FASHION

เปิดมุมมองตลาดยูทูบเบอร์ไทยกับ 3 นักสร้างคอนเทนต์ขวัญใจคนไทย BOOMTHARIS, ZOMMARIE และ PROUD

กลุ่มนักสร้างคอนเทนต์ที่มีพลังผู้ติดตามมหาศาลเหล่านี้คือกระจกสะท้อนของความชอบ ความสนใจ และนิสัยใจคอของคนไทยรุ่นใหม่

เมื่อการสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอแบบโฮมเมดกลายเป็นศาสตร์และศิลป์แขนงใหม่ที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในยุคโซเชียลมีเดียครองเมือง กลุ่มนักสร้างคอนเทนต์ที่มีพลังผู้ติดตามมหาศาลเหล่านี้คือกระจกสะท้อนของความชอบ ความสนใจ และนิสัยใจคอของคนไทยรุ่นใหม่


@BOOMTHARIS

การเปิดประสบการณ์พาชมบ้านและคอนโดร้อยล้านพันล้าน การเดินทางไปลอนดอนเพื่อตัดสูทกับร้านเทเลอร์ในตำนานจากภาพยนตร์เรื่อง Kingsman การอาสาชิมไข่หอยเม่นกิโลกรัมละ 70,000 บาท รวม 7 แบรนด์ ของ “บูม-ธริศร ธรณวิกรัย” ทำให้ตลาดยูทูเบอร์ในกลุ่มคอนเทนต์ระดับซูเปอร์ลักชัวรีคึกคักขึ้นมาถนัดตา

 

THE PROCESS

“ตอนที่เริ่มทำช่อง BoomTharis ใหม่ๆ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว คำว่า Vlog ที่ทุกคนใช้เรียกการถือกล้องแล้วกดอัดไปเรื่อยๆ เพิ่งเริ่มฮิตในประเทศไทย ยูทูเบอร์หรือแม้กระทั่งคนดูเริ่มศึกษาทำความรู้จักกับคอนเทนต์ประเภทนี้ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ทดลองทำ วิดีโอแรกของช่องผมไม่ใช่การพาไปดูของหายากอะไรเลย แต่เป็นวิดีโอไปออกบูทขายเสื้อผ้ากับภรรยา ซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาดูด้วยซ้ำ วันแรกที่อัปโหลดขึ้นไปบนยูทูบมีคนเข้ามาดู 20 คน เป็นเพื่อนผมเองล้วนๆ (หัวเราะ) เรายังจับทางไม่ได้ว่าควรทำคอนเทนต์ประเภทไหน แต่วิดีโอที่ทำให้ผมเป็นที่รู้จักมากขึ้นน่าจะเป็นวิดีโอพาชมคอนโดราคา 191 ล้านบาทของตึกมหานครที่เพิ่งเปิดห้องตัวอย่างให้ชมครั้งแรก ตามมาด้วยวิดีโอพาไปกินโอมากาเสะ ซึ่งมีคนกดเข้ามาดูหลักล้านภายใน 1 สัปดาห์”

 

THE STRATEGY

“ผมไม่เคยคิดว่าคอนเทนต์ของช่องผมจะต้องจัดอยู่ในกลุ่มลักชัวรีเท่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในใจของคนดูคือราคาสินค้าที่สูงผิดปกติ เช่น คอนโดราคาร้อยล้าน ซูชิมื้อละหมื่น เพราะมันกระตุ้นต่อมสงสัยของผู้คน พวกเขาอยากรู้ว่าสินค้าเหล่านี้มีดีอย่างไร ทำไมถึงแพง เพราะสำหรับผมคำว่าลักชัวรีมันกว้างกว่านั้นมาก แต่สิ่งที่ผมหรือแม้กระทั่งผู้ผลิตคอนเทนต์หลายๆ คนทำอยู่คือการสร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจคนและตอบคำถามนั้น”

 

THE REFLECTION

“ในมุมมองของผมจริตการเสพคอนเทนต์ของคนไทยส่วนใหญ่จะผ่อนคลายกว่าฝั่งตะวันตก ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ชอบฟังเรื่องซีเรียส แต่การนำเสนอเรื่องซีเรียสต้องมีการสอดแทรกความบันเทิงเข้าไปด้วยเพื่อให้มันกลมกล่อม ทำให้คอนเทนต์ในบ้านเราค่อนข้างเป็นไปในเชิงบวก นำเสนอรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ถือเป็นคาแร็กเตอร์ของคนไทยเลยก็ว่าได้ บ้านเราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้ซาวด์เอฟเฟกต์ตบมุก เสียงพวกนี้บางประเทศไม่นิยมเลย แต่คนไทยใช้กันเกือบทุกคลิป”

 

THE MARKET

“ในโลกของยูทูเบอร์ผมมองว่ามันไม่ใช่ Zero–sum game เราไม่ได้มองว่าช่องอื่นเป็นคู่แข่งเรา เพราะในมุมของคนดูที่เสพคอนเทนต์ เขาสามารถดูคอนเทนต์เดียวกันจากหลายๆ ช่องได้ เช่น เราอยากจะดูรีวิวโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง เราคงไม่ได้เชื่อยูทูเบอร์เพียงคนเดียวแล้วตรงดิ่งไปซื้อมือถือใหม่เลย คนส่วนใหญ่จะเลือกฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ผมเลยคิดว่าเราไม่ได้แข่งกันในเชิงจำนวนตัวเลข แต่เราอาจจะแข่งกันได้ในบางโอกาส เช่น ความเร็ว หรือความเอกซ์คลูซีฟ ซึ่งถึงแม้แข่งกันให้ตายอย่างไรสุดท้ายการตัดสินใจอยู่ที่คนดู ต่อให้คุณทำคอนเทนต์เรื่องนี้เป็นคนสุดท้าย แต่ถ้าคนดูเขาชอบวิธีการนำเสนอของคุณ เขาก็ดู”

 

THE RULE

“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานของผมคือการตรวจสอบข้อมูล ทุกอย่างที่จะออกจากปากผมไปต้องมีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ผมค่อนข้างเลือกแบรนด์ที่ผมจะร่วมงานด้วย เพราะในยุคนี้คนดูเขารู้แล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบหรือเชียร์ทุกแบรนด์ ทุกครั้งที่เราตัดสินใจลงโฆษณาให้ใคร เราต้องตรวจสอบสินค้าอย่างละเอียด ส่วนวิธีการขายที่ผมใช้คือขายให้จบเร็วที่สุด แล้วรีบเข้าเรื่องที่คนดูเขาต้องการกดเข้ามาดูตั้งแต่แรก อีกข้อคือเราเป็นนักถ่ายทอดเรื่องราวก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องเอาทุกอย่างมาพูดทั้งหมด ของบางอย่างผมอยากเก็บพื้นที่ไว้ให้คนดูไปสัมผัสด้วยตัวเองบ้าง

 



WATCH





@ZOMMARIE

สาวน้อยเสียงใสที่เริ่มเปิดช่องยูทูบจากการร้องเพลงคัฟเวอร์ เธอคือผู้บุกเบิกคอนเทนต์กล่องสุ่มในเมืองไทย “​ส้ม-มารี เออเจนี เลอเลย์” คือต้นฉบับที่ทำให้วงการยูทูบเมืองไทยหันมานิยมการเปิดกล่องปริศนา

 

THE PROCESS

“ส้มเริ่มเปิดช่องยูทูบเพราะชอบร้องเพลง ช่วงแรกเราทำแต่คลิปร้องเพลงคัฟเวอร์ จนมีคนติดตามกว่าครึ่งล้าน แต่ร้องเพลงไปถึงจุดหนึ่งก็เบื่อ เลยเริ่มขยับมาทำไลฟ์สไตล์ เวลาออกไปเที่ยวที่ไหนก็เริ่มถ่ายมาลง เชื่อไหมช่วงแรกที่ทำไม่มีคนดูเลย เพราะคนหลายแสนที่มาติดตามเราเขาแค่อยากฟังเราร้องเพลง ไม่ได้อยากดูไลฟ์สไตล์เรา เคยถอดใจหลายครั้งแต่ก็มีอะไรดลใจให้ลุยทำต่อมาเรื่อยๆ จากนั้นก็เริ่มมาจับคอนเทนต์ทำอาหารที่ค่อนข้างไปได้ดี จนกระทั่งมาเจอคอนเทนต์กล่องสุ่ม ซึ่งเกิดจากความบังเอิญ ตอนนั้นมีลูกค้าเจ้าหนึ่งติดต่อเข้ามา เป็นแบรนด์น้ำดื่มจากญี่ปุ่น ซึ่งเขามีโจทย์ว่าอยากได้วิดีโอที่มีกลิ่นอายของประเทศญี่ปุ่น ทีมงานเลยเสนอให้ไปซื้อของมือสองแบบเหมายกลังจากโกดังสินค้าญี่ปุ่นมาลองเปิดดู ปรากฏว่ามันกลายเป็นคอนเทนต์ฮีโร่ของช่องเราไปเลย”

 

THE STRATEGY

“คอนเทนต์กล่องสุ่มหรือเรียกอีกอย่างว่าคอนเทนต์ฮีโร่ เป็นคอนเทนต์ที่คนดูเยอะก็จริง แต่ถ้าเราทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ ต่อให้คอนเทนต์ดีให้ตาย วันหนึ่งคนก็เบื่อ เราก็ต้องท้าทายตัวเองด้วยการทำอย่างไรให้ของเก่าอย่างกล่องสุ่มมันดูใหม่ได้ในทุกๆ ครั้ง”

 

THE REFLECTION

“ส้มว่าวัฒนธรรมในการเสพคอนเทนต์ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เพราะเราเติบโตกันมาคนละแบบ คอนเทนต์ที่ทำในไทยอย่างไรก็รอดคือเรื่องอาหาร ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชอบดูวิดีโอทำอาหารมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นสถิติจริงที่ทีมงานของยูทูบแชร์ให้ส้มฟัง ซึ่งตรงกับประสบการณ์ของเราเองจากการทำรายการ ครัวอิชั้น เป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเช่นกันในช่องของเรา ส่วนคอนเทนต์กล่องสุ่มส้มคิดว่าเกิดจากอุปนิสัยชอบลุ้นของคนไทย แต่ไม่อยากพลาดด้วยตัวเอง เพราะการสุ่มคือความเสี่ยง เราไม่มีทางรู้เลยว่ากล่องที่เราซื้อมาจะเป็นของดีหรือไม่ดี คุ้มหรือไม่คุ้ม ถ้าเราไม่อยากเจ็บตัวเอง การมานั่งดูคนอื่นเปิดให้ดูก็เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง”

 

THE MARKET

“ทุกวันนี้ไม่รู้สึกว่าแข่งกับใครเลย ลองนึกดูว่าคนคนหนึ่งสามารถกดติดตามช่องยูทูบได้กี่ช่อง คำตอบคือกี่ช่องก็ได้ ดังนั้นทางเลือกเป็นของคนดู และเขาไม่จำเป็นต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่ง ส้มกลับมองว่าทุกวันนี้ในกลุ่มยูทูเบอร์ด้วยกันเราส่งเสริมกันด้วยซ้ำ เพราะการเกิดขึ้นของคำว่าคอลแลบอเรชั่น มันทำให้เราสามารถขยายฐานคนดูซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น โจทย์เดียวของเราคือทำอย่างไรให้คอนเทนต์เรายังน่าสนใจ ให้ผู้ติดตามของเรายังเหนียวแน่นเหมือนเดิม”

 

THE RULE

“มันหมดยุคแล้วที่เราจะมานั่งทำเนียนว่าเราไม่ได้โฆษณา คนเขาดูออก สำหรับช่องส้มถ้าจะขายก็ขายออกนอกหน้ากันไปเลย จากประสบการณ์ที่ได้คุยกับยูทูเบอร์หลายๆ คน เราพบว่าแต่ละช่องมีศิลปะการขายที่ทำแล้วเวิร์กไม่เหมือนกัน จุดหลักคือการเรียนรู้คนดูระหว่างทางและปรับจูนกัน”


@PROUDOLIVES

อินฟลูเอนเซอร์ทางด้านแฟชั่นที่เป็นตัวจริงและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้นมีอยู่ไม่กี่คนในเมืองไทย “พราว-อรณิชา กรินชัย” คือหนึ่งในแฟชั่นนิสต้าที่จริงจังกับการคราฟต์คอนเทนต์ในสายนี้ และนำเสนอแฟชั่นในรูปแบบของบล็อกผ่านทางโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในตลาดไฮเอนด์และสตรีตแวร์

THE PROCESS

“เมื่อก่อนคนจะรู้จักพราวในฐานะนักร้อง นักแสดง และพิธีกร ซึ่งเป็นงานแรกๆ ของเราในวงการบันเทิง แต่พอเริ่มโต มีโอกาสได้คลุกคลีอยู่ในวงการแฟชั่นมาเรื่อยๆ จากลุคสาวหวานแห่งวงโอลีฟมาสู่ลุคปัจจุบัน มันไม่ใช่ว่าสไตล์ของเราเปลี่ยนไป โอเคมันอาจจะมีการเติบโตขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงบ้างตามวัย แต่ด้วยพื้นฐานพราวเป็นคนเซอร์ๆ มาแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้เป็นสาวหวานเหมือนในชุดคอนเซปต์อัลบั้ม พอไม่ค่อยได้ทำโอลีฟแล้วเราเลยได้แต่งตัวในสไตล์ของตัวเองมากขึ้น เลยดูเหมือนว่าสไตล์เราเปลี่ยน จริงๆ แล้วคนแค่ไม่รู้ว่าเราเซอร์หลังกล้องมาตลอด”

THE STRATEGY

“พราวมีแพลตฟอร์มที่ทำอยู่หลักๆ ทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม อินสตาแกรมคือที่ที่เรานำเสนอสไตล์แฟชั่นได้เต็มที่ เน้นให้ภาพเล่าเรื่อง วันนี้ใส่อะไร ไปไหน ทำอะไร ส่วนเฟซบุ๊กเราทำเป็นลักษณะของเฟซบุ๊กเพจ ช่วงแรกจะเน้นไปทางท่องเที่ยวเสียมาก แต่ปัจจุบันจะหนักไปทางไลฟ์สไตล์และแฟชั่นมากกว่า ส่วนยูทูบเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการแนะนำ ให้ไอเดียการแต่งตัวอย่างละเอียดและใกล้ชิด ให้คนดูสามารถนำไปทำตามได้จริง ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ใหม่มากสำหรับพราว คนติดตามก็ยังถือว่าน้อยอยู่ แต่เราไม่ได้มองตรงนั้น เรามองไปถึงความพอใจของคนดูมากกว่า มีบางคนมาคอมเมนต์ว่าเราแต่งตัวอะไร (หัวเราะ) เขาไม่เกต แต่เราเชื่อว่าแฟชั่นไม่มีขีดจำกัด ถ้าเราสามารถทำให้คนสนุกและเปิดใจกับแฟชั่นมากขึ้นเราก็ดีใจ”

THE REFLECTION

“พราวว่าคนไทยชอบความสนุกสนานเฮฮา ตัวพราวไม่ได้เป็นคนที่ตลกอะไรมากมาย แต่เราก็พยายามจะทำคอนเทนต์ในแบบของเรา สิ่งสำคัญคือการเป็นตัวเอง อีกอย่างคือคอนเทนต์ที่เราทำอยู่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม อย่างบ้านเรามีบิวตี้บล็อกเกอร์เยอะมาก แต่แฟชั่นบล็อกเกอร์มีน้อย อาจเป็นเพราะความเข้าใจและเปิดกว้างเรื่องแฟชั่นยังค่อนข้างจำกัด เราเลยมีกันอยู่แค่นี้”

THE MARKET

“ช่วงที่เปิดช่องยูทูบมาใหม่ๆ คำว่าคอลแลบอเรชั่นเกิดขึ้นแล้วทั่วทุกวงการ รวมถึงวงการยูทูเบอร์ด้วย อย่างช่องของพราวเองก็พยายามจะชวนคนรู้จักรอบตัวมาทำอะไรสนุกๆ ด้วยกัน ล่าสุดแฟนพราว (พี่แทน วง Lipta) เป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงให้อิ้งค์-วรันธร เปานิล ในหัวเราตอนนั้นก็คิดแล้วว่าอยากชวนอิ้งค์มาทำอะไรสักอย่างในช่องเรา พราวเลยไปเสนอตัวขอเป็นสไตลิสต์เพลงซิงเกิลใหม่ให้ ถามว่าเสี่ยงไหม ก็เสี่ยงนะ เพราะลุคนั้นเขาต้องเอาไปใช้โปรโมตเพลงจริงๆ เราก็ตั้งใจทำเต็มที่และกดดันมาก แต่ผลตอบรับออกมาดี เราก็ดีใจ คอลแลบอเรชั่นในลักษณะนี้ถือเป็นกลไกหนึ่งของตลาดยูทูบในปัจจุบัน”

THE RULE

“พราวจะตั้งกฎให้ตัวเองเลยว่าต้องมีคอนเทนต์ลงอินสตาแกรมทุกวัน ตื่นมาต้องทำการบ้านว่าจะใส่ชุดอะไรดี ไม่อย่างนั้นเราจะเฉื่อยชา คนมักเข้าใจผิดคิดว่าการเป็นอินฟลูเอนเซอร์มันสบาย ความเป็นจริงคือทุกอย่างที่คุณเห็นว่าสวยงามนั้นผ่านกระบวนการวางแผน จัดเตรียม และกลั่นกรองมาอย่างหนัก ชั่วโมงในการทำงานของเราไม่ได้น้อยไปกว่าคนอื่น”

 

มารี เออเจนี เลอเลย์ สวมชุดกระโปรงยาว ผ้าลินินตกแต่งสายเอี๊ยม จาก Landmee เครื่องประดับ จาก Gemster

อรณิชา กรินชัย สวมจั๊มป์สูทตัดต่อคอปก ผ้าลูกไม้ จาก Landmee กระเป๋าสะพายสายโซ่สลับหนัง จาก Chanel รองเท้าส้นสูง จาก Christian Louboutin

 

โปรดิวเซอร์: ปภัสรา นัฏสถาพร

ประสานงาน: พรรณธร ธรรมนิภานนท์, กุลสินีธิดา อุทัยผล

ช่างภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช

สถานที่: The Republic of Fritz Hansen

ตัดต่อ: ธนวิชญ์ ตาตะนันทน์

WATCH