Louis Vuitton , Spin-Off , FW22 , Virgil , LV Bangkok , LV Thailand , Fashion Show
FASHION

ถอดรหัสความหมายอันลึกซึ้งจากโชว์ #LVMenFW22 ที่ยกรันเวย์มาจัดในกรุงเทพฯ

เราอาจสัมผัสได้ถึงความรู้สึกรุนแรงและเต็มตื้นราวกับเพิ่งไปเยือนงานศพของคนที่คล้ายจะทราบว่าตนเองจะจากไป...

ขณะนี้เป็นเวลา 0.55 นาฬิกา และนับเป็นอีกครั้งหลังแฟชั่นโชว์จบลง ที่ผู้เขียนไม่สามารถข่มตาหลับลงได้ จนต้องลุกขึ้นมาเปิดคอมอีกครั้ง

 

แม้โชว์ #LVMenFW22 ซึ่งเพิ่งจัดแสดงกันสดๆ ร้อนๆ ณ Iconsiam จะลากต่อกันไปยังล้งเพื่ออาฟเตอร์ปาร์ตี้จนดึกดื่น แต่เมื่อหวนกลับมาพิจารณาความเป็นไปในโชว์โดยลำพังอีกครั้ง เราอาจสัมผัสได้ถึงความรู้สึกรุนแรงและเต็มตื้นราวกับเพิ่งไปเยือนงานศพของคนที่คล้ายจะทราบว่าตนเองจะจากไป

 

จริงอยู่ที่โชว์ครั้งนี้ได้ชื่อว่าเป็นงาน Spin-Off ซึ่งมองผิวเผินคล้ายว่าจะ “จัดซ้ำ” จากโชว์ทิ้งท้ายในกรุงปารีส...โชว์ที่ผู้ออกแบบคือ Virgil Abloh ไม่ได้อยู่ชมงานของตน จริงอยู่ที่มันคือบทพิสูจน์ย่อมๆ ว่ากรุงเทพมีศักยภาพสูงส่งในแง่การซื้อไม่อั้นและความเข้าใจในแบรนด์ (หรือแม้แต่ความหลงใหล) จริงอยู่ที่ว่าหลังจากนี้อาจมีโชว์แบรนด์ยักษ์แบรนด์อื่นตามมาอีกเป็นขบวน หากในอีกทางหนึ่ง เมื่อเรามองกันในแง่ของโชว์ล้วนๆ เรากลับค้นพบ “ความหมาย” มากมายในคอลเล็กชั่นนี้...ความหมายที่ใครก็ตามที่ได้รับบัตรเชิญไปชม – ไม่ว่าจะนั่งแถวใด – หรือแม้แต่จับจ้องผ่านไลฟ์สตรีม ควรเข้าใจว่าคุณกำลังอยู่ใน “ปรากฏการณ์”

พาเรดลุคจากคอลเล็กชั่น Men's Fall/Winter 2022 ของ Louis Vuitton ที่ยกมาจัดในประเทศไทย

 

วงการแฟชั่นตั้งคำถามกันมาสักพักใหญ่ว่าเหตุใดดีไซเนอร์ผิวสีรายนี้จึงเป็นตำนานเร็วนัก คำตอบที่ง่ายที่สุดคงจะต้องพึ่งคำว่า “จังหวะ” ในขณะที่คำตอบยากๆ นั้นแฝงเร้นอยู่ในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง 2022 ที่ Louis Vuitton ซึ่งอันที่จริงก็คล้ายว่าเขาจะตั้งใจพาเราหวนย้อนกลับไปเยือนบรรยากาศตั้งต้นของโชว์แรกสุดของเขาที่แบรนด์นี้เช่นกัน

 

คุณจำรันเวย์สีรุ้งในวันนั้นได้ไหม...แล้วยังจั๊มเปอร์ผ้านิตลวดลายสี่สหายเป็นเงาๆ อีกเล่า...อ้อ! ยังมีเสื้อลายดอกป๊อปปี้กับเด็กสาวหลับไหลเมามาย ที่เห็นคอหนังกับคนแฟชั่นเรียกกันว่า “โดโรธี” หรืออะไรสักอย่างนั่นอีก...เส้นทางสายสำคัญในวงการแฟชั่นที่เวอร์จิลลาดปูด้วยอิฐสีเหลืองส่องสว่างล้วนนอนมากับแนวคิดหลักแนวคิดเดียวคือ “ความเป็นเด็ก” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขาดหายไปจากวงการ เพราะเหล่ามาสเตอร์และกูตูริเยร์มัวจ้องแต่จะเติบโต เพื่อผลิบานเป็นสาวโก้หร่านกันทุกห้องเสื้อ

ผลงานคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2019 ครั้งแรกของ Virgil Abloh ที่ Louis Vuitton

 

เขาย้อนถามเราถึงนิยามของความเป็นผู้ใหญ่ ตั้งคำถามว่ามันมีอยู่จริงไหม – หรือสำคัญกว่านั้นคือ เราต้องโตหรือหรือเปล่า – ตั้งคำถามถึงไอเดียของความงามพิสุทธิ์ ซึ่งบางครั้งเราให้ความสำคัญมากเกินไปจนหลงตัวกลายเป็นความยะโสโอหัง ไม่นับรวมประเด็นเรื่อง “สี” นานาที่ผูกโผงเข้ากับวัฒนธรรมแห่งสีผิวและเชื้อชาติ ซึ่งคล้ายจะกลายเป็นหัวจิตหัวใจของชิ้นงานต่างๆ ที่เขานำเสนอมาตลอดในแทบทุกคอลเล็กชั่น

 

ในวันนี้ “บ้านกลับหัว” ที่ลอยอยู่เป็นเซ็นเตอร์ของโชว์ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากจะชวนให้เรานึกถึงโครงทรงของของเล่นในวัยเด็กเมื่อครั้งที่เรายังไม่รู้ประสา มันยังทับซ้อนกับทรงของบ้านโดโรธีจากแคนซัสใน The Wizard of Oz ก่อนที่มันจะร่วงตกลงบนร่างของแม่มดประจำทิศตะวันออก (ซึ่งย้อนกลับไปถึงรายละเอียดในคอลเล็กชั่นปฐมฤกษ์ของเขาที่ LV อีกที) สีขาว-ดำที่เคลื่อนคล้อยจนกลายเป็นสีม่วง เทอคอยซ์ แดง แซมเขียวกับชมพู ก่อนจะทอนลงจนบริสุทธิ์เป็นสีขาวสะอาดอีกครั้ง ลึกๆ ก็แลดูจะไม่ต่างกับไทม์ไลน์ของนิทานสะอ้านเรื่องดังกล่าว ที่บอกเล่าชีวิตของเด็กชนบทจากโลกขาว-ดำคนหนึ่ง ผู้ผจญภัยเข้าไปยังดินแดนแห่งเทคนิคคัลเลอร์ ก่อนค้นพบว่าความยุ่งเหยิงนานาจะสามารถจบลง และพาเธอกลับมายังบ้านได้ด้วยมนตร์วิเศษเพียงเคาะรองเท้า และกล่าวว่า “ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน...ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน...ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน”



WATCH




ภาพต้นแบบบ้านของโดโรธีจากแคนซัสใน The Wizard of Oz

 

ว่าแต่สิ่งที่ลอยคว้างอยู่รายรอบบ้านหลังนั้นราวกับไต้ฝุ่นจะพัดพาไปคืออะไร ที่กรุงเทพมันคือเครื่องดนตรีมากมาย จากเปียโนหลังใหญ่เรื่อยไปจนถึงไวโอลินจำลองและปากแตร การจะหาคำเฉลยที่แท้จริง คุณคงต้องถามผู้คุมงานดนตรี (หรือคนออกแบบฉาก) แต่เท่าที่ผู้เขียนจำได้ เครื่องดนตรีนั้นเป็นสัญญะหนึ่งของการเติบโต การเปลี่ยนผ่าน (Coming of age) ความเจนโลก เพราะไม่มีเด็กอ่อนรายไหนเกิดมาพร้อมกับความรู้เรื่องตัวโน้ต...

 

ผู้เขียนไม่เคยสวมใส่ชิ้นงานของเวอร์จิล แต่วันนี้มีสิทธิ์จะรัก ต้องขอบคุณโชว์นี้ที่ทำให้เข้าใจว่างานออกแบบของเขาชวนให้คิดถึงวัยเยาว์ที่ขาดหายเพียงใด คิดถึงตรรกะที่เด็กไม่รู้จักโตเท่านั้นที่จะเข้าใจขนาดไหน (ซึ่งเป็นเสน่ห์หาตัวจับยาก มากกกว่าจะเป็นคำวิจารณ์แง่ลบ) และอยากท้าทายผู้ชมอีกครั้งให้พินิจมองกองทัพเครื่องหนัง...หรือในที่นี้คือ ของเล่นนานา...แล้วคุณจะพบว่ามันช่างน่าตื่นตาราวกับไปเยี่ยมสวนสนุก

นายแบบฟินาเลผู้สวมใส่ปีกแหลมสีขาวหิมะราวตุ๊กตานางฟ้าบนยอดต้นคริสมาสต์ก้าววนไปมาบนรันเวย์กว้าง พลางแหงนมองขึ้นไปข้างบน ผู้เขียนยอมรับว่าไม่สามารถละสายตาและหยุดคิดได้ แม้ขณะนี้ที่ยังเขียนอยู่นี้ (1.48 นาฬิกา) ก็ยังคงตั้งคำถามเวียนไปว่า “หรือจุดหมายนั้นคืออนาคตของวงการแฟชั่นกันแน่”

ลุคฟินาเล่จากแฟชั่นโชว์ Louis Vuitton Men's Fall/Winter 2022

WATCH