FASHION

เปิดวิวัฒนาการของแบรนด์ Gucci #ฉบับรวบรัด ตั้งแต่วันก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เกิดอะไรขึ้นบ้างที่กุชชี่

ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going

ท่ามกลางความคุกรุ่นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โหมดดิจิทัลแบบเต็มอัตราของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก หัวข้อ “ประวัติศาสตร์แฟชั่น” กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ คนแฟชั่นสายอนุรักษนิยมพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์และรากเหง้าเก่าแก่ในคอลเล็กชั่นล่าสุดของแบรนด์ดังต่างๆ (ซึ่งมักจะบอกว่าต่อยอดความสำเร็จในวันนี้มาจากความยิ่งใหญ่ของห้องเสื้อในอดีต แต่บ่อยครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับสิ่งที่พูดเท่าไรนัก) ส่วนอีกฟากหนึ่ง คนแฟชั่นรุ่นใหม่สายหัวก้าวหน้าก็ให้ความสำคัญกับการประกอบร่างสร้างบทบัญญัติใหม่ๆ...เพื่อยุคสมัยใหม่ๆ...เพื่อผู้บริโภคใหม่ๆ...แม้มันจะหมายถึงการต้องขีดฆ่าอดีตในบางบรรทัดก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการกลับมาของ Balenciaga Couture โดย Demna Gvasalia คือชนวนก่อให้เกิดกระแสที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งยังต่อยอดงานวิเคราะห์เจาะลึกไปอีกมากมายหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ ธุรกิจ หรือแม้แต่สังคม สาระสำคัญถึงคนแฟชั่นยุค 2020 คือการตอกย้ำว่างานดีไซน์ใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้คัตติ้งเดิมที่เห็นได้ชัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวเสมอไป การซ้อนทับของจิตวิญญาณแห่งแบรนด์ระหว่างผู้ก่อตั้งกับเจ้าลัทธิใหม่นั้นมีกลวิธีที่แยบยลกว่านัก เหนือสิ่งอื่นใด การเริ่มต้นใหม่ (ครั้งแล้วครั้งเล่า) คือสัจธรรมของวงการแห่งสไตล์ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง วรรณวนัช สิริ และ สธน ตันตราภรณ์ นึกสนุกในฉบับ “New Beginnings” ชวนกันไปสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น บุกถางทางเก่าที่ถูกลืมเพื่อสำรวจภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนเปิดแผนที่ภูมิศาสตร์ใหม่ของแม่น้ำสายหลัก 7 สายที่หล่อเลี้ยงโลกแฟชั่นมานานหลายทศวรรษ งานนี้คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going วันนี้สำหรับแฟนของแฟชั่นเฮาส์สัญชาติอิตาลีอย่าง Gucci มาทบทวนความจำกัน...

HOW IT STARTED 

Guccio Gucci ชาวอิตาลีย้ายไปทำงานที่โรงแรมซาวอย ลอนดอน ทำให้เขาได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ที่บรรดาแขกเก๋ๆ หอบหิ้วมาเช็กอินเข้าพักอยู่ทุกวัน เลยเกิดไอเดียอยากสร้างแบรนด์กระเป๋าเดินทางของตัวเอง และกุชชี่แฟมิลีในรุ่นถัดมาก็ช่วยกันสืบทอดและต่อยอดแบรนด์อย่างต่อเนื่อง สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นตัว G ไขว้ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์และเป็นที่จดจำ หลังจากเปิดหน้าร้านสาขาแรก กระเป๋าเดินทางของกุชชี่ได้รับความนิยมจากเหล่าเซเลบริตี้และดารานักแสดงเช่น Jacqueline Kennedy, Joan Collins, เจ้าหญิง Grace แห่งโมนาโก ตัว G ไขว้ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักท่องเที่ยวไฮคลาสที่ความนิยมพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ 

Gucci คอลเล็กชั่น Fall/Winter 1996 ผลงานของ Tom Ford

 

อย่างไรก็ดี เอกลักษณ์ของกุชชี่ก็เคยเป็นความไม่ทันยุคทันสมัยในช่วงหนึ่ง แต่ยุคถดถอยนั้นก็เปิดโอกาสให้ทอม ฟอร์ด ดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากเทกซัสที่หน้าตาดีจนเคยเป็นนักแสดงอยู่ในฮอลลีวู้ดช่วงสั้นๆ ก้าวเข้ามาพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กุชชี่อีกครั้งในยุค 1990 โดยไร้ข้อจำกัด ทอม ฟอร์ดเป็นแฟนคลับสตูดิโอ 74 คลับที่โด่งดังที่สุดในโลกที่ต้องเป็นคนมีชื่อเสียงเท่านั้นถึงจะได้เข้า แรงบันดาลใจของเขามาจากผู้คนในนั้น แต่ลายเซ็นทางการตลาดที่ชัดเจนที่สุดของทอม ฟอร์ดที่กุชชี่คือเซ็กซ์ที่ปรากฏอยู่ในโฆษณาและแคมเปญต่างๆ เสมอ เขาเพิ่มความหมายให้ตัว G ไขว้ว่าเป็นความหมกมุ่นเกี่ยวกับเซ็กซ์และมันก็ขายดีเป็นบ้า! ส่วนการขาย เขาปรับราคาเสื้อผ้าสูงขึ้นมากเพื่อสร้างออร่าให้เรดี้ทูแวร์ แต่เอาน้ำหอมกับแว่นตากรอบดำประดับตัว G มาขายเพิ่มเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มที่กำลังซื้อน้อยยังสามารถเข้าถึงกุชชี่ได้ 



WATCH




Gucci คอลเล็กชั่น Resort 2013 ผลงานของ Frida Giannini

 

ทอม ฟอร์ดยังเป็นผู้สร้างเทรนด์ It Bag ในยุค 1990 ด้วยจากกระเป๋าหนังหูไม้ไผ่ หลังจากดันแบรนด์ให้ทะยานขึ้นสู่ยอดคลื่นทอม ฟอร์ดก็สละเรือแล้วให้กัปตันคนใหม่ Frida Giannini ลูกหม้อในทีมเดิมขึ้นมาดูแลต่อ เธอดึงเอาลายฟลอร่าที่ทอมไม่ใช้กลับมาเพราะอยากแทรกมู้ดกุชชี่วินเทจเข้าไปเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของงานออกแบบในยุคของเธอ ลายฟลอร่านี้มีประวัติที่น่าสนใจคือเมื่อครั้งที่เจ้าหญิงเกรซมาซื้อผลงานของกุชชี่ในยุคออริจินัลและทำให้ผู้คนแห่แหนกันมาซื้อกระเป๋าตามเจ้าหญิง ครอบครัวกุชชี่ที่ดูแลแบรนด์อยู่ในตอนนั้นจึงอยากมอบของขวัญเพื่อเป็นการตอบแทน ซึ่งเจ้าหญิงเกรซต้องการผ้าพันคอ แต่ในร้านไม่มีผืนไหนถูกใจเลย แบรนด์จึงประดิษฐ์ลายฟลอร่าขึ้นมาใหม่เพื่อเจ้าหญิงเกรซโดยเฉพาะ  

HOW IT’S GOING

ปัจจุบันกุชชี่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากการจ้างเซเลบริตี้ดีไซเนอร์มาเป็นการโปรโมตคนที่อยู่ในทีม Alessandro Michele มีเวลาทำงานแค่ไม่เกิน 2 สัปดาห์แต่ก็สามารถเข็นคอลเล็กชั่นแรกออกมาทันได้ เขาปรับโครงสร้างของกุชชี่ใหม่หมด เพิ่มสิ่งที่เขาหลงใหลที่สุดก็คือวินเทจ ความเป็นศิลปะยุโรปที่มีกลิ่นอายย้อนยุคเข้าไป แถมด้วยเทรนด์ความลื่นไหลทางเพศวิถีที่เสื้อผ้าไม่ได้แยกชาย-หญิงอีกต่อไป นางแบบและนายแบบก็มีความหลากหลายในแบบแอนโดรจีนัส หยิบเสื้อผ้าผู้หญิงอย่างเสื้อผูกโบที่คอมาให้ผู้ชายสวม เส้นแบ่งระหว่างเพศที่ถูกทำลายทำให้กุชชี่กลับมาฮอตสุดขีด นอกจากนี้ยังปรับกลยุทธ์การออกแบบจากเดิมที่ของในแต่ละซีซั่นจะแตกต่างและไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องกัน อะเลสซานโดรครีเอตตู้เสื้อผ้าขึ้นมา ดังนั้น ทุกชิ้นในทุกซีซั่นสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ได้โดยไม่มีชิ้นไหนตกยุค

WATCH