WELLNESS

ทำความเข้าใจกับวิตามินว่าประเภทที่ละลายในไขมันและละลายในน้ำมีอะไรบ้าง และรับประทานอย่างไร

แชร์ข้อมูลที่เกี่ยวกับประเภทวิตามินแต่ละชนิด พร้อมขนาดและวิธีการรับประทานที่เหมาะสมในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดีที่สุดและไม่เป็นสารพิษตกค้างในร่างกาย

     วิตามินเป็นหนึ่งในสารอาหาร 5 หมู่ที่เราจำเป็นต้องได้รับในแต่ละมื้ออาหาร เพื่อเป็นตัวช่วยในการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทั่วไปแล้ววิตามินต่างๆ ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ แต่จะได้รับจากการรับประทานอาหาร แต่ก็จะมีเพียง 2 วิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองนั่นคือวิตามิน D และ K นอกจากนี้วิตามินแต่ละตัวนั้นก็สามารถละลายได้ในตัวกลางที่ต่างกัน เช่น บางตัวสามารถละลายได้ในน้ำ และบางตัวสามารถละลายได้ในไขมัน สำหรับใครที่มีความสงสัยถึงการละลายของวิตามินแต่ละตัว วันนี้โว้กบิวตี้ได้รวบรวมข้อมูลของวิตามินที่ละลายในน้ำและไขมันมาฝากกัน เพื่อเป็นตัวช่วยในการศึกษาเพื่อรับประทานวิตามินเสริมให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด 

 

ประเภทของวิตามิน

     วิตามินถูกแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ คือ วิตามินที่ละลายในน้ำและวิตามินที่ละลายในไขมัน โดยจะมีความแตกต่างกันว่า

  • วิตามินที่ละลายในน้ำ

    คือวิตามินที่สามารถละลายในน้ำเลือดได้เลย มีข้อดีคือดูดซึมได้ง่าย ไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยหลายขั้นตอน ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับวิตามินอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน เนื่องจากถูกดูดซึมได้ง่ายก็สามารถขับถ่ายออกมาได้ง่าย วิตามินประเภทนี้จึงจำเป็นที่จะต้องแบ่งรับประทานเป็นรอบ ไม่ควรรับประทานครั้งละมากๆ ในคราวเดียว เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังทำให้ร่างกายได้รับวิตามินที่เกินความจำเป็น ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมากทีเดียว โดยวิตามินที่สามารถละลายในน้ำได้ ได้แก่

 

 

วิตามิน B

     วิตามินบีประกอบไปด้วยวิตามินบีย่อย ได้แก่ วิตามิน B1 ,B2, B3, B5, B6, B7, B9 และ B12 โดยวิตามินบีแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติในการบำรุงร่างกายที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วการทำงานของวิตามินบีจะมีคุณสมบัติหลักๆ ได้แก่ ช่วยบำรุงระบบประสาทและกระตุ้นการทำงานของสมองโดยเฉพาะ ช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบประสาทและสมอง

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน : วิตามินบี 1 (ไทอามีน) อย่างน้อยวันละ 5 มิลลิกรัม

  • วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) อย่างน้อยวันละ 7 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) อย่างน้อยวันละ 20 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5 (กรดแพนโทเทนิก) อย่างน้อยวันละ 6 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซิน) อย่างน้อยวันละ 2 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9 (โฟเลต) อย่างน้อยวันละ 200 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 12 (โคบาลามิน) อย่างน้อยวันละ 2 ไมโครกรัม

 



WATCH



 

วิตามิน C 

     วิตามินซีเป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติอันโดดเด่นที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สร้างคอลลาเจน ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่ง กระจ่างใสขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล บำรุงผิวพรรณและกระดูก ป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแรง ลดอาการภูมิแพ้ ช่วยบรรเทาอาการหวัดและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาปกติได้รวดเร็วขึ้น

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน : 1,000 ไมโครกรัมต่อวัน (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล)

 

 

  • วิตามินที่ละลายในไขมัน 

    คือวิตามินที่มีการละลายที่ซับซ้อนกว่าวิตามินที่ละลายในน้ำ โดยมีข้อดีคือสามารถกักเก็บในร่างกายได้ในปริมาณที่มากและยาวนานกว่า การรับประทานวิตามินประเภทนี้จึงต้องระวังและเคร่งครัดไม่ให้รับประทานเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน เพื่อไม่ให้วิตามินเหล่านี้สะสมในร่างกายมากเกินไป เพราะจะทำให้เป็นพิษและอันตรายต่อร่างกาย โดยวิตามินที่สามารถละลายในไขมันได้ ได้แก่

 

 

วิตามิน A

     วิตามินเอมีคุณสมบัติหลักที่โดดเด่นในการช่วยบำรุงสายตา เล็บและผม ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก ทั้งยังเป็นหนึ่งในวิตามินที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกาย และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ กล่าวคือเป็นสารที่ช่วยป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระอีกด้วย

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน : ไม่เกิน 50,000 ไมโครกรัมต่อวัน (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล)

 

 

วิตามิน E

     วิตามินอีเป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยในการป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ แถมยังมีคุณสมบัติในด้านของการบำรุงผิวพรรณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญเพื่อช่วยชะลออาการแก่ไวนั่นเอง

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน : ประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อวัน  (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล)

 

 

วิตามิน D

     วิตามินดีเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองด้วยการได้รับแดดยามเช้า เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5-10 นาที โดยมีคุณสมบัติสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน หากขาดวิตามินดีร่างกายจะนำไปสู่โรคกระดูกพรุน และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง 

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน : 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน (ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและการตั้งครรภ์)

 

 

วิตามิน K

     วิตามินเคเป็นอีกหนึ่งวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง โดยมีคุณสมบัติหลักๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการของเลือด ไม่ว่าจะเป็นช่วยป้องกันเลือดออกภายในและเลือดออกไม่หยุด ช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ ช่วยในกระบวนการสร้างลิ่มเลือด รวมถึงช่วยป้องกันกระดูกเปราะบาง เป็นต้น 

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน : 65 – 80 ไมโครกรัมต่อวัน (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล)

 

     อ่านมาถึงตรงนี้คงได้ทราบความแตกต่างของวิตามินทั้งสองชนิดกันไปแล้ว รวมถึงวิธีการและปริมาณที่ควรเลือกรับประทานในแต่ละวัน เพื่อให้การรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์และได้ประสิทธิภาพมากที่สุด และที่สำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินที่มากเกินความจำเป็นที่จะทำให้เกิดพิษและอันตรายต่อร่างกายได้

 

ภาพ : Canva

WATCH

คีย์เวิร์ด: #TypeOfVitamin