FASHION

ย้อนรำลึก Elsa Schiaparelli ดีไซเนอร์สุดเซอร์เรียล เจ้าของผลงานเดรสล็อบสเตอร์ในตำนาน

     ความเป็นขั้วตรงข้ามใช้เปรียบเทียบกับสถานะหรือเหตุการณ์ในสังคมได้เสมอ โลกแฟชั่นก็เช่นกัน วันหนึ่งกระแสนิยมของเสื้อผ้ารูปแบบหนึ่งมักจะครองใจคนทั่วโลก ความเรียบง่ายที่ผสมผสานระหว่างความเรียบหรูแบบเฟมินีนแต่ก็สอดแทรกกลิ่นอายของความแมสคิวลีนคือมิติใหม่ในแฟชั่นเมื่อหลายสิบปีก่อน ขั้วตรงข้ามกับคำว่า “เรียบง่าย” คือ “เซอร์เรียล” หรือความเหนือจริงที่จัดจ้านทางศิลปะ การคิดนอกกรอบเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่บันดาลให้โลกแฟชั่นเป็นโลกที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีดีไซเนอร์ระดับตำนานผู้เคยสู้รบปรบมือกับความเรียบง่ายทางแฟชั่นมาแล้ว เธอคือ “Elsa Schiaparelli”

ชุดเดรสล็อบสเตอร์ผลงานชิ้นมาสเตอร์ของ Elsa Schiaparelli ที่ถูกตีความใหม่ในปี 2017 / ภาพ:  Indigitial.tv

     “Lobster Dress” คือชุดไอคอนิกเดรสที่ยังคงถูกพูดถึงและผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความปราดเปรื่องของเอลซ่าทำให้เราได้เห็นภาพความจำที่สาวกแฟชั่นไม่มีวันลืม วันนี้ถึงเวลาที่เราจะย้อนกลับไปค้นรากฐานของดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนผู้นี้ว่าเธอมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไรถึงกล้าสร้างผลงานเปิดมิติให้กับวงการเสมอมา เนื้อหาทั้งหมดจะถูกเล่าล้อไปกับเกร็ดชีวิตของเอลซ่า และมาบรรจบกับผลงานมาสเตอร์พีซอย่างเดรสล็อบสเตอร์

Elsa Schiaparelli กับเครื่องประดับขนาดโอเวอร์ไซส์ / ภาพ: Collectors Weekly

     10 กันยายน 1890 เอลซ่าเกิดขึ้นในครอบครัวผู้มีความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ในโรม รากฐานครอบครัวประกอบกับเส้นทางการศึกษาปรัชญาของเอลซ่าทำให้เธอมีแรงบันดาลใจในการหยิบวัฒนธรรมและแง่มุมทางศาสนามาตีความ เธอเคยเขียนหนังสือโดยอิงจากนิยายปรัมปราของกรีกซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเหนือจริงอยู่ในระดับหนึ่ง ตัวตนวัยเด็กอีกอย่างคือการอยู่นอกกรอบระเบียบบังคับ เพราะฉะนั้นการปลูกฝังความคิดในช่วงกำลังเติบโตทำให้เอลซ่าเป็นเด็กสาวที่มีชุดความคิดขบถและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกัน



WATCH




Paul Poiret ศิลปินผู้เป็นรากฐานแรงบันดาลใจให้ Elsa Schiaparelli / ภาพ: Britannica

     เริ่มต้นอาชีพนักออกแบบ! ชื่อของ Paul Poiret ต้องขึ้นมาเป็นชื่อแรกอย่างแน่นอน พอลคือแรงบันดาลใจในการผลิตศิลปะแฟชั่น แนวทางในการทำงานที่เข้าใจความลำบากของผู้หญิง คอร์เซตและชุดเดรสยาวเกินพอดีถูกปัดตก และเขาก็หยิบยกสไตล์อันพลิ้วไหวเหมาะสำหรับความโมเดิร์น ไม่ใช่แค่เรื่องเทรนด์แฟชั่น แต่หมายถึงกระแสนิยมของเพศหญิงที่เริ่มมองว่าผู้หญิงต้องได้รับความเท่าเทียม แค่ต้นตอแรงบันดาลใจของเอลซ่าจากพอลก็สะท้อนถึงความขบถต่อสังคมยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เธอกล้าที่จะหยิบแนวคิด “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” เพื่อยืนหยัดในจุดยืนที่แข็งแกร่ง

นิตแวร์อันเป็นเอกลักษณ์ยุคเริ่มต้นของ Elsa Schiaparelli / ภาพ: Medium

     แรงบันดาลใจทั้งหมดส่งให้เอลซ่าเปิดธุรกิจเสื้อผ้าของตัวเอง แต่แล้วก็ปิดลงอย่างรวดเร็วในปี 1926 ด้วยเหตุผลเรื่องรีวิวด้านลบจากลูกค้าแต่เธอก็สู้ต่อ ปี 1927 ปล่อยนิตแวร์ออกมาซึ่งเป็นการเย็บซ้อนกัน 2 ชั้นลวดลาย “trompe l'oeil” ในแบบฉบับเซอร์เรียล คราวนี้เหมือนมาถูกทาง การผสมผสานระหว่างเทคนิคกับไอเดียนอกกรอบเริ่มเห็นผล ผ้าพันคอรวมถึงอีฟนิ่งแวร์หรือชุดสำหรับงานกลางคืนกลายเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้ของแบรนด์ แบรนด์แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถซื้อที่ละแวก Place Vendôme เปิดบูติกของตัวเองได้อย่างเป็นทางการ

Wrap Dress ฉบับออริจินัลของ Elsa Schiaparelli / ภาพ: Fashion Plate

     ยิ่งแข็งแกร่งยิ่งทำให้เธอมั่นใจ เมื่อแบรนด์มีความมั่นคงเวลาจะสร้างความแตกต่างย่อมมีคนสนับสนุน เอลซ่าได้แสดงเนื้อแท้ความเซอร์เรียลในตัวเอง ทำให้เธอกับ Coco Chanel กลายเป็นคู่ปรับกันตลอดกาล ในแบบต่างฝ่ายต่างเดินในเส้นทางที่ตนถนัด เอลซ่าค่อยๆ พัฒนาความแปลกใหม่ในเชิงศิลปะมากขึ้น ไม่ใช่แค่การสเกตช์ภาพออกแบบชนิดหลุดโลก แต่ดีไซเนอร์ผู้ไม่เคยเรียนออกแบบนำเสนอความสดใหม่ด้วยการหาองค์ประกอบคอยเติมความสนใจของชุด ไม่ว่าจะเป็นซิป กระดุมหลายรูปทรง เรื่องเนื้อผ้าเอลซ่าก็ชอบทดลองเพื่อหาความโดดเด่นของเส้นใยแต่ละชนิดอยู่เสมอ ด้านซิลูเอตและการตีความรูปแบบของชุดเธอก็ไม่เคยหยุดพัฒนา ตัวอย่างเช่นต้นตำหรับ “Wrap Dress” นั่นเอง

Salvador Dalí ผู้ร่วมสร้างผลงานสุดสร้างสรรค์ / ภาพ: Biography.com

     ความเป็นศิลปินหลอมรวมกับความเป็นดีไซเนอร์ได้อย่างลงตัว เพราะฉะนั้นเอลซ่าจึงมีความโดดเด่นกว่าดีไซเนอร์คนอื่นๆ ในยุคนั้นในเรื่องการทำคอแลบอเรชั่น ย้อนกลับไปกว่า 70-80 ปี จะพูดว่าเธอถือเป็นผู้บุกเบิกเทรนด์คอแลบอเรชั่นก็ไม่ผิดนัก ซึ่งชื่อศิลปินคนแรกคือ Salvador Dalí ศิลปินภาพวาดเหนือจริง จินตนาการทะลุไปไกลเกินกว่าแค่การสาดสีสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ แต่เขาหยิบเอาของง่ายๆ มาจัดวางหรือจัดองค์ประกอบให้ดูพิเศษขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความสอดคล้องในมุมมองเชิงศิลปะของเอลซ่าและซัลวาดอร์ทำให้การร่วมงานครั้งนี้มีการผลิตไอคอนิกพีซเกิดขึ้นหลายต่อหลายชิ้น

Willis Simpson ในขณะสวมชุดเดรสล็อบสเตอร์เป็นคนแรก / ภาพ: Courtesy of Cecil Beaton

     และแล้วก็มาถึง “Lobster Dress” ย้อนกลับไปในช่วงปี 1934 ซัลวาดอร์เริ่มเอาล็อบสเตอร์มาใส่ในผลงานของตัวเอง ทั้งออกแบบให้นิตยสารและสื่อต่างๆ รวมถึงการผลิตโทรศัพท์รูปทรงล็อบสเตอร์อีกด้วย สัตว์เลือดเย็นขนาดใหญ่ตัวนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเขา ณ เวลานั้น แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าจะมีคนนำมาทำเป็นลวดลายบนเสื้อผ้า แต่เอลซ่าทำ! และเธอไม่ได้เพียงแค่เอาลายไปพิมพ์บนชุดเดรส แต่เธอจัดวางให้ล็อบสเตอร์ตัวนี้พาดยาวตั้งแต่ต้นขายาวตามแนวขาด้วยสัดส่วนที่พอดี ชุดเดรสผ้าไหมชิ้นนี้อาจจะดูเรียบง่ายแต่แท้จริงแล้วมีการสอดแทรกเทคนิคการเน้นซิลูเอตขั้นสูงไว้ ชิ้นผ้าต้องถูกเดรปให้เข้ากับรูปร่างของผู้สวมใส่ เลเยอร์ผ้าไหมและผ้าทูลที่ให้อารมณ์ความพลิ้วไหวแต่ก็คงทรงของชุดได้อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญล็อบสเตอร์ตัวยาวพร้อมหนวดถูกจัดวางลงอย่างแนบเนียนโดยใช้เวลากว่า 150 ชั่วโมง กว่าชุดในความทรงจำสายแฟชุดนี้จะสำเร็จ โดยชุดนี้ Wallis Simpson เป็นผู้ใส่คนแรกช่วงก่อนเข้าพิธีแต่งงานกับเจ้าชาย Edward ที่ 8 และถูกบันทึกภาพโดย Cecil Beaton

Skeleton Dress และ Shoe Hat / ภาพ: fashionunstitched และ Met Museum

     เอลซ่าแสดงให้เห็นว่าศิลปะแบบเซอร์เรียลสามารถนำมาปรับใช้กับแฟชั่นได้อย่าลงตัว ความพิดเพี้ยนขัดกับตรรกะความเป็นจริงก็เปรียบเสมือนความแฟนตาซีในสมองมนุษย์ ความเหนือจริงเหล่านี้ยังถูกเล่าผ่านเทคนิคแฟชั่นอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น “Skeleton Dress” ชุดเดรสที่มีการใช้เทคนิคการทำควิลต์และแผ่นเสริมช่วงซี่โครง กระดูกสันหลัง และขาทำให้เวลาสวมจะดูเหมือนเป็นโครงกระดูกสีดำขยับตัวไปมา “Shoe Hat” หรือหมวกรูปทรงรองเท้าก็ถือเป็นความแปลกที่เอลซ่าลองนำของจากท่อนล่างมาปรับฟังก์ชั่นและใช้ในส่วนบนสุดของร่างกาย ถือเป็นการตีกรอบข้อบังคับเรื่องแฟชั่นแตกกระจายของเอลซ่า!

ความฟูฟ่องเกินบรรทัดฐานความพอดีที่ Elsa Schiaparelli มองเป็นศิลปะและใส่เป็นรายละเอียดของชุดอย่างมั่นใจ / ภาพ: Silhouette Trend

     แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เอลซ่าโดดเด่นในวงการจนเป็นคู่แข่งของชาเนลได้อย่างสูสีแม้จะเดินกันคนละเส้นทาง คำตอบแรกคือความแปลกใหม่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปแค่เรื่องแฟชั่น เมื่อเราไม่ต้องพึ่งกรอบเสียอย่างเราก็จะมีอิสระในการสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ สมกับฉายาที่ถูกนิยามให้ว่า “ศิลปินชาวอิตาเลียนที่ผลิตเสื้อผ้า” บทเรียนของเอลซ่าแสดงให้เห็นว่าเราสามารถผสมผสานความชอบหลายด้านเข้าด้วยกันและพัฒนาออกมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ความเซอร์เรียลอาจจะสร้างบรรทัดฐานมาตัดสินไม่ได้ แต่ที่พิสูจน์ได้แน่นอนคือพรสวรรค์...เอลซ่าไม่เคยแม้แต่จะเรียนเกี่ยวกับการตัดเย็บอย่างจริงจัง แต่เสื้อผ้าทุกชิ้นกลับมีการซ่อนลูกเล่นที่ค่อนข้างซับซ้อนไว้เสมอ เทคนิคสำหรับแต่ละชุดก็แตกต่างกัน คุณค่าของสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เอลซ่าฝากให้คนรุ่นหลังนึกถึงอยู่เสมอ

อีกหนึ่งผลงานอันน่าจดจำตลอดกาลอย่าง Divided Skirt / ภาพ: AG Nauta Couture

     น่าเสียดายที่สงครามไม่ได้ทำลายแค่ชีวิต แต่ทำลายความสวยงามของแฟชั่น เทรนด์เริ่มเปลี่ยนไปสู่การเน้นฟังก์ชั่น ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในปี 1940 ทำให้เอลซ่าต้องปิดร้านชั่วคราวและย้ายจากกรุงปารีสสู่มหานครนิวยอร์ก เธอรอจนจบสงครามแล้วจึงย้ายกลับมาแต่ก็พบว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว ความเซอร์เรียลและเทคนิคอันน่าตื่นเต้นไม่ตอบโจทย์แฟชั่นยุคหลังสงครามอีกต่อไป เธอทำได้เพียงแค่พยายามสร้างชื่อและจุดยืนกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ปี 1951 ไลน์เสื้อผ้ากูตูร์ต้องปิดตัวลงและร้านก็ปิดตัวลงตามอย่างเป็นทางในเดือนธันวาคมปี 1954 ความเจ็บปวดที่สุดคือ ในวันที่เธอล้ม โคโค่ ชาเนลค่อยๆ กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ เอลซ่าเหลือแต่ชื่อและความทรงจำด้านศิลปะให้คนพูดถึง แม้แบรนด์จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งใน 2007 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013 แต่น่าเสียดายที่ความอัจฉริยะของดีไซเนอร์สาวผู้สร้างปรากฏการณ์ศิลปะบนเสื้อผ้านั้นไม่มีอีกแล้ว ด้วยรักและอาลัยเนื่องในโอกาสการจากไปแบบไม่มีวันกลับครบรอบ 47 ปี “เอลซ่า ชาปาเรลลี”             

WATCH