FASHION

เชื่อไหมนี่คือผ้าไทยทอมือ! รู้จัก Pacharee แบรนด์ไทยที่กำลังพาผ้าไทยไปไกลอีกขั้น

#VogueFocus พาไปพูดคุยกับแบรนด์ Pacharee

เมื่อพูดถึงผ้าเส้นใยธรรมชาติ จะมีสักกี่คนที่เข้าใจและมองเห็นความสวยงามอย่างถ่องแท้ หนึ่งในนั้นคือโซฟี่ โรเจอร์ สาวไทยที่หลงใหลในเสน่ห์ของผ้าทอธรรมชาติ วันนี้เธอพร้อมที่จะถักทอและเล่าต่อถึงคุณค่าของภูมิปัญาไทยที่เธอหลงรักให้ทุกคนได้รับรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ของแบรนด์ Pacharee 

 

ปาจรีย์-ชูเมอร์ส โรเจอร์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Pacharee / ช่างภาพ: เอกรัชต์ อุบลศรี, ผู้อำนวยการด้านแฟชั่น: จงกล พลาฤทธิ์

 

กว่าจะได้มาซึ่งผ้าหนึ่งผืนจำเป็นต้องผ่านกรรมวิธีและกระบวนการอันหลากหลาย ทั้งการหาวัสดุ การกรอ การย้อม ไปจนถึงการทอที่ล้วนต้องอาศัยผู้ชำนาญในแต่ละขั้นตอนในการทำ และการทอผ้าให้ได้ตามที่ต้องการ ผู้ทอต้องรู้จักธรรมชาติของวัสดุและขั้นตอนอย่างถี่ถ้วน ซึ่งแน่นอน บางครั้งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ โซฟี่ โรเจอร์ ดีไซเนอร์แบรนด์ Pacharee แบรนด์ผ้าไทยที่เน้นความเป็นธรรมชาติของวัสดุ คือผู้ที่เห็นความซับซ้อนของกระบวนการและต้องการมอบความเคารพให้กับคนทอเหล่านั้น คอลเล็กชั่นแรกจึงเกิดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “Natural Shape/Natural Form”

 

ช่างภาพ: เอกรัชต์ อุบลศรี, ผู้อำนวยการด้านแฟชั่น: จงกล พลาฤทธิ์

 

ที่ร้านอาหาร Spirit Jim Thompson โซฟี่มานั่งพูดคุยกับเราถึงเส้นทางการเดินทางของแบรนด์ ที่ไม่เพียงแค่ให้แรงบันดาลใจ แต่ยังสร้างความซาบซึ้งและความประทับใจให้กับเธอ หรือแม้กระทั่งกับทางเรา  

 

V: เริ่มต้นการเป็นดีไซเนอร์เมื่อไร และอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำแบรนด์

S: จริงๆ ไม่ได้มีแบ็กกราวด์ในการเรียนดีไซน์หรือออกแบบเลยเสื้อผ้าเลย แต่โตมากับคุณแม่ที่ชื่นชอบผ้าไทย และด้วยความที่ท่านเป็นคนสะสมผ้า โซฟี่เลยมีโอกาสโตมากับผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือที่ท่านสะสมหรือใช้อยู่บ่อยๆ ซึ่งจริงๆ ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้สนใจเท่าไร ด้วยความที่มันมีลาย มีเส้นเยอะ และโดยส่วนตัวชอบอะไรที่ดูคลีน ดูคลาสสิกมากกว่า จนคุณแม่เอาผ้าฝ้ายทอมือมาให้หนึ่งผืน เป็นผ้าฝ้ายทอมือที่เปลี่ยนไดเร็กชั่นชีวิตตัวเองเลย จำได้ว่าผ้าฝ้ายผืนนั้นมีเปลือกฝ้ายติดอยู่ และมีเงาของสีขาวนวลๆ ซึ่งเกิดจากสีครีมและน้ำตาลอ่อน แต่ทั้งผืนไม่ได้มีการย้อมสีเลย เราเพิ่งมารู้ว่ามันคือการใช้ฝ้ายจากฝ้ายคนละต้นมาทอ และเป็นการทอที่ไม่ละเอียด เราทึ่งกับผ้าผืนนี้มากเพราะเราไม่เคยเห็น มันดูธรรมดาและราคาถูกมาก คุณแม่บอกว่าซื้อมาผืนละ 100 กว่าบาทเอง แต่เราชอบเพราะเห็นลวดลายและมิติของการทอไล่สีซึ่งเป็นเทคนิคที่ชาวบ้านคิดขึ้นมาเอง นั่นคือจุดเปลี่ยนความคิดของโซฟี่ กลายเป็นว่าเรามองผ้าไทยว่ามีเสน่ห์และมีความเรียบง่ายในตัวของเขาเองโดยที่ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขามาก มันทำให้โซฟี่เคารพคนทอ เคารพชาวบ้าน และเคารพสิ่งที่เขาอยากนำเสนอมากขึ้น จุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจในการเป็นดีไซเนอร์ของโซฟี่

 

 

ภาพ: The Courtesy of The Brand

 

V: ได้มีการศึกษาหรือค้นคว้าต่อไหม

S: มีค่ะ พอเราเริ่มอยากจริงจัง ก็เริ่มหาและเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อไปศึกษาว่ากระบวนการมันเป็นอย่างไร ตั้งแต่วิธีการทอไปจนถึงเทคนิคการทอและประเภทการทอ เลยรู้มากขึ้น เห็นมากขึ้น ซึ่งเราก็มาคิดต่อว่าพิพิธภัณฑ์ผ้าส่วนใหญ่จะมีการพูดถึงผ้าลายต่างๆ แต่ยังไม่มีที่ไหนพูดถึงเทคนิค รายละเอียด หรือแม้กระทั่งสีจากธรรมชาติว่าได้จากอะไรบ้าง เราเลยลองเริ่มทำขึ้นเองกับชาวบ้าน ทดลองโดยใช้วัตถุดิบแปลกๆ ใหม่ๆ มาผสมกัน อย่างเช่น นำแก่นของต้นมะม่วงมารวมกับเปลือกประดู่ ผ้าที่ได้ก็จะมีสีและรายละเอียดผ้าที่เราไม่เคยเห็น ซึ่งความจริงมันคือภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครเห็น เพราะยังไม่มีใครเข้าไปพัฒนาหรือทำงานร่วมกับชาวบ้าน เรารู้สึกว่ายังไม่มีใครเคยนำเสนอผ้าไทยในมุมนี้มาก่อน มุมที่เป็น Back to basics เราเลยกลับไปดูกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นว่าเขาทออย่างไร ผสมสีอย่างไร ทำให้เราเห็นมากขึ้น พออยู่กับผ้าธรรมชาติมากๆ เราจะเห็นความแตกต่างของสีเลย แต่ที่เห็นชัดๆ โทนอุ่นที่เกิดจากตัวเขาเอง ซึ่งโซฟี่เชื่อว่าผู้หญิงทุกสีผิวสามารถใส่เสื้อผ้าโทนสีนี้ได้อย่างสวยและสง่างาม ที่สำคัญอีกอย่างคือ แต่ละหมู่บ้านมีเทคนิคการทอและวัสดุที่ใช้ในการย้อมสีธรรมชาติไม่เหมือนกัน ไม่สามารถเลียนแบบได้ด้วย เช่น เทคนิคที่โซฟี่ใช้ในคอลเล็กชั่นนี้คือเทคนิค “ทอเจาะปล่อง” เป็นการทอที่ทำให้เกิดรูระหว่างเส้นด้าย ซึ่งถ้าให้คนอีกหมู่บ้านมาทอด้วยเทคนิคนี้ก็ออกมาไม่ได้แบบนี้ จุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบของเรา เราจะใช้เสน่ห์ของผ้าแต่ละแบบมาเป็นแรงบันดาลใจในการดีไซน์ และเราก็ใช้ทฤษฎีเดียวกันนี้ในการออกแบบจิวเวลรีในไลน์จิวเวลรีของแบรนด์ด้วย เราจะใช้มุกที่มีรูปร่างตามธรรมชาติจริงๆ มาเป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะออกแบบและต่อเติมสิ่งต่างๆ เข้าไปให้เขาดูสง่างามขึ้นมา 

 

ภาพ: The Courtesy of The Brand

 

V: พูดได้ไหมว่าใช้ความออร์เเกนิกของวัตถุดิบเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ

S: โซฟี่คิดว่ามันเป็นไปตามรูปร่างหรือรูปทรงตามธรรมชาติของวัตถุดิบมากกว่า คำว่าออร์เเกนิกจะชวนให้คนนึกถึงการรักษ์โลก แต่แบรนด์เราไม่ได้ไปถึงขนาดนั้น ของเราเป็นเรื่องการมองเห็นรูปทรงแล้วได้แรงบันดาลใจมาทำ เช่น ถ้ามองเห็นรูปทรงมุกเป็นทรงเรียวยาวก็จะนำมาดีไซน์เพื่อเติมเต็มเข้าไป เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่จะเริ่มต้นจากตัวผ้าก่อน ขั้นตอนการดีไซน์ก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ละชุดเหมือนเริ่มคิดใหม่เลย พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อได้ผ้ามา เราจะมาคิดว่ารายละเอียดแบบนี้สีแบบนี้จะดีไซน์ออกมาในรูปแบบไหนให้ดูน่าสนใจ โดยเราจะไม่ตามเทรนด์แฟชั่นเลย โซฟี่เชื่อว่าแฟชั่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทรนด์เสมอไป แต่มันคือมุมมองใหม่ของดีไซเนอร์ ของการออกแบบมากกว่า

 

 

ภาพ: The Courtesy of The Brand

 

V: ด้วยความที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์มานาน ได้นำความโมเดิร์นแบบตะวันตกมาผสมผสานกับงานดีไซน์บ้างไหม

S: คงจะเป็นเรื่องซิลูเอตที่มีความร่วมสมัย ซึ่งความร่วมสมัยนี้เองที่โซฟี่คิดว่าได้มาจากฝั่งยุโรป โซฟี่โตที่เมืองไทย แต่มีโอกาสไปอยู่นิวยอร์กแล้วก็ยุโรป สิ่งที่เราเห็นคือมุมมองแฟชั่นของโลกตะวันตกเริ่มย้อนกลับไปเป็นแบบคลาสสิก คือค่อนข้างเรียบง่ายและสะอาด เลยลองเอามาใช้กับงานของเรา อีกอย่างคือตลาดหลักๆ ที่เรามองไว้เป็นฝั่งยุโรปด้วย จริงๆ สำหรับคนไทยเราก็อยากให้อนุรักษ์และมองเห็นเสน่ห์ในตัวผ้า แต่การเจาะตลาดตะวันตกมันคือการนำเสนอผ้าไทยให้ออกไปสู่สากล แผนต่อไปจะเริ่มขยายแพลตฟอร์มจากออนไลน์ไปเป็นบูติกช็อป มองที่ซูริกเอาไว้ แต่ด้วยความที่ผ้าเป็นจุดสำคัญของแบรนด์ สิ่งที่เราเริ่มทำอีกอย่างก็คือมีเซอร์วิซให้ลูกค้าเลือกผ้าและแบบที่ชอบได้ โดยเราจะส่งตัวอย่างผ้าให้ลูกค้าดู เพราะเรื่องผ้ามันเป็น Personal feeling มาก อยากให้เขาได้จับ สัมผัส และดูว่าชอบแบบไหน 

 

 

ช่างภาพ: เอกรัชต์ อุบลศรี, ผู้อำนวยการด้านแฟชั่น: จงกล พลาฤทธิ์

 

V: การนำมาผสมผสานกันนี้ต้องรีเสิร์ชหรือมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม 

S: คิดว่าตัวเองเป็นลูกค้าไปด้วย ข้อดีของการทำแบรนด์ที่ไม่ได้ตามเทรนด์คือเราไม่ต้องคิดเยอะ ถ้าเรารู้สึกสบายกับอะไร หรือใส่ตัวไหนแล้วรู้สึกสวย สง่าก็โอเคแล้ว แต่ด้วยคอนเซปต์ที่เน้นความเรียบง่าย สิ่งที่ยากกลับเป็นกระบวนการผลิตที่ต้องประณีตมากๆ ตัดเย็บทุกอย่างต้องเป๊ะ สมมาตร และตอบโจทย์ผู้หญิงทุกสไตล์

 

V: แล้วไลน์จิวเวลรีล่ะ จริงๆ ก็มีหลายวัตถุดิบที่สามารถเลือกมาใช้ได้ ทำไมถึงต้องเป็นมุกที่เป็นจุดเริ่มต้น

S: เพราะที่บ้านเคยอยู่ในแวดวงจิวเวลรีมาก่อน คลุกคลีกับมุกกับพลอยอยู่แล้ว ได้เห็นมุกในรูปร่างที่เพอร์เฟกต์ตลอดเวลา แต่คุณแม่ชอบสะสมพวกมุกมีปีกหรือมุกที่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้ไปโชว์ในบูติก มุกก็เลยเป็นวัสดุแรกที่ใช้ในไลน์จิวเวลรีเพราะคิดว่าคนน่าจะเข้าถึงธรรมชาติของมันได้ง่าย พอจะเริ่มทำก็คิดว่าจะนำมุกทรงคุณค่าแต่มาในรูปแบบที่เราไม่เคยเห็นอย่างมุกแบ มุกรี หรือมุกดำมาทำอย่างไรให้การออกแบบของเราเป็นการเคารพรูปทรงตามธรรมชาติของเขา คือรูปร่างของเขาต้องเหมือนเดิม แต่เราเติมเต็มเสน่ห์ของเขาให้โดดเด่นขึ้นมา ตอนนี้เริ่มทดลองทำกับหินพลอยประเภทอื่นเหมือนกัน เช่น ทับทิม หยก และมรกตธรรมชาติที่ยังไม่ได้เจียระไน และนำมาฝานเพื่อให้เห็นกระบวนการการก่อร่างของเขาซึ่งเป็นจุดที่เราต้องการนำเสนอทั้งไลน์จิวเวลรีและไลน์เสื้อผ้า

 

 

V: วางอนาคตของแบรนด์ไว้อย่างไร

S: เราอยากให้คนสัมผัสถึงวัสดุที่เราเอามาใช้จริงๆ อย่างที่บอก แต่ละเทคนิค แต่ละสี เนื้อผ้าแต่ละประเภท มันแตกต่างกันหมด เราจึงอยากให้ทุกคนรับรู้และเคารพความเป็นมาของวัสดุแต่ละชนิด เราจะบอกไว้บนป้ายของเสื้อผ้าทุกตัวว่าผ้าที่ใช้ทำชุดนี้เป็นเมตรที่เท่าไหร่ ของม้วนไหน เพราะในหนึ่งม้วนนั้น คนทออาจทอได้ 50 เมตร เราอยากบอกว่าคุณคือ 1 ใน 5 คนที่ได้ใช้ผ้าผืนนี้ เราตั้งชื่อชุดจากวัตถุดิบที่ใช้ย้อมสี หรือชื่อคนทอผ้าม้วนนั้นๆ เพราะเราอยากให้คนไทยใส่ผ้าไทยแล้วรู้สึกประทับใจ เราเห็นและเชื่อว่าการทอผ้าหรือแม้กระทั่งการย้อมผ้ามันยากจริงๆ แต่ก็ยังเชื่อว่าอย่างน้อยเรื่องการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เราจะเป็นคนที่ทำให้คนไทยรู้สึกประทับใจในตัวเองมากขึ้น

 

ช่างภาพ: เอกรัชต์ อุบลศรี

ผู้อำนวยการด้านแฟชั่น: จงกล พลาฤทธิ์

ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น: ตะวัน ก้อนแก้ว

เรื่อง: โอฬาร เกียรติสมผล

เรียบเรียง: จงกล พลาฤทธิ์

วิดีโอโปรดิวเซอร์: ปภัสรา นัฏสถาพร

ตัดต่อ: ปภาวี กันทะสอน

แต่งหน้า: รัตนโชติ โพธิ์ขำ

ทำผม: หฤษฎ์ ปัญญาอ้าย

สถานที่: ร้าน Spirit ซอยสมคิด 

WATCH

คีย์เวิร์ด: Vogue Focus Thai Designers Thai Fabrics Fashion