FASHION

ไม่ทำแล้ว! เผยเหตุผลของ 10 สุดยอดดีไซเนอร์ที่ตัดสินใจออกจากแบรนด์ที่ตัวเองสร้างมากับมือ

เปิดเรื่องราวของ 10 ดีไซเนอร์ระดับโลกที่ออกจากแบรนด์ภายใต้ชื่อตัวเองที่สร้างมากับมือ

     แฟชั่นแบรนด์ชื่อดังต่าง ๆ ล้วนเกิดมาจากชื่อของผู้ก่อตั้งเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งทุกคนคือผู้สืบทอดความสำเร็จตลอดรอดฝั่งจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เหตุผลหลายอย่างที่แตกต่างกันไปทำให้หัวกะทิด้านแฟชั่นที่ปลุกปั้นแบรนด์ด้วยมือของตัวเองตัดสินใจลาออกจากแบรนด์ที่ปั๊มตราด้วยชื่อของตัวเอง มันไม่ง่ายที่เราจะฝากชื่อของเราไว้กับใครสักคนให้สืบสานเจตนารมณ์ รวมถึงพัฒนาแบรนด์ในแบบที่เราเป็น แต่มีดีไซเนอร์บางส่วนเลือกที่ก้าวออกมาและทิ้งชื่อเขาไว้ให้ผู้อื่นดูแล วันนี้โว้กพาชมเหล่าดีไซเนอร์ที่ออกจากแบรนด์ตัวเองด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา

 

1.Jil Sander

ภาพ: GRAILED

     Heidemarie Jiline Sander หรือ Jil Sander ดีไซเนอร์มากฝีมือชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งแบรนด์ในชื่อตัวเองเริ่มต้นตั้งแต่แฟชั่นเฮาส์ปี 1968 และปล่อยคอลเล็กชั่นภายใต้ชื่อนี้ในปี 1973 หลังจากผลงานเป็นที่เตะตาสาว ๆ และมีความต้องการเข้ามาเรื่อย ๆ ตลอด 20 กว่าปีทำให้ยอดขายของจิล แซนเดอร์เข้าตา Prada Group อย่างจัง แต่ในเรื่องดี ๆ ย่อมมีเรื่องแย่สอดแทรกอยู่ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินออกจากแบรนด์ของตัวเอง เพราะการเข้ามาอยู่กับกรุ๊ปที่ใหญ่เช่นนี้อิสระของจิลหายไป แนวทางการทำงานก็ขัดแย้งกับทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มันเร็วขึ้นและการมุ่งหากำไรแบบสุดโต่งตามแบบฉบับนายทุนรายใหญ่ ทำให้เธอออกจากแบรนด์ในปี 2000 ด้วยวัย 57 ปี แต่ก็ยังแวะเวียนกลับมาถึง 2 ครั้ง 2 คราและจากแบรนด์ไปอีก 2 รอบเช่นกันในปี 2004 และ 2013 ด้วยวัย 61 และ 70 ปีตามลำดับ

 

2.Donna Karan (DKNY)

ภาพ: Courtesy of Donna Karan

     Donna Ivy Faske หรือ Donna Karan ดีไซเนอร์หญิงฝั่งอเมริกาที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของโลก ชื่อแบรนด์ฮิตติดหูอย่าง DKNY ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 เป็นไลน์เสริมของแบรนด์ Donna Karan เพื่อเป็นทางเลือกแบบที่ราคาถูกกว่าและเข้าถึงง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็มีไลน์ยีนส์ เสื้อผ้าบุรุษเกิดขึ้นตามมาเรื่อย ๆ แต่กระนั้นเหมือนดอนน่าค่อย ๆ ลดบทบาทตัวเองลงมาเรื่อย ๆ เธอตัดสินใจละตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แต่ยังคงออกแบบอยู่ในปี 1997 หลังจากนั้นก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ อีก จนกระทั่งปี 2015 เหมือนชีวิตการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์จะอิ่มตัว ดีไซเนอร์หญิงมากความสามารถคนนี้ตัดสินใจออกจากแบรนด์แฟชั่นตัวเองเพื่อไปโฟกัสกับแบรนด์ Urban Zen แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เธอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007  ปิดตำนาน The Great Ks มุ่งเปลี่ยนรสชาติชีวิตสู่สิ่งใหม่ ๆ ในวัย 67 ปี

 

3.Yves Saint Laurent

ภาพ: Jeanloup Sieff

     Yves Henri Donat Mathieu-Saint-Laurent หรือ Yves Saint Laurent ดีไซเนอร์ยอดอัจฉริยะผู้สร้างสรรค์ไอคอนิกไอเท็มค้างฟ้าให้กับวงการแฟชั่นมานับไม่ถ้วน ผลงานการออกแบบและงานศิลปะถือเป็นระดับท็อปที่ทุกคนยกย่อง แต่การมีแบรนด์ตัวเองมันไม่ใช่เรื่องง่ายและสบายในการทำงานรวมถึงบริหารจัดการ หลังจากก่อตั้งแบรนด์ตั้งแต่ปี 1961 เป็นกูตูริเยร์คนแรกที่เข้ามาจับเรดี้ทูแวร์แบบจริงจัง พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์พร้อมสร้างสรรค์ชุดเดรส “Mondrian” หรือจะเป็น “Le Smoking Tuxedo” เขาก็สร้างผลงานมาเรื่อย ๆ จนะกระทั่งปี 2001 ได้รับรางวัลเกียรติยศจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสเหมือนเป็นการมาถึงจุดสูงสุด ปี 2002 วันที่แบรนด์เดินทางมาถึงอายุ 41 ปีเขาก็ตัดสินใจออกจากแบรนด์ที่เขาพยายามสร้างมากับมือเมื่ออายุ 66 ปี โดยมีเหตุผลเป็นการอยากใช้ชีวิตแบบสันโดษช่วงบั้นปลายชีวิตที่นอร์มังดีและโมร็อกโกกับเจ้าเฟรนช์บูลด็อกชื่อ Moujik สัตว์เลี้ยงแสนรักของเขาพร้อมด้วยเหตุผลด้านความกดดันและภาวะซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

4.Ann Demeulemeester

ภาพ: Hypebeast

     แบรนด์ชื่ออ่านยากแสนยากนี้ก่อตั้งโดย Ann Demeulemeester หรือตัวเธอเองนี่ล่ะ ดีไซเนอร์หญิงชาวเบลเยียมคนนี้สร้างสรรค์ลุคอันน่าประหลาดใจให้กับวงการมานับไม่ถ้วนผ่านชื่อแบรนด์ที่ยากจะอ่าน (และสะกด) แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคในการส่งความพิเศษจากไอเดียสุดล้ำมาสู่สายตาสายแฟทั่วโลก นักเรียนดีกรีรางวัลดีไซเนอร์หลายเวทีเปิดไลน์ของตัวเองในปี 1985 หลังจากนั้นคือศิลปะอันสวยงามที่ส่งออกจากสมองของเธอเป็นเวลากว่า 28 ปีที่แบรนด์วิ่งมาได้โดยมีแอนน์นำทัพ แต่ในปี 2013 เธอตัดสินใจวางมือโดยให้เหตุผลว่า “ฉันเดิมตามเส้นทางของตัวเอง ทั้งแบรนด์และฉันต้องพบเจอเส้นทางใหม่ ๆ ในชีวิต ถึงเวลาแล้วที่จะแยกทางกัน” แอนน์กล่าวในจดหมายลา เมื่อพินิจพิเคราะห์กับความตั้งใจของดีไซเนอร์หญิงคนนี้จะเห็นได้ว่าเธอพอใจและคิดว่าแบรนด์โตพอแล้วที่จะดำเนินไปได้โดยไม่มีเธอ...

 

5.Valentino Garavani (Valentino)

ภาพ: Gianni Giansanti

     สีแดงสดคงเป็นสีประจำคาแรกเตอร์ของแบรนด์แต่คนทั่วไปยุคนี้หลายคนมักติดภาพหนุ่มอิตาเลียนไว้หนวดหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ดั่งศิลปินในนิยายอย่าง Pierpaolo Piccioli แต่แท้จริงแล้วแบรนด์ Valentino ก่อตั้งโดย Valentino Clemente Ludovico Garavani  หรือ Valentino Garavani หนุ่มอิตาเลียนที่สร้างความโดดเด่นบนเวทีแฟชั่นไว้มากมาย ปี 1960 ที่โรมจุดเริ่มต้นของแบรนด์เกิดขึ้นพร้อมขยายอิทธิพลวาเลนติโน่ไปทั่วโลกในระยะเวลาไม่กี่ปี แบรนด์ยังคงรักษาระดับความสุดยอดไว้ได้อยู่เสมอจนกระทั่ง 4 กันยายน 2007 เขาประกาศจะรีไทร์จากแบรนด์ตัวเองช่วงต้นปี 2008 เหตุผลเพราะความอิ่มตัวทางด้านแฟชั่นเขาต้องการหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในช่วงวัยเกษียณจริง ๆ ในวัย 75 ณ ตอนออกจากแบรนด์ถือว่าไม่น้อยแต่ก็ไม่มากเกินไปที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองเป็นสิ่งท้าย ๆ เขาสละแบรนด์วาเลนติโน่เข้าสู่ภาวะรับช่วงต่อ และดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะเขาก็ได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ แบรนด์ก็เดินหน้าอย่างสดใหม่ชูความโดดเด่นในแวดวงไฮแฟชั่นมาโดยตลอด

 

6.Kenzo Takada (Kenzo)

ภาพ: Victor Boyko/Courtesy of Brand

     Kenzo แบรนด์ที่มีลายเสือเป็นเอกลักษณ์ไม่เจอที่ไหนคนก็จำได้ เบื้องหลังหัวเรือของแบรนด์อย่าง Kenzo Takada ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานสไตล์คนญี่ปุ่น เด็กจากโรงเรียนบุนกะแฟชั่นเริ่มสร้างสรรค์จากการใช้วัสดุราคาถูกหลังจากนั้นเสื้อผ้าผู้ชายก็ถูกปล่อยออกมาในปี 1983 และค่อย ๆ ขยายไลน์ต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 1999 เขาประกาศวางมือจากแบรนด์ที่ตัวเองเริ่มโดยที่แทบไม่มีอะไรเลยในวัย 60 ปี เพื่อเดินตามฝันทางศิลปะและเขามั่นใจในศักยภาพผู้ช่วยของเขาพอว่าจะดูแลแบรนด์ในชื่อเขาที่เข้าใน LVMH ตั้งแต่ปี 1993 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หลังจากว่างงานก็พักผ่อนใช้ชีวิตกับตัวเองและกลับมาทำงานใหม่ในด้านศิลปะของตกแต่งและแบรนด์เคนโซ่เองก็ยังอยู่ยงจนถึงทุกวันนี้

 

7.Martin Margiela (Maison Margiela)

ภาพ: Wanderful Designs

     Martin Margiela ดีไซเนอร์ชาวเบลเยียมอีกคนที่สร้างชื่อประดับบนชอร์ตลิสต์ของไอคอนิกแฟชั่นดีไซเนอร์หลังจากเป็นดีไซเนอร์อิสระกว่า 5 ปี ทำงานให้กับ Jean Paul Gaultier เขาก็เปิดแบรนด์ตัวเองในปี 1989 เขามักทำตัวไม่เป็นที่จับจ้องมากนัก ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ ไม่ถ่ายรูปแต่พูดทุกอย่างออกมาผ่านผลงาน ระยะหลายปีที่แบรนด์ขับเคลื่อยโดยมีเขาเป็นผู้บังคับหางเสือเดินทางมาถึงจุดน่าฉงนเมื่อ Renzo Rosso ประธานกลุ่ม OTB ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบรนด์ออกมาประกาศว่า “เขาไม่ได้อยู่ที่นี่มาสักพักแล้ว มาร์ตินเขา (ทำงาน) อยู่ที่นี่แต่ก็ไม่ได้ (ปรากฏตัว) อยู่ที่นี่ เรามีทีมดีไซน์ใหม่และมุ่งเน้นความสดใหม่กว่าเดิม” สร้างความงุนงงให้กับแฟน ๆ ของแบรนด์ ไม่รู้ว่านี่คือการโปรโมตอะไรหรือไม่ เพราะมาร์ตินก็เป็นพวกโลว์โปรไฟล์อยู่แล้ว จนกระทั่งเพรสรีลีสเดือนธันวาคมปี 2009 แบรนด์ประกาศชัดเจนว่าเขาออกจากแบรนด์แล้วและยังไม่มีใครมารับหน้าที่ของมาร์ตินรวมถึงไม่มีการให้เหตุผลใด ๆ ก่อนที่ทุกคนจะมารู้ความจริงเกือบ 10 ปีให้หลังในปี 2018 วันที่ 11 ตุลาคมเขาขึ้นรับรางวัล Jury Prize จาก  Belgian Designer Awards เขาเผยเรื่องที่ทุกคนสงสัยมาตลอดว่าทำไมชายมากความสามารถถึงต้องออกจากแบรนด์ไป เขากล่าวว่า “หลังจากทำงานอย่างหนักหลายสิบปีจนถึงปี 2008 ฉันเริ่มรับมือกับความรวดเร็วของโลกออนไลน์ไม่ไหว ความกดดันที่เร่งเร้า ความต้องการที่สูงทะลุเพดาน คุณค่าการรอคอยที่หายไปและที่สำคัญความเซอร์ไพรส์ต่าง ๆ มันถูกกลืนหายไป” และนี่คือทั้งหมดที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เขาจากแบรนด์ที่เขารักและหายจากวงการไป

 

8.Issey Miyake

ภาพ: GRAILED

     ความแปลกใหม่และสนุกสนานของแบรนด์ยังคงถูกนำเสนอมาตั้งแต่ Issey Miyake เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิไอเดียส่งเข้าสู่ระบบแฟชั่น เขาเปิดสตูดิโดในปี 1970 หลังจากนั้นช่วงเวลาแห่งความสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นกับแบรนด์และโลกแฟชั่นอย่างเต็มที่ ในช่วงยุค ‘80s เขาค้นคว้าเรื่องวิธีการอัดพลีตอย่างจริงจังจนเป็นรากฐานของแบรนด์จนถึงปัจจุบัน ตลอดเวลาตั้งแต่เปิดสตูดิโอจนถึงปี 1999 รังสรรค์ผลงานมานับไม่ถ้วน แต่เขาก็เลือกจะวางมือจากการทำเสื้อผ้าเต็มตัวลงไปในปีเดียวกัน เหตุผลหลักเลยคือการมุ่งหน้ากลับมาหาสิ่งที่เขาชื่นชอบที่สุดมากกว่าการทำงานแบบสูตรสำเร็จตามรูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่งคือการทดลองอะไรใหม่ ๆ ถ้าให้เปรียบดีไซเนอร์หนุ่มเป็นคาแรกเตอร์ในซีรีส์ชื่อดังสักเรื่องเขาคงรับบทเป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะสติเฟื่องที่ไม่เคยหยุดการค้นคว้าอะไรใหม่ ๆ แต่ชื่อของเขายังคงตรึงอยู่ในสารบบแฟชั่นชนิดที่ว่าหันไปในแง่มุมไหนก็เจอ

 

9.Helmut Lang

ภาพ: Helmut Lang

     ชื่อของ Helmut Lang อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูในวงกว้างมากนัก นอกเสียจากคุณเป็นสาวกสายแฟชั่นแบบค่อนข้างจริงจัง แต่ถ้าลองมองผลงานของเขาดี ๆ จะเห็นได้ว่าอิทธิพลการออกแบบของเขาในยุค ‘90s คือพื้นฐานของเสื้อผ้าในแบบฮิตติดเทรนด์ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกางเกงเดนิมแบบไบเกอร์ เสื้อแจ๊กเก็ตหนังสไตล์นักซิ่ง ความดิบและหนักแน่นของเสื้อผ้า รวมถึงความมินิมัลอันเป็นตัวตนของเขา เฮลมุตเปิดสตูดิโอการทำเสื้อผ้าแบบวัดสั่งตัดครั้งแรกในปี 1977 ก่อนที่จะขยับขยายไลน์เสื้อผ้าออกมาเรื่อย ๆ ดีไซเนอร์หนุ่มชาวออสเตรียคนนี้ใช้ความเรียบง่ายมาสร้างความโดดเด่นได้อย่างดีเยี่ยม แต่ด้วยอารมณ์ศิลปินที่คอยผลักดันงานเหล่านี้เบนเข็มไปทางงานศิลปะนอกแขนงแฟชั่น เขาตัดสินใจลาออกจากแบรนด์ที่สร้างมากับมือพร้อมกับวางมือจากวงการไปเลยในปี 2005 ก่อนที่จะผันตัวกลายเป็นศิลปินประติมากรรมในเวลาต่อมา พร้อมทั้งเพิ่มเติมสีสันใหม่ให้กับชีวิตด้วยการออกแบบงานทางด้านสถาปัตยกรรม ทั้งหมดแสดงให้เห็นดั่งคำพูดของ Bruce Weber ว่า “ฉันรู้สึกมาตลอดว่าเฮลมุตไม่ได้อยู่ในโลกแฟชั่น แต่เขาอยู่ในโลกของเขาเอง”

 

10.John Galliano

ภาพ: FASHIONISERS

     ดีไซเนอร์คนสำคัญแห่งยุคคอมเทมโพรารีอีกคนก็มีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับตัวเขาและแบรนด์เหมือนกัน เรากำลังพูดถึง John Galliano เด็กหนุ่มจากอังกฤษผู้เกิดที่ยิบรอลตา เขาเกิดมาพร้อมพรสวรรค์และวี่แววที่จะประสบความสำเร็จ สุดยอดดีไซเนอร์คนนี้หยิบยกพรจากฟ้ามาเริ่มทำงานและเปิดแบรนด์ของตัวเองในปี 1984 หลังจากทำคอลเล็กชั่นภายใต้ชื่อ “John Galliano” มาสักพัก เขารับในตำแหน่งหัวเรือใหญ่ Givenchy และ Dior ตามลำดับและแบรนด์เขาเองก็ถูกดิออร์ถือหุ้นถึง 91 เปอร์เซนต์นั่นเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ เพราะปี 2011 เขามีคดีความเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ด้วยคำพูดรุนแรง โดยมีข้ออ้างเป็นฤทธิ์แอลกอฮอล์ แต่ไม่ว่าอย่างไรเขาก็โดนสังคมตีตราไปแล้วเรียบร้อย แบรนด์ของเขายังคงอยู่ต่อหลังจากเกิดขึ้นแต่เขาสูญเสียตำแหน่งหัวเรือใหญ่จากเรือทั้ง 2 ลำโดยมี Bill Gaytten รับหน้าที่แทน พูดง่าย ๆ แบบเจ็บบาดใจจอห์นที่สุดคือ “เขาถูกไล่ออกจากแบรนด์ตัวเอง”

 

     ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชมแต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรอยู่ค้างฟ้า ไม่แบรนด์ล้มไป เจ้าของเสียชีวิตหรือออกจากแบรนด์แบบนี้ทุกอย่างล้วนมีจุดจบเสมอ จุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตก็เช่นกันคนเราล้วนต่างกัน ดีไซเนอร์คนหนึ่งอาจจะอยากทำแบรนด์ตลอดชีวิต ในขณะที่อีกคนหนึ่งอิ่มตัวกับการออกแบบในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตและต้องการหาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับชีวิตหลังจากอิ่มตัวกับวงการแฟชั่น รวมถึงถ้าพลาดพลั้งไปในชีวิตอาจจะเสียเก้าอี้ผู้นำทัพใหญ่อย่างคนสุดท้ายก็เป็นได้

WATCH

คีย์เวิร์ด: Designers