FASHION

เปิดเรื่องราวชีวิตของ Mark Reay นายแบบและช่างภาพมาดเท่ที่ใช้ชีวิตในซอกดาดฟ้า

เปิดเรื่องราวชีวิตของ Mark Reay สุดยอดช่างภาพที่มาพร้อมลุคสุดเนี้ยบแต่แท้จริงแล้วเป็นคนไร้บ้าน

เนื้อหาสำคัญ

  • เส้นทางชีวิตตั้งแต่ดาวรุ่งแห่งวงการจนถึงเส้นทางการใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านของ Mark Reay
  • ข้อคิดสะท้อนการใช้ชีวิตของช่างภาพที่สอดคล้องกับคำว่ามายาอย่างแท้จริง
  • จุดพลิกผันในชีวิตต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นบทเรียนในการต่อสู้ฝ่าฟันกับทุกอุปสรรคของชีวิต

 

_________________________________________

 

     อาชีพในวงการแฟชั่นมักเป็นอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นต้องชีวิตที่จะโลดแล่น ผาดโผน และช่างเท่เหลือเกินในสายตาใครหลายคน แต่เชื่อไหมเบื้องหลังชีวิตของคนในวงการมันไม่ได้สวยหรูราวกับภาพในจินตนาการหรือสื่อหลากหลายช่องทางที่ต่างผลิตซ้ำภาพจำเหล่านั้นออกสู่สายตาคนทั้งโลก วันนี้เราจะเล่าถึงสุดยอดช่างภาพคนหนึ่งที่กลางวันคือผู้คร่ำวอดในเส้นทางสายแฟชั่น แต่ตกกลางคืนเขากลับกลายเป็นคนไร้บ้าน!

Mark Reay กับกล้องคู่ใจของเขา / ภาพ: Kaori Shoji

     ความยิ่งใหญ่ของช่างภาพแฟชั่นมักถูกตีค่าเป็นราคาและไลฟ์สไตล์ที่ไม่ธรรมดา แต่ว่าคงไม่ใช่ชีวิตจริงของ Mark Reay ชายรูปงามผู้แบ่งชีวิตออกเป็นโลก 2 ใบ เด็กหนุ่มผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชาร์ลสตัน ชีวิตน่าจะเริ่มต้นได้อย่างสวยงามเพราะหลังเรียนจบเขาเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวทั่วยุโรปตามความฝันเด็กหนุ่มฝรั่งทั่วไป แต่ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา หุ่นดีชนิดเป็นนายแบบได้สบาย ปัจจัยนี้ทำให้เมื่อครั้งที่มาร์กเดินทางไปเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เขาได้รับการจับตามองจากแมวมองและเซ็นสัญญานายแบบฉบับแรก ชีวิตของเด็กหนุ่มอเมริกันคนนี้มีวี่แววจะเดินไปได้สวยในเส้นทางนี้เหลือเกิน...

Mark Reay สมัยวัยหนุ่มที่กำลังรุ่งโรจน์ในทางสายแฟชั่น / ภาพ: NY Post

     มาร์กเคยร่วมงานกับแบรนด์ทั้ง Versace, Moschino, Missoni และแบรนด์ไฮเอนด์อีกหลายแบรนด์ รวมถึงโว้กของฝรั่งเศสด้วย แต่ทั้งนี้เขาก็ไม่ได้ชอบเส้นทางนายแบบขนาดนั้น ถึงแม้มันจะสวยหรูดูดีในสายตาคนภายนอก แต่เขาก็ไม่ใช่พวกที่อยู่ในกรอบเดินตามเส้นแบบนั้น ถึงมาร์กจะรู้สึกเช่นนี้แต่ก็ไม่ปิดกั้นใดๆ เขาคอยเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ และสั่งสมประสบการณ์จนคนในแวดวงแฟชั่นจำชื่อมาร์ก เรย์ได้ จุดพลิกผันอีกครั้งคือข่าวการป่วยหนักของพ่อ นายแบบที่กำลังรุ่งต้องเดินทางกลับสหรัฐฯ โดยด่วน ทิ้งสัญญาอาชีพฉบับนี้ไว้บนแผ่นยุโรป



WATCH




ลุคสไตล์แมสคิวลีนของ Mark Reay / ภาพ: NY Post

     มันเป็นช่วงชีวิตแสนลำบากเมื่อนายแบบกำลังรุ่งต้องกลับมาใช้ชีวิตเป็นนายแบบทั่วไป แทนที่เขาจะใช้ชีวิตในแมนชั่นหรือห้องแสนสบายแบบชีวิตหรูหราที่ทุกคนวาดฝัน เขากลับต้องเช่าห้องเล็กๆ ราคา 200 เหรียญอยู่ในย่านเวสต์ เชลซี เมืองแมนฮัตตัน ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เพราะย่านเวสต์ เชลซีแห่งนี้เองมันกลายเป็นย่านที่ฮอตฮิตในเวลาต่อมา กราฟชีวิตกลับมาขึ้นอีกครั้งเมื่อนายแบบคนนี้ไปเตะตะทีมงานแคสติ้งจึงได้มีโอกาสเล่นเป็นตัวละครเสริมให้ Sex and the City ในบท Carlo เพลย์บอยหนุ่มเจ้าสำราญและอีกบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Men In Black III

Mark Reay กับสภาพช่วงวัยเริ่มมีอายุ / ภาพ: Swaav

     และแล้วปี 2000 พ่อที่เขาบินกลับมาเพื่อดูแลก็เสียชีวิตลง ภาระผูกติดหายไป ความกระหายในการออกล่าความแปลกใหม่เด้งขึ้นมาอีกครั้ง มาร์กอยากกลับมาเป็นนายแบบในยุโรปอีก แต่ติดที่เขาอายุ 40 กว่าและมาพร้อมกับลุคผมขาว เทาและดำแซมปนกันไป ครั้งนี้เขาไปกลับยุโรปแต่ไม่ใช่ฐานะนายแบบ แต่ในฐานะตากล้องหลังฉาก ก่อนหน้านี้เขาค่อยๆ เริ่มฝึกทักษะการถ่ายภาพมาบ้าง ก่อนที่จะสร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการเข้าไปหลังฉากของแบรนด์ต่างๆ ใช้เวลาเก็บภาพอยู่ในนั้น ความเป็นนายแบบเก่าของเขายังทำให้คนยังจำได้และสร้างผลประโยชน์ให้กับมาร์กในวงการนี้ได้อยู่ ทำไปสักพักเขาก็เริ่มคิดว่าสามารถทำเงินได้จากการกดชัตเตอร์เก็บภาพเหล่านี้

ฟุตเทจของ Mark Reay ที่ถูกบันทึกครั้งเมื่อหยิบหนังสือแฟชั่นเล่มที่เขาทำงานให้มาดู / ภาพ: Courtesy of Mark Reay

     เขาระหกระเหินกลับมาเซ็นสัญญาในอเมริกาอีกครั้ง แต่การเซ็นสัญญากับบริษัทเอเจนซี่ไม่ใช่ช่องทางหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่หลายคนคิด นายแบบหนุ่มรุ่นเก๋าต้องหาเงินเพิ่มจากงานพาร์ตไทม์และการขายโปรเจกต์รูปบนเว็บไซต์ ขณะนั้นมาร์กก็ยังเช่าห้องอยู่กลางมหานครนิวยอร์กถึงแม้มันจะเล็กแสนเล็กก็ตาม เขาเดินทางไปมาระหว่างยุโรปและอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนคนตื่นตัวอย่างมาร์กไม่หยุดคิด โปรเจกต์ใหม่วิ่งมาในหัวเขาตลอด ไอเดียการเป็นช่างภาพปาร์ตี้ให้เหล่ามหาเศรษฐีคือเป้าหมายใหม่ แต่เมื่อลงมือทำจริงเขาก็เรียนรู้ได้ว่ามันไม่เวิร์ก....

ลีลาหลังกล้องของ Mark Reay / ภาพ: scoopnest.net

     มาร์กกลับมาใช้ชีวิตในช่วงเวลายากลำบากอีกครั้ง แต่ไลฟ์สไตล์ยังคงเป็นชายหนุ่มรักการปาร์ตี้เช่นเดิม เงินน้อยแต่บริหารด้วยการจัดการตัวเองเช่น การนำเครื่องดื่มส่วนตัวไปเองและเสพย์บรรยากาศของค่ำคืนสุดสนุกของเหล่าคนรวย มาร์ก เรย์เสียอย่าง...ใครก็ให้เข้า! แต่แล้วเขาก็ต้องคิดถึงความเป็นจริง เขาต้องทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง หนุ่มหล่อวัยดึกยื่นพอร์ตไปกับนิตยสารหัวแฟชั่นหลายต่อหลายที่จนมี Dazed & Confused ติดต่อมา นั่นทำให้ชื่อของมาร์ก เรย์เข้ามาอยู่ในช่างภาพระดับเอลิสต์อีกครั้ง “มันช่างน่าหงุดหงิดเมื่อคุณไปแบ็คสเตจและไม่มีตัวตน” มาร์ก เรย์พูดถึงช่วงเวลาที่ชื่อเสียงค่อยๆ ถอยลงก่อนหน้านี้ ชีวิตบทใหม่ในบทบาทช่างภาพสายแฟชั่นอย่างเป็นทางการกำลังเริ่มอีกครั้ง

ภาพลุคเท่ๆ จากภาพยนตร์เรื่อง Homme Less / ภาพ: Courtesy of Homme Less

     ห้องเช่าขนาดจิ๋วพร้อมด้วยความสกปรกและไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้เขาต้องฉุกคิดว่าเราจะจ่ายเงินราคาแพงให้กับสิ่งเหล่านี้ทำไม ที่มาของตำนานช่างภาพไร้บ้านเกิดขึ้นตอนนี้ มาร์กนึกถึงชั้นดาดฟ้าของอาคารแห่งหนึ่งที่เคยสังสรรค์ ช่างภาพมากฝีมือลักลอบเข้าไปในอาคารและอาศัยอยู่บนชั้นดาดฟ้าอย่างหน้าตาเฉย ตอนแรกมีความคิดจะอยู่เพียงไม่กี่วัน แต่ทว่าชายหนุ่มรูปงามยามพระอาทิตย์ขึ้นกลับใช้ชีวิตในซอกดาดฟ้านานถึง 6 ปี!

การซ่อนตัวอย่างยากลำบากบนดาดฟ้า / ภาพ: Courtesy of Homme Less

     วิธีการดำเนินชีวิตเรียบง่ายแต่ทำยาก เขามีแค่ หมอน ผ้าห่มและผ้าใบกันฝนเท่านั้น! แถมยังต้องหลบซ่อนไม่ให้เจ้าของตึกรวมถึงผู้อยุ่อาศัยจับได้อีกด้วย ถึงแม้งานจะเยอะขึ้น แต่เงินไม่พอในการใช้จ่ายด้านต่างๆ แต่เขาก็ยังเอาเงิน 70 เหรียญไปสมัครสมาชิกที่ยิม อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรไม่จำเป็น แต่ช่างภาพอาวุโสคนนี้ต้องการล็อคเกอร์เพื่อเก็บกล้องและเสื้อผ้า รวมถึงใช้ห้องน้ำเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวต่างๆ เปรียบเหมือนการใช้ค่าเช่าห้องในแบบของมาร์ก

หนุ่มรูปงามในชุดสูทสุดเนี้ยบที่ดูยังไงก็ดูไม่ออกว่านี่คือคนไร้บ้าน / ภาพ: dazed

     ลองคิดภาพของคลาร์ก เคนต์เปลี่ยนโฉมในตู้โทรศัพท์ มาร์ก เรย์คงเป็นซูเปอร์แมนในแวดวงแฟชั่น เพราะเขาสามารถเปลี่ยนชุดอย่างเร่งด่วนและกรูมมิ่งในห้องน้ำสาธารณะ เขาไม่เคยถูกสงสัยเกี่ยวกับชีวิตจริงอันแปลกประหลาดและน่าสนใจของเขาแม้แต่นิด ด้วยลุคสุภาพบุรุษผมสีเทาสุดหล่อ ผู้คนมักจะเจอมาร์กตอนถ่ายภาพ แคสติ้งและเวลางานอื่นๆ ตอนกลางวัน และก็จบแค่นั้น ชีวิตกลางคืนของเขาถูกเก็บเป็นความลับเสมอมา

Mark Reay กับคาแรกเตอร์ชายกรูมมิ่งเนี้ยบ เท่และสไตล์ที่ซ่อนความจริงเรื่องคนไร้บ้านได้สนิท / ภาพ: scoopnest.net

     สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการถูกจับได้ มักมีพนักงานมาซ่อมบำรุงอาคารและสภาพอากาศที่ย่ำแย่ เหตุผลนี้ทำให้มาร์กได้รับฉายาว่า “Nap King” เพราะเขาสามารถงีบหลับได้ทุกที่ เหตุจากเขาต้องคอยระแวงอยู่ตลอดช่วงเวลากลางคืน เขาถ่ายภาพให้แบรนด์ดังของอเมริกาหลายแบรนด์ ถ่ายแบบ และทำงานเสริมบ้างแต่ชีวิตเบื้องหน้าเหล่านี้ทำเงินให้เขาได้เพียง 30,000 เหรียญ หรือประมาณ 900,000 บาทต่อปีซึ่งไม่เพียงพอเท่าไหร่ต่อการใช้ชีวิตในนิวยอร์ก โดยเฉพาะการจะเช่าห้องอยู่สักห้องหนึ่ง

Mark Reay สุดยอดช่างภาพผู้กลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการถ่ายภาพแฟชั่น / ภาพ: Courtesy of Homme Less

     ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครถึงตอนนี้มาร์กจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนหลังคาแสนลำบากนั้นแล้ว แต่เรื่องราวของเขายังจดจำในหน้าเรื่องราวความน่าสนใจของโลกแฟชั่น เขาตัดสินใจออกจากพื้นที่เดิมๆ เพื่อตามหาสิ่งใหม่ในชีวิตอีกครั้งด้วยเป็นช่างภาพเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือฝึกฝนการอยู่เป็นหลักแหล่งและบริหารชีวิตตัวเองเหมือนคนทั่วไปบ้าง ก่อนหน้านี้ความไม่แน่นอนในชีวิตเหมือนเป็นแก่นของชายผู้นี้ไปเป็นที่เรียบร้อย เขาแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คุณเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง ทั้งภาพลักษณ์การแต่งกายกับวิถีชีวิตจริง หรือเม็ดเงินอันน้อยนิดกับความจริงแห่งวงการช่างภาพแฟชั่น มันเป็นภาพสะท้อนสังคมได้อย่างดีว่าสุดท้ายสังคมก็เหมารวมและตัดสินคนจากภาพลักษณ์อยู่ดี... ทุกคนจะจดจำเรื่องราวของช่างภาพระดับตำนาน ชายสุดเนี้ยบผู้ไร้บ้านกับบทละครชีวิตอันตื่นเต้น ชายผู้อยู่เพียงลำพังแต่ไร้ซึ่งความโดดเดี่ยว เขาคือ “มาร์ก เรย์”

WATCH

คีย์เวิร์ด: #HommeLess