FASHION

เมื่อโลกแฟชั่นไม่ได้เป็นของคนบางกลุ่มอีกต่อไป หากแต่เป็นของคนทั้งโลก

ทันทีที่เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งใหม่ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทุกคนต่างตื่นตัว และมุ่งที่จะนำเสนอประเด็นเรื่องการยอมรับ ความแตกต่างและหลากหลายทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ การศึกษา อายุ ในทุกๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น

ทันทีที่เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทุกคนต่างตื่นตัวและมุ่งที่จะนำเสนอประเด็นเรื่องการยอมรับความแตกต่างและหลากหลายทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ การศึกษา อายุ ในทุกๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่นที่บัดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้มีรสนิยมที่มาพร้อมกับกำลังซื้ออันสูงลิบอีกต่อไป เพราะในวันนี้ทุกๆ คนสามารถเข้ามาร่วมสนุกกับแฟชั่นในรูปแบบที่ตนเองพึงพอใจได้

 

เริ่มต้นจากกลุ่มผู้นำโลก

ฉับพลันที่คนทั้งโลกได้เห็นภาพถ่ายรวมของเหล่าสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจในการประชุม NATO ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมที่เพิ่งผ่านพ้นไป สิ่งที่สะดุดตาและเป็นประเด็นมากกว่าคอลเล็กชั่นชุดเยือนต่างแดนครั้งแรกของ Melania Trump ที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์เด่นอย่างการคาดเข็มขัดหนังเส้นโตทั้งจากแบรนด์ดัง Saint Laurent ไปจนถึง Dolce & Gabbana ในเกือบทุกลุคที่เธอตั้งใจนำมาใช้เป็นเอกลักษณ์ในการแต่งตัวในฐานะเฟิสต์เลดี้ (ซึ่งหมายรวมถึงการพยายามทำตัวขบถทั้งการไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ หรือนุ่งชุดกระโปรงโชว์หน้าแข้งในการไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบีย) หรือภาพของ Brigitte Macron สตรีหมายเลข 1 คนล่าสุดของประเทศฝรั่งเศสที่มาในชุดกระโปรงสั้นสีดำ LBD ของ Louis Vuitton แมตช์กับกระเป๋าสะพายหนังลายตารางพร้อมอักษรย่อ B.M แนว Personalised นั่นก็คือภาพแรกของ First Gentleman คนแรกที่เป็นเกย์เปิดเผยที่ชื่อนาย Gauthier Destenay สามีคู่ชีวิตของนายกรัฐมนตรีแห่งลักเซมเบิร์ก นาย Xavier Bettel ซึ่งก่อให้เกิดคำถาม คำวิจารณ์ และเสียงฮือฮาไปทั่วโลกถึงมิติใหม่ของคำว่า “ความเท่าเทียม” และ “ความหลากหลายทางเพศ” (แม้ว่ามันจะไม่ถูกรวมอยู่ในแคปชั่นใต้ภาพจากทางการสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี Donald Trump ก็ตาม!) ที่ส่งผ่านไปให้ประชาคมโลกรับรู้ในปี2017 นี้ว่านี่แหละคือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักถึงการมีอยู่ ร่วมกันนำเสนอ และผลักดันประเด็นนี้ให้กลายเป็นประเด็นหลักที่โลกควรใส่ใจ นอกเหนือไปจากกระแสเฟมินิสต์ยุคใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการพ่ายแพ้ของ Hillary Clinton ในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา

 

แฟชั่นอันไร้พรมแดน

ในเดือนเดียวกันนี้เองที่วงการแฟชั่นพากันออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำเสนอคอลเล็กชั่นใหม่ประจำฤดูกาล Cruise 2018 ไล่ตั้งแต่แบรนด์ดัง Dior และ Valentino ที่เลือกนำเสนอ A Parisian in America โดยไปเยือนรัฐใหญ่ทั้งในแอลเอและนิวยอร์ก Louis Vuitton เลือกที่จะเดินทางมายังตะวันออกไกลถึงเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่ Chanel, Prada และ Gucci ปักหลักในบ้านเกิดตัวเองทั้งที่ปารีส มิลาน และฟลอเรนซ์นัยว่าเพื่อกลับไปสู่รากเหง้าของแบรนด์ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอีกครั้งหลังได้รับผลกระทบจากภัยก่อการร้าย ทั้งหมดนี้มันสะท้อนอะไรได้บ้าง คำตอบง่ายๆ ก็คือวงการแฟชั่นเริ่มชัดเจนกับการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางการค้าและการตลาดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างแฟชั่นแบบยุโรป เอเชีย หรืออเมริกันอีกต่อไป ทั้งนี้คงต้องขอบคุณดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทั้งจากรัสเซียและเอเชียที่พากันเข้าไปยึดตำแหน่งใหญ่ในแบรนด์ระดับโลกทั้งที่ Balenciaga หรือแม้แต่ Oscar de la Renta เราจึงได้เห็นแบรนด์ดังเหล่านี้พากันเคลื่อนย้ายและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดในยุคที่เศรษฐกิจยังผันผวนและไม่คงที่เช่นนี้ การผสมผสานรูปแบบงานดีไซน์เก่าเก็บของแบรนด์ให้เข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างซึ่งกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีพลังการซื้อมากขึ้นกว่าเดิมจึงเป็นภาพใหม่ที่เราได้เห็นทั้งจากแอลวีในยุคของ Nicolas Ghesquière ที่ไปหยิบจับงานของ Kansai Yamamoto มาสร้างสรรค์ใหม่ หรือภาพของสปอร์ตส์แวร์สีสดที่ไปปรากฏบนเดรสและแจ็กเกตตัวใหม่ของแบรนด์กูตูร์อย่างวาเลนติโน่ได้เข้ายุคสมัยของสตรีตแวร์ครองเมืองดังเช่นทุกวันนี้

 

การปรับตัวของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ

เพราะใครล่ะจะกล้าเถียงว่าในยุคของชาวมิลเลนเนียลและ Gen Z คน 2 ประเภทนี้มิใช่กำลังซื้อหลักของสินค้าแบรนด์เนม จากผลการวิจัยของ Bain & Co. Luxury Study ร่วมกับ Fondazione Altagamma ระบุว่า ภายในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ถึงทศวรรษ พวกเขาเหล่านี้จะครองส่วนแบ่งในตลาดสินค้าแบรนด์เนมมากถึง 45% และต่างมองหารวมถึงมีพฤติกรรมการเสพสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อนที่นับวันจะยิ่งใช้จ่ายเงินเพื่อสินค้าแฟชั่นน้อยลงเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากยอดขายโดยรวมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 2-4% ในช่วงปีนี้อันเป็นผลมาจากการเติบโตของตลาดภายในประเทศจีนและกลุ่มนักท่องเที่ยวในยุโรป สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ก็คือ การนำเสนอให้เห็นว่าแบรนด์แฟชั่นต้องปรับตัวให้เข้ากับลูกค้ารุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนไป พวกเขาไม่ได้มองเห็นแค่การซื้อขายผ่านหน้าร้านเท่านั้น หากแต่ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่น่าจะตอบสนองต่อความสนใจและความชอบได้ดีกว่าทั้งทางโซเชียลมีเดียและกลุ่มมัลติแบรนด์อื่นๆ อย่าง Amazon Fashion ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น จนนำมาซึ่งการก่อตั้งมัลติสโตร์ของบริษัทดัง LVMH เอง เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเสนอขายสินค้าที่มีความหลากหลายและเหมาะกับลูกค้าที่มาจากหลากหลายประเทศ หลากหลายกลุ่ม โดยผ่านช่องทางการซื้อขายแบบออนไลน์

 

เชื้อชาติอันเสรีของ Gucci

ความสำเร็จของ Gucci ที่กำลังกลับมาอย่างต่อเนื่องเห็นได้ชัดจากต่อคิวเพื่อรอซื้อสินค้าที่ Alessandro Michele ดีไซเนอร์คนใหม่นำเสนอด้วยการนำวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่หลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์มาใช้เป็นตัวเล่นหลัก ทั้งการผสมผลงานของศิลปินหน้าใหม่และเก่า การหยิบยืมรูปแบบและโครงชุดจากแฟชั่นของตะวันออกมาผสมกับของตะวันตกการนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าผ่านทางพรีเซนเตอร์หลากหลายรูปลักษณ์ไปจนถึงการร่วมงานในแบบที่เรียกว่า Collaboration จนนำมาซึ่งการนำเสนอคลิปวิดีโอและรูปภาพผ่านทางโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย เป็นตัวเร่งให้ในวันนี้ของกุชชี่คือตัวอย่างของการนำเอาไฮแบรนด์ลงมาสู่ไฮสตรีตได้อย่างถูกใจเหล่าแฟนแฟชั่นรุ่นใหม่ที่พร้อมใจกันเก็บเงินเพื่อมาต่อคิวรอซื้อสินค้าใหม่ ไม่ต่างจากที่พวกเขายินยอมที่จะต่อคิวซื้อรองเท้าผ้าใบ Yeezy หรือสินค้าใหม่จาก Supreme เช่นกัน

 

แบรนด์ไฮแฟชั่นและแบรนด์แมส

ในขณะเดียวกันลูกค้าเก่าก็ยังคงยินดีที่จะร่วมสนุกไปกับภาพใหม่ของแบรนด์เพื่อให้ตนเองยังคงเป็น Top spender ที่ได้รับเอกสิทธิ์พิเศษอยู่เช่นเคย และมันก็ทำให้แบรนด์ที่เคยเป็นต้นตำรับของแมสแฟชั่นอย่าง Zara, H&M, Topshop และ Uniqlo ต้องเริ่มต้นปรับตัวนำเสนอสินค้าเพื่อกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายกว่าเดิมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช่แค่กลุ่มลูกค้าแมสเท่านั้นที่อยากจะสัมผัสเทรนด์แฟชั่นฮิตที่มีที่มาจากไฮแบรนด์ กลุ่มลูกค้าไฮแบรนด์ทุกวันนี้ก็อยากสัมผัสสินค้าแบบแมสแฟชั่นที่สามารถทำให้พวกเขาดู “เข้ายุคเข้าสมัย” โดยการเสพสินค้าแฟชั่นที่มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด การเกิดขึ้นของไลน์ใหม่ๆ ของแบรนด์แมสแฟชั่นเริ่มต้นตั้งแต่การนำเสนอ H&M Studio จนถึง Arket ไลน์ใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนทุกเพศทุกวัยมากขึ้น ในขณะที่ Uniqlo ก็มาพร้อมกับ UUU ที่ได้ Christophe Lemaire ดีไซเนอร์ดังมาร่วมงาน รวมถึง zara.com เว็บซื้อขายออนไลน์ที่บริการไม่ต่างจาก Net-a-porter เว็บช็อปออนไลน์ระดับโลกเช่นกัน ด้าน Topshop ก็รุกคืบบริการแบบ Made to order ด้วยการนำเสนอลุคพิเศษให้เหล่าซูเปอร์สตาร์ชื่อดังสวมชุดราตรีในงานพรมแดงที่มาจากการสั่งตัดแบบพิเศษ เห็นได้ชัดในงาน Met Gala ที่เพิ่งผ่านพ้นไปในปีนี้ว่ามีเหล่าคนดังทั้ง Sofia Richie, Sistine Stallone, Joan Smalls, Behati Prinsloo และ Candice Swanepoel พากันสวมชุดสั่งตัดพิเศษจากแบรนด์ดังจากลอนดอนรายนี้กันอย่างคับคั่ง

 

บริการสั่งตัดโดยเฉพาะ

Custom Made กลายเป็นวิธีใหม่ของแบรนด์แฟชั่นที่ต้องการนำเสนอให้เห็นว่าแบรนด์กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าที่ ณ ตอนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ลูกค้ากลุ่มหลักตามมาร์เกตของแบรนด์ที่วางไว้ตั้งแต่ต้นอย่างเก่าก่อน และเราก็เห็นได้ชัดที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70 ที่เพิ่งผ่านไปเช่นกัน เมื่อ Nicole Kidman มาพร้อมกับกระโปรงยาวทูทู่ฟูฟ่องสีขาวนวลจาก Calvin Klein by Appointment โดย Raf Simons ที่เขาตั้งใจสร้างไลน์ใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อตัดชุดพิเศษให้ลูกค้าที่มีความหลากหลาย โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสาววัยทีนผู้หลงใหลสปอร์ตส์แวร์แบบที่ Calvin Klein เคยเป็นมา และมันก็ทำให้นิโคลในงานนี้สามารถยืนเคียงข้างสาวน้อย Elle Fanning ได้อย่างน่ามอง (ลดช่องว่างระหว่างวัยได้สำเร็จ สมความตั้งใจของดาราสาวใหญ่ที่เซลฟี่ด้วยท่าทางมั่นใจไม่ต่างกับสาวรุ่นข้างกายเลยทีเดียว) ในขณะที่ใครจะไปนึกว่าในวัย 64 ปี Isabelle Huppert ดาราสาวชาวฝรั่งเศสจะสามารถใช้แฮชแท็ก #chloeGIRLS กับเขาได้เช่นกันเมื่อเธอปรากฏกายบนพรมแดงด้วยชุดแบบสั่งตัดจาก Chloé ที่ตั้งใจนำเอางานเก่าเก็บของแบรนด์สมัยปี 1980 โดย Karl Lagerfeld กลับมาสร้างสรรค์ใหม่ให้เธอสวมใส่โดยเฉพาะ และมันก็เป็นการนำเสนอช่องทางใหม่อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แบรนด์สามารถกระจายฐานลูกค้าและสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ที่หลากหลายยิ่งขึ้นผ่านทางการปรับตัวโดยอาศัยชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับของแบรนด์มาช่วยอย่างได้ผล

 

โลกแฟชั่นกำลังเปิดกว้าง

จากกระแสเฟมินิสต์ครั้งใหม่สู่ชุดสูทกางเกง จากการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมกันทางเพศสู่การยอมรับเพศทางเลือกผ่านกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน จากประเด็นเรื่องการแคสติ้งนางแบบสู่การกลับมาอีกครั้งของนางแบบเก่าจากยุค 1980-1990 บนรันเวย์ของแบรนด์ดัง ทั้งหมดทั้งมวลพิสูจน์ชัดแล้วว่าแฟชั่นในวันนี้เปิดกว้างและสร้างสรรค์กว่าที่เคยเป็นมา และมันจะแปลกอะไรถ้าเราจะได้เห็น Wonder Woman คนใหม่ปรากฏกายในชุดกระโปรงยาวเอวสูง สวมคอร์เซตรัดรูปแต่ซ่อนเอาไว้ซึ่งอาวุธเด็ดภายใต้ชุดหรู เพราะในวันนี้ใครๆ ก็สามารถเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในเรื่องสไตล์ได้หากว่าเขาหรือเธอคนนั้นกล้าและพร้อมที่จะยอมรับความหลากหลายของแฟชั่นที่พร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีความเชื่อมั่นอย่างไรก็ตาม

 

เรื่องโดย: มานิตย์ มณีพันธกุล

WATCH