FASHION

ล้วงความรู้สึกนิสิตแฟชั่น จุฬาฯ ในวันที่ต้องจัดแฟชั่นโชว์จบการศึกษาแบบออนไลน์

บางครั้งความสำเร็จสุดท้ายของช่วงหนึ่งของชีวิตอาจไม่ได้ออกมาในรูปแบบที่คาดหวัง พวกเขาต้องงัดความสร้างสรรค์ใหม่ๆ พร้อมปรับมุมมองอย่างกะทันหัน

     โชว์สุดท้ายในชีวิตการเป็นนิสิต/นักศึกษาสำคัญต่อชีวิตเหล่าเด็กผู้เป็นอนาคตของวงการแฟชั่นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาการศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับวิชาแฟชั่นในด้านต่างๆ สร้างองค์ความรู้และสั่งสมประสบการณ์มาตามสถานการณ์โลกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อโลกหมุนเปลี่ยนไปอย่างไรย่อมส่งผลต่อนิสิตแฟชั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือการจัดโชว์จบการศึกษา ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกบีบบังคับให้พวกเขาต้องสร้างสรรค์การนำเสนอบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทนแฟชั่นโชว์จริง วันนี้เราโว้กจะพาไปเจาะลึกถึงความรู้สึกและมุมมองของพวกเขาต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะหล่อหลอมการเป็นบุคคลในอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อไปในอนาคต

     โว้กถือโอกาสเข้าไปชมบรรยากาศพร้อมสอบถามความรู้สึกนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขามัณฑนศิลป์ (แฟชั่นดีไซน์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงระหว่างการถ่ายทำ “HOMAGE OF THIRTY THREE” วิดีโอโชว์จบการศึกษาเพื่อนำเสนอเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในฐานะนักออกแบบแฟชั่นภายใต้เครื่องแบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีทีท่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็มีความหวังที่จะได้จัดโชว์เต็มรูปแบบ ทว่าเหตุการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทันทีเมื่อมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกระลอก ทำให้เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนมานำเสนอแบบ “Virtual Show” แทน นิสิตทุกคนต้องปรับกระบวนการคิดและการทำงานทั้งหมดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเหมือนกับว่ามนต์เสน่ห์บางอย่างมันหายไปอย่างที่นักวิจารณ์แฟชั่นจากทั่วโลกเห็นตรงกันว่า “แฟชั่นโชว์มีความพิเศษที่ยากจะทดแทนด้วยการนำเสนอบนโลกออนไลน์”

     ความหลากหลายของคอนเซปต์เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยในการถ่ายทำวิดีโออย่างเห็นได้ชัด แต่ละคนมีสไตล์ในการออกแบบเป็นของตัวเองตั้งแต่เสื้อผ้าแบบแม็กซิมัล มินิมอล ชุดแต่งงาน อวองต์-การ์ด หรือแม้แต่บีชแวร์ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ล้วนต้องการพื้นที่ในการนำเสนอต่างกันอย่างอิสระ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเข้าไปสังเกตการณ์ช่วงระหว่างเตรียมการนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่านิสิตแต่ละคนสามารถดึงองค์ประกอบความสวยงามของผลงานออกมาผ่านการนำเสนออนไลน์ได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ความผิดของนิสิตเลยแม้แต่น้อย เพราะเราเชื่อว่าหลายคนเริ่มกระบวนการคิดด้วยเป้าหมาย “การทำโชว์” มาตั้งแต่แรก เมื่อต้องปรับเปลี่ยนภายหลังเพื่อสอดรับกับโชว์ออนไลน์ย่อมต้องมีอุปสรรคหลายอย่างที่แต่ละคนพบเจอแตกต่างกัน เรื่องนี้ปกติมากเห็นได้จากวิธีการคิดโชว์ของแบรนด์ดังระดับโลกมากมายเมื่อปี 2020 ที่หลายโชว์แสดงให้เห็นว่ามันเป็นการเตรียมโชว์สำหรับ “Physical Runway Show” อย่างแท้จริง เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบสู่โลกออนไลน์กะทันหันย่อมออกมาประดักประเดิดอยู่พอสมควร ซึ่งเวลาผ่านไป 1 ปีและมีตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด โดยรวมแล้วนิสิตแฟชั่น จุฬาฯ จึงสามารถรับมือกับตรงนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม แม้อาจจะไม่ใช่ระดับสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม



WATCH




     ความหวัง บรรยากาศความอบอุ่น ภาพที่วาดฝัน และการล่มสลายของแฟชั่นโชว์จบการศึกษาในช่วงสุดท้าย...การสัมภาษณ์นิสิตปี 4 ที่เตรียมโชว์ครั้งนี้ทุกคน เราจึงได้ทราบว่าหลายคนมีความฝันเกี่ยวกับการรังสรรค์แฟชั่นโชว์ จะว่าไปมันคือความฝันของนักเรียนแฟชั่นทั่วโลกที่ครั้งหนึ่งจะได้จัดรันเวย์โชว์ แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ความหวังในการสร้างสรรค์ดังกล่าวก็เปลี่ยนรูปแบบไปทันที อย่างภานิสิตแฟชั่นหญิงวัย 22 กล่าวว่า “ค่อนข้างผิดหวังค่ะกับการต้องยกเลิกโชว์บนรันเวย์จริงๆ ถ้าได้จัดก็เป็นโอกาสที่ดีและเป็นประสบการณ์ครั้งเดียวของการเป็นนิสิตแฟชั่น” หรือน้องพีชเพื่อนปี 4 ร่วมรุ่นที่กล่าวว่า “งานจบก็จะมีทั้งคนในครอบครัวและเพื่อนมาแสดงความยินดีด้วย แต่การจัดแบบนี้ด้วยพื้นที่ที่จำกัด จึงทำให้เราไม่สามารถเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาชมได้” รวมถึงมีคำกล่าวเกี่ยวกับความฝันของเมย์แม่ นิสิตแฟชั่นอีกคนว่า “ในฐานะนิสิตแฟชั่นคนหนึ่ง ต้องยอมรับว่าการจัดแฟชั่นโชว์เป็นความฝันตั้งแต่ได้ก้าวเข้ามาเรียน เมื่อมีสถานการณ์ที่ทำใหต้องยกเลิกเลยรู้สึกเสียใจมาก” สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแฟชั่นโชว์ในโลกความจริงมีความสำคัญกับนิสิตหลายคนอย่างปฏิเสธไม่ได้จริงๆ

     แต่การทำแฟชั่นโชว์ออนไลน์อาจไม่ใช่ความสิ้นหวัง แต่เป็นความหวังที่นิสิตหลายคนมองเป็นโอกาส นิสิตอีกส่วนหนึ่งสะท้อนมุมมองอีกด้านที่ไม่ได้ผิดหวังกับการหันมาทำโชว์ออนไลน์นัก พวกเขากลับมองว่ามันเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ปรับรูปแบบและนำเสนอให้ตรงตามยุคสมัยมากขึ้น และมองว่าการทำเช่นนี้สามารถดึงดูดฐานผู้ชมได้กว้างกว่าเดิม รวมถึงสามารกลับมาดูซ้ำอีกหลายรอบ อีกทั้งยังมีมุมมองของไตเติ้ลที่มองไกลไปถึงเรื่องความยั่งยืน “ในมุมมองของผมรู้สึกว่าการจัดงานแฟชั่นโชว์รูปแบบออนไลน์ เป็นการประหยัดทรัพยากร ยิ่งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้าถึงง่าย การจัดงานรูปแบบออนไลน์นี้จึงมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการจัดแฟชั่นโชว์แบบปกติ” เขากล่าวถึงเรื่องนี้อย่างมีเหตุผล ในขณะเดียวกันนิสิตหลายคนที่ไม่ได้ผิดหวังกับการยกเลิกจัดโชว์นั้นก็แบ่งปันความคิดที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะเรื่องอนาคตของวงการแฟชั่นที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เห็นได้จากแบรนด์ Chanel, Louis Vuitton, Dior และอีกหลายแบรนด์ดังก็ทำเช่นนี้มาหลายคอลเล็กชั่นติดต่อกันแล้ว

     ความกังวลและจุดด้อยบางอย่างที่โชว์ออนไลน์ให้ไม่ได้...ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโชว์ออนไลน์มีข้อจำกัดในเชิงการปฏิสัมพันธ์ อารมณ์ร่วม ความรู้สึก และบรรยากาศของแฟชั่นโชว์ถ่ายทอดออกมาผ่านหน้าจอไม่ได้ทั้งหมดแน่นอน ซึ่งแบมบูพูดถึงประเด็นอารมณ์ร่วมของผู้ชมว่า “หนูว่าความแตกต่างคือบรรยากาศของคนที่มาชมผลงาน หากมีแฟชั่นโชว์ เราจะได้เห็นสายตาของคนที่มาดูว่าเคาชอบผลงานเราไหม ชอบมันอย่างไร ในขณะที่เป็นแบบออนไลน์ เราอยู่กันแค่ตรงหน้าจอและการกดไลก์ กดแชร์” นอกจากนี้ฟ้ายังกล่าวถึงข้อจำกัดที่โชว์ออนไลน์ไม่สามารถให้อย่างเต็มประสิทธิภาพว่า “ฉากที่ดีไซเนอร์เดินออกมาพร้อมเสียงปรบมือของผู้ชมคือฝันของทุกๆ คน ข้อเสียก็คือการที่ผู้ชมไม่เห็นเทกซ์เจอร์ที่แท้จริงของเสื้อผ้า รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ ในรูปก็ไม่เห็นเช่นกัน” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนิสิตแฟชั่นทุกคนก็มิได้ลดละความทุ่มเทในการทำงานแต่อย่างใด เมื่อถึงผลงานชิ้นสุดท้ายในฐานะนักออกแบบแฟชั่นในรั้วมหาวิทยาลัย พวกเขาก็ปรับตัวและพร้อมสร้างสรรค์ทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นดังที่ป๊อป นิสิตอีกคนหนึ่งทิ้งท้ายไว้ว่า “ส่วนตัวมีความรู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ว่าจะนำเสนอโชว์แบบไหน ผลงานของเราก็ยังเป็นสิ่งที่เราคิด จัดทำขึ้นด้วยความตั้งใจและพยายามทำมันให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะนำเสนอแบบไหนก็ภูมิใจมากๆ”

     ความปกติรูปแบบใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการใช้ชีวิตในสังคม แต่เหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้กลับหล่อหลอมแนวคิดของคนยุคใหม่ด้วยเช่นกัน นิสิตแฟชั่น จุฬาฯ ก็เป็นคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกหล่อหลอมจนเกิดชุดความคิดตามสถานการณ์อย่างฉับไว จากคำถามที่ผู้เขียนโยนให้ว่า “คิดว่าหรือวางแผนอนาคตในช่วงโควิดของตัวเรา เพื่อน และอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างไร” ก็ได้คำตอบในแนวทางเดียวกัน ส่วนมากมองถึงเรื่องการปรับตัวและความปกติรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม วิธีการคิด นำเสนอ วิธีขายสินค้าคำนึงถึงแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น การใส่ใจต่อโลกออนไลน์ รวมถึงแนวคิดเรื่องความยั่งยืนซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญโดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ซึ่งเราสามารถอนุมานได้พอสมควรว่าชุดความคิดของดาวดวงใหม่แห่งอุตสาหกรรมแฟชั่นเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญและกระแสนิยมของโลกยุคใหม่โดยตรง

     มุมมองต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นเรื่องที่คนในสายแฟชั่นทุกรุ่นอายุต้องศึกษาอยู่ตลอดเวลา เราอาจจะเห็นมุมมองของผู้มีประสบการณ์มากมายในวงการแฟชั่น แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่พื้นที่ของโว้กในบทความนี้จะเป็นเครื่องขยายเสียงของพวกเขาให้ดังไกลกว่าเดิม มุมมองของพวกเขาจะต้องสำคัญต่อโลกแฟชั่นในอนาคต เพราะสุดท้ายคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นตัวแทนของคนในอุตสาหกรรมต่อไป ดังนั้นเราจึงเปิดให้ทุกคนฝากถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นกันอย่างอิสระ ซึ่งหลายคนกล้าจะเผยความรู้สึกในใจว่าแฟชั่นในไทยยังต้องการการเปิดกว้างมากกว่านี้ทั้งเชิงวิธีคิดและกรอบนิยามด้านต่างๆ วิธีคิดของเด็กรุ่นใหม่สามารถยึดโยงเอาความสัมพันธ์ที่เคยเป็นเส้นขนานกันระหว่างโลกความจริงกับโลกเสมือนให้สอดประสานกันได้ดีกว่าที่เคย พวกเขาเติบโตในยุคแฟชั่นโลกสมัยใหม่ มุมมองต่อการใช้สื่อ พัฒนาคอนเทนต์ หรือแม้แต่การนำเสนอผลงานจึงเกิดขึ้นบนพื้นที่เสรีแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนเทรนด์ในอนาคตได้อย่างดีว่าสุดท้ายทั้ง 2 โลกไม่ได้ขนานกัน ทว่ามันคือโลกที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันเสียมากกว่า บางครั้งเด็กกลุ่มนี้อาจไม่จำเป็นต้องคิดลึกซึ้งด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ และความลื่นไหลเป็นธรรมชาติภายใต้การเชื่อมโยงโลก 2 ใบไว้ด้วยกันนี้เองคือจุดแข็งของคนเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องหันมามองและทำความเข้าใจแนวทางดังกล่าวด้วยเช่นกัน

     ท้ายที่สุดไม่ว่านิสิตแฟชั่น จุฬาฯ จะต้องตรากตรำกับความยากลำบากเพียงใด แต่ทั้งหมดล้วนเห็นตรงกันว่าการทำโชว์ครั้งนี้เป็นความทรงจำของชีวิต บ้างก็กล่าวว่าแฟชั่นโชว์จบการศึกษาก็เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แฟชั่นในไทม์ไลน์ของใครสักคน บ้างก็บอกว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้รับโอกาสจากโว้กในการทำคอนเทนต์ บ้างก็บอกว่า “รอดแล้ว!” บางคนถึงกับฝากประสบการณ์ความยากลำบากในการทำงานช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือบางคนมองไปถึงเส้นทางการพัฒนาตั้งแต่ก้าวแรกของการเป็นนิสิตแฟชั่น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามทั้งหมดคือชุดความทรงจำชุดหนึ่งที่นิสิตทุกคนรับรู้ร่วมกัน มันไม่สำคัญเลยว่าแต่ละคนจะทำออกมายอดเยี่ยม ผิดพลาด น่าภูมิใจ หรือน่าผิดหวังเพียงใด เพราะสุดท้ายต่อให้คนทั้งโลกไม่ชอบผลงานหรือมุมมองของ 18 นิสิตแฟชั่นจากจุฬาฯ แต่ทุกคนสามารถชื่นชมและภูมิใจ(แต่ไม่หยุดพัฒนา)ผลงานของตัวเองและเพื่อนๆ ได้เสมอ

     ความมั่นใจในงานศิลปะที่ตนเองยึดถือเหมือนศิลปินที่ให้เกียรติคุณค่าผลงานตัวเองจะทำให้สามารถก้าวเดินต่อไปในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ให้ค่ากับสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่มีวันที่คนอื่นจะมาให้ค่ากับงานของเรา แฟชั่นโชว์จบการศึกษาจึงไม่ใช่แค่โชว์เปิดตัวคนรุ่นใหม่ของวงการแฟชั่น โชว์สั่งลาของพี่ปี 4 หรือโชว์สำหรับตัดเกรดให้คะแนนเท่านั้น แต่มันคือบทสรุปชีวิตบทหนึ่งที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ในชีวิต ซึ่งแต่ละคนจะต่อภาพต่อจากจิ๊กซอว์ชิ้นนี้อย่างไร ภาพชีวิตจากจิ๊กซอว์ชีวิตจะไปคาบเกี่ยวอยู่ในแวดวงไหน มีแค่ตัวนิสิตเท่านั้นที่จะกำหนดเส้นทางและตอบคำถามนี้ได้ในอนาคต...

 

ติดตามวิดีโอเบื้องหลังจากโว้กประเทศไทยได้ทุกช่องทางของโว้ก และวิดีโอแฟชั่นโชว์จบการศึกษาของนิสิตแฟชั่น จุฬาฯ รุ่น 33 ได้ที่เพจเฟสบุ๊ก cu.fashionarchive วันอาทิตย์ท่ี 20 มิถุนายน 2021 เวลา 1 ทุ่มตรง

WATCH