FASHION

ทำไม Cartier ต้องคู่กับเสือ! รู้จัก Jeanne Toussaint สตรีผู้สร้างความอมตะให้คาร์เทียร์ด้วยเสือเพียงตัวเดียว

เปิดตำนาน Jeanne Toussaint หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังความเป็น Cartier จนถึงทุกวันนี้

     อัญมณีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้หญิงทั่วโลก เครื่องประดับอันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางราคาและจิตใจคือสิ่งที่แบรนด์จิวเวลรีมุ่งเน้น ความยอดเยี่ยมของการออกแบบผนวกเข้ากับความเลอค่าของอัญมณีแต่ละชิ้นสร้างความละเมียดละไมในชิ้นงาน ความสวยงามถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าจะต้องการความยืนยาวชนิดเป็นอมตะ ความล้ำค่าทางด้านมูลค่าราคาจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวอีกต่อไป ในวันที่ Cartier มุ่งมองหาความยืนยาวในการเปลี่ยนเม็ดหินสีสวยมาสู่จิวเวลรีล้ำค่า พวกเขาต้องมองหาคนพิเศษที่ไม่ได้เป็นเพียงนักออกแบบแต่คือผู้ที่จะสร้างความอมตะให้กับแบรนด์จิวเวลรีระดับตำนานตลอดไป

Jeanne Toussaint กับรองเท้าบู๊ตสไตล์รัสเซียในออฟฟิศ Rue da la Paix ของ Cartier ในปี 1967 / ภาพ: Henry Clarke-Condé Nast

     ชื่อของ Jeanne Toussaint ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของคาร์เทียร์ทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องความอมตะ เด็กสาวจากเมืองชาร์เลอรัว ประเทศเบลเยียมกับชีวิตวัยเด็กอันตรากตรำลำบากนำทางเธอมาสู่ปารีส มหานครที่ใช้ศิลปะ การดีไซน์และคอนเนกชั่นเป็นสกุลเงิน และปารีสนี้เองทำให้ฌอนได้พบกับ Louis Cartier ทายาทของแบรนด์ ความยอดเยี่ยมของเธอช่างเตะตา เธอคือสไตล์ไอคอนแห่งศตวรรษที่ 20 และรับตำแหน่งพิเศษในวงการจิวเวลรีโลก ฉายา “La Panthère” สะท้อนตัวตนขณะพบเจอกัน ในขณะเดียวกันชื่อนี้ก็กำลังจะกลายเป็นสุดยอดตำนานแห่งคาร์เทียร์

Jeanne Toussaint กับสภาพโต๊ะทำงานของเธอในสำนักงานของ Cartier / ภาพ: Victoriana Antique & Fine Jewelry

     ทำไมเราถึงต้องสนใจ “La Panthère” คำตอบง่ายๆ คือชื่อเสียงอันโด่งดังมาจนถึงปัจจุบันทำให้เราต้องย้อนกลับไปมองอย่างลึกซึ้งว่าความพิเศษในเอกลักษณ์ของแบรนด์คาร์เทียร์มีที่มาที่ไปอย่างไร ย้อนไปสมัยศตวรรษที่ 16 และ 17 เฟอร์จากเสือแพนเธอร์คือความสุดยอดด้านแฟชั่นและเครื่องบ่งบอกฐานะแห่งยุค และพัฒนากลายเป็นจุดสูงส่งทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว จากรากฐานนี้เองทำให้เมื่อหลุยส์พบกับฌอนและตกลงร่วมงานกันในปี 1913 การตัดสินใจที่เฉียบขาดและความฉลาดหลักแหลมทำให้เธอได้ฉายา “La Panthère” และส่งต่อความเลอค่าของฉายาออกมาเป็นดีไซน์นาฬิกาข้อมือในปี 1914 นั่นเอง



WATCH




1 / 2

เคสใส่บุหรี่รูปเสือแพนเธอร์ระหว่างต้นไซเปรส 2 ต้นซึ่งทำจากทับทิม และหยก ส่วนตัวเสือทำจากแพลตทินัม เพชร และโอนิกซ์ / ภาพ: Courtesy of Cartier


2 / 2

‘Vanity Case’ อีนาเมลสีดำ-ทอง ประดับด้วยเสือแพนเธอร์ซึ่งทำจากเพชร แพลตทินัม และโอนิกซ์ ที่ Jeanne Toussaint สั่งทำเป็นการส่วนตัว / ภาพ: Courtesy of Cartier


     สิ่งของหลายอย่างถูกรังสรรค์ขึ้นจากบรรทัดฐานคำนี้ ปี 1917 หลุยส์มอบไอเท็มชิ้นตำนานอย่าง Vanity Case และเคสใส่บุหรี่ซึ่งถูกประดับด้วยเสือแพนเธอร์หรือเสือดำท่ามกลางต้นไซเปรส 2 ต้น ถือเป็นความยอดเยี่ยมของการออกแบบ ซึ่งฌอนนำสิ่งนี้มาต่อยอด และปี 1919 เธอก็สั่งทำ Vanity Case ของคาร์เทียร์อีกชิ้นเป็นของตัวเอง เสือดำตัวนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ความเป็นออริจินัลประกอบกับรสนิยมชั้นเลิศทำให้หลุยส์ประทับใจอย่างยิ่งจนเธอมีโอกาสทำงานในเมซงของคาร์เทียร์อย่างจริงจัง เริ่มออกแบบตั้งแต่กระเป๋าไปจนถึงแอ็กเซสเซอรี่ชิ้นต่างๆ โดยอยู่ในสถานะของหัวหน้าฝ่ายเครื่องหนัง และในปี 1924 หลุยส์ได้แต่งตั้งฌอนเป็นหัวหน้าฝ่าย “S” หรือฝ่ายเครื่องเงิน (Silver) ซึ่งจุดนี้เองทำให้ตำนานของวงการจิวเวลรีมีความพิเศษโดดเด่นออกมาราวกับว่าเส้นทางนี้ออกแบบมาเพื่อชีวิตฌอนโดยเฉพาะ

Jeanne Toussaint ระหว่างการให้สัมภาษณ์ในช่วงยุค 1950s / ภาพ: Courtesy of Cartier

     ความก้าวหน้าของคาร์เทียร์มาพร้อมความก้าวหน้าของเธอ การพัฒนาตัวเองนำไปสู่การพัฒนาแบรนด์ ปี 1933 ความพิเศษในตัวฌอนยิ่งทำให้หลุยส์ตัดสินใจแต่งตั้งเธอเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ประจำแบรนด์จิวเวลรีอันมีประวัติยาวนานแห่งนี้  ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งสำคัญขนาดนี้ การทำงานกับดีไซเนอร์อย่าง Pierre Lemarchand ยิ่งทำให้ซิลูเอตของจิวเวลรีสุดยอดขึ้นไปอีกระดับ จากแนวคิดและแพตเทิร์นการออกแบบถูกเปลี่ยนสู่จิวเวลรีชิ้นสำคัญประจำศตวรรษที่ 20 ของคาร์เทียร์เลยทีเดียว หลังจากนั้น “La Panthère” ก็เข้าไปอยู่ในสายเลือดของแบรนด์จนถึงตอนนี้

1 / 3

เข็มกลัด “La Panthère” ปี 1948 ทำจากหยกอีนาเมลดำ-ทอง หยก น้ำหนักกว่า 116 กะรัตที่ดยุกแห่งวินด์เซอร์สั่งทำพิเศษสำหรับดัชเชส / ภาพ: Courtesy of Cartier


2 / 3

เข็มกลัด “La Panthère” ปี 1949 ที่ใช้แซฟไฟร์จากแคชเมียร์น้ำหนัก 152.35 กะรัตพร้อมขึ้นตัวเรือนจากแพลตทินัม เพชรและทอง และขายให้กับดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ / ภาพ: Courtesy of Cartier


3 / 3

ภาพสเกตช์ของผลงานการออกแบบเข็มกลัดชิ้นสำคัญต่างๆ ของ Jeanne Toussaint ในช่วงยุค 1950s / ภาพ: Courtesy of Patrimoine photographique


     ไอเท็มชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของคาร์เทียร์คือเข็มกลัด เข็มกลัดหลากหลายรูปทรงและวัสดุถูกผลิตออกมาเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็น Oiseau en cage, Libération หรือ Oiseau libéré เหล่าเข็มกลัดเหล่านี้เข้ามาสู่กระบวนการคิดของฌอน ในปี 1948 ดยุกแห่งวินด์เซอร์สั่งทำเข็มกลัดรุ่นพิเศษเพื่อเป็นของขวัญให้ดัชเชส โดยท่านเลือกรูปร่างเสือฉายาประจำตัวของเธอนั่นเอง โดยเข็มกลัดนี้ทำจากวัสดุที่เรียกว่า ‘Emerald Cabochon’ ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 116 กะรัต ต่อมาหัวเรือใหญ่ของคาร์เทียร์ได้รังสรรค์เข็มกลัด “La Panthère” ขึ้นมาอีกชิ้นในปี 1949 โดยทำจากแซฟไฟร์สีน้ำเงินจากแคชเมียร์น้ำหนัก 152.35 กะรัต พร้อมขึ้นตัวเรือนจากแพลตทินัม เพชรและทองคำ ทำให้เข็มกลัดชิ้นนี้มีมูลค่ามหาศาลเรียกได้ว่าประเมินค่าไม่ได้ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ซื้อไปครอบครอง

1 / 5

ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์เยี่ยมท่านผู้หญิง Mendl ที่พระราชวังแวร์ซายส์ในปี 1949 โดยท่านติดเข็มกลัด “La Panthère” จาก Cartier / ภาพ: Robert Doisneau


2 / 5

María Félix กับตุ้มหู ‘Serpent’ จาก Cartier ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 1971 / ภาพ: EL Universal


3 / 5

Daisy Fellowes กับลูกสาวที่ Charles de Besteigui ในเมืองเวนิส ช่วงเดือนกันยายนปี 1951 ซึ่งในค่ำคืนนั้นเธอสวมสร้อย ‘Cartier Hindu’ เฉิดฉายไปทั่วทั้งงาน / ภาพ: Robert Doisneau


4 / 5

María Félix สวมสร้อยคอ ‘Serpent’ ร่วมงานปาร์ตี้ในเมืองโดวิลล์ปี 1968 / ภาพ: Hola! USA


5 / 5

Jacqueline Delubac ติดเข็มกลัดกิ้งก่าซึ่งทำเพชรและทองคำที่ออกแบบโดย Jeanne Toussaint ร่วมงาน ‘Surrealist Ball’ ที่จัดโดย Rothchilds ณ Château de Ferrières ในปี 1972 / ภาพ: So Bad So Good


     ต้องบอกว่าความยอดเยี่ยมของคาร์เทียร์ภายใต้โลกแห่งความสร้างสรรค์ของฌอนนั้นสุดยอด ผู้หญิงยุคนั้นมีแนวคิดและนิยามความสวยงามมุ่งมาที่จิวเวลรีของคาร์เทียร์ สตรีชนชั้นสูงสร้างจุดยืนด้วยผลงานการรังสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งแต่ละคนจะชื่นชอบรูปลักษณ์ของสัตว์แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมความมีระดับภายในตัวพร้อมทั้งจุดประกายความแวววาวให้กับบุคลิก ดันขีดความชิกขึ้นไปถึงขีดสุด นี่คือสิ่งที่สตรียุคนั้นได้รับอิทธิพลจากฌอนอย่างยิ่งยวด เพราะฉะนั้นความเหนือระดับของศิลปะการออกแบบประกอบกับอัญมณีชิ้นทรงคุณค่าเกิดเป็นจิวเวลรีชิ้นสำคัญ และสิ่งเหล่านี้ยังคงทรงอิทธิพลอยู่จนถึงปัจจุบัน หากจะพูดถึงเครื่องประดับอันเลอค่าและอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สักชิ้นเราคงต้องนึกถึงคาร์เทียร์ และถ้าพูดถึงคาร์เทียร์เอกลักษณ์ตัวตนที่คงอยู่จนถึงตอนนี้...จะพูดถึงใครไปไม่ได้นอกจาก “ฌอน ทูส์แซงต์”

 

ผลงานชิ้นสำคัญอื่นๆ ของ Jeanne Toussaint (เรียงลำดับตามปี)

1 / 6

สร้อยคอ ‘Hindu’ รุ่นสั่งทำพิเศษต้นฉบับปี 1939 / ภาพ: Nils Herrmann – Cartier Collection


2 / 6

กำไลข้อมือ ‘Handcuff’ ปี 1939 ซึ่งทำจากทองคำ แอเมทิสต์ (Amethyst) และบุษราคัม (Citrine) / ภาพ: Nils Herrmann – Cartier Collection


3 / 6

สร้อยคอแอเมทิสต์ (Amethyst) ปี 1953 ที่ประดับด้วยทองคำและเทอร์ควอยส์ ซึ่งถูกขายให้กับ Daisy Fellowes / ภาพ: Nils Herrmann – Cartier Collection


4 / 6

แบงเกิลรูปทรงไคเมรา (Chimera) สัตว์ในตำนานปี 1961 โดยจิวเวลรีสีส้มชิ้นนี้ประกอบไปด้วย แพลตทินัม ทองคำ เพชร หยก และคอรัล ซึ่งขายให้กับ Daisy Fellowes ในเวลาต่อมา / ภาพ: Nils Herrmann – Cartier Collection


5 / 6

แหวนรูปทรง ‘Boule’ หรือทรงโดมทำจาก ทองคำ เพชร แพลตทินัม และทับทิม / ภาพ: Nils Herrmann – Cartier Collection


6 / 6

สร้อยคองู ‘Serpent’ ซึ่งทำพิเศษสำหรับ María Félix ดาราเม็กซิกันชื่อดัง โดยสร้อยเส้นนี้รังสรรค์จาก แพลตทินัม ทองคำ เพชร หยก และอีนาเมลหลากสี / ภาพ: Nils Herrmann – Cartier Collection


ความพิเศษล่าสุดคือแบรนด์คาร์เทียร์พาคุณย้อนรำลึกถึงเส้นทางแบรนด์จิวเวลรี่ในตำนานด้วยการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ขนาดสั้นทั้งหมด 5 ตอนภายใต้ซีรีส์ที่มีชื่อว่า L’Odyssée de Cartier บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และช่วงเวลาสำคัญที่แฟนตัวจริงไม่ควรพลาด ซึ่งแน่นอนว่าตอนแรกของภาพยนตร์สั้นซีรีส์นี้ถูกอุทิศให้กับ Jeanne Toussaint ดีไซเนอร์ในตำนานของแบรนด์ที่เป็นผู้บุกเบิกไอคอนคลาสสิกซึ่งถูกกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน ชมภาพยนตร์สั้นตอนแรกได้เลยที่วิดีโอด้านล่างนี้


WATCH

คีย์เวิร์ด: #Cartier