FASHION

จิตวิญญาณผู้สร้างศิลปะแต่ไม่ใช่ ศิลปิน - ชาติชาย ปุยเปีย

บทสัมภาษณ์มุมมองทางศิลปะชาติชาย ปุยเปีย

The Soul Stroke

มารดาของเขากล่าวไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของบุตรชาย (ซึ่งก็คืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง) ว่า ชาติชาย ปุยเปีย รักการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อโตขึ้นผู้คนก็รักรูปที่เขาวาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพเหมือนตัวเขาเองจำนวนนับไม่ถ้วนในพิพิธภัณฑ์ อีกมากอยู่ในมือนักสะสม หลายปีเขาไปเดินชนแก้วในงานแสดงศิลปะระดับโลก

     

ก่อนอัตตาจะงอกเงยเกินแก่นแท้ ระหว่างช่วงสูงสุดในอาชีพ เขาตัดสินใจจะเป็นศิลปินผู้ถอนตัวจากสังคมศิลปะ

     10 กว่าปีหลังการตัดสินใจครั้งนั้น ประตูดินแดนศิลปินของชาติชายที่กรุงเทพฯแง้มออกอย่างลองเชิงในวันที่เขาหวนกลับมาทำนิทรรศการใหม่ในรอบทศวรรษ นอกจากผืนผ้าใบกองพะเนินใต้เพดานสูงโปร่งบนชั้น 2 ตู้แผ่นเสียงกับหย่อมหนังสือใต้เพดานค่อนข้างจะเตี้ยที่ชั้นล่างแล้ว ทุกซอกมุมจะหางานศิลปะที่ไม่ใช่รูปหน้า (หรือรูปหล่อฝ่าเท้า) ของเขาแทบไม่มี หากเยื้องมุมขวาเหนือเก้าอี้โยกตัวที่เขาหมายตาว่าจะนั่ง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีคาดสายตาลงมาจากกรอบรูป คล้ายเขม้นมองลูกศิษย์ของท่านที่วางถ้วยชาดอกปีบสีเหลืองก่ำ 2 ใบ แล้วทิ้งตัวลงจรดถ้อยคำว่าด้วยเรื่องที่เขารู้ดีที่สุด ทว่าไม่ใคร่ได้พูดกับใครมานับ 10 ปีแล้วโดยเฉพาะกับบุคคลที่เรียกว่า “สื่อ” แต่ที่สุดแล้วอนุโลมให้โว้กเข้ามาสนทนาด้วย

     “เป็นคนที่ไม่น่าจะได้ดิบได้ดีอะไรถ้าเผื่อว่าวาดรูปไม่เป็น” เขาวิพากษ์ตนเอง “ศิลปะเป็นการหาประโยชน์ในการสร้างสิ่งหนึ่งจากความเป็นไปได้ บางคนเขียนรูปต้นไม้สวยยิ่งกว่าต้นไม้ แล้วเรายังเชื่อว่ามันเป็นต้นไม้ มีความเป็นไปได้ที่ต้นไม้จะเป็นแบบนั้น บางคนเทคนิคเยอะ เขียนรูปแล้วสวยงามดี แต่มีบางรูปที่คนวาดต้องผ่านอะไรมาทั้งชีวิตถึงทำแบบนี้ได้” ศิลปินที่วาดรูปตนเองเป็นส่วนใหญ่วิเคราะห์ศิลปะ “บางทีเราไม่แน่ใจว่าเราสร้างมันหรือมันเป็นคนสร้างเรา อันไหนมาก่อนหรือหลัง เพราะบางครั้งสิ่งที่เราทำเกิดจากวาบเดียวของความคิดซึ่งอาจอุปมาจากประสบการณ์ที่เราจดจำมาซึ่งมันก็ไม่ใช่ของเรา ศิลปะน่าจะช่วยสลายอัตตาให้เราตระหนักว่าจริงหรือที่เราเป็นผู้คิดค้น จริงหรือที่ตื่นมาเก่งกล้าสามารถฝ่าฟันขวากหนามได้หมด ไม่เคยหรือที่ตื่นมาแล้วไม่มั่นใจลังเล ถ้าคนเราซื่อสัตย์หรือมีตาละเอียดไว้มองตัวเองจริง ๆ ผมว่าไม่เคยเกิดขึ้นหรอก”

     เสียงเพลงของ Lydia Mendoza จากซีดีที่วางเคียงแผ่นเสียง Brubeck Plays Brubeck และซีดีเพลงกล่อมลูกชาวสยามสงัดลง แต่ที่กังวานขึ้นคือเสียงพูดเนิบช้าอย่างคนที่รอให้ปากตามหลังสมองของเจ้าบ้าน “เรารู้สึกว่าการไม่มีคนเห็น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่าลืมสิว่าป้าที่ผัดข้าวให้เรากินไม่เห็นมีใครรู้จักแกเลยยังอร่อยขนาดนั้น อร่อยกว่าร้านมิชลินที่ต้องบินไปกินถึงไหน ๆ หรือเราเคยนั่งเรือเฉือนปลากินกลางทะเลกับเพื่อนอร่อยกว่าร้านซูชิที่ต้องจอง 2-3 เดือนกว่าจะได้กิน โลกของความงามไม่มีรูปแบบตายตัวเลยจริงๆ ถ้าทุกคนมุ่งหน้าไปในทางเดียวกันจะเป็นอย่างไรรู้ไหม มันจะมีแค่คนสำเร็จกับคนล้มเหลว คุณจะยืนอยู่ตรงไหนล่ะ มีจริงหรือเปล่าไม่รู้ความสำเร็จกับความล้มเหลว ตอนผมไปบวชอยู่ 4-5 เดือนไม่คิดจะสึก สิ่งที่ผมทำมาทั้งชีวิตยังรั้งผมไว้ไม่ได้เลย แต่คิดถึงลูกเลยต้องสึก สิ่งแรกที่ลืมคือความสำเร็จด้วยซ้ำ”

สำหรับคุณ ความสำเร็จคืออะไร

     “ความมีอิสรภาพ มันจะมีอะไรไปมากกว่านั้น คนที่ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นก็ยังยินดีปรีดากับวันเสาร์-อาทิตย์ที่จะได้ไปทำอย่างอื่น แต่อิสรภาพของผมสลายไปอยู่ในทุกอณูของวันซึ่งต้องทำความเข้าใจกับมันให้ดีเหมือนกัน เพราะจะน่าเสียดายมากกว่าการไม่มีเรื่องดี ๆ ด้วยซ้ำถ้าไม่รู้จักรักษาคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เพื่อนมองว่าผมวัน ๆ ตื่นมาก็วาดรูป ตกเย็นหาข้าวกิน แต่ทุกอย่างกลายเป็นความทุกข์ได้ทั้งนั้นถ้าเราไม่เข้าใจมัน ซึ่งความมีวินัยจะช่วยให้เราตรวจสอบตัวเอง ไม่ผลีผลามตัดสินอะไรให้ตัวเองเร็วเกินไป คงมีบ้างที่เราเผลอแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ต้องคอยปรามตัวเองบ้างว่าเรายังไม่ได้ไปถึงไหน ยังห่างไกลมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนอื่น ๆ เคยสร้างไว้ จะวัดความสำเร็จจากการมีคนมางานแสดงเรา 300 หรือ 500 คน หรือหาเงินได้ร้อยล้านพันล้านก็ยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่ เวลาเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามแล้วเห็นอะไรที่ประทับใจ ผมต้องกลับมาถามตัวเองว่าสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ใกล้เคียงหรือยัง ของพวกนี้มันช่วยเตือนเรานะ (ชี้ไปที่งานปักครอสสติตช์รูปดอกไม้ประดับบ้าน) ผมพูดตรง ๆ ว่าขอแลกทุกความสามารถที่ผมมีเพื่อที่ผมจะทำแบบนั้นได้”

 

ไม่ได้อยากมีตัวตนเป็นศิลปินหรอกหรือ

     “กุศโลบายของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป แต่ผมมีหลักว่าเราต้องพยายามรักษาการก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปในฐานะมนุษย์คนหนึ่งให้มากที่สุด ไม่ใช่ทำงานศิลปะในฐานะศิลปิน เพราะแน่ใจแล้วหรือว่าถ้าเป็นที่รู้จักเราจะไม่ติดกับความเป็นศิลปินนั้น มันอาจทำให้เราหลงทางและจำกัดความอิสระของเราด้วย ต้องระวังตัวเมื่อออกจากบ้าน ต้องคอยดูว่าแต่งตัวเรียบร้อยดีไหม ไม่เห็นจะน่าสนุก เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อนฝรั่งชวนไปดูหนัง 4 มิติเป็นครั้งแรก ผมกลับมาบอกตัวเองว่านี่ไม่ใช่การดูหนัง เราอยากไปดูแต่ไม่ได้อยากอยู่ในเหตุการณ์ มุมมองทางศิลปะและชีวิตของผมคล้ายกับเรื่องนี้ ผมไม่ได้อยากมีตัวตน ผมสบายใจที่จะอยู่ในที่ที่ไม่ต้องมีใครมองเห็นและได้นั่งพิจารณาบางอย่างเท่านั้น”

 แต่ทุกวันนี้เหมือนสปอตไลต์ส่องผิดที่

     “ในเชิงอุดมคติผมอยากให้ทั้งโลกปิดสปอตไลต์เยอะ ๆ ไม่ต้องเจิดจ้ามากก็ได้ แล้วหัดมองทุกอย่างในความสลัวหรือกระทั่งในความมืดสนิท เผลอ ๆ จะทำให้เราเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งกว่า ความสว่างให้ความรู้อีกแบบหนึ่งแต่อาจจำกัดความรู้บางชนิด ผมเคยอธิบายให้ฝรั่งคนหนึ่งที่สังเกตว่ารูปของผมมักเป็นสีมืด ๆ เข้ม ๆ แทบทุกรูป ผมเขียนรูปจากสีเข้มเสมอ แล้วป้ายพู่กันด้วยสีที่เป็นแสงลงไปในผ้าใบสีเข้ม อุปมาคล้ายการปรากฏตัวของรูปทรง เหมือนจุดเทียนขึ้นสักเล่มหนึ่งแล้วค่อยๆ เดินเข้าไปสู่ความมืด ให้แสงค่อยๆ สัมผัสกับรูปทรงต่างๆ ในระหว่างที่เราขยับต่อเข้าไปหา อาจทำให้เราได้ค่อย ๆ พิจารณาอะไร ๆ ได้ละเอียดขึ้นในความรู้สึกกว่าการเปิดไฟสว่าง เพราะการมองเห็นชัดเจนเกินไปเราก็อาจข้ามรายละเอียดบางอย่างไป ผมเลยมีทัศนะกับเรื่องสปอตไลต์ทั้งมิติส่วนตัวและมิติสังคม”

     ย้อนกลับไปมองกิริยาสุดท้ายก่อนเขาจะนั่งคุยรวดเดียวหลายชั่วโมง คือผุดลุกไปหรี่ไฟจนได้แสงเหมือนเวลาตะวันชิงพลบ ปริมณฑลของชาติชายจึงสลัวรางอยู่เป็นนิจทั้งในชีวิตที่เขาอยู่อาศัยและในภาพที่เขียนขึ้นมา แต่แสงเหลืองทองเรืองระเรื่อเบียดแซงอณูขมุกขมัวอยู่ไหวๆ หางตาของเขาไล่ไปจับแสงนั้นตามมาด้วยปากที่ขยับสื่อคำพูดว่า “ข้าวของในสตูดิโอของผมเอาไปหล่อทองเหลือง จะเอาไปใช้งานนิทรรศการ” หางเสียงลังเลก่อนตัดใจเล่าต่อ “ผมประทับใจสารคดีเรื่องหนึ่งที่เพิ่งดูไม่นานมานี้ The Vietnam War ที่ฉายทาง Netflix ทุกวันนี้โลกไม่มีอีเวนต์ใหญ่ ๆ อย่างสงครามให้เราได้ค้นคว้าหาเหตุเลยต้องสืบค้นเข้าไปในตัวบุคคลแทน ซึ่งก็คือตัวตนของเราเอง เมื่อกลับมาแสดงงานแล้วก็ไม่อยากทำแบบเดิมๆ อยากทดลองในรูปแบบที่ผมอยากทำจริงๆ เลยจะมีทั้งงานเขียน ดนตรี และละครเข้ามาด้วย ผมแต่งเรื่องสมมติขึ้นมาเรื่องหนึ่ง นำเค้าโครงมาจากเรื่อง เวตาล มันเป็นปิศาจที่เดินทางด้วยการสิงร่างคนตาย เมื่อศพเน่าเปื่อยก็ทิ้งร่างแล้วไปหาร่างใหม่ ย้ายตนเองไปเรื่อย ๆ เวตาลอพยพมาอยู่กรุงเทพฯในปี 2012 ซึ่งในปีนั้นผมทำหนังสืองานศพชื่อ Chatchai is Dead: If Not, He Should Be เสมือนว่าเวตาลเข้ามาสิงร่างของผมแทน เวตาลเป็นคนค่อนข้างลึกลับ มีงานอดิเรกที่จริงจังมากคือการวาดภาพ สะสมงานศิลปะ ของเก่า ดนตรี และหนังสือ เขาอยู่ในห้องทองเหลืองชื่อว่า ‘เวตาลสวีท’

     “นี่ก็อยู่ในช่วงเวลาที่ยากนะครับที่ผมจะกลับมาแสดงงานอีกครั้ง หนึ่ง เราลืมไปแล้วว่าทำยังไง สอง ผมพยายามบอกทางแกลเลอรีว่าพยายามอย่าให้ผมรู้สึกตัวว่าเดี๋ยวจะมีงานเปิด ปล่อยให้เราทำไปก่อน เมื่อนั้นเราค่อยว่ากันตอนปลายทาง ผมอาจไม่มางานเปิดก็ได้ ขอให้ทำใจไว้ และผมอยากทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่งควบคู่ไปด้วย อยากให้มีความคิดของเราเป็นหลักฐานประกอบไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะไม่เหลืออะไรเอาเสียเลย และผมก็รู้สึกว่าความสง่าของผมในหลายปีที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นมากมายเหมือนกัน ตั้งแต่ทำงานศิลปะมาผมไม่ค่อยได้พูดความคิดของตัวเองมากนัก หรือคนเขาไม่ค่อยอยากเจาะเข้ามาในความคิดเราเท่าไหร่ หรือเขาอาจเข้าใจแจ่มแจ้งโดยที่เราไม่ต้องพูดอะไร เพราะเมื่องานของเราเริ่มมีคนซื้อขายได้ เขาก็แค่อยากมีรูปของชาติชาย...กลายเป็นอะไรแบบนั้นไป หลายปีที่ผ่านมาผมขายงานให้เฉพาะคนที่รู้จักกันที่จะเอาไปสะสมจริง ๆ ไม่ใช่ว่าอยากได้รูปของเราไปลงทุนหรือเอาไปขายทำกำไร ซึ่งผมขายแค่พอเลี้ยงลูก เลี้ยงลูกน้องได้ เงินน่าสนใจน้อยกว่าความสงัดในช่วงเวลาที่เราคุยกันอยู่นี่ด้วยซ้ำไป”



WATCH




ถอนตัวจากสังคมศิลปะเพราะอะไร

     “ผมคิดถึงวิถีชีวิตที่จะอยู่กับศิลปะมากกว่าจะคิดถึงศิลปะในลักษณะแค่เป็นชิ้นงาน เลยพยายามออกแบบชีวิตให้อยู่กับศิลปะให้ได้ อย่างแรกที่บอกตัวเองได้ชัดเจนคือผมไม่ค่อยชอบเวลาต้องออกไปแสดงงานเลยคิดว่าจะหยุดสิ่งเหล่านั้น”

เวลาออกไปงานอะไรพวกนี้รู้สึกอย่างไร

     “เอาเป็นว่าผมต้องใช้เวลาหลายวันหรืออาจจะหลายสัปดาห์ที่จะ...ปรับตัวเองกลับมา ผมไม่อยากเอาความรักและความศรัทธาในศิลปะไปเสี่ยงกับการถูกกัดกร่อนด้วยวิธีทางสังคมมากเกินไป ผมไม่ค่อยเข้าใจบทสนทนาเวลาหลาย ๆ คนมารวมกันตามงานเหล่านี้ รู้สึกว่ามันเบาโหวงและผมก็ไม่ชอบเป็นคนสำคัญหรือมีชื่อเสียง ไม่ชอบเวลามีคนขอลายเซ็นหรือขอถ่ายรูปด้วย แต่ทำให้ได้ทุกอย่างเพราะผมขี้เกรงใจ”

แล้วเข้าใจว่าทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม

     “เอ่อ…ก็ไม่เชิง คงเป็นวัฒนธรรมทางสังคมอย่างหนึ่งละมัง เขียนรูปเสร็จก็ต้องเอาไปให้คนดู แต่อะไรไม่ดีก็ไม่ค่อยชอบฟังและไม่ชอบให้คนชมต่อหน้าด้วย เป็นคนค่อนข้างเซนซิทีฟพอสมควร ที่สำคัญผมไม่รู้สึกว่าเจอคนที่อยากเข้าใจสิ่งที่เราทำจริง ๆ ในการสัมภาษณ์ก็จะหยุดอยู่แค่ระดับหนึ่งเมื่อได้สารที่เพียงพอแล้วสำหรับผู้อ่าน ไม่คิดเห็นใจเราซึ่งเป็นคนทำบ้างหรือ ไม่สามารถลงลึกไปได้มากกว่านี้ได้จริงหรือ ถ้าบอกว่าแค่นี้คือศิลปะ ผมก็ไม่อยากทำ มันตื้นเขินเกินไป ผมคิดว่าวัฒนธรรมไหน ๆ ก็ตาม ความเข้มข้นทางความคิดจากสังคมจะสร้างความเข้มข้นให้กับตัวศิลปะหรือตัวศิลปิน ถ้าสังคมคิดว่าพอแค่นี้ ศิลปะก็จะได้อยู่แค่นั้น ผมเลยไม่ขอฝากชีวิตและความคิดทางศิลปะของผมไว้กับสังคม ผมจะกลับมาอยู่ในโลกของผมให้มากที่สุด พยายามเดินลงไปใช้ชีวิตและทำความเข้าใจกับมันให้ลึกที่สุด ใครจะเข้าใจหรือตีความผลงานอย่างไรก็ตามสบาย เพราะการมีชีวิตไม่ใช่แค่การมีข้าวกินหรอกนะ ศิลปะเป็นเรื่องที่ดึงดูดผมมากตอนเริ่มทำความเข้าใจกับมัน แต่กิจกรรมทางสังคมต่างหากที่ทำให้ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าศิลปะน่าดึงดูดขนาดนั้นหรือเปล่า เลยคิดว่าโดดเรือดีกว่าตอนที่ยังมีแรง”

ช่วงเวลาที่หยุดออกไปเจอสังคม เกิดอะไรขึ้นบ้าง

     “หมายถึงสังคมศิลปะนะครับ ผมไม่ค่อยได้เจอศิลปิน แต่มีสังคมเพื่อนที่ทำอาชีพอื่น ๆ ผมมีกิจวัตรค่อนข้างต่อเนื่องมา 14 ปีแล้ว ใช้ชีวิตอยู่ในสตูดิโอที่เหมือนเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชีวิต ซึ่งก็ไม่ได้มีความคิดดี ๆ เกิดขึ้นทุกวันหรอก บางวันทดลอง บางวันนั่งจ่อม ขีดเขียน ฟังเพลงไปเรื่อย รื้อของเก่า ๆ มาดู บางครั้งล้มเหลว บางครั้งสำเร็จ แต่ภายในอาณาเขตห้องทำงานเล็ก ๆ นั้นมีอะไรเกิดขึ้นเยอะ ทำงานของเราไปประเดี๋ยวก็เที่ยงแล้วต้องรับลูกไปกินข้าว เวลาไม่เคยพอ ความเหงาไม่ได้ฆ่าเราหรอก ความวุ่นวายต่างหากที่จะฆ่าเรา ผมกลับรู้สึกว่าความเหงาแก้ได้ ทางหนึ่งก็คือเดินออกไปหาความวุ่นวายสิ หรือไม่ก็ขับรถไปปากคลองตลาด หอบดอกไม้ใส่หลังรถ ตีหนึ่งตีสองนั่งจัดดอกไม้ เปิดเพลงฟัง แค่นี้ก็หายเหงาแล้ว”

     ข้างประติมากรรมรูปตัวเขาก้มมองลอดหว่างขาขนาด 2 ฝ่ามือคือกรอบรูปบรรจุภาพที่ไม่เหมือนผลงานใด ๆ ของชาติชาย สีสดใสอย่างนั้น ลายเส้นไร้เดียงสาปานนั้น กำกับไว้ด้วยลายมือที่ลากเป็นคำว่า “29 มีนาคม 2543” ของขวัญวันเกิดพ่อจากลูกชายคนเดียวกระมัง หลายช่วงหลายตอนที่เอ่ยถึงโชน ปุยเปีย คล้ายว่าชาติชายคลายความเป็นศิลปินและมนุษย์ช่างคิดกลายเป็นเพียงพ่อธรรมดา ๆ คนหนึ่ง “เขาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสุขในช่วงเวลาที่เราผ่านชีวิตศิลปินมาและเป็นคนตรึงให้เราอยู่กับวินัย ถ้าไม่มีเขาป่านนี้เราอาจไปเป็นฮิปปี้ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้หรืออาจเถลไถล ความเป็นศิลปินมีสิ่งล่อเยอะ ชื่อเสียง เงินทอง ผู้หญิง วัตถุ เป็นเหมือนกับปลาไหลกับน้ำแกงที่ไม่ว่าคุณจะต้องการหรือไม่ก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอยู่ดีและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือ เขาเลือกมาสายแฟชั่นซึ่งบอกตามตรงว่ามีความเป็นธุรกิจมากกว่าไฟน์อาร์ตเยอะ สาระอยู่ที่เขาควรจะมีความสุขและไม่ให้สิ่งที่ทำให้มีความสุขนำพาไปสู่ความทุกข์ก็พอเพราะมันไถลไปสู่อย่างอื่นได้ บอกเขาว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรที่ต้องบริหารงานเยอะเกินไป เพราะโคตรเหง้าศักราชทั้งพ่อและแม่ไม่มีใครเคยทำมาค้าขายสักคน”

     เขาปรารภหลายขณะว่าหาสาระจากคำพูดของเขาได้หรือไม่ และสิ่งที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้ไกลจากเรื่องศิลปะเกินไปไหม เราไม่ได้ให้คำตอบและเขาไม่ได้ตอบคำถามของตัวเองในทันที หากไพล่ไปค้นเรื่องหนึ่งจากกรุความหลังมาเล่าให้ฟังว่า “ผมค่อนข้างคำนึงถึงเรื่องหนึ่งมาก ๆ เป็นเรื่องตั้งแต่ 20 กว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นผมอายุ 30 คุณพ่อของผมเสียไปแล้วแต่หมอปลุกขึ้นมา ชั่วโมงท้าย ๆ ในชีวิตของพ่อเลยไม่มีความทรงจำ แต่มีชีวิต หายใจ ลืมตา ซึ่งหมอเตือนไว้ก่อนที่ผมจะเดินเข้าไปหาพ่อว่าอย่าตกใจ ภาพที่ผมเห็นคือพ่อถูกมัดตัวเอาไว้แน่นหนา หน้าเดิม ร่างกายเดิมแต่สายตาของพ่อที่มองกลับมาไม่ใช่สายตาที่เรารู้จักมาตลอดชีวิต เป็นสายตาที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและว่างเปล่า” เขาเงียบไปหลายอึดใจ สายตาจรดในอากาศ เหมือนคนที่พยายามจะเขียนรูปอยู่ในหัวของตัวเอง

     “สุดท้ายคนเราก็เหลือแค่สัญญา ก็คือความทรงจำ ปราศจากสิ่งนี้แล้วชีวิตคืออะไรเล่า ผมเลยพยายามออกแบบชีวิตตลอดมา เส้นทางที่เดินอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ผมขอแค่ความสงบและไม่ต้องทุรนทุรายเกินไปเหมือนกับภาพที่เราเคยเห็น ถามว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวกับศิลปะไหม ผมไม่รู้ว่าศิลปะคืออะไร ผมรู้แต่ว่าผมมีชีวิต ผมต้องการความสงบบ้างเท่านั้นเอง”

WATCH