LIFESTYLE

โว้กชวนคุยกับ 3 ดีเจดังแห่งยุค...จริงหรือไม่ที่ยุคดิจิทัลกำลังฆ่าสื่อวิทยุให้ตาย

โว้กชวนคุยกับ 3 ดีเจดังแห่งยุค! จริงหรือไม่ที่ยุคดิจิตัลกำลังฆ่าสื่อวิทยุให้ตาย?

     ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุค 1990 คือยุคทองของรายการวิทยุ และดีเจผู้จัดรายการก็เหมือนซูเปอร์สตาร์ที่สามารถชักนำให้วงการเพลงในยุคนั้นแข็งแรงและเติบโตจนกลายเป็นรากฐานของวงการเพลงไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของคนเสพสื่อที่แปรเปลี่ยนไป คำถามที่ว่าวงการวิทยุตายไปแล้วหรือยังผุดขึ้นมาเป็นระยะ โว้กนั่งคุยกับ 3 ดีเจชื่อดังแห่งยุค 1990 จากคลื่นวิทยุในเครือเอไทม์มีเดียถึงหน้าที่และบทบาทของพวกเขาในฐานะ Radio Star


V: จุดเริ่มต้นของการทำงานในวงการวิทยุของแต่ละคนเป็นมาอย่างไร

ดีเจพีเค-ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร: ผมน่าจะเด็กสุดครับ เริ่มต้นเมื่อ 2 กันยายน 2001 ผมทำงานอยู่ที่เอไทม์ มาจะเข้าปีที่ 17 แล้ว ผมกลับมาเริ่มต้น จากการอยากเป็นนักร้อง แต่ด้วยความที่เป็นคนฉลาดแกมโกงเล็กน้อย คิดว่าการได้มาทำงานที่นี่น่าจะมีโอกาสเจอศิลปินและโปรดิวเซอร์ มีโอกาสที่ดีที่จะได้เริ่มต้นทำงานเพลงของตัวเองได้ง่ายขึ้น จนมีโอกาสได้เริ่มฝึกเป็นดีเจก่อนกับพี่ๆ หลายคน ทำเทปเดโมอยู่ปีกว่าๆ ตั้งแต่ปี 1999 หลังจากนั้นก็ได้เริ่มงานจริงที่คลื่น 88 Radio No Problem เรียกได้ว่าผมยังทันใช้เครื่องไม้- เครื่องมือการจัดรายการในช่วงเก้าศูนย์อยู่ 

ดีเจพี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล: หน้าตาเราต้องฟ้องแน่นอนว่าเก้าศูนย์แน่ๆ สำหรับพี่มาสายตรงมากค่ะ เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เอกวิทยุและโทรทัศน์ สมัครเข้ามาด้วยการทำเดโมรายการตามปกติเลย จัดรายการครั้งแรกที่เอไทม์เมื่อปี 1993 ตอนนั้นที่เข้ามา จัดรายการมีโอกาสจัดทุกคลื่นของเอไทม์เลย เพราะว่าดีเจช่วงนั้นเป็นดีเจที่ดังมาก ทั้งพี่ไก่ สมพล, พี่จุ๋ม นพพร, ป๋าเต็ด ยุทธนา เพราะฉะนั้น พวกเราที่เป็นดีเจใหม่ที่เข้ามาต้องจัดรายการแทน ระยับเลยค่ะ แต่พวกเราก็มีความสุขและตื่นเต้นมาก เพราะการได้บอกผู้ฟังว่าวันนี้เรามาจัดรายการแทนพี่ไก่ สมพล เราจะรู้สึกดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนั้นคลื่นฮอตเวฟดังมาก เด็กไทยทุกคนฟังฮอตเวฟ พอเริ่มจัดได้ไม่กี่เดือน ทางเอไทม์ก็ได้คลื่นมาเพิ่ม เราเลยต้องเป็นดีเจที่จัดรายการ 2 คลื่นมาเป็นเวลา 9 ปี เช้าเป็นฮอตเวฟ เย็นเป็นเรดิโอโหวตบ้าง เป็นกรีนเวฟบ้าง จนบางคนก็งงว่าเราเป็นคลื่นไหนกันแน่ ดีที่ว่างานวิทยุนั้น ไม่ใช่งานนักแสดง เราไม่ได้กำลังแสดงบทบาท แต่แค่เราคุยกับทาร์เกตต่างๆ ของคลื่น จนได้มาเป็นดีเจเต็มตัวใน คลื่นกรีนเวฟจนถึงปัจจุบัน จัดรายการ คลับฟรายเดย์ มาจนถึงตอนนี้ 12 ปีพอดี 

ดีเจโป้ง-ณัฐพงษ์ แตงเกษม: ของผมเป็นการจับพลัดจับผลูเข้ามาครับ สมัยก่อนเราชอบฟังพี่ฉอด พี่วินิจ ฟังวิทยุหลายๆ คลื่น เพราะตอนนั้นความบันเทิงอย่างเดียวในห้องนอนของผมคือวิทยุ เด็กยุคนั้นไม่มีอะไรอื่น นอกจากเพลงในวิทยุ ผมก็สนุกกับการลองอัดเทปจัดรายการเอง เอาไปให้เพื่อนฟัง พอเพื่อนชมว่าเราเสียงหล่อมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำไปเรื่อยๆ จนได้ไปร่วมจัดรายการวิทยุรายการหนึ่ง แล้วมีคนมาทาบทามว่าสนใจจะเป็นดีเจจริงๆ ไหม ตอนนั้นผมเรียนอยู่ปี 1 ก็รีบไปสอบใบผู้ประกาศ สอบ อยู่ 3 ครั้ง ไม่ผ่าน ใช้เวลานานมากจนท้อๆ ไป วันหนึ่งมีเพื่อนแนะนำให้ลองเอาเทปเดโมไปส่ง ให้รุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งก็คือป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ดังมากที่ฮอตเวฟ ดังขนาดที่ว่าเด็กทุกโรงเรียนตอนนั้นต้องพยายามโทร.เข้ามาเพื่อตะโกนคำว่า “ฮอตเวฟจ๋า น้อง... ม.1 โทรติดแล้วจ้า!” แค่นี้จริงๆ ผมเองพยายามส่งเดโมเป็นหลายสิบม้วน เกิน 50 ม้วนได้ จนได้เข้ามาเป็นดีเจฝึกหัดของเอไทม์ในช่วงปลายปี 1993 และได้เข้าไปจัดรายการที่ฮอตเวฟ คลื่นร้อนคนแรง ในปี 1997 

ดีเจพี่อ้อย: พี่ต้องเป็นคนดูแลพี่โป้งใน ตอนนั้น จำได้ว่าพี่โป้งพยายามมาก ในใจเราเองถึงขั้นพูดว่า “พี่โป้งจัดรายการไม่ได้หรอก” “เธอพูดอะไรของเธอนี่” พี่โป้งนี่จะมาใกล้ๆ กับพี่ มีพี่เอก กฤษณาวารินทร์อีกคนที่มาแล้วดังเลย แต่ ถึงตอนแรกเราคิดว่าพี่โป้งไม่น่าจะจัดรายการได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นว่าเขาคือดีเจที่เวลาเราขึ้นรถต้องเปิดฟังเขาทุกครั้ง เราถึงเชื่อว่า อาชีพดีเจเป็นอาชีพที่มีพัฒนาการได้จริงๆ


V: จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบยุค 1990 กับปัจจุบัน การจัดรายการวิทยุของดีเจมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง 

ดีเจโป้ง: การเป็นดีเจในยุคนั้นไม่มีสื่ออื่นๆ มาเป็นคู่แข่งเลยสำหรับเด็กนักเรียนที่ที่บ้านอาจจะไม่ให้เปิดทีวีดู ทุกอย่างมาจากการฟังวิทยุหรือหนังสือ ไม่มีอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ เอาเป็นว่าถ้ามี Vogue ตั้งแต่ตอนนั้นผมก็ติด Vogue ดีเจยุคนั้นมันเสริมสร้างจินตนาการ ความฝันของเด็กๆ ที่ได้ฟัง เราจะจินตนาการถึงห้องจัดรายการที่สวยงาม นึกภาพพี่ฉอดคุยหยอกล้อกับพี่เบิร์ดสนุกสนาน พวกเขามีความสุขจังเลย แล้วผู้ฟังก็ได้รับความสุขจากตรงนั้นได้ด้วยจินตนาการที่เรามองไม่เห็น เราจะนึกภาพว่าดีเจหล่อสวยกันทุกคน จากน้ำเสียงที่ได้ฟัง 

ดีเจพี่อ้อย: คือพี่มองว่ามัน ไม่ได้มีสื่อเยอะแยะมากมายที่มาแชร์ความต้องการไป ตอนนั้น วิทยุเป็นแค่สื่อที่ทำให้คนฟังเข้ามาหาศิลปินได้ง่ายขึ้น วิทยุแทบ จะเป็นหนทางเดียว เช่น พี่ดีเจ เขาจะสัมภาษณ์คนนี้แล้วนะ ฉันจะ ต้องฟังเพลงนี้ครั้งแรกจากคลื่น นี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นคนเป็นดีเจในตอนนั้นต้องเป็นคนที่มีความรู้ เรื่องเพลง ไม่ใช่แค่อ่านตามโพรไฟล์ ดีเจยุคนั้นต้องฟังได้ วิเคราะห์ได้ หลายคนสามารถชี้เป็นชี้ตายได้เลยว่าเพลงไหนจะดัง ไม่ดัง จนต้นสังกัดเพลงต้องเชิญดีเจมาช่วยฟังเพลงก่อนเลยด้วยซ้ำ ยิ่งพอมาถึงคอนเสิร์ตยิ่งเป็นหนทางเดียวที่เราจะได้เจอศิลปินตัวเป็นๆ ทุกอย่างเลยเป็นเหมือนลูกศรที่ พุ่งตรงมาในทิศทางเดียวกัน แต่พอมายุคนี้มัน แบไปหมดเลย ได้หลายช่องทาง 

ดีเจพีเค: อย่างของผมในตอนนั้นเป็น คลื่น 2 ภาษาที่ผมคิดว่ามีการบาลานซ์ได้ดีที่สุด การพูดอังกฤษปนไทยนี่ถ้าบาลานซ์ไม่ดีมันดูกระแดะมาก รุ่นพี่ผมตอนนั้นมีพี่วู้ดดี้ พี่เอก พอล ภัทรพล เฟี้ยต พี่วินัย ซึ่งเป็นช่วงบุกเบิก ลองผิดลองถูก จนมาถึงช่วงพีค ในพีคเอฟเอ็ม ที่มีการจัดคอนเสิร์ตบ่อยและพีกมาก 

ดีเจโป้ง: เรียกได้ว่ายุคนั้นเป็นเหมือนยุค เรอเนซองซ์ของวงการเพลงไทย ธุรกิจค่ายเพลง ประสบความสำเร็จมาก แผ่นซีดีในยุคนั้นถือเป็นของมีค่าน่าเก็บสะสมมาก แต่พอมายุคนี้สื่อมันวิ่งเข้ามาหา เราเอง มันไม่ได้มีแรงใจในการสร้างความชอบให้กับเรา 

ดีเจพี่อ้อย: มันมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ดีเจต้องพูดน้อยลง เนื่องจากมีผลสำรวจคนฟังของบริษัทคลื่นวิทยุจากเมืองนอกรายการหนึ่งว่า เบื่ออะไรที่สุด ในการฟังวิทยุ อันดับหนึ่งเลยคือโฆษณา สองคือ ดีเจ พอเขาจะเข้ามาตีตลาดในเมืองไทยเขาเลยเอาสองข้อนี้ออกก่อน กลายเป็นว่าในตอนนั้นคนไทยหันมาฟังคลื่นนั้น จนพี่ฉอดเองเป็นคนพูดว่า “ถ้าคนจะฟังแต่เพลง MP3 ก็ฟังได้ พี่จะทำทอล์กโชว์ ให้ดู” ไม่ใช่ว่าคนฟังไม่ชอบฟังคนมานั่งคุยกัน แต่ต้องรู้ก่อนว่ากำลังจะฟังอะไร มันเลยเกิดเป็นทอล์กโชว์ที่ดังมากคือรายการ แฉแต่เช้า ที่อีเอฟเอ็ม ไม่มีการเปิดเพลงเลย จนมาถึงทอล์กโชว์ที่กรีนเวฟ เอาจุดเด่นของคลื่นมาทำว่าคนส่วนใหญ่ที่ฟังเพลงช้าจะบวกชีวิตตัวเองลงไปทั้งนั้น “พี่คะ ขอเพลง คนไม่จำเป็น หน่อยค่ะ เพราะ...” แล้วดีเจนี่อยาก จะรู้เรื่องราวของคนฟังทั้งนั้นแหละ ก็จะเริ่มซัก เริ่มคุย จนกลายมาเป็น คลับฟรายเดย์ ทำให้เราคิดว่าการที่คนจะฟังดีเจพูด มันต้องมีคอนเทนต์ หรือถ้าจะให้ดีเจพูดน้อยๆ พี่จะคอยบอกดีเจรุ่นน้องเสมอว่า “พูดน้อยลง แต่คนต้องจำเราได้” พี่กล้าพูด ได้ว่า ถ้าถามคนฟังว่าจำดีเจคนไหนได้ คำตอบ ที่ได้ต้องมีชื่อของดีเจเก่าๆ ที่จัดรายการมานาน ดีเจรุ่นใหม่ๆ คนฟังจะจำไม่ได้ เพราะเขาไม่มีที่โชว์ของ อาจเป็นเพราะการจัดรายการมันไม่มีการผสมผสานและความพอดีมากกว่า 

ดีเจโป้ง: การมาของคลื่นรายการวิทยุจากเมืองนอก เขามาพร้อมกับ Radio Program ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการการจัดรายการ สมัยก่อนดีเจต้องมีความครีเอทีฟ เป็นเรดิโอโปรแกรมเอง จัดรูปแบบรายการเอง เลือกเพลงเอง ใช้ระบบแมนวลหลังไมค์ แต่พอมายุคหลัง จะมีอาชีพที่เรียกว่า Music Director ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่โปรแกรมเพลง คุมโทนเพลงในรายการแต่ละรายการ บทบาทของดีเจเลยน้อยลง จนอาจทำให้ตัวดีเจรู้สึกโหวง รู้สึกว่าความเป็นตัวตนของดีเจหาย 

ดีเจพีเค: ตอนนั้นที่ผมจัดรายการที่พีคเอฟเอ็ม มันเป็นช่วงที่ เพลงฮิปฮอปกำลังมา ก็มีการพยายาม จัดเพลงแนะนำเพลงใหม่ๆ พวกนี้ให้เด็กรุ่นใหม่ฟัง ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือในห้องจัดที่เป็นแบบเก่า มี ชั้นวางซีดีแยกเพลงไทยกับต่างชาติ เราก็สามารถเลือกเพลงเองได้ว่าเป็นเพลงที่คนไทยไม่ค่อยมีโอกาส ได้ฟัง ยิ่งพอมีคลับฮิปฮอปมาเปิดก็จะมีดีเจพยายามเอาซีดีมาให้เราลองฟังลองเปิดให้คนฟังดู เราจะรู้สึก ว่าโคตรเท่ที่ได้หาเพลงใหม่ๆ แปลกๆ มาให้คนฟัง

ดีเจพี่อ้อย: พี่มองว่ามันไม่ได้มีข้อดีข้อเสีย ถ้าเป็นแต่ก่อนดีเจอาจจะเปิดเพลงตามรสนิยมของตัวเอง เราจะได้ยินเพลงบางเพลงซ้ำในบางช่วงเวลาแต่พอเรามาใช้โปรแกรมเปิดเพลง มันจะช่วย ในการเกลี่ยเพลง ซึ่งที่เอไทม์ต้องมีการผสมผสาน คอมพิวเตอร์ให้ในแง่เหตุผล แต่คนให้ในแง่อารมณ์ เพราะฉะนั้นในบางครั้งดีเจยังมีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยน ให้มันเกิดการเกลี่ย เพื่อให้ได้ทั้งอารมณ์และ ความเหมาะสมในการรันเพลงทั้งคลื่น 

ดีเจพีเค: ซึ่งตรงนี้สำคัญมากเลยนะครับ ถ้าตอนนั้นดีเจกำลังอกหักผิดหวัง เพลงช่วงนั้น ก็จะมีแต่เพลงเศร้า หรือถ้าเป็นช่วงจีบสาวอยู่ ก็จะมีแต่เพลงรัก (หัวเราะ)


V: พอมาเป็นการทำงานแบบมี Music Director อย่างในยุคปัจจุบันแล้ว มีวิธีปรับตัวอย่างไรกันบ้าง

ดีเจพีเค: ตอนนั้นรู้สึกว่าหน้าที่ของเราคืออะไร เพราะปกติเราจะเป็นคนเลือกเพลงเอง แล้วหาข้อมูลของศิลปินมาพูด ยิ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งมีอินเทอร์เน็ต คนทั่วไปก็เริ่มหาข้อมูลจากเน็ตได้เอง แต่ผมก็จะพยายามเอาข่าวต่างๆ มานำเสนอก่อน ทีนี้พอทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับโปรแกรมของ Music Director เราถึงขั้นคิดว่า เฮ้ย! เราไม่เป็นดีเจก็ได้นะ มานั่งเฉยๆ เอาเงินเขาฟรีๆ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ ด้วยความที่น้องดีเจด้วยกันบอกกับเราว่า อยู่ด้วยกันที่นี่เถอะ ผมก็เลยเริ่มคิดอีกมุมหนึ่งว่า เมื่อมี คนเลือกเพลงให้แล้ว เราจะสามารถเอาอะไรมาใส่ตรงหัวกับท้ายเพื่อทำให้รายการนี้เป็นของเราได้ 

ดีเจพี่อ้อย: มันเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปค่ะ ฉีกซองอันเดียวกันได้ แค่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอา ไปปรุงแบบไหน ถึงได้บอกว่าถ้าดีเจเป็นแค่หนึ่งโปรแกรมของเครื่องนี้ เราก็จะเป็นแค่เครื่องกล อันหนึ่ง แต่เรายังเป็นมนุษย์ เรายังเป็นคนนะ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้มันกลายมาเป็นโปรแกรมของเราเอง คุณจะพูดอะไร เพลงนี้จะเพราะขึ้นได้อย่างไรจากการพูดของเรา ห้องจัดรายการเล็กมากค่ะ ถ้าคุณไม่รู้จักหาความรู้ ใส่ตัว คุณจะพูดทุกอย่างเหมือนเดิม คนฟังไม่จำเป็น ต้องฟังคุณทุกวัน เพราะฉะนั้นคุณต้องมีอะไร อยู่ในตัว รู้จักปรับตัว ถ้าถามพี่อ้อยว่าวันนี้คน ฟังวิทยุน้อยลงไหม พี่ว่าคนฟัง จากวิทยุน้อยลง แต่ไม่ได้ฟังรายการวิทยุน้อยลง เพราะวิทยุมัน ไปเติบโตอยู่ในแอปพลิเคชั่นที่คน ทั่วโลกสามารถฟังได้ ดังนั้น เราเอง ก็ต้องเติบโตไปพร้อมกับความ กว้างไกลของสื่อ ต้องปรับตัวไป ตามสื่อที่มันกว้างขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน 

ดีเจโป้ง: ความหนักแน่นของเราอาจจะน้อยลง แต่เราต้องกระจายออกไปให้มันมากขึ้น ถามผมว่าวิทยุตายไหม ผมบอกเลยว่าไม่มีวันตาย เพราะมันคือ คอนเทนต์อย่างหนึ่งที่มีความเป็นมนุษย์ เราคือสัตว์สังคมที่ยังอยากได้ยินเสียงคนอื่น ได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น หน้าที่ของเราคือต้องตามกระแสให้ทัน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือมนุษย์สื่อสารกับมนุษย์ ไม่ใช่กับคอมพิวเตอร์


V: สุดท้ายแล้วทุกคนคิด ว่าความสุขของการได้ทำหน้าที่ ดีเจของตัวเองคืออะไร

ดีเจพีเค: เอาจริงๆ ถ้าไม่มีความสุขคงไม่อยู่มานานขนาดนี้ ครับ นี่เป็นหนึ่งในน้อยศาสตร์ของวงการบันเทิงโลก ที่คนฟังที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสร้างจินตนาการจากเสียงพูดและเสียงเพลงที่เราเปิด เขาสามารถใช้จินตนาการของตัวเองในการสร้างภาพว่าภาพที่เขาเห็นเป็นอย่างไร นี่คือเสน่ห์ของรายการวิทยุที่ไม่มีศาสตร์อย่างอื่นในวงการบันเทิงมาก๊อบปี้ได้ ผมขอย้ำสิ่งที่พี่โป้งพูดเลยว่า วิทยุไม่มีวันตายครับ เพราะวิทยุเป็นสิ่งเดียวที่มีจิตวิญญาณที่มีเสียง

ดีเจพี่อ้อย: มันเป็นความมหัศจรรย์ของพี่ อย่างหนึ่ง ตรงที่พี่รู้สึกรักงานดีเจมากขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่เรียนมาสายตรง แต่พอมาถึงตรงนี้รู้สึกว่าอาชีพเล็กๆ ของเรามันเป็นประโยชน์ ทุกสิ่งที่เราทำในรายการ เพลงที่เราเลือกแล้ว มีคนชอบฟัง จนกระทั่งวันนี้ได้ทำคลับฟรายเดย์ พี่ยิ่งรู้สึกดีที่อาชีพของเราทำให้คนฟังรู้สึกดีขึ้น แค่นี้ พี่พอใจแล้ว มันเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ แค่มานั่งทำให้มันจบ แต่มันเป็น อาชีพที่พี่นั่งนึกทุกวันว่าวันนี้เราได้ ให้อะไรกับคนที่ฟังเราบ้างหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่เราเลือกมาเป็นพิเศษ ประโยคที่ฉันจะต้องทำให้ทุกคน ฟังแล้วรู้สึกดีขึ้นในวันที่เหนื่อยที่สุด กระทั่งใน คลับฟรายเดย์ แม้จะ เป็นวันที่เขาเสียใจ แต่มันต้องเป็นวันที่เขาเสียใจแต่สามารถรับมือได้ อันนี้คือความสุขที่ทำให้เรายังอยู่ กับรายการวิทยุทุกวันแบบนี้ ดีเจโป้ง: รอยยิ้มของคนฟังที่เขาตอบกลับมาหาเราคือความสุขของพี่ อีกมุมหนึ่งเขาอาจจะได้ความสนุกสนาน ได้ข้อคิดอะไรบางอย่างจากเรา ของพี่โป้งก็จะเป็นเหมือนกับวาไรตี้ที่บางทีคนฟังก็คาดไม่ถึงว่าจะมีจากเรา สำหรับพี่รอยยิ้มของคนฟังมันจะกลับมาหาเรา ทำให้เรามีแรงบันดาลใจไปหาสิ่งดีๆ มาให้เขาต่อ ผมจึงขอบคุณอาชีพนี้ที่บางครั้งอาจจะไม่ได้อยู่ใน วัยที่จะมีโอกาสรู้จักกันได้มารู้จักกันอีก ได้มีรอยยิ้ม มีความสุข ในวันที่เขาอาจไม่มีใครเลยก็ได้ มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่ได้มาทำอาชีพนี้ เราภูมิใจที่อย่างน้อยเขาจำสิ่งที่เราเคยพูดและเป็นแรงบันดาลใจให้เขา



เรื่อง: ณัฎฐา เอิบสิริสุข

WATCH

คีย์เวิร์ด: Vogue Culture Vogue Music Vogue Thailand