แฟชั่น, ธรรมชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ, รักษ์โลก, อนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม
FASHION

“From Waste To Runway รักษ์โลกแบบไทย ไปรันเวย์โลก” เวทีเสวนาที่ผลักดันวงการแฟชั่นสู่ความยั่งยืน

“From Waste To Runway รักษ์โลกแบบไทย ไปรันเวย์โลก” งานเสวนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างนิตยสาร โว้กประเทศไทย เเละกระทรวงการต่างประเทศ เวทีที่จะพาวงการเเฟชั่นก้าวสู่ความยั่งยืนทางสิ่งเเวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘อุตสาหกรรมแฟชั่น’ เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองว่าทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยเรื่องของกระบวนการผลิตที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในขณะนี้ที่ทั่วโลกตื่นตัวและหันกลับมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้ทิศทางของวงการสิ่งทอเกิดเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

จากปัญหาของโลกแฟชั่นที่โว้กเล็งเห็น จึงเกิดเป็นงานเสวนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันถกในหัวข้อเสวนา ‘From Waste To Runway รักษ์โลกแบบไทย ไปรันเวย์โลก’ หัวข้อเสวนาที่พูดถึงการนำเอา ‘ขยะ’ จากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า กลับเข้ามาสู่การรีไซเคิลให้กลายเป็นสิ่งทอแบบใหม่ พร้อมด้วย 4 วิทยากรผู้ให้ความรู้ได้แก่ ฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย, หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ASAVA, โย-ทรงวุฒิ ทองทั่ว ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Renim Project และวัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ นักธุรกิจเจ้าของ SC Grand ผู้นำด้านสิ่งทอรีไซเคิล

แฟชั่น, ธรรมชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ, รักษ์โลก, อนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม, หมู ASAVA

ปัจจุบันเทรนด์ของโลกแฟชั่นในต่างประเทศกำลังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ BCG Economy ที่มุ่งเน้นให้เกิดรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เข้ามามีผลอย่างมากในการปฏิวัติวงการแฟชั่น อย่างไรก็ตามสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ในต่างประเทศ แต่กลับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่เรายังต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้ทั้งดีไซเนอร์และผู้บริโภคได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสิ่งทอที่พร้อมก้าวไปสู่ระดับสากลได้



WATCH




ถึงแม้โมเดล BCG Economy จะยังเป็นเรื่องที่ใหม่ในไทยแต่สิ่งหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน คือเรื่องของ ‘ภูมิปัญญาไทย’ สิ่งที่เป็นเสน่ห์ในงานหัตถกรรมบ้านเรา หลังจากที่บรรณาธิการบริหารโว้กและหมู ASAVA ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สู่ภาคใต้ เพื่อเยี่ยมชมผลงานผ้าทอของชุมชนในจังหวัดสงขลา พบว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเรานี้เองที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ เริ่มจากจุดเล็กๆ ในชุมชนที่นำเอาสีตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ รวมไปถึงเศษใบไม้ที่ร่วงลงมา ไปย้อมผ้าทอท้องถิ่นทดแทนการใช้สีเคมี ผสมผสานกับองค์ความรู้และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ในชุมชน ที่ได้จุดประกายให้มองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย

การเสวนาตลอด 2 ชั่วโมงนี้ นอกจากประเด็นที่ได้พูดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ยังมีการพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่าง ‘Circular Fashion’ จากการรวบรวมนำ ‘ขยะ’ ที่เหลือจากการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลและเริ่มผลิตเป็นสิ่งทอชิ้นใหม่อีกครั้ง สิ่งนี้คือการสร้างวงจรที่ช่วยให้เสื้อผ้าแฟชั่นได้กลายเป็น ‘Sustainability Product’ สิ่งทอรีไซเคิล จากกระบวนการผลิตที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด

แฟชั่น, ธรรมชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ, รักษ์โลก, อนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม, Renim Project

เช่นเดียวกับ 2 แบรนด์ดังฝีมือคนไทยที่มีส่วนอย่างมากในการสร้างแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย อย่างแบรนด์ ‘Renim Project’ ที่มี โย-ทรงวุฒิ ทองทั่ว เป็นดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง หัวใจหลักของแบรนด์คือการนำเอาผ้ายีนส์ที่เหลือทิ้งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากยีนส์ชิ้นใหม่ออกมา นับเป็นอีกแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและเวทีระดับสากล โดย Renim Project ได้นำคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2020 'UnderCover' ไปร่วมโชว์บนรันเวย์ LA Fashion Week  นำเสนอความเป็นไทยภายใต้แบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แฟชั่น, ธรรมชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ, รักษ์โลก, อนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม, SC Grand

ไม่เพียงแต่ Renim Project ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่เป็นผู้นำในเรื่องสิ่งทอรีไซเคิล อย่าง SC Grand โดย วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ แบรนด์ที่นำเอาเศษผ้าจากโรงงานสิ่งทอ ขยะ และขวดพลาสติกต่างๆ กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เกิดเป็นเส้นใยและเนื้อผ้าที่สามารถนำไปเย็บตัดเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่ได้ ซึ่งเส้นใยจาก SC Grand เป็นเส้นใยรีไซเคิลที่หลายประเทศให้การยอมรับว่าเป็น Sustainability Textile อย่างแท้จริง

นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมและทิศทางในการแก้ไขปัญหาที่เหล่าวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้พูดไป ยังมีเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอในอนาคต พร้อมพูดถึงจุดเด่นในงานออกแบบของไทยที่ปัจจุบันได้ถูกมองข้าม พร้อมตอกย้ำให้เหล่าดีไซเนอร์ยุคใหม่ได้หันกลับมามองความเป็นไทยที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภูมิปัญญาที่หากได้รับการพัฒนาสู่ระดับสากลจะต้องไม่แพ้อุตสาหกรรมสิ่งทอในต่างประเทศเป็นแน่

สำหรับแฟนๆ โว้กที่พลาดงานเสวนาก็สามารถติดตามชม Facebook Live ย้อนหลัง ของงานเสวนา “From Waste To Runway รักษ์โลกแบบไทย ไปรันเวย์โลก” บนเพจกระทรวงการต่างประเทศได้ที่นี่ 


WATCH