SKINCARE

ระวัง! อันตรายที่มากับการใช้ครีมทาหน้าที่มีสารปรอท รู้แล้วเลี่ยงไว้ก่อนเป็นดี

เผยวิธีตรวจสอบเพื่อหลีกเลี่ยง ‘สารปรอท’ พิษร้ายที่ชอบแฝงมาในสกินแคร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้แล้วมีสิทธิ์หน้าพังเกินแก้ไข

     “ปรอท” เป็นสารโลหะหนักที่เป็นพิษต่อมนุษย์หากมีการกลืนกิน ฉีด หรือดูดซึมทางผิวหนัง ทว่าการปนเปื้อนของสารปรอทกลับเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มครีม (ตลาดมืด) ที่ช่วยปรับสีผิวและต่อต้านริ้วรอย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากทีเดียวที่เรายังพบเห็นการขายครีมที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ได้ทั่วไปตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะที่เทรนด์คลั่งขาวจะยิ่งทำให้ครีมที่มีสารปรอทนี้ระบาดมากขึ้น การสนใจเพียงผลลัพธ์เพื่อผิวขาวอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่ตามมา อาจส่งผลเลวร้ายต่อชีวิตได้อย่างคาดไม่ถึง  ดังนั้นเพื่อเป็นการรู้เลี่ยงและป้องกัน ก็ควรรู้จักถึงอันตรายของสารปรอท หรือหากใครที่กำลังสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังใช้มีสารปรอทหรือไม่ แนะนำให้ลองตรวจสอบอาการต่างๆ และผลิตภัณฑ์ตามวิธีเบื้องต้นดังต่อไปนี้

 

 

อันตรายของสารปรอท

     การได้รับสารปรอทอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่อาจถึงตายได้ ในปี 1973 องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) มีการสั่งห้ามไม่ให้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีโลหะในปริมาณมากกว่า 1 ส่วนต่อล้าน (ppm) ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ในประเทศไทย สารปรอทและประกอบปรอทก็เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางด้วยเช่นกัน 

     สารปรอทนั้นมีฤทธิ์ทำลายไต ระบบประสาท เยื่อบุและทางเดินหายใจ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทที่ผิวหนังและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทำลายสีของผิวหนังและเล็บมือ ทำให้ผิวหนังบางขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแพ้ เป็นแผลเป็น ทว่าในปัจจุบันก็ยังมีผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ลักลอบผสมสารปรอทขายทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก 

 

 

 

 

วิธีตรวจเช็กเบื้องต้นว่าครีมที่ใช้มีสารปรอทหรือไม่

     เนื่องจากสารปรอทไม่มีกลิ่น รส และสี การตรวจสอบจึงต้องใช้กระบวนการทางเคมีเท่านั้น ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบเองได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ก็ยังมีขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อช่วยให้หลีกเลี่ยงครีมทาหน้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทได้ด้วยวิธีเหล่านี้

อ่านฉลาก: ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะครีมทาหน้าหรือทาผิวกายก็ตาม ควรอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนเสียก่อน หากรายการส่วนผสมมีคำที่เกี่ยวกับปรอท หรือคำพ้อง เช่น Calomel, Mercurous Chloride, Mercuric และ Mercurio ก็ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นั้นโดยทันที

ระวังสินค้าในอินเทอร์เน็ต: ควรระมัดระวังผลิตภัณฑ์จำพวกนี้เป็นพิเศษ เช่น สินค้านำเข้าในต่างประเทศหรือไม่ได้ระบุประเทศต้นทาง, ครีมเถื่อน, ครีมกวนเองหรือครีมผสมเอง ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยอ้างว่า “ทำให้ผิวขาวขึ้น”, “กำจัดฝ้า กระ หรือจุดด่างดำ”, “รักษาสิว”, “รักษารอยแผลเป็น”, “เห็นผลไว” เป็นต้น 

เลี่ยงสินค้าที่ไม่มีฉลาก: ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ไม่มีเลขจดแจ้ง และไม่มีฉลากระบุส่วนผสม ให้ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องระบุส่วนผสมบนฉลากของเครื่องสำอางทั้งหมด ดังนั้นการไม่มีฉลากหรือมี แต่ไม่ระบุส่วนผสมต่างๆ อาจเป็นสัญญาณว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

 



WATCH



 

จะทำอย่างไรเมื่อผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีสารปรอท 

     หากสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีสารปรอทอยู่ แนะนำให้หยุดใช้ทันทีและกำจัดทิ้ง แต่อย่าทิ้งลงในถังขยะในครัวเรือน เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทถือเป็นขยะอันตราย ดังนั้นจึงควรใส่ในถุงพลาสติกและปิดผนึกให้แน่น ติดป้ายให้เจ้าหน้าที่เห็นชัดเจนว่าเป็นขยะอันตราย จากนั้นทิ้งลงในถังขยะสีแดงหรือสีส้มเท่านั้น เพื่อให้มันได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง 

      ในฐานะผู้บริโภคทุกคนควรมีวิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้เท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการระบุชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต และส่วนผสมต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน อย่าหลงเชื่อโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และเมื่อพบสินค้าต้องสงสัยก็ควรแจ้งไปที่องค์การอาหารและยา (อย.) ให้เข้ามาตรวจสอบด้วย

 

ข้อมูล : consumerreports.org, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

WATCH

คีย์เวิร์ด: #AvoidMercuryInSkincareProducts