FASHION

เจาะลึกโชว์ Gucci คอลเล็กชั่นครูส 2020 ที่เปลี่ยนความหยาบคายและสกปรกโสมมเป็นแฟชั่น

Gucci คอลเล็กชั่นครูส 2020 นำเสนอมากกว่าเรื่องสิทธิสตรีแต่มันคือเรื่องราวอดีตอันโสมมของโลกมนุษย์ที่ถูกนิยามใหม่เป็นความสวยงามทางแฟชั่น

     แฟชั่นกับเรื่องราวด้านมืดต่าง ๆ ถูกสร้างสรรค์ให้กลายเป็นความสวยงามได้เสมอ แต่ทว่าความมืดมิดบางอย่างอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการปรับมาสู่เสื้อผ้าบนรันเวย์ Gucci เล็งเห็นถึงกรอบความจริงที่สังคมขีดวันนี้และ Alessandro Michele แม่ทัพใหญ่ในปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนนิยามเหล่านี้สู่แฟชั่นอันไร้พรมแดน ถึงแม้หลายคนจะได้ซึมซับเรื่องราวของสิทธิของผู้หญิงผ่านข้อความศิลปะแฟชั่น ตอนนี้เราจะพาทุกคนไปถึงขั้นกว่าของการสื่อความหมายเมื่อดีไซเนอร์คนเก่งกำลังปรับบรรทัดฐานความหยาบคาย สกปรกและโสมมมาสู่แฟชั่นในที่โล่งแจ้ง

Capitoline Museums สถานที่จัดแสดงโชว์คอลเล็กครูส 2020 ของ Gucci / ภาพ: Courtesy of Brand

     ภาพของโชว์หรี่แสงไฟสลับกับการสาดมาเป็นจุด ๆ เป็นเซตติ้งที่สะท้อนถึงความดำมืดและสว่างบนโลกมนุษย์ ในขณะที่โลกมันเต็มไปด้วยนิยามแบบขั้วตรงข้ามกันแบบนี้ เสื้อผ้าที่อเลสซานโดรพยายามจะสื่อก็ไม่ได้ละความหมายนั้นทิ้งไปแต่อย่างใด เนื้อหาหลักของคอลเล็กครูส 2020 นี้คือการสื่อถึงสิทธิสตรีและข้อกฎหมายการทำแท้งให้ถูกกฎหมายในประเทศสหรัฐฯ และอิตาลี แต่เชื่อไหมหากเราเอาลุคบางลุคมาตีแผ่เพิ่มเติมมันจะสะท้อนสิ่งที่ทำให้เราได้ย้อนกลับไปดูความโสมมของสังคมที่อยู่ภายใต้การกดขี่ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่าสุภาพสตรีที่โดนกดขี่มาทุกรูปแบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ลุคถือกีตาร์สุดแสบที่ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด / ภาพ: Vogue Runway

     เริ่มกันที่เรื่องของบทเพลงและเครื่องดนตรีที่เข้ามาสอดคล้องกับเสื้อผ้าย้อนยุค ‘70s แบบฉบับของกุชชี่พอดิบพอดี หากแต่ความหยาบคายและสกปรกมันไม่ได้สื่อออกมาทางการกระทำโดยตรง แต่มันก็ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องสิทธิสตรีอย่างปฏิเสธไม่ได้ ย้อนกลับไปช่วงยุคเดียวกับแรงบันดาลใจของเสื้อผ้ามันคือความหยาบคายเมื่อกีตาร์อยู่ในมือสุภาพสตรี เพราะ ณ ช่วงเวลานั้นบทเพลงและดนตรีส่วนใหญ่คือเครื่องมือของผู้ชายในการผลิตสร้างความโรแมนติก (Romanticize) ฝั่งเดียว เรื่อง เนื้อหาบทเพลงต่าง ๆ มักจะเป็นการเล่าถึงผู้หญิงเป็นเชิงวัตถุมากกว่า ไม่ค่อยมีปากมีเสียง เป็นแค่กรรมในรูปประโยคที่มีผู้ชายเป็นประธานและการเล่าเรื่องมุมเดียวของพวกเขาเป็นคำกริยา



WATCH




อีก 2 ลุคถือกีตาร์ที่สะท้อนแฟชั่นแห่งการตีความ / ภาพ: Vogue Runway

     ฉะนั้นดนตรีและกีตาร์มันไม่ใช่แค่ศิลปะแห่งยุคแต่มันคือความสกปรกที่อเลสซานโดรเสียดสีกลับถึงสิ่งที่เป็น ‘70s ในช่วงหลายสิบปีก่อน แต่ตอนนี้  ‘70s ในแบบกุชชี่ปี 2019 คือการเปิดโปงความสกปรกของสังคมผ่านเครื่องมือและเปิดเสรีในการข้องเกี่ยวกับดนตรีโดยไม่ผิดแปลกที่ผู้หญิงควรจะได้รับตั้งแต่ยุคนั้น เป็นข้อความที่ลึกลงไปอีกขั้นนอกเหนือจากแค่แรงบันดาลใจด้านงานศิลปะที่อเลสซานโดรทำออกมาได้ดีทุกครั้ง ถ้าใครจินตนาการความหยาบคายและสกปรกของเนื้อหาเพลงยุคนั้นไม่ออกละก็ลองนึกถึงท่อนหนึ่งในเพลง Baby Don’t Get Hooked On Me ของ Mac Davis ที่ร้องว่า “Baby, baby don’t get hooked on me. ‘Cause I’ll just use you then I’ll set you free….”

ความโสมมในสังคมแบบฉบับ Gucci ตีความออกมาเป็นความสวยงามและสารสะท้อนสังคม / ภาพ: Courtesy of Brand - Vogue Runway

     “MY BODY MY CHOICE” บนเสื้อแจ๊กเก็ตตัวนอกของกุชชี่กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลก แต่สิ่งนี้สามารถถูกตีความผ่านลุคอื่นในโชว์นี้ได้ลึกและกว้างเข้าไปอีก ร่างกายฉัน ฉันเลือกเองกลายเป็นความโสมมในยุคนั้นที่ถูกขานเล่ามาในโชว์ได้อย่างน่าตื่นเต้น นอกจากเสื้อสีม่วงสกรีนวลีเด็ดลงไปแล้ว อเลสซานโดรยังหยิบเอาเสื้อผ้าซีทรูพร้อมรอยสัก รอยช้ำตามตัวออกมาเป็นลุคเรียกเสียงฮือฮาหลังจากพบเจอสีสันมาแบบนับไม่ถ้วนในลุคที่ 68 มันไม่ใช่แค่ชุดตัวน้อยและบาง แต่มันคือสัญลักษณ์ของความโสมมในสภาพสังคมที่ผู้หญิง (เหมือนจะ)สามารถเลือกช้อยส์ได้ ถึงแม้สิทธิ์จะถูกเปิดกว้างแต่สภาพสังคมที่บีบบังคับทำให้ตัวเลือกบางอย่างถูกมองกลายเป็นวิถีทางด้านมืด ภาพจำของผู้หญิงติดสิ่งเสพติดและสถานะทางสังคมอย่างผู้หญิงขายบริการที่มีภาพลักษณ์เปรี้ยวจี๊ดมีจริตแต่ช่างเต็มไปด้วยอคติที่ทำร้ายเธอผ่านมุมมองทางสังคมในสมัยนั้นที่เหมารวมคนจากภาพลักษณ์ภายนอก และหัวเรือใหญ่ของกุชชี่เหมือนหยิบเอาความโสมมของสังคมยุคนั้นมาตีแผ่และแปรสภาพให้มันเป็นความสวยงามอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ราวกับประกาศว่า “นี่คือแฟชั่นของฉัน แฟชั่นที่เป็นมากกว่าแค่เสื้อผ้าที่ถูกตีความใหม่ เพราะฉันตีความมันจากทั้งสังคม” ถือเป็นประโยคที่ตีความได้จากผลงานของอเลสซานโดรได้อย่างดีเยี่ยม สิ่งที่เคยเป็นภาพจำของปัญหาสังคมในยุคนั้นกลายเป็นความสวยงามของแฟชั่นในยุคนี้ที่ซ่อนอะไรหลายอย่างให้คนเสพย์ไว้ได้อย่างแนบเนียน

มดลูกที่อยู่บนเดรสเพื่อสะท้อนถึงแง่มุมสังคมต่าง ๆ ที่ Alessandro Michele อยากนำเสนอผ่านผลงาน Gucci คอลเล็กชั่นนี้ / ภาพ: Courtesy of Brand - Vogue Runway

     และสุดท้ายคือเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “มดลูก” ใช่คุณอ่านไม่ผิดหรอก อวัยวะภายในที่สะท้อนบทบาทหน้าที่ที่ติดตัวมากับผู้หญิงได้อย่างดีเยี่ยมที่สุด ข้อความหลักที่ผู้คุมหางเสือกุชชี่พยายามสื่อคือเรื่องสิทธิสตรีและการทำแท้ง แต่ทว่าด้านความสวยงามและความหมายเชิงสังคมมันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น ในบรรทัดฐานปกติสัญลักษณ์ด้านเพศไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่มันคือสิ่งหยาบคาย มีกี่ครั้งในชีวิตที่เราจะเห็นการหยิบองคชาต ปากมดลูกหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่สื่อถึงการระบุเพศมาอยู่บนเสื้อผ้าและแฟชั่นถ้าไม่เป็นกบฏและขบถต่อวงการ นอกจากอเลสซานโดรจะใช้มันเป็นสัญลักษณ์ของการส่งข้อความอะไรบางอย่างทางการเมือง แต่เขายังแปรสภาพจากอวัยวะสิ่งแทนความหยาบคายโดยเฉพาะยุคสมัยก่อนมาสู่รายละเอียดของชุดเดรสได้อย่างลงตัวและประณีตสวยงามจนเราต้องตั้งคำถามกลับไปหาบรรทัดฐานเหล่านั้นว่าใครนิยามให้มันหยาบคาย? ฉะนั้นกุชชี่คอลเล็กชั่นครูสล่าสุดนี้จะกลายเป็นคอลเล็กชั่นอันน่าจดจำ ไม่ใช่แค่โชว์แปลกใหม่จากการจัดเซตติ้ง เสื้อผ้าที่น่าตื่นเต้นทุกครั้งของอเลสซานโดร มิเคเล่ การส่งสารด้านสิทธิเสรีภาพของสุภาพสตรี แต่อีกหนึ่งสิ่งที่คนอาจไม่คาดคิดคือการเปลี่ยนนิยามความหยาบคาย สกปรกและโสมมสู่แฟชั่นระดับไฮเอนด์ที่เดินอวดโฉมบนรันเวย์ให้สาวกสายแฟชั่นได้ชื่นชมกันทั้งโลก เป็นอีกครั้งที่แฟชั่นแสดงให้เห็นว่านี่คือกระบอกเสียงที่มีเสรีภาพในการเลือกหัวข้อและวิถีทางการนำเสนอทางสังคมได้อย่างอิสระที่สุด และอเลสซานโดร มิเคเล่ก็ใช้จุดเด่นของศิลปะแห่งความอิสระผสมผสานกับแฟชั่นออกมาเป็นข้อคิดทางสังคมผ่านชิ้นงานแฟชั่นอย่างสมบูรณ์แบบ

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Gucci #GucciCruise2020