีต่างๆ ที่สาวงามแต่ละคนจะได้แสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนตัวตนและมุมมองจนสามารถกรุยทางเข้าสู่รอบ 3 คนสุดท้าย ในปีนี้ก็เช่นกันคำถามแต่ละข้อถูกออกแบบตามสถานการณ์ของยุค 2019 ไปจนถึงปี 2020 แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น สาวงามทั้ง 5 คนคิดเห็นอย่างไร และพวกเธอจะนำแนวคิดที่สะท้อนออกมาจากเรื่องเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงเผยวิธีการปรับใช้เพื่อพัฒนาโลกของเราอย่างไร

Sofía Aragón ตัวแทนนางงามจากประเทศเม็กซิโก 

1.คำถามสำหรับนางงามจากประเทศเม็กซิโก “คิดว่าการประท้วงเป็นทางออกที่ดีในการสร้างสรรค์โอกาสให้สังคมหรือไม่”

คำตอบของนางงามจากประเทศเม็กซิโกคือ “ฉันชื่อในการเปลี่ยนแปลงและการใช้สิทธิ์ใช้เสียงของเรา การประท้วงหลายครั้งมันมีพลังและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ฉันไม่ได้เชื่อเรื่องความรุนแรง ความรุนแรงสุดท้ายก็ผลิตซ้ำซึ่งความรุนแรง ฉันเชื่อเรื่องการรวมตัวและหาทางออกเช่นการเปล่งเสียงป่าวประกาศเพื่อความตระหนักรู้บนแพลตฟอร์มอย่างเวทีมิสยูนิเวิรส หรือ TED’s TALK นั่นคือเหตุผลที่ฉันมาที่นี่ สิ่งที่พวกเราควรจะทำ”

เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้มันใหญ่และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก แต่ละพื้นที่ต้องเผชิญภาวะความวุ่นวายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น ฮ่องกง หรือ ชิลี เป็นต้น คำถามนี้จึงกลายเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นมุมมองคนรุ่นใหม่สะท้อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องความขัดแย้งทางความคิดและนำไปสู่ความรุนแรง เพราะสุดท้ายแล้วการประท้วงหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่นั้นพื้นที่เดียวอีกต่อไป เมื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่ความลื่นไหลของข้อมูลส่งไปทุกที่ กลายเป็นว่าเหตุการณ์ ณ ที่หนึ่งส่งผลกระทบกับคนทั้งโลกได้ในหลายมิติ แสดงให้เห็นว่าเวทีมิสยูนิเวิร์สเล็งเห็นว่าการประท้วงไม่ถูกนิยามว่าเป็น “ปัญหา” แต่จะใช้คำว่า “ประเด็น” เสียมากกว่า เพราะอย่างที่สาวงามจากเม็กซิโกตอบว่าความรุนแรงก็ยิ่งผลิตความรุนแรงเพิ่มเติม ความน่าสะเทือนใจจึงไม่ใช่ความเห็นต่างและสร้างพลังต้านเพื่อหาคำตอบ แต่คือการใช้ความรุนแรงต่อกันเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ นั่นเอง ประตูเสรีภาพที่ถูกเปิดขึ้นบางครั้งก็เป็นประตูที่เดินเข้าสู่สนามยิงปืน พวกเขาเดินพ้นความอึดอัดสู่พื้นที่ที่อันตรายขึ้น สิ่งนี้เธอคิดว่าไม่ควรจะเกิดขึ้นจึงเล็งเห็นว่าเวทีมิสยูนิเวิร์สคือ soft-power ที่จะทำให้ทกคนตระหนักในความต่างโดยไม่ใช้ความรุนแรงนั่นเอง

ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนนางงามจากประเทศไทย

2.คำถามสำหรับนางงามจากประเทศไทย “ความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงของประชาชนคิดว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน”

คำตอบของนางงามจากประเทศไทยคือ “ฉันเชื่อว่าทุกประเทศรัฐมีนโยบายที่ทำให้เรา (ประชาชน) ปลอดภัย และฉันก็เชื่อว่าสิ่งนั้นไม่ควรก้าวข้ามเส้นความเป็นส่วนตัว เพราะทุกคนมีสิทธิ์ในความเป็นส่วนตัวของตัวเอง แต่ความมั่นคงก็สำคัญอย่างมาก ดังนั้นฉันจึงเชื่อว่าเราจะอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นเราควรให้รัฐบาลผสาน 2 สิ่งเหล่านี้ให้อยู่ตรงกลาง ไม่ล้ำไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่ากัน”

ทิศทางเรื่องคาบเกี่ยวเสี่ยงอันตรายนี้เป็นอีกประเด็นที่โลกยุคใหม่เผชิญอยู่อย่างซับซ้อน รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลประชาชนแต่บางครั้งก็อาจจะถูกตั้งคำถามว่า “ดูแลแต่แทรกแซงนั้นสมควรหรือไม่” หลายประเทศทั่วโลกประชาชนมีการเรียกร้องสิทธิ์ส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน เพราะช่วงหลังหลายคนมองว่าชีวิตของพวกเขาเหมือนถูกสอดแนมอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เชื่อได้เลยว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและแยกออกจากกันไม่ได้ เวทีนางงามจักรวาลเล็งเห็นให้คนตระหนักถึงผลดีและผลเสียในการดูแลข้อมูลของประชาชนแบบละเอียดถี่ยิบเช่นนี้ การที่คำถามนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะหลักวิธีปฏิบัติเท่านั้นแต่พวกเขาหมายถึงการตั้งคำถามถึงความสมดุลพอเหมาะพอควรระหว่างความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัว



WATCH




Gabriela Tafur Náder ตัวแทนนางงามจากประเทศโคลอมเบีย

3.คำถามสำหรับนางงามจากประเทศโคลอมเบีย “คุณคิดว่าประเด็นไหนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเกี่ยวสุขภาพของผู้หญิงและทำไมจึงคิดเช่นนั้น”

คำตอบของนางงามจากประเทศโคลอมเบียคือ “ฉันคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดอย่างแรกคือความสามารถในการเลือกในสิ่งที่เกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง พวกเราควรจะมีตัวเลือกในการดูแลสุขภาพที่ทัดเทียมกัน ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับร่างกาย สุขภาพ และการผลิตประชากรจะต้องไม่ทำให้เราอยู่บนความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงในชีวิตของพวกเรา”

ร่างกายคือสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นไหนสิทธิ์ในการดูแลร่างกายนั้นสำคัญอย่างมาก ประเด็นถูกชูขึ้นเพราะปัญหาสุขภาพในหลากหลายพื้นที่ นิยามความเชื่อที่ผิด หรือแม้แต่หลักวิธีปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะกับสตรีเพศ เรื่องนี้ที่นางงามโคลอมเบียตอบคำว่า “ควรมีสิทธิ์ในร่างกายตนเอง” คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานถูกต้องที่สุดที่ทุกคนควรจะต้องตระหนักและเรียกร้องเพื่อสิ่งนั้นมาให้ได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าโลกเรายังมีการควบคุมดูแลร่างกายผู้อื่นอยู่ไม่น้อย และหลายพื้นที่ก็มีคุณภาพในการดูแลรักษาสุขภาพที่ค่อนข้างต่ำทำให้ปัญหาสุขภาพทวีความน่ากลัวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการสืบพันธุ์และผลิตประชากร เรื่องนี้เวทีนางงามชวนให้เราตั้งคำถามว่ามันไม่ใช่ประเด็นทางสังคมวงกว้างเสมอไปด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่สังคมต้องตระหนัก เพราะสุดท้ายคุณภาพชีวิตและสุขภาพของทุกคนต้องสำคัญมาอันดับหนึ่ง มันสะท้อนให้เห็นว่าเวทีนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เรื่องสังคมในวงกว้างเสมอไป แต่ทะลวงลึกถึงรากฐานปัญหาในระดับบุคคลที่ทั่วโลกต้องเริ่มมองเห็นว่าจุดเล็กๆ ในสังคมก็สำคัญไม่แพ้การมองภาพใหญ่ เพราะฉะนั้นเสน่ห์การมองภาพจากการแต้มจุดไม่ใช่แค่ผลสำเร็จแต่คือการดูความบูรณ์แบบของแต่ละจุดให้เนียนละเอียดอย่างสวยงามเท่ากันนั่นเอง

Madison Anderson ตัวแทนนางงามจากประเทศเปอร์โตริโก

4.คำถามสำหรับนางงามจากประเทศเปอร์โตริโก “คุณคิดว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียควรถูกจำกัดเนื้อหาในการนำเสนอหรือสามารถเป็นช่องทางในการพูดอะไรก็ได้อย่างอิสระ”

คำตอบของนางงามจากประเทศเปอร์โตริโกคือ “ฉันเชื่อว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นส่วนที่ดีมากๆ ในชีวิตของพวกเราได้ เราสามารถแชร์ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ได้ แต่ในทางกลับกันโซเชียลมีเดียเองก็อาจถูกใช้ในเชิงลบและทำร้ายคนได้จำนวนมากเหมือนกัน ดังนั้นฉันจึงเชื่อว่าโซเชียลมีเดียเองควรระบุตัวตนคนมุ่งร้ายประเภทนี้ให้ได้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ใช้ระบบไปในทางที่ผิด”

เรื่องนี้เป็นประเด็นโหดร้ายไปทั่วโลก ความมั่งมีในเรื่องอิสระการพูดยิ่งทำให้คนกล้าจะพูดอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าการบูลลี่ผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้าแบบในเกาหลี หรือจะเป็นเรื่องข่าวปลอมทางการเมืองที่เจ้าของเฟสบุ๊กต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คำถามมุ่งเน้นไปที่มุมมองระเบียบการจัดการโดยไม่เกี่ยวกับผู้กระทำ เพราะฉะนั้นคำถามจากมือสตีฟ ฮาร์วีย์จึงเหมือนกับกับดักย่อมๆ ให้สาวงามและผู้ชมแยกแยะให้เห็นประเด็นระบบเป็นสำคัญ คำถามจึงเป็นเรื่องระบบที่ว่าควรจัดการหรือปล่อยเป็นอิสระ เมื่อนำคำตอบของมิสเปอร์โตริโกมาเชื่อมโยงจะเห็นได้ว่าเธอเล็งเห็นแบบที่โลกควรจะมองเหมือนกันคือ “จุดผ่อนปรน” เมื่อเราบังคับกฎให้ควบคุมเท่ากับว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งสามารถควบคุมข้อมูลได้ทั้งหมด เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งที่พวกเขากรองให้เข้าหรือออกนั้นดี ดี ไม่ดี ปลอม ไม่ปลอม ทั้งหมดมีผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นการตระหนักถึงความอิสระในการพูดก็สำคัญ เพียงแต่ว่าเมื่อพูดแล้วพล่อยก็ไม่ควรถูกปล่อยให้ลอยนวลอยู่ในสังคม สุดท้ายเวทีนี้ก็บอกกับเราได้อย่างชัดเจนว่าเรากำลังต้องเผชิญสิ่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ไม่มีทางที่เราจะหลีกหนีโซเชียลมีเดียได้พ้นมือ พ้นตา ระบบโซเชียลยุคใหม่ที่คนเริ่มตั้งคำถามอาจสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตให้กับผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น ระบบที่หลายคนมองว่าอิสระมีกลไกที่ซับซ้อนกว่าที่คิด มิสยูนิเวิร์สคิดมาแล้วเช่นกันจึงเกิดคำถามนี้...

Zozibini Tunzi ตัวแทนนางงามจากประเทศแอฟริกาใต้

5.คำถามสำหรับนางงามจากประเทศแอฟริกาใต้ “คุณคิดว่าผู้นำทั้งหลายในทุกวันนี้ทำสิ่งที่มากพอจะปกป้องพวกเราจากสภาวะโลกร้อนแล้วหรือไม่”

คำตอบของนางงามประเทศแอฟริกาใต้คือ “ฉันคิดว่าเหล่าผู้นำควรจะทำมากกว่านี้อีกสักนิด แต่อย่างไรก็ตามพวกเราในฐานะปัจเจกบุคคล สมาชิกของโลกก็ควรปฏิบัติเพื่อสร้างสภาวะอากาศอย่างที่ควรจะเป็นในอนาคตด้วย เด็กๆ ยุคใหม่ประท้วงเกี่ยวกับประเด็นนี้ ฉันรู้สึกว่าผู้ใหญ่ก็ควรร่วมด้วยเหมือนกัน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ฉันกำลังหมายถึงเด็กป.6 กำลังเรียนถึงสภาวะอากาศที่รุนแรงขึ้นและโลกที่กำลังจะดับสูญ มันขึ้นอยู่กับพวกเราแล้วที่จะรักษาโลกให้อยู่รอดปลอดภัย”

“How dare you!” ประโยคคุ้นหูของเด็กสาว เกรต้า ธันด์เบิร์ก ผู้ยืนกรานต่อต้านการกระทำซึ่งทำให้เกิดทวีความรุนแรงของสภาวะโลกร้อน มิสยูนิเวิร์สชูประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่นี่เรียกว่าเป็นหมัดฮุกหมัดแรกสะกิดหน้าผู้มีอำนาจเหมือนกัน หลายครั้งเราเห็นการรักษ์โลกแบบไม่จริงจัง บางครั้งอาจมีคนมองว่าสร้างภาพ เพราะฉะนั้นการที่ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาถือเป็นมุมมองสะท้อนความเร่งเร้าในการตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง คำตอบของมิสแอฟริกาสะท้อนต่อจากเรื่องนี้เช่นกันว่า ใช่! รัฐควรจะจริงจังกับเรื่องนี้ขึ้นอีกนิด ในขณะเดียวกันตัวบุคคลเองก็ต้องเริ่มส่งเสริมความตระหนักรู้ให้มากขึ้นแล้วเช่นกัน ในวันที่เด็กๆ ต้องมาเรียนว่าโลกร้อนอย่างไร จะแตกอย่างไร แสดงให้เห็นว่ามันไม่ปกติเสียแล้ว เพราะฉะนั้นการชูประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นการตั้งคำถามกับสังคมและสาวงามว่า “เมื่อคุณมีอำนาจพูด จะพูดในสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหรือไม่” ความกล้าพูดจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญที่เวทีมิสยูนิเวิร์สอยากนำเสนอว่าแท้จริงแล้วเวทีไม่ใช่สนามการประลองความสวยและคลังปัญญาอย่างเดียว แต่หมายถึงช่องทางการประกาศให้โลกได้รู้อย่างจริงจังถึงปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ ภาวะโลกร้อนจึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่มิสยูนิเวิร์สอยากพูดนั่นเอง

 

     โลกหมุนไปเรื่อยๆ ประเด็นปัญหาสังคมเวียนวายเข้ามาไม่รู้จบ แต่ละปีมีเรื่องให้คิดวิเคราะห์แตกต่างกัน บางประเด็นอาจจะเป็นเรื่องของทุกคน บางประเด็นเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มแต่สามารถสะท้อนออกมาเป็นแง่คิดสำหรับทุกคนได้ เพราะฉะนั้นคำถามสำหรับนางงาม 5 คนสุดท้ายจึงไม่ใช่แค่ความน่าสนใจเกี่ยวกับไหวพริบในการตอบคำถาม แต่หมายถึงการเล่นแง่แปลความออกมาเป็นสิ่งที่ผู้จัดต้องการจะสื่อให้กับสังคม ถึงแม้คำถามจะถูกล็อคมาไว้เพียง 5 ประเด็นและอาจจะตอบได้อย่างหลากหลาย แต่เมื่อเทรนด์ของโลกและวิธีที่ควรตระหนักนั้นมีอยู่แล้วในความเป็นจริงแต่อาจจะไม่ถูกเล็งเห็น มิสยูนิเวิร์สมองเห็นและอยากกระจายออกสู่สาธารณะ แต่ “เวทีไม่มีปาก” เพราะฉะนั้นเวทีจึงมีกลไกการเปล่งเสียงผ่านการตกตะกอนความคิดของเหล่านางงามเป็นเครื่องขยายเสียงเครื่องใหญ่ให้คนทั้งโลกรู้ว่า “อะไรกำลังเกิดขึ้นตอนนี้”

WATCH

คีย์เวิร์ด: #MissUniverse2019